[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 90
๓. โคตมีสูตร
ว่าด้วยมารรบกวนกิสาโคตมีภิกษุณี
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 90
๓. โคตมีสูตร
ว่าด้วยมารรบกวนกิสาโคตมีภิกษุณี
[๕๒๘] สาวัตถีนิทาน.
ครั้งนั้น เวลาเช้า กิสาโคตมีภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตในกรุงสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในกรุงสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้วเข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักผ่อนกลางวัน ครั้นถึงป่าอันธวันแล้ว จึงนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง.
[๕๒๙] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้กิสาโคตมีภิกษุณีบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหากิสาโคตมีภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะกิสาโคตมีภิกษุณีด้วยคาถาว่า
ท่านเสียลูกไปหรือมานั่งอยู่คนเดียว มีหน้าเหมือนคนร้องไห้ มาอยู่กลางป่าคนเดียว กำลังแสวงหาบุรุษหรือหนอ.
[๕๓๐] ลำดับนั้น กิสาโคตมีภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าวคาถา จะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์.
ทันใดนั้น กิสาโคตมีภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่จะให้เราบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงกล่าวคาถา.
ครั้นกิสาโคตมีภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะมารผู้มีบาปด้วยคาถาว่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 91
เราเสียบุตรไปแล้ว เหมือนความตายของบุตรถึงที่สุดแล้ว บุรุษทั้งหลายก็มีความตายของบุตรนี้เป็นที่สุดเหมือนกัน เราไม่เศร้าโศก ไม่ร้องไห้ ไม่กลัวความตายนั้นดอก.
ผู้มีอายุ ความเพลิดเพลินในส่วนทั้งปวง เรากำจัดแล้ว กองมืดเราทำลายแล้ว เราชนะเสนาแห่งมัจจุแล้ว ไม่มีอาสวะอยู่.
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า กิสาโคตมีภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 92
อรรถกถาโคตมีสูตร
ในโคตมีสูตรที่ ๓ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
ก็คำว่า กิสาโคตมี เป็นชื่อของภิกษุณีนั้น เพราะเธอมีเนื้อและเลือดน้อย. ได้ยินว่า ครั้งก่อนทรัพย์ประมาณ ๘๐ โกฏิ ในเรือนตระกูลแห่งหนึ่ง ณ กรุงสาวัตถี กลายเป็นถ่านไปหมด. กุฏุมพีมิได้ขนถ่านไปทิ้ง คิดว่าจักมีผู้มีบุญไรๆ เป็นแน่ ด้วยบุญของผู้นั้นทรัพย์จักกลับเป็นปกติอีก จึงเอาทองและเงินใส่ถาดเต็มหลายถาดเอาไปวางไว้ที่ตลาดแล้วนั่งอยู่ใกล้ๆ . ลำดับนั้น ธิดาของตระกูลยากจนคนหนึ่ง คิดว่า เราจักถือเอาทรัพย์ครึ่งมาสกแล้วนำกิ่งไม้มา เดินไปตามถนน เห็นทรัพย์นั้นจึงกล่าวกะกุฏุมพีว่า ทรัพย์ที่ตลาดมีถึงเพียงนี้ ที่เรือนจักมีเพียงไร. กุฏุมพีถามว่า แม่หนู เธอเห็นอะไรจึงได้พูดอย่างนี้. นางตอบว่า เห็นเงินและทองนี้. กุฏุมพีคิดว่า หญิงคนนี้ชะรอยจักเป็นผู้มีบุญ จึงถามถึงที่อยู่ของนาง เก็บงำสิ่งของไว้ที่ตลาดแล้วเข้าไปหามารดาบิดาของนาง กล่าวอย่างนี้ว่า ในเรือนของเรามีเด็กหนุ่มอยู่ ท่านจงให้เด็กหญิงคนนี้แก่เขาเถิด มารดาบิดากล่าวว่า นายท่านจักหยอกล้อคนยากจนทำไม. กุฏุมพีกล่าวว่า ธรรมดาว่า ความสนิทสนมโดยฐานมิตร ย่อมมีกับคนยากจน ท่านทั้งหลายจงให้เถิด นางจักได้เป็นเจ้าของทรัพย์แล้วพานางนำมาครองเรือน. นางอยู่ร่วมกันจึงคลอดบุตรชาย. บุตรได้ตายในเวลาพอเดินได้. นางเกิดในตระกูลเข็ญใจ แม้ได้อยู่ในตระกูลใหญ่ ก็เกิดความเศร้าโศกอย่างหนักว่า เราถึงความพินาศเพราะบุตร ไม่เผาศพบุตร อุ้มซากบุตรนั้นเที่ยวพร่ำเพ้อไปทั่วนคร.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 93
วันหนึ่ง นางไปสำนักพระทศพลตามทางที่จะไปเฝ้าพระพุทธเจ้า กราบทูลว่า ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้า ขอพระองค์โปรดประทานยาเพื่อให้ลูกหายจากโรค. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า เจ้าจงเที่ยวไปยังกรุงสาวัตถี จงนำเมล็ดพันธุ์ผักกาดจากเรือนที่ไม่เคยมีคนตายมา นั้นจักเป็นยาของลูก นางเข้าไปสู่นคร ไปขอเมล็ดพันธุ์ผักกาดโดยนัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสบอก ตั้งแต่เรือนหลังไกล ถูกชาวบ้านทุกๆ หลังเรือนกล่าวว่า เธอจักพบเรือนอย่างนี้แต่ที่ไหน เที่ยวไปสองสามหลังคาเรือน คิดว่า นัยว่าความตายนี้เป็นธรรมดาของคนทุกคน ไม่ว่าเราหรือลูก ดังนี้แล้ว จึงทิ้งศพไว้ที่ศาลาแล้วขอบรรพชา. พระศาสดาทรงส่งไปสำนักนางภิกษุณีด้วยพระดำรัสว่า จงให้หญิงนี้บวชเถิด. นางบรรลุพระอรหัตในขณะจรดปลายมีดโกนนั่นเอง. ท่านหมายเอาพระเถรีนี้จึงกล่าวว่า อถ โข กิสาโคตมี ดังนี้.
บทว่า เอกมาสี ตัดเป็น เอกา อาสี. บทว่า รุทมฺมุขี ได้แก่ มีหน้าดังร้องไห้. อนฺต ศัพท์ ในบทว่า อจฺจนฺตํ หตปุตฺตมฺหิ เป็นอัจจันตะส่วนอดีต. บทว่า อจฺจนฺตํ นั้นเป็นภาวนปุงสกลิงค์. ท่านกล่าวอธิบายว่าการตายของบุตร เป็นที่สุด คือเป็นอดีต ฉันใด บุตรที่ตายแล้วก็ฉันนั้นบัดนี้เราไม่มีลูกตายอีก. บทว่า ปุริสา เอตทนฺติกา ความว่า แม้คนเหล่านี้ก็มีความตายนี้เป็นที่สุดเหมือนกัน ที่สุดแห่งความตายของบุตรของเรานี้แหละเป็นที่สุดแม้ของคนทั้งหลาย เราจึงไม่ควรแสวงหาบุตรที่ตายในบัดนี้. บทว่า สพฺพตฺถ วิหตา นนฺทิ ความว่า ความเพลิดเพลินด้วยอำนาจตัณหาในขันธ์ อายตนะ ธาตุ ภพ กำเนิด คติ ฐิติและนิวาสทั้งหมด เราขจัดได้แล้ว. บทว่า ตโมกฺขนฺโธ ได้แก่กองอวิชชา. บทว่า ปทาลิโต ความว่า ทำลายแล้วด้วยญาณ.
จบอรรถกถาโคตมีสูตรที่ ๓