วันรักษาอุโบสถ
โดย wittawat  17 ก.ย. 2566
หัวข้อหมายเลข 46568

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย ติกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๓ - หน้า 163

การรักษาอุโบสถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อุโปสถํ อุปวสนฺติ ความว่า มนุษย์ทั้งหลายอธิษฐานองค์อุโบสถเดือนละ ๘ ครั้ง. บทว่า ปฏิชาคโรนฺติ ความว่า ทำการ (รักษา) ปฏิชาครอุโบสถ. ชนทั้งหลายเมื่อทำการ (รักษา) ปฏิชาครอุโบสถนั้น ย่อมทำด้วยการรับและการส่งวันอุโบสถ ๔ วันในกึ่งเดือนหนึ่ง (คือ) เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๕ ค่ำ ก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๔ ค่ำ เมื่อจะส่งอุโบสถก็ส่งในวัน ๖ ค่ำ. เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๘ ค่ำ ก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๗ ค่ำ เมื่อจะส่งอุโบสถก็ส่งในวัน ๙ ค่ำ. เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๑๔ ค่ำ ก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๑๓ ค่ำ เมื่อจะส่งอุโบสถก็ส่งในวัน ๑๕ ค่ำ. เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๑๕ ค่ำ ก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๑๔ ค่ำ เมื่อจะส่งอุโบสถก็ส่งในวันแรม ๑ ค่ำ.


กราบเรียนอาจารย์วิทยากรครับ กระผมสงสัยดังนี้ครับ

1. ไม่ทราบว่า ต่างกันยังไงครับ วันรักษา วันรับ วันส่ง

2. รักษาอุโบสถที่วันไหนกันแน่ครับ เคยได้ยินจากคาถาธรรมบท เรื่องพระวนวาสีติสสเถระ ว่าชาวบ้านขอให้สามเณรติสสะอยู่ โดยจะรักษาศีล ๕ จักทำอุโบสถกรรม ๘ ครั้งต่อเดือน ถ้าดูจากข้อความในอรรถกถาข้างต้น การรักษาอุโบสถครั้งหนึ่ง เช่นวัน ๕ ค่ำ ต้องหยุดทานอาหาร ยามวิกาลตั้งแต่ วัน ๔ ค่ำ จนกระทั่งสิ้นสุดถึงวัน ๕ ค่ำ (รวม๒วัน) หรือว่า เฉพาะวัน ๕ ค่ำวันเดียว อย่างไหนถูกต้องครับ

ขอกราบอนุโมทนาครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 20 ก.ย. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
1. ไม่ทราบว่า ต่างกันอย่างไรครับ วันรักษา วันรับ วันส่ง
ในประเด็นคำถามนี้ เป็นการกล่าวถึงปฏิชาครอุโบสถ เป็นการรักษาอุโบสถซึ่งจะต้องมีความเพียรมากยิ่งขึ้น เพราะจะรักษา ๓ วัน ไม่ใช่วันเดียวเหมือนกับอุโสบถศีลตามปกติ


2. รักษาอุโบสถที่วันไหนกันแน่ครับ เคยได้ยินจากคาถาธรรมบท เรื่องพระวนวาสีติสสเถระ ว่าชาวบ้านขอให้สามเณรติสสะอยู่ โดยจะรักษาศีล ๕ จักทำอุโบสถกรรม ๘ ครั้งต่อเดือน ถ้าดูจากข้อความในอรรถกถาข้างต้น การรักษาอุโบสถครั้งหนึ่ง เช่นวัน ๕ ค่ำ ต้องหยุดทานอาหาร ยามวิกาลตั้งแต่ วัน ๔ ค่ำ จนกระทั่งสิ้นสุดถึงวัน ๕ ค่ำ (รวม๒วัน) หรือว่า เฉพาะวัน ๕ ค่ำวันเดียว อย่างไหนถูกต้องครับ

ถ้าเป็นการรักษาอุโบสถศีลตามปกติ คือ รักษาศีล ๘ ในวันพระหรือวันอุโบสถ ก็ตั้งใจที่จะสมาทานประพฤติตาม ตลอด ๑ วัน คือ ตั้งแต่เช้าของวันอุโบสถจนถึงวันรุ่งขึ้น แต่ถ้าจะเป็นการรักษาปฏิชาครอุโบสถ ก็รักษา ๓ วัน ตามข้อความในอรรถกถาราชสูตร ดังนี้คือ
เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๕ ค่ำ ก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๔ ค่ำ เมื่อจะส่งอุโบสถก็ส่งในวัน ๖ ค่ำ
เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๘ ค่ำ ก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๗ ค่ำ เมื่อจะ ส่งอุโบสถก็ส่งในวัน ๙ ค่ำ
เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๑๔ ค่ำ ก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๑๓ ค่ำ เมื่อจะ ส่งอุโบสถก็ส่งในวัน ๑๕ ค่ำ
เมื่อจะรับอุโบสถวัน ๑๕ ค่ำ ก็ต้องเป็นผู้รักษาอุโบสถในวัน ๑๔ ค่ำ เมื่อจะ ส่งอุโบสถก็ส่งในวันแรม ๑ ค่ำ


สาระสำคัญจุดประสงค์ของการรักษาอุโบสถศีล จากคำบรรยายของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ มีดังนี้

" ... ผู้ที่จะรักษาอุโบสถศีลต้องเป็นคนดี คือ ต้องเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล แล้วต้องเป็นผู้มีปัญญา เป็นผู้มีปกติรักษาศีล ๕ ถ้าเป็นผู้ที่ไม่ได้รักษาศีล ๕ เป็นปกติแล้ว จะรักษาอุโบสถศีล ก็คิดดูว่า จะรักษาเพื่ออะไร ในเมื่อปกติก็ไม่ได้เป็นผู้รักษาศีล ๕

ด้วยเหตุนี้ การรักษาอุโบสถศีลจึงต้องเป็นผู้เจริญกุศล และขัดเกลากิเลสด้วยการอบรมเจริญปัญญา ระลึกรู้ลักษณะของสภาพธรรมตามปกติตามความเป็นจริง ต้องเป็นผู้มีความจริงใจ มีสัจจะต่อตนเอง ไม่ใช่รักษากันเพราะต้องการอานิสงส์ หรือว่า ต้องการผลของอุโบสถศีล โดยที่ตัวเองก็ยังเป็นผู้ไม่มีสัจจะ ไม่มีความจริงใจ หรืออาจจะเป็นผู้มี มายา หลอกลวง แข่งดี โอ้อวด แล้วก็จะรักษาอุโบสถศีล นี่ก็แสดงให้เห็นว่า การกระทำทุกอย่าง ควรจะต้องเป็นผู้มีปัญญา รู้เหตุผลในกุศลที่จะกระทำ ไม่ใช่เพียงต้องการได้รับอานิสงส์ หรือผลของอุโบสถศีลเท่านั้น ... "


... กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ที่เคารพยิ่ง
ยินดีในกุศลของคุณวิทวัตและทุกๆ ท่านด้วยครับ ...


ความคิดเห็น 2    โดย chatchai.k  วันที่ 20 ก.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ


ความคิดเห็น 3    โดย wittawat  วันที่ 21 ก.ย. 2566

ขออนุโมทนาครับ

ข้อความบางตอนใน แนวทางเจริญวิปัสสนาครั้งที่ 552

"การรักษาอุโบสถศีลนั้น เพื่ออบรมเป็นอุปนิสัยปัจจัยให้บรรลุคุณธรรมถึงความเป็นพระอรหันต์ในวันหนึ่ง ... เพื่อที่จะได้อบรมอุปนิสัย พร้อมทั้งเจริญหนทางที่ปัญญาจะเกิดขึ้นรู้แจ้งชัดในสภาพธรรมที่ปรากฏ โดยการอบรมเจริญสติปัฏฐานเป็นปกติ"

และอุปนิสัยของพระอรหันต์ทั้งหลายท่าน ไม่มีความติดข้องในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ทั้งหลาย เช่น ท่านพระอนุรุททะที่ไม่ยินดีในการมองการฟ้อนรำของเหล่าเทพ เป็นต้น ผู้ที่ดำเนินตามท่านได้แม้ ๑ วัน ก็ยังน่าอนุโมทนา และที่สำคัญคือการอบรมเจริญปัญญา เพราะถ้ารักษาเพียงศีล แต่ไม่ได้เข้าใจธรรมเลย ก็ไม่ต่างจากการรักษาศีลเช่นเดียวกับการนับโคของคนเลี้ยงโค ขอกราบอนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 21 ก.ย. 2566

ยินดีในกุศลจิตครับ


ความคิดเห็น 5    โดย wittawat  วันที่ 23 พ.ย. 2566

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น

ข้อความเพิ่มเติมจากรายการแนวทางเจริญวิปัสสนาครั้งที่ ๕๗๑

สำหรับการรักษาศีล ๘ นั้น ต่างกันเป็น ๓ ลักษณะ คือ เป็นปกติอุโบสถศีล ๑ ปฏิชาครอุโบสถ ๑ ปาฏิหาริยปักขอุโบสถ ๑ ซึ่งข้อความใน มโนรถปูรนี อรรถกถา ราชสูตร ได้มีข้อความที่กล่าวถึงอุโบสถ ๓ ประการนี้ คือ

ปกติอุโบสถ คือ อุโบสถที่คฤหัสถ์ส่วนมากรักษากันในวันหนึ่งคืนหนึ่ง ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ และ ๘ ค่ำของข้างขึ้นและข้างแรม

ซึ่งข้อความนี้ปรากฏใน ราชสูตรที่ ๑ อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต ข้อ ๔๗๖

ปฏิชาครอุโบสถ เป็นการรักษาอุโบสถ ๒ วัน ๒ คืน คือ วันรับวันหนึ่ง วันรักษาวันหนึ่ง วันส่งวันหนึ่ง

คือ รักษาก่อนวันรับวันหนึ่ง หมายความถึงรักษาในวันโกนด้วย รักษาในวันพระด้วย ไม่นับวันส่ง

ปาฏิหาริยปักขอุโบสถ เป็นการรักษาอุโบสถศีลติดต่อกันตลอดปักษ์ คือ ครึ่งเดือน หรือ ๑ เดือน หรือ ๓ เดือน

เป็นการจำกัดกาล สำหรับปาฏิหาริยปักขอุโบสถนั้น เป็นการรักษาศีล ๘ ๓ เดือนในระหว่างพรรษา หรือ ๑ เดือนในเขตทอดกฐิน หรือว่าครึ่งเดือนหลังวันปวารณาแรก คือ ครึ่งเดือนหลังออกพรรษา

สำหรับปาฏิหาริยปักขอุโบสถ มีใน ราชสูตรที่ ๒ อังคุตตรนิกาย ติกนิบาต

ตามธรรมดาที่รักษากัน เป็นปกติอุโบสถศีล รักษากันวันหนึ่งคืนหนึ่ง ในวัน ๑๔ ค่ำ ๑๕ ค่ำ ๘ ค่ำ ของข้างขึ้น กับข้างแรม

แต่ว่าแล้วแต่คุณธรรม ท่านจะรักษามากกว่านั้นก็ตามอุปนิสัย ท่านสามารถที่จะรักษาติดต่อกันไปได้ตลอดปักษ์หนึ่ง คือ ครึ่งเดือน หรือว่า ๑ เดือน หรือว่า ๓ เดือน สำหรับบางท่านซึ่งมีคุณธรรมสูง ท่านก็อาจจะรักษาได้เป็นปกติทีเดียว

ขอกราบอนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 6    โดย muda muda  วันที่ 15 ก.ย. 2567

กราบอนุโมทนา ประโยชน์อย่างยิ่งเจ้าค่ะ สาธุ