[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 93
ปฐมปัณณาสก์
มุณฑราชวรรคที่ ๕
๑. อาทิยสูตร
ว่าด้วยหลักการใช้โภคทรัพย์ ให้เป็นประโยชน์ ๕ อย่าง
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 93
มุณฑราชวรรคที่ ๕
๑. อาทิยสูตร
ว่าด้วยหลักการใช้โภคทรัพย์ ให้เป็นประโยชน์ ๕ อย่าง
[๔๑] ครั้งนั้น ท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดี เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสกับท่านอนาถบิณฑิกคฤหบดีว่า ดูก่อนคฤหบดี ประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ ที่ตนหามาได้ ด้วยความหมั่น ความขยันสะสมขึ้น ด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เลี้ยงตนให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารตนให้เป็นสุขสำราญ เลี้ยงมารดาบิดาให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ เลี้ยงบุตร ภรรยา ทาส กรรมกร คนใช้ ให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ นี้เป็นประโยชน์ ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ ข้อที่ ๑.
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ ที่ตนหามาได้ด้วย ความหมั่น ความขยัน สะสมขึ้นด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม เลี้ยงมิตรสหายให้เป็นสุข ให้อิ่มหนำ บริหารให้เป็นสุขสำราญ นี้เป็นประโยชน์ ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ ข้อที่ ๒.
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ ที่ตนหามาได้ด้วย ความหมั่น ความขยันสะสมขึ้น ด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม ป้องกันอันตรายที่เกิดแต่ไฟ น้ำ พระราชา โจร หรือ
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 94
ทายาทผู้ไม่เป็นที่รัก ทำตนให้สวัสดี นี้เป็นประโยชน์ ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ ข้อที่ ๓.
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ ที่ตนหามาได้ ด้วยความหมั่น ความขยันสะสมขึ้น ด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม ทำพลี ๕ อย่าง คือ
๑. ญาติพลี [บำรุงญาติ]
๒. อติถิพลี [ต้อนรับแขก]
๓. ปุพพเปตพลี [ทำบุญอุทิศกุศลให้ผู้ตาย]
๔. ราชพลี [บริจาคทรัพย์ช่วยชาติ]
๕. เทวตาพลี [ทำบุญอุทิศให้เทวดา]
นี้เป็นประโยชน์ ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ ข้อที่ ๔.
อีกประการหนึ่ง อริยสาวกย่อมใช้จ่ายโภคทรัพย์ ที่ตนหามาได้ ด้วยความหมั่น ความขยันสะสมขึ้น ด้วยกำลังแขน อาบเหงื่อต่างน้ำ ชอบธรรม ได้มาโดยธรรม บำเพ็ญทักษิณา มีผลสูงเลิศ เกื้อกูลแก่สวรรค์ มีวิบาก เป็นสุข ยังอารมณ์เลิศให้เป็นไปด้วยดี ในสมณพราหมณ์ ผู้เว้นจากความมัวเมา ประมาท ตั้งอยู่ในขันติ และโสรัจจะ ผู้มั่นคง ฝึกฝนตนให้สงบระงับ ดับกิเลสโดยส่วนเดียว นี้เป็นประโยชน์ ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ ข้อที่ ๕.
ดูก่อนคฤหบดี ประโยชน์ที่จะพึงถือเอาแต่โภคทรัพย์ ๕ ประการ นี้แล ถ้าเมื่ออริยสาวกนั้น ถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์ ๕ ประการนี้ โภคทรัพย์หมดสิ้นไป อริยสาวกนั้น ย่อมมีความคิดอย่างนี้ว่า เราได้ถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์นั้นแล้ว และโภคทรัพย์ของเราก็หมดสิ้นไป ด้วยเหตุนี้ อริยสาวกนั้นย่อมไม่มีความเดือดร้อน ถ้าเมื่ออริยสาวกนั้น ถือเอาประโยชน์แต่
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 95
โภคทรัพย์ ๕ ประการนี้ โภคทรัพย์เจริญขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมมีความคิด อย่างนี้ว่า เราถือเอาประโยชน์แต่โภคทรัพย์นี้แล้ว และโภคทรัพย์ของเราก็เจริญขึ้น อริยสาวกนั้นย่อมไม่มีความเดือดร้อน อริยสาวกย่อมไม่มีความเดือดร้อน ด้วยเหตุทั้ง ๒ ประการ ฉะนี้แล.
นรชนเมื่อคำนึงถึงเหตุนี้ว่า เราได้ใช้จ่ายโภคทรัพย์เลี้ยงตนแล้ว ได้ใช้จ่าย โภคทรัพย์เลี้ยงคนที่ควรเลี้ยงแล้ว ได้ผ่านพ้นภัยที่เกิดขึ้นแล้ว ได้ให้ทักษิณาอันมีผลสูงเลิศแล้ว ได้ทำพลี ๕ ประการแล้ว และได้บำรุงท่านผู้มีศีล สำรวมอินทรีย์ ประพฤติพรหมจรรย์แล้ว บัณฑิตผู้อยู่ครองเรือน พึงปรารถนาโภคทรัพย์ เพื่อ ประโยชน์ใด ประโยชน์นั้น เราก็ได้บรรลุแล้ว เราได้ทำสิ่งที่ไม่ต้องเดือดร้อนแล้ว ดังนี้ ชื่อว่า เป็นผู้ดำรงอยู่ในธรรมของพระอริยะ บัณฑิตทั้งหลายย่อมสรรเสริญเขา ในโลกนี้ เมื่อเขาละจากโลกนี้ไปแล้ว ย่อมบันเทิงใจในสวรรค์.
จบอาทิยสูตรที่ ๑
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 96
มุณฑราชวรรควรรณนาที่ ๕
อรรถกถาอาทิยสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในอาทิยสูตรที่ ๑ วรรคที่ ๕ ดังต่อไปนี้ :-
บทว่า โภคานํ อาทิยา ได้แก่ เหตุแห่งโภคะทั้งหลาย ที่พึงถือเอาประโยชน์. บทว่า อุฏานวิริยาธิคเตหิ ได้แก่ ที่ได้มาด้วยความขยัน หมั่นเพียร. บทว่า พาหาพลปริจิเตหิ ได้แก่ ที่สะสมไว้ด้วยกำลังแขน. บทว่า เสทาวกฺขิตฺเตหิ ได้แก่ ที่อาบเหงื่อได้มา. บทว่า ธมฺมิเกหิ คือ ประกอบด้วยธรรม. บทว่า ธมฺมลทฺเธหิ ได้แก่ ไม่เสียกุศลธรรม ได้มาโดยธรรม. บทว่า ปิเณติ ได้แก่ กระทำให้อิ่มหนำสำราญ. บทที่เหลือในสูตรนี้ พึงทราบโดยนัย ที่กล่าวไว้แล้ว ในจตุกนิบาต.
จบอรรถกถา อาทิยสูตรที่ ๑