คนขี้เบื่อ รักหรือชอบอะไรได้สักพัก ก็เปลี่ยนไปหาอะไรใหม่ๆ
โดย Chilli  22 พ.ย. 2555
หัวข้อหมายเลข 22079

อยากทราบว่าคนขี้เบื่อ รักหรือชอบอะไรได้สักพัก ก็เปลี่ยนไปหาอะไรใหม่ๆ ชอบความตื่นเต้น ไม่ชอบอะไรซ้ำซากจำเจ เวลาทำงานอะไร ตอนแรกก็ทำเพราะความรักความชอบ แต่พอเจออุปสรรคต่างๆ ก็เกิดเบื่อและหางานใหม่เรื่อยๆ ดังนี้ เป็นต้น

สาเหตุของความเบื่อ แบบนี้เกิดจากอะไรคะ แล้วนิสัยแบบนี้ ธรรมะข้อไหนที่แก้นิสัยขี้เบื่อได้บ้างคะ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 23 พ.ย. 2555

ความเบื่อ ก็ไม่พ้นจากสภาพธรรมที่มีจริง นั่นก็คือโทสะ ขณะที่ขี้เบื่อก็เกิดโทสะ ไม่พอใจในสิ่งนั้น จึงเปลี่ยนไปทำ ไปชอบสิ่งใหม่ ซึ่งสาเหตุก็ไม่ได้มาจากอื่นไกล ก็เพราะอาศัยกิเลส คือ โลภะที่เกิดขึ้น ที่เป็นผู้ที่มีความติดข้องมาก ก็ทำให้เบื่อได้ง่ายในอารมณ์นั้น หากเป็นผู้ที่ไม่มีโลภะเลย จะเบื่อได้อย่างไร

สมดังพระธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง เทวดาทูลถามพระพุทธเจ้าว่า พระองค์ไม่ทรงเบื่ออะไรบ้างหรือ พระพุทธเจ้าตรัสว่า เรายินดีเพลิดเพลินอะไร จึงเบื่อเล่า นี่แสดงให้เห็นว่า เพราะอาศัยกิเลส คือโลภะ ทําให้เป็นผู้ที่เกิดความเบื่อหน่าย ยิ่งติดข้อง เบื่อหน่าย ก็ขี้เบื่อได้ง่ายเข่นกัน เพราะโลภะเป็นปัจจัยให้เกิดโทสะครับ และที่สำคัญที่สุด กิเลสที่เป็นต้นเหตุของอกุศลทุกประการ แม้แต่ความขี้เบื่อก็คืออวิชชา ความไม่รู้ ที่ทำให้มีความยินดีพอใจในสิ่งต่างๆ และเมื่อไม่ทำให้เกิดความยินดีแล้ว ก็ทำให้เกิดความขี้เบื่อตามมาด้วยครับ

ซึ่งหนทางการแก้ความขี้เบื่อ คือการแก้ที่ต้นเหตุ คือการอบรมปัญญาและศึกษาพระธรรม ที่จะทำให้ปัญญาเจริญขึ้นตามลำดับ ปัญญาที่เจริญขึ้นย่อมจะทำให้เป็นผู้มั่นคงในเรื่องที่ควรมั่นคง ไม่เปลี่ยนแปลง คือการทำความดีและการฟังพระธรรม อบรมปัญญา เพราะฉะนั้นเป็นธรรมดาที่ย่อมจะเบื่อได้เป็นธรรมดาเพราะยังมีกิเลสมาก แต่ผู้ที่สะสมศรัทธามา และสะสมปัญญามา ย่อมจะเป็นผู้ที่ไม่เบื่อในการฟังพระธรรมและเจริญกุศลทุกๆ ประการครับ

ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา


ความคิดเห็น 2    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 25 พ.ย. 2555

ขอบคุณและขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย pornchai.s  วันที่ 25 พ.ย. 2555

เบื่อ-วิตกกังวล-คิดมาก-ไม่ชอบ-ไม่อร่อย-ไม่สนุก-ไม่รื่นรมย์-รมณ์บ่จอย-ไม่เพลิดเพลิน-ไม่ไพเราะ-ไม่พอใจ-หงุดหงิด-เหงา-ว้าเหว่-อ้างว้าง-โดดเดี่ยว ... ฯลฯ ... หรืออะไรอื่นใดก็ตาม ที่เรารู้สึกไม่ชอบ ไม่ต้องการ นั่นคือลักษณะของ โทสะ ... ลองสังเกตดูครับ ความขุ่นใจ ทั้งหลายทั้งปวง มาจากเรา ได้ประสบสิ่งที่ไม่น่าพอใจ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย นั่นเอง ไม่ว่าจะเห็นภาพ, ได้ยินเสียง, ได้กลิ่น, ลิ้มรส, เย็นเกินไป, ร้อนเกินไป ฯลฯ

ตื่นเช้าขึ้นมา เห็นฝุ่นนิดนึง ก็เกิดโทสะ เข้าห้องน้ำ ยาสีฟันใกล้หมด ก็เกิดโทสะ น้ำร้อนไป เย็นไป ก็เกิดโทสะอีก ทำอะไรเร่งรีบ เพราะกลัวจะไปไม่ทัน ความกลัวนั้นก็คือโทสะ เส้นผมตกมาที่หน้าผากรำคาญไหม (ความรำคาญก็คือโทสะเหมือนกัน)

มูลเหตุของโทสะ จึงมาจากโลภะที่ติดข้องในกามคุณ ๕ (รูป เสียง กลิ่น รส โผฎฐัพพะ) นั่นเอง ... ดังนั้นผู้ที่ละโทสะได้อย่างเด็ดขาด (เป็นสมุจเฉท) คือ พระอริยบุคคลขั้นที่ ๓ (พระอนาคามีบุคคล) เพราะท่านดับ โลภะ ที่ยินดีพอใจ ในกามคุณ ๕ ได้หมดสิ้นแล้ว ... แม้ท่านจะไม่ได้ฌาน แต่ถ้าท่านตาย (จุติ) เมื่อไร ท่านย่อมเกิด (ปฏิสนธิ) ในพรหมโลก


ความคิดเห็น 4    โดย JANYAPINPARD  วันที่ 26 พ.ย. 2555

เบื่อหน่ายที่เป็นกิเลสได้แก่โทสะ ... เช่น รักหรือชอบอะไร ได้สักพัก ก็เปลี่ยนไปหาอะไรใหม่ๆ ที่น่าตื่นเต้น ไม่ชอบอะไรซ้ำซาก จำเจ เวลาทำงานอะไร ตอนแรกก็ทำเพราะความรักความชอบ แต่พอเจออุปสรรคต่างๆ ก็เกิดเบื่อ และหางานใหม่เรื่อยๆ ... เบื่อหน่าย ถ้าเป็นปัญญา ที่เห็นความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นสังขาร ซึ่งมีปัจจัยปรุงแต่งแล้วดับไป ว่าเป็นของไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่งาม ไม่ควรแก่การติดข้อง ยินดีพอใจ ไม่มีสาระ จึงเบื่อหน่ายด้วยปัญญาที่เห็นตามความเป็นจริง ... เช่น ... ความเบื่อหน่ายร่างกาย ... ปัญญาเท่านั้นที่จะละกิเลสได้ การสะสมปัญญาต้องเป็นไปตามลำดับ ... เริ่มต้นด้วยการฟังธรรมให้เข้าใจ


ความคิดเห็น 5    โดย khampan.a  วันที่ 26 พ.ย. 2555

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ธรรมะ ไม่พ้นไปจากชีวิตประจำวัน ไม่ว่าจะกล่าวถึงความติดข้องต้องการ ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ ก็มีจริงในขณะนี้ มีจริงๆ เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุ ตามปัจจัย ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมเลยจะไม่สามารถรู้ได้เลยว่าเป็นธรรม มีแต่ธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยทั้งนั้น ที่ติดข้องบ้าง ไม่พอใจบ้าง ก็เกิดขึ้นเป็นไปตามการสะสมอย่างแท้จริง แต่ละคนก็เป็นแต่ละหนึ่งไม่เหมือนกันเลย ครับ

...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 6    โดย Graabphra  วันที่ 2 ธ.ค. 2555

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 7    โดย natre  วันที่ 3 ธ.ค. 2555

ขอโมทนากับผู้ที่ไม่เบื่อกับการฟังธรรมทุกท่าน


ความคิดเห็น 8    โดย chatchai.k  วันที่ 8 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ