จังกีสูตร - ความเลื่อมใสในบุคคล
โดย สารธรรม  14 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43846

มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ จังกีสูตร ข้อ ๖๔๖ มีข้อความว่า

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเสด็จจาริกไปในโกศลชนบทพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ เสด็จถึงพราหมณคามของชนชาวโกศลชื่อว่า โอปาสาทะ ได้ทราบว่า ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าไม้สาละ อันชื่อว่า เทพวัน ทางทิศเหนือแห่งโอปาสารท พราหมณคาม

สมัยนั้น พราหมณ์ชื่อ จังกี ปกครองโอปาสาทพราหมณคาม ซึ่งคับคั่งด้วยประชาชน หมู่สัตว์ เป็นสถานที่ที่อุดมสมบรูณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหาร เป็นราชสมบัติที่พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงโปรดพระราชทานเป็นรางวัล ให้เป็นสิทธิ์ของจังกีพราหมณ์ พวกพราหมณ์และพวกคฤหบดีชาวโอปาสาทพราหมณคาม ได้สดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเสด็จมาประทับ ณ ป่าไม้สาละทางทิศเหนือของโอปาสาทพราหมณคาม เมื่อพวกพราหมณ์และพวกคฤหบดีได้ทราบอย่างนั้น ก็พากันมุ่งหน้าไปยังป่าไม้สาละวันชื่อว่า เทพวัน เพื่อไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค

ครั้งนั้น จังกีพราหมณ์ กำลังนอนพักผ่อนกลางวันอยู่ในปราสาทชั้นบน เมื่อเห็นผู้คนพากันมุ่งหน้าไปทางป่าไม้สาละวันนั้น ก็ได้เรียกนักการมาถาม เมื่อทราบว่าพระผู้มีพระภาคประทับ ณ ที่นั้นแล้ว จังกีพราหมณ์ก็ให้นักการไปบอกพวกพราหมณ์กับพวกคฤหบดีนั้นให้รอ เพื่อว่าตนเองนั้นก็จะได้ไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคด้วย

ในครั้งนั้น ก็ได้มีพวกพราหมณ์ต่างเมืองประมาณ ๕๐๐ คนได้พักอยู่ในโอปาสาทพราหมณคาม ด้วยกิจธุระบางอย่าง เมื่อพวกพราหมณ์ต่างเมือง ๕๐๐ นั้น ได้ทราบว่า จังกีพราหมณ์จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ก็ชวนกันไปหาจังกีพราหมณ์ แล้วก็บอกว่า จังกีพราหมณ์ ไม่สมควรจะไปเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมควรจะเสด็จมาหาท่านจังกี

เหตุผลที่พวกพราหมณ์ ๕๐๐ คนบอกจังกีพราหมณ์ว่า ไม่สมควรจะไปเฝ้าพระสมณโคดมๆ ควรจะเสด็จมาหาท่านจังกีนั้น พวกพราหมณ์ ๕๐๐ นั้นก็ให้เหตุผลว่า เพราะเหตุว่าท่านจังกีพราหมณ์เป็นผู้บริสุทธิ์ ทั้งฝ่ายมารดา บิดา เป็นผู้มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก มีวิชามาก จบไตรเพท มีรูปงามน่าเลื่อมใส มีวาจาไพเราะ เป็นอาจารย์และปาจารย์ของคนเป็นอันมาก

นี่เป็นศรัทธาความเลื่อมใสของผู้มีความเลื่อมใสในบุคคลใด เห็นว่าบุคคลนั้นเป็นผู้ที่ควรเลื่อมใสด้วยประการทั้งปวง และพราหมณ์เหล่านั้นก็ได้ให้เหตุผลว่า

แม้พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เคารพนับถือ นอบน้อมจังกีพราหมณ์ หรือแม้พราหมณ์ โปกขรสาติก็เคารพนับถือ บูชา นอบน้อมท่านจังกีพราหมณ์ด้วย เพราะฉะนั้น ท่านจังกีไม่ควรจะไปเฝ้าพระสมณโคดม แต่พระสมณโคดมควรจะเสด็จมาหาท่านจังกี

เปรียบเทียบให้เห็นความเลื่อมใสว่า พวกพราหมณ์ก็ย่อมจะนับถือเคารพพวกพราหมณ์ต่อๆ กันมา ตามๆ กันมา แม้ว่าพระผู้มีพระภาคจะทรงคุณมากเพียงใด พวกนั้นก็ยังเห็นว่า ท่านจังกีพราหมณ์นั้นควรจะเป็นที่เคารพนับถือมากกว่า

แต่ท่านจังกีพราหมณ์ได้ให้พราหมณ์เหล่านั้นฟังเหตุผลของท่านบ้าง แล้วท่าน ก็กล่าวว่า เพราะเหตุใดท่านจึงสมควรไปเฝ้าพระสมณโคดม พระสมณโคดมพระองค์นั้นไม่สมควรเสด็จมาหาท่าน จังกีพราหมณ์ให้เหตุผลว่า

พระสมณโคดมเป็นผู้บริสุทธิ์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือ ทั้งฝ่ายพระมารดา ทั้งฝ่ายพระบิดา พระสมณโคดมทรงสละเงินและทองมากมาย ซึ่งพวกนั้นเคารพท่านจังกีพราหมณ์ที่เป็นผู้ที่มั่งคั่ง มีทรัพย์มาก แต่ท่านจังกีพราหมณมั่งคั่งมีทรัพย์มาก เคารพในพระผู้มีพระภาคที่ทรงสละเงินและทองมากมาย

พระสมณโคดมมีพระรูปงามน่าดู น่าเลื่อมใส มีพระวรรณะคล้ายพรหม มีพระสรีระคล้ายพรหม ทรงมีศีลเป็นอริยะ มีพระวาจาไพเราะ มีพระสำเนียงไพเราะ มีกามราคะสิ้นแล้ว เป็นกรรมวาที ไม่ทรงมุ่งร้ายต่อพวกพราหมณ์ เทวดาทั้งหลายถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะ พระสมณะโคดมทรงเป็นพระอรหันต์ แม้พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล แม้พราหมณ์โปกขรสาติพร้อมด้วยบุตรภรรยา ล้วนถึงพระสมณโคดมเป็นสรณะทั้งสิ้น

แล้วท่านจังกีพราหมณ์ก็ให้เหตุผลต่อไปว่า ไม่ว่าจะเป็นสมณะหรือพราหมณ์ที่มาถึงโอปาสาทพราหมณ์คาม ย่อมเป็นแขกของจังกีพราหมณ์ เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาคก็ชื่อว่าเป็นแขก ที่เราทั้งหลายพึงสักการะ ควรไปเฝ้า ไม่ควรเสด็จมาหาเรา ท่านจังกีพราหมณ์กล่าวกับพราหมณ์นั้น ๕๐๐ คนนั้นว่า

ดูกร ท่านผู้เจริญทั้งหลาย ข้าพเจ้าทราบพระคุณของท่านพระโคดมพระองค์นั้นเพียงเท่านี้ แต่ท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีพระคุณเพียงเท่านี้ หามิได้ ความจริงท่านพระโคดมพระองค์นั้นมีพระคุณหาประมาณมิได้

ซึ่งเมื่อพวกพราหมณ์ทั้ง ๕๐๐ คนได้ฟังดังนั้น ก็ตกลงใจที่จะไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พร้อมกับท่านจังกีพราหมณ์ด้วย ทั้งหมดก็ได้ไปเฝ้า แล้วก็ได้สนทนากับพระผู้มีพระภาค ในขณะที่สนทนากันนั้นได้มีมาณพท่านหนึ่งชื่อ กาปทิกะ ยังเป็นเด็กโกนศรีษะ มีอายุ ๑๖ ปีแต่กำเนิด แต่เป็นผู้มีตระกูลสูง รู้จบไตรเพท ชำนาญในคัมภีร์ต่างๆ ในระหว่างที่พราหมณ์ทั้งหลายผู้แก่เฒ่า กำลังเจรจาอยู่กับพระผู้มีพระภาค กาปทิกมาณพก็ได้พูดสอดขึ้น ซึ่งเมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสห้าม ท่านจังกีพราหมณ์ก็กลับกราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า

กาปทิกมาณพเป็นกุลบุตร เป็นผู้ที่มีตระกูลสูง เป็นผู้ที่มีความรู้มาก อย่าทรงห้ามเลย เพราะเหตุว่ากาปทิกะนั้นเป็นผู้ที่สามารถจะโต้ตอบกับพระผู้มีพระภาคได้

เป็นเหตุการณ์ในครั้งนั้น แสดงให้เห็นว่าในสถานที่นั้น บุคคลมีความคิดต่างๆ กัน มีความประพฤติต่างๆ กัน ไม่ใช่แต่เฉพาะในครั้งนี้ แม้ในครั้งไหนๆ ก็เหมือนกันทั้งสิ้น

เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงทอดพระเนตรไปทางกาปทิกมาณพ กาปทิกมาณพก็ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

มนต์ คือ คำสอนอันเป็นของเก่าของพราหมณ์ทั้งหลาย โดยนำสืบต่อกันมาตามคัมภีร์ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมถึงความตกลงโดยส่วนเดียวว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้ ในเรื่องนี้ ท่านพระโคดมตรัสว่าอย่างไร

คือพวกพราหมณ์ก็มีมนต์ มีคำสอนที่สืบต่อกันมา เพราะฉะนั้น กาปทิก-มาณพก็ใคร่ที่จะได้ทราบว่า เมื่อพวกพราหมณ์ปักใจเชื่อ ตกลงใจเชื่อในมนต์ ในคำสอนของตนว่าเป็นความจริง พระผู้มีพระภาคจะตรัสว่าอย่างไร

พระผู้มีพระภาคตรัสกับกาปทิกมาณพ มีข้อความว่า

พวกพราหมณ์ทั้งหลาย หรือแม้พวกฤาษีทั้งหลายที่เป็นอาจารย์ เป็นปาจารย์สักคนหนึ่งที่จะกล่าวว่า ข้อนี้เราทั้งหลายรู้อยู่ ข้อนี้เราทั้งหลายเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า ดังนี้หรือ

หมายความว่า ถึงแม้ว่าจะเป็นอาจารย์ จะเป็นปาจารย์ก็ตามที่สอนตามๆ กันมานั้น ที่จะมีอาจารย์หรือปาจารย์สักท่านหนึ่งที่จะกล่าวรับรองยืนยันว่า รู้อยู่ เห็นอยู่ ว่าสิ่งนี้จริง สิ่งอื่นไม่จริงนั้น มีบ้างไหม เพราะเหตุว่าถ้าพราหมณ์เหล่านั้นได้ประจักษ์ความจริง ก็จะต้องเป็นผู้ที่ได้รู้ความจริง รู้หนทางที่จะรู้ความจริงของสิ่งที่กำลังปรากฏอยู่ ซึ่งทุกคนพิสูจน์ได้ เห็นได้ รู้ได้

กาปทิกมาณพก็ได้กราบทูลว่า

ไม่มีเลย

คือ ถึงแม้ว่าจะเป็นอาจารย์ ถึงแม้ว่าจะเป็นปาจารย์ ถึงแม้ว่าจะเป็นฤาษีที่เป็นอาจารย์ปาจารย์ที่มีคำสอน มีมนต์ กล่าวสืบต่อๆ กันมา ท่านเหล่านั้นก็ไม่เคยประกาศ ไม่เคยปฏิญาณ ไม่เคยกล่าวว่า เราทั้งหลายรู้อยู่ หรือว่าข้อนี้เราทั้งหลายเห็นอยู่ว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า

พระผู้มีพระภาคตรัสกับกาปทิกมาณพว่า

เปรียบเหมือนแถวคนตาบอด ซึ่งเกาะกันต่อๆ ไป แม้คนต้นก็ไม่เห็น แม้คนกลางก็ไม่เห็น แม้คนหลังก็ไม่เห็น ฉันใด ภาษิตของพราหมณ์ทั้งหลาย เห็นจะเปรียบได้กับแถวคนตาบอด เมื่อเป็นเช่นนี้ความเชื่อของพราหมณ์ทั้งหลาย ย่อมหามูลมิได้ ไม่ใช่หรือ

ซึ่งกาปทิกมาณพ ก็ได้กราบทูลว่า

ในข้อนี้ พราหมณ์ทั้งหลายย่อมเล่าเรียนกันมา ไม่ใช่ด้วยความเชื่ออย่างเดียว แต่ย่อมเล่าเรียนด้วยการฟังตามกันมา

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ถึงแม้สิ่งที่เชื่อกันด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นของว่างเปล่า เป็นเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่เชื่อด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นจริง เป็นแท้ ไม่เป็นอื่นก็มี อนึ่ง สิ่งที่ชอบใจดีทีเดียว สิ่งที่ฟังตามกันมาด้วยดีทีเดียว สิ่งที่ตรึกไว้ด้วยดีทีเดียว สิ่งที่เพ่งแล้วด้วยดีทีเดียว เป็นของว่างเปล่า เป็นเท็จไปก็มี ถึงแม้สิ่งที่ไม่ได้เพ่งด้วยดีทีเดียว แต่สิ่งนั้นเป็นจริงเป็นแท้ ไม่เป็นอื่นก็มี

ถึงแม้จะได้เคยศึกษา เคยได้ยิน เคยได้ฟังตามๆ กันมา เคยเชื่อ เคยปฏิบัติตามๆ กันมา ก็ไม่ใช่ว่า สิ่งนั้นจะต้องเป็นจริงเป็นแท้ แต่ความจริงสิ่งนั้นเป็นของว่างเปล่า เป็นเท็จไปก็มี ได้ตรัสเตือนพุทธบริษัทไว้ในครั้งโน้นด้วยว่า จะต้องไตร่ตรองสอบสวนธรรม ไม่ใช่ว่าเมื่อได้ฟังตามกันมา พิจารณากันมา เชื่อกันมา แล้วคิดว่าสิ่งนั้นถูกเสมอไป ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นอย่างนั้น เป็นสิ่งที่ไม่เป็นจริงก็ได้

พระผู้มีพระภาคตรัสกับกาปทิกมาณพต่อไปว่า

ดูกร ภารทวาชะ บุรุษผู้รู้แจ้งเมื่อจะตามรักษาความจริง ไม่ควรจะถึงความตกลงใจในข้อนั้นโดยส่วนเดียวว่า สิ่งนี้แหละจริง สิ่งอื่นเปล่า

ขณะนี้ทุกท่านกำลังเป็นผู้ที่ตามรักษาความจริงหรือเปล่า คือ ต้องการความจริง แสวงหาความจริง ต้องการรู้อริยสัจจะ ไม่ต้องการความคลาดเคลื่อน ไม่ต้องการของเท็จ หรือไม่ต้องการของปลอม

กาปทิกมาณพเมื่อได้ฟังอย่างนั้น ก็ได้กราบทูลถามต่อไปว่า

ท่านพระโคดม ก็ด้วยปฏิบัติเพียงเท่าไรจึงจะชื่อว่า เป็นการตามรักษาสัจจะ และบุคคลย่อมตรัสรู้สัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร บุคคลย่อมบรรลุสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร

กาปทิกมาณพ กราบทูลถามถึง ๓ ข้อ คือ กราบทูลถามว่า

ก็ด้วยปฏิบัติเพียงเท่าไรจึงจะชื่อว่า เป็นการตามรักษาสัจจะ

การต้องการรู้แจ้งความจริง ไม่ใช่ความเท็จนั้น จะเป็นไปด้วยปฏิบัติเพียงเท่าไร ซึ่งในข้อนี้พระผู้มีพระภาคก็ได้ตรัสตอบว่า

เมื่อมีศรัทธา ก็ควรที่จะได้พิจารณาว่า สิ่งใดจริง ไม่ใช่ว่าปักใจเชื่อ

ไม่ใช่ว่า เมื่อฟังตามๆ กันมาแล้ว เชื่อตามๆ กันมาแล้ว ก็ชื่อว่า เป็นผู้ตามรักษาสัจจะ ไม่ใช่เช่นนั้น แต่ผู้ที่ชื่อว่า ตามรักษาสัจจะ คือ ผู้ที่ต้องการรู้สัจจะที่เป็นความจริง จะต้องไม่เป็นผู้ที่ปักใจเชื่อในสิ่งที่เพียงได้ยินได้ฟังตามๆ มา หรือว่าเชื่อตามๆ มา

ส่วนข้อ ๒ ที่ กาปทิกมาณพกราบทูลถามว่า

บุคคลย่อมตรัสรู้สัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ตามธรรมดาของบุคคลที่ต้องการแสวงหาความจริงนั้น ก็ย่อมจะไปหาภิกษุรูปใดรูปหนึ่ง แต่ว่าเมื่อไปแล้ว ก็อย่าเพิ่งปักใจ หรือว่าเชื่อโดยทันที แต่ว่าจะต้องใคร่ครวญธรรมของบุคคลนั้นว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ที่กล่าวธรรมด้วยความโลภหรือไม่ เป็นผู้ที่กล่าวธรรมด้วยความโกรธหรือไม่ เป็นผู้ที่กล่าวธรรมด้วยโมหะ ความไม่รู้ หรือไม่

เพราะเหตุว่าถ้าเป็นผู้ที่กล่าวธรรมด้วยความโลภ เป็นผู้ที่กล่าวธรรมด้วยความโกรธ เป็นผู้ที่กล่าวธรรมด้วยไม่รู้ ธรรมนั้นก็ย่อมไม่ใช่ความจริง ไม่ใช่สิ่งที่จะให้ปัญญารู้แจ้งในธรรมนั้นได้

ควรที่จะดูบุคคล พิจารณาธรรมซึ่งเป็นธรรมที่ลึกซึ้ง เห็นได้ยาก รู้ตามได้ยาก สงบ ประณีต ไม่หยั่งลงได้ แต่ด้วยความตรึกละเอียด บัณฑิตพึงรู้ได้

คือ รู้ว่าธรรมนั้นเป็นของจริง เป็นสัจธรรม ด้วยการใคร่ครวญบุคคลผู้กล่าวธรรม แล้วใคร่ครวญไตร่ตรองในธรรมว่า ธรรมที่บุคคลนั้นกล่าวเป็นธรรมที่ลึกซึ้ง หรือไม่ เห็นได้ยากหรือไม่ รู้ตามได้ยากหรือไม่ สงบประณีตหรือไม่

ส่วนคำถามข้อที่ ๓ ที่กาปทิกมาณพกราบทูลถามว่า

บุคคลย่อมบรรลุสัจจะ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่าไร

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

ดูกร ภารทวาชะ การเสพจนคุ้น การเจริญ การทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้นแล ชื่อว่า เป็นการบรรลุสัจจะ

ดูกร ภารทวาชะ การบรรลุสัจจะย่อมมีได้ ด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ บุคคลย่อมบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้ แล้วเราย่อมบัญญัติการบรรลุสัจจะด้วยข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้

ไม่ได้มีอะไรพิเศษที่จะต้องทำเลย นอกจากการเสพจนคุ้น การเจริญ การทำให้มากซึ่งธรรมเหล่านั้นแล เสพอะไรจนคุ้น นามรูปทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ เคยเสพลักษณะของนามและรูป ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แล้วหรือยัง กำลังเริ่มที่จะเสพ แต่ยังไม่คุ้น เพราะฉะนั้น การบรรลุสัจจะไม่ใช่ด้วยการปฏิบัติอย่างอื่นเลย

การเสพจนคุ้น การพิจารณานามทางตาจนคุ้น การพิจารณานามทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนคุ้น การมีสติระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏทางตาจนคุ้น การมีสติระลึกรู้ลักษณะของรูปที่ปรากฏทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ จนคุ้น


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 66

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 67