[คำที่ ๓o๙] อาลย
โดย Sudhipong.U  27 ก.ค. 2560
หัวข้อหมายเลข 32429

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ "อาลย"

คำว่า อาลย เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านออกเสียงตามภาษาบาลีว่า อา - ละ - ยะ] เขียนเป็นไทยได้ว่า อาลัย มีความหมายหลายอย่าง ทั้ง ความติดข้อง และ ที่ตั้งแห่งความติดข้อง หรือ วัตถุกาม เป็นการแสดงถึงความเป็นจริงของสภาพธรรม ทั้งความติดข้อง และ สิ่งที่โลภะติดข้อง ด้วย

ข้อความจาก สารัตถปกาสินี อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค อายาจนสูตร แสดงความจริงของความอาลัยและที่ตั้งของความอาลัย ด้วยข้ออุปมา ดังนี้ ว่า

“เหมือนอย่างว่า พระราชาเสด็จประพาสพระราชอุทยานที่สมบูรณ์ด้วยต้นไม้มีดอกผลเต็มไปหมดเป็นต้น ซึ่งเขาจัดไว้อย่างดี ย่อมทรงยินดี คือ ทรงเบิกบานรื่นเริง บันเทิงพระทัยด้วยสมบัตินั้น มิได้ทรงเบื่อ แม้เวลาเย็นก็ไม่ประสงค์จะเสด็จออก ฉันใด สัตว์ทั้งหลายย่อมยินดี คือ เบิกบาน ไม่เบื่ออยู่ในสังสารวัฏฏ์ ด้วยอาลัย คือ กาม (สิ่งที่เป็นที่ติดข้อง) และ อาลัย คือ ตัณหาทั้งหลาย เหล่านั้น ฉันนั้น”.


ธรรมเป็นสิ่งที่มีจริงๆ สิ่งที่มีจริงๆ เป็นสิ่งที่ใครๆ ก็เปลี่ยนแปลงลักษณะของสิ่งนั้นไม่ได้ เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น คำแต่ละคำที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เป็นคำจริง เป็นคำอนุเคราะห์เกื้อกูลให้มีความเข้าใจอย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริงของธรรม ว่า เป็นสิ่งที่มีจริง ที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรเหลือเลย สิ่งที่เกิดแล้วดับ ไม่กลับมาอีกเลย แม้แต่คำว่า อาลัย ก็มีความหมายอย่างลึกซึ้ง และกล่าวถึงสิ่งที่มีจริงๆ ในชีวิตประจำวัน นั่นก็คือ ความติดข้อง ติดแน่น ไม่พร้อมที่จะจากสิ่งนั้นไปเลย จึงกล่าวได้ว่าชีวิตประจำวันยากที่จะพ้นจากโลภะ มากไปด้วยโลภะ แต่ยังไม่รู้ว่าเป็นธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยจนกว่าจะได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจจริงๆ และเมื่อกล่าวถึงโลภะแล้วก็ต้องกล่าวถึงสิ่งที่โลภะติดข้องด้วย เพราะฉะนั้นแล้ว เมื่อกล่าวถึง อาลัย จึงหมายถึง ทั้งความติดข้องยินดีพอใจซึ่งเป็นกิเลสอกุศลธรรมประการหนึ่ง คือ โลภะหรือตัณหา และ กล่าวถึงสิ่งที่โลภะติดข้องด้วย ที่พอจะเข้าใจได้ ก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย) และ โดยละเอียดกว่านั้นคือ สิ่งใดก็ตามที่โลภะติดข้องได้ สิ่งนั้น ก็เป็น อาลัย ด้วย

ชีวิตประจำวันยังมีเยื่อใย ยังไม่สละ ยังติดข้องอยู่ แล้วสิ่งที่เป็นที่ติดข้องเป็นประจำก็คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ซึ่งเป็นวัฏฏะ (ธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไปอย่างไม่ขาดสาย) คือ เป็นชีวิตจริงๆ ทุกวัน วัฏฏะของเราก็ไม่พ้นจากความยินดีพอใจในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะเลย ซึ่งแท้ที่จริงแล้ว ก็เป็นความติดข้องยินดีพอใจในสิ่งที่ไม่มีอะไรเลย เพราะล้วนแล้วแต่เป็นสิ่งที่เกิดเพราะเหตุปัจจัยแล้วก็ดับไป ไม่มีอะไรเหลือเลยจริงๆ

ตราบใดที่ยังไม่มีปัญญาถึงขั้นที่จะดับความยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้อย่างเด็ดขาดบรรลุถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล ความยินดีพอใจในสิ่งเหล่านี้ ย่อมเกิดขึ้นมีเป็นธรรมดา เป็นไปตามเหตุตามปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครทั้งสิ้น จะเห็นได้ว่าปกติในชีวิตประจำวันของบุคคลผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น อกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่ากุศลจิต จะรู้หรือไม่รู้ก็ตาม ความจริงเป็นอย่างนี้ แต่ส่วนมากมักจะไม่รู้ว่ามีอกุศลจิตเกิดมากกว่า, อกุศล เกิดขึ้น ตามการสะสมของจิตในอดีตที่ได้สะสมกิเลสมาอย่างมากมายนับชาติไม่ถ้วน โดยเฉพาะโลภะ ซึ่งเป็นความติดข้องยินพอใจในสิ่งต่างๆ ติดข้องยินดีพอใจในรูป เสียง กลิ่น รส และ สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ซึ่งเป็นอาลัย (ที่ตั้งของโลภะ) ในชีวิตประจำวัน โลภะย่อมสะสมมากขึ้นทุกครั้งที่โลภมูลจิต (จิตที่มีโลภะเป็นมูล) เกิด เมื่อมีเหตุมีปัจจัยโลภะก็เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ เมื่อสะสมมากขึ้น มีกำลังมากขึ้น ย่อมเป็นเหตุให้กระทำอกุศลกรรมประการต่างๆ เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน ซึ่งในขณะที่ทำอกุศลกรรมนั้น ตนเองย่อมเดือดร้อนก่อน เพราะขณะนั้นได้สะสมอกุศล สะสมกิเลสอันเป็นเครื่องแผดเผาจิตใจให้เร่าร้อน และ เมื่ออกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วถึงคราวให้ผล ก็ทำให้ตนเองประสบกับความทุกข์ ความเดือดร้อน ได้รับสิ่งที่ไม่น่าปรารถนาไม่น่าใคร่ไม่น่าพอใจ อันเป็นผลของอกุศลกรรมที่ตนได้กระทำแล้ว โดยที่ไม่มีใครทำให้เลย กล่าวได้ว่าเดือดร้อนทั้งในขณะที่ทำและในขณะที่ให้ผล เนื่องจากว่า อกุศลกรรมให้ผลเป็นทุกข์เท่านั้น จะให้ผลเป็นสุขไม่ได้เลย นี้คือ ความเป็นจริง ซึ่งถ้าไม่ได้ฟังพระธรรม ไม่มีทางที่จะมีความเข้าใจอย่างถูกต้องได้เลย

ความติดข้องยินดีพอใจ ติดแน่นในสิ่งต่างๆ บ่อยๆ เนืองๆ เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน หน้าที่ของโลภะ ซึ่งเป็นความอาลัย นั้น คือ ติดข้อง ยินดีพอใจ ผูกพันกับสิ่งที่ติดข้อง ไม่ปล่อย ไม่สละ ไม่พร้อมที่จะจากสิ่งนั้น และเป็นสิ่งที่ขัดขวางไม่ให้กุศลธรรมเกิดขึ้น สิ่งที่เป็นที่ตั้งให้โลภะติดข้อง ก็ไม่พ้นไปจากสภาพธรรมที่มีจริงในชีวิตประจำวัน พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ว่า ที่ตั้งแห่งความติดข้องยินดีพอใจ ก็คือ สภาพธรรมที่เกิดดับ ที่เป็นวัฏฏะ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะกล่าวถึงสภาพธรรมนั้นโดยนัยใดก็ตาม ซึ่งก็ไม่พ้นไปจากนามธรรมและรูปธรรมที่เกิดเพราะเหตุปัจจัย ความติดข้องยินดีพอใจ ซึ่งเป็นความอาลัย เกิดขึ้นเป็นไปในชีวิตประจำวัน ไม่ใช่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ แต่สิ่งที่น่าอัศจรรย์ คือ แม้ว่าจะมีโลภะ มีความติดข้องต้องการ แต่สะสมศรัทธามา สะสมเหตุที่ดีมาตั้งแต่ปางก่อน ที่จะเป็นเหตุทำให้เป็นผู้เห็นประโยชน์ของพระธรรม จึงมีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา ขัดเกลากิเลสของตนเอง ขณะใดก็ตามที่มีการฟังพระธรรม ซึ่งเป็นทางออกจากความติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ แสดงว่าผู้นั้นมีความสนใจ เห็นประโยชน์ของพระธรรม เข้าไปตั้งจิตเพื่อจะรู้ทั่วถึงธรรมตามความเป็นจริง นี้คือ สิ่งที่น่าอัศจรรย์อย่างแท้จริง

การถึงความน่าอัศจรรย์ดังกล่าวนี้ได้ ก็ต้องได้ฟังได้ศึกษาพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง เพราะพระธรรมทั้งหมดที่พระองค์ทรงแสดง เป็นไปเพื่อละความอาลัย กล่าวคือ เพื่อละความติดข้องยินดีพอใจจนหมดสิ้น ไม่ต้องมีการเกิดอีกในภพใหม่ ไม่ต้องเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฏฏ์อีก ถึงความเป็นผู้สิ้นทุกข์โดยประการทั้งปวง ซึ่งก็จะต้องเริ่มที่การฟังพระธรรมด้วยความเคารพ ไม่ประมาทในคำแต่ละคำที่เป็นวาจาสัจจะ ค่อยๆ สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูกไปทีละเล็กทีละน้อย ไม่ขาดการฟังพระธรรมเป็นปกติในชีวิตประจำวัน เพราะขณะที่ประเสริฐที่สุดของการได้เกิดมาเป็นบุคคลนี้ คือ ได้เข้าใจพระธรรม.


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 12 มี.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ