[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 426
๑๗. โกธวรรควรรณนา
๑. เรื่องเจ้าหญิงโรหิณี [๑๗๔]
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 42]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 426
๑๗. โกธวรรควรรณนา
๑. เรื่องเจ้าหญิงโรหิณี [๑๗๔]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในนิโครธาราม ทรงปรารภเจ้าหญิงโรหิณี ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "โกธํ ชเห" เป็นต้น.
สร้างโรงฉันหายจากโรคผิวหนังได้
ได้ยินว่า สมัยหนึ่ง พระอนุรุทธผู้มีอายุได้ไปเมืองกบิลพัสดุ์พร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐. ครั้งนั้นพวกพระญาติของท่าน ทรงสดับว่า พระเถระมา จึงได้ไปสู่สำนักพระเถระ เว้นแต่พระน้องนางของพระเถระชื่อโรหิณี. พระเถระถามพวกพระญาติว่า "พระนางโรหิณีอยู่ไหน?"
พวกพระญาติ. อยู่ในตำหนัก เจ้าข้า.
พระเถระ. เหตุไร? จึงไม่เสด็จมา.
พวกพระญาติ. พระนางไม่เสด็จมาเพราะทรงละอายว่า โรคผิวหนังเกิดที่สรีระของเขา เจ้าข้า.
พระเถระ กล่าวว่า "ท่านทั้งหลายจงเชิญพระนางเสด็จมาเถิด" ให้ไปเชิญพระนางเสด็จมาแล้ว จึงกล่าวอย่างนี้ กะพระนางผู้ทรงฉลองพระองค์เสด็จมาแล้วว่า "โรหิณี เหตุไร? เธอจึงไม่เสด็จมา."
พระนางโรหิณี. ท่านผู้เจริญ โรคผิวหนังเกิดขึ้นที่สรีระของหม่อมฉัน; เหตุนั้น หม่อมฉันจึงมิได้มาด้วยความละอาย.
พระเถระ. ก็เธอทรงทำบุญไม่ควรหรือ?
พระนางโรหิณี. จะทำอะไร? เจ้าข้า.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 427
พระเถระ. จงให้สร้างโรงฉัน.
พระนางโรหิณี. หม่อมฉันจะเอาอะไรทำ?
พระเถระ. ก็เครื่องประดับของเธอไม่มีหรือ?
พระนางโรหิณี. มีอยู่ เจ้าข้า.
พระเถระ. ราคาเท่าไร?
พระนางโรหิณี. จักมีราคาหมื่นหนึ่ง.
พระเถระ. ถ้ากระนั้น จงขายเครื่องประดับนั้น ให้สร้างโรงฉันเถิด.
พระนางโรหิณี. ใครเล่า? จักทําให้หม่อมฉัน เจ้าข้า.
พระเถระ. แลดูพระญาติซึ่งยืนอยู่ในที่ใกล้แล้ว กล่าวว่า "ขอจง เป็นภาระของพวกท่านทั้งหลาย."
พวกพระญาติ. ก็พระคุณเจ้าจักทำอะไรหรือ? เจ้าข้า.
พระเถระ. แม้อาตมภาพก็จักอยู่ในที่นี้เหมือนกัน, ถ้ากระนั้นพวก ท่านจงนำทัพพสัมภาระมาเพื่อโรงฉันนี่.
พวกพระญาตินั้น ตรัสว่า "ดีละ เจ้าข้า" จึงนำมาแล้ว.
พระเถระ. เมื่อจะจัดโรงฉัน จึงกล่าวกะพระนางโรหิณีว่า "เธอ จงให้ทำโรงฉันเป็น ๒ ชั้น จำเดิมแต่กาลที่ให้พื้นชั้นบนเรียบแล้วจงกวาดพื้นล่าง แล้วให้ปูอาสนะไว้เสมอๆ, จงให้ตั้งหม้อน้ำดื่มไว้เสมอๆ." พระนางรับคำว่า "ดีละ เจ้าข้า" แล้วจำหน่ายเครื่องประดับ ให้ทำโรงฉัน ๒ ชั้น เริ่มแต่กาลที่ให้พื้นชั้นบนเรียบแล้ว ได้ทรงทำกิจมีการ กวาดพื้นล่างเป็นต้นเนืองๆ. พวกภิกษุก็นั่งเสมอๆ.
ลำดับนั้น เมื่อพระนางกวาดโรงฉันอยู่นั่นแล. โรคผิวหนังก็ราบ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 428
ไปแล้ว. เมื่อโรงฉันเสร็จ พระนางนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขแล้ว ได้ถวายขาทนียะและโภชนียะที่ประณีตแด่ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขซึ่งนั่งเต็มโรงฉัน.
พระศาสดา ทรงทำภัตกิจเสร็จแล้ว ตรัสถามว่า "นี่เป็นทาน ของใคร?"
พระอนุรุทธ. ของโรหิณีพระน้องนางของข้าพระองค์ พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. ก็นางไปไหน?
พระอนุรุทธ. อยู่ในตำหนัก พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. พวกท่านจงไปเรียกนางมา.
พระนางไม่ประสงค์จะเสด็จมา. ทีนั้น พระศาสดารับสั่งให้เรียก พระนางแม้ไม่ปรารถนา (จะมา) จนได้, ก็แลพระศาสดาตรัสกะพระนาง ผู้เสด็จมาถวายบังคม ประทับนั่งแล้วว่า "โรหิณี เหตุไรเธอจึงไม่มา?"
พระนางโรหิณี. "โรคผิวหนังมีที่สรีระของหม่อมฉัน พระเจ้าข้า. หม่อมฉันละอายด้วยโรคนั้น. จึงมิได้มา."
พระศาสดา. ก็เธอรู้ไหมว่า โรคนั้นอาศัยกรรมอะไรของเธอ จึง เกิดขึ้น?
พระนางโรหิณี. หม่อมฉันไม่ทราบ พระเจ้าข้า.
พระศาสดา. โรคนั้นอาศัยความโกรธของเธอ จึงเกิดขึ้นแล้ว.
พระนางโรหิณี. ก็หม่อมฉันทำกรรมอะไรไว้? พระเจ้าข้า.
บุรพกรรมของพระนางโรหิณี
ลำดับนั้น พระศาสดาทรงนำอดีตนิทานมา (ตรัสแก่พระนาง) ว่า:-
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 429
ในอดีตกาล พระอัครมเหสีของพระเจ้าพาราณสี ผูกอาฆาตในหญิงนักฟ้อนของพระราชาองค์หนึ่ง ทรงดำริว่า "เราจักให้ทุกข์เกิดแก่หญิงนั้น" แล้วให้เขานำลูกเต่าร้างใหญ่ (๑) มารับสั่งให้เรียกหญิงนักฟ้อนนั้น มายังสำนักของตนแล้ว. ให้ใส่ผงเต่าร้างบนที่นอน ที่ผ้าห่ม และที่ระหว่างเครื่องใช้ มีผ้าปูที่นอนเป็นต้นของหญิงนักฟ้อนนั้น โดยประการที่นางไม่ทันรู้ตัว. โปรยลงแม้ที่ตัวของนาง ราวกะทำความเย้ยหยันเล่น ทันใดนั้นเอง สรีระของหญิงนั้นได้พุพองขึ้นเป็นตุ่มน้อยตุ่มใหญ่. นางเกาอยู่ ไปนอนบนที่นอน. เมื่อนางถูกผงเต่าร้างกัดแม้บนที่นอนนั้น เวทนากล้ายิ่งนักเกิดขึ้นแล้ว. พระอัครมเหสีในกาลนั้นได้เป็นพระนางโรหิณี.
พระศาสดา ครั้นทรงนำอดีตนิทานั้นมาแล้ว ตรัสว่า "โรหิณี ก็กรรมนั่นที่เธอทำแล้วในกาลนั้น, ก็ความโกรธก็ดี ความริษยาก็ดี แม้มีประมาณเล็กน้อย ย่อมไม่ควรทำเลย" ดังนี้แล้ว จึงตรัสพระคาถานี้ว่า :-
๑. โกธํ ชเห วิปฺปชเหยฺย มานํ
สญฺโชนํ (๒) สพฺพมติกฺกเมยฺย
ตนฺนามรูปสฺมึ อสชฺชมานํ
อกิญฺจนํ นานุปตนฺติ ทุกฺขา.
"บุคคลพึงละความโกรธ, สละความถือตัว,
ล่วงสังโยชน์ทั้งสิ้นได้ ทุกทั้งหลายย่อมไม่ตกต้อง,
บุคคลนั้น ผู้ไม่ข้องในนามรูป ไม่มีกิเลสเครื่องกังวล."
๑. แปลว่า หมามุ้ยใหญ่ ก็มี. ๒. อรรถกถา เป็น สํโยชนํ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 430
แก้อรรถ
บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า โกธํ ความว่า พึงละความโกรธทุกๆ อาการก็ดี มานะ ๙ อย่างก็ดี.
บทว่า สํโยชนํ ความว่า พึงล่วงสังโยชน์ทั้ง ๑๐ อย่าง มีกามราคสังโยชน์เป็นต้น.
บทว่า อสชฺชมานํ ความว่า ไม่ข้องอยู่. อธิบายว่า ก็ผู้ใดยึดถือนามรูปโดยนัยว่า "รูปของเรา, เวทนาของเรา เป็นต้น และเมื่อนามรูปนั้นแตกไป. ย่อมเศร้าโศกเดือดร้อน; ผู้นี้ชื่อว่าข้องอยู่ในนามรูป; ส่วนผู้ไม่ยึดถืออย่างนั้น ชื่อว่าย่อมไม่ขัดข้อง; ขึ้นชื่อว่าทุกข์ทั้งหลาย ย่อมไม่ตกต้องบุคคลนั้น ผู้ไม่ข้องอยู่อย่างนั้น ผู้ชื่อว่าไม่มีกิเลสเครื่องกังวล เพราะไม่มีราคะเป็นต้น.
ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น.
แม้พระนางโรหิณี ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล. สรีระของพระนาง ได้มีวรรณะดุจทองคำ ในขณะนั้นเอง. พระนางจุติจากอัตภาพนั้นแล้ว เกิดในระหว่างเขตแดนของเทพบุตร ๔ องค์ ในภพดาวดึงส์ ได้เป็นผู้น่าเลื่อมใส ถึงความเป็นผู้มีรูปงามเลิศ เทพบุตรทั้ง ๔ องค์เห็นนางแล้ว เป็นผู้เกิดความสิเนหา วิวาทกันว่า "นางเกิดภายในแดนของเรา, นางเกิดภายในแดนของเรา." ไปสู่สำนักของท้าวสักกเทวราช กราบทูลว่า "ข้าแต่เทพเจ้า ข้าพระองค์ทั้งสี่เกิดคดีขึ้น เพราะอาศัยเทพธิดานี้, ขอ พระองค์ทรงวินิจฉัยคดีนั้น." แม้ท้าวสักกะ แต่พอได้ทรงเห็นพระนางก็เป็นผู้เกิดสิเนหา ตรัสอย่างนั้นว่า "จําเดิมแต่กาลที่พวกท่านเห็นเทพธิดา
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้า 431
นี้แล้ว จิตเกิดขึ้นอย่างไร.?"
ลำดับนั้น เทพบุตรองค์หนึ่งกราบทูลว่า "จิตของข้าพระองค์ เกิดขึ้นดุจกลองในคราวสงครามก่อน ไม่อาจสงบลงได้เลย."
องค์ที่ ๒ จิตของข้าพระองค์ [เกิดขึ้น] เหมือนแม่น้ำตกจากภูเขา ย่อมเป็นไปเร็วพลันทีเดียว.
องค์ที่ ๓. จำเดิมแต่กาลที่ข้าพระองค์เห็นนางนี้แล้ว ตาทั้งสอง ถลนออกแล้ว ดุจตาของปู.
องค์ที่ ๔. จิตของข้าพระองค์ประดุจธงที่เขายกขึ้นบนเจดีย์ ไม่สามารถจะดำรงนิ่งอยู่ได้.
ครั้งนั้น ท้าวสักกะตรัสกะเทพบุตรทั้งสี่นั้นว่า "พ่อทั้งหลาย จิต ของพวกท่านยังพอข่มได้ก่อน ส่วนเราเมื่อได้เห็นเทพธิดานี้ จึงจักเป็นอยู่, เมื่อเราไม่ได้ จักต้องตาย."
พวกเทพบุตรจึงทูลว่า " ข้าแต่มหาราช พวกข้าพระองค์ไม่มีความต้องการด้วยความตายของพระองค์ " แล้วต่างสละเทพธิดานั้นถวายท้าวสักกะแล้วหลีกไป. เทพธิดานั้นได้เป็นที่รักที่พอพระหฤทัยของท้าวสักกะ. เมื่อนางกราบทูลว่า "หม่อมฉันจักไปสู่สนามเล่นชื่อโน้น" ท้าวสักกะก็ไม่สามารถจะทรงขัดคำของนางได้เลย ดังนี้แล.
เรื่องเจ้าหญิงโรหิณี จบ.