ไม่พัก ไม่เพียร
โดย ใหญ่ราชบุรี  20 ก.ย. 2557
หัวข้อหมายเลข 25559

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ซึ่งเป็นผู้ไกลจากกิเลส ตรัสรู้ชอบได้โดยพระองค์เอง

บ้านธัมมะ>ฟังธรรม>ธรรมะเตือนใจ

ไม่พักไม่เพียร

ขอขอบพระคุณและขออนุโมทนาสำหรับกุศลทุกประการของทุกๆ ท่านค่ะ

ด้วยความเคารพยิ่ง จาก ธิดารัตน์ เดื่อมขันมณี (ใหญ่ราชบุรี)

ข้อความโดย มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา

กิเลสเหมือนห้วงน้ำใหญ่ จะข้ามพ้นได้อย่างไร และ ข้อความในพระไตรปิฎกที่ว่าไม่พัก ไม่เพียร จึงข้ามห้วงน้ำได้ หมายความว่าอย่างไร


ส. ห้วงน้ำใหญ่คือกิเลส วันนี้ข้ามบ้างไหม มีโอฆะ มีห้วงน้ำใหญ่หรือเปล่า ตั้งแต่ลืมตามา ทั้งทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ

ธิ. ไม่พัก ไม่เพียร จะข้ามโอฆะได้หรือ

ส. ขณะที่เข้าใจ ไม่พัก ไม่เพียร พัก คือ ไม่ฟัง ไม่เข้าใจ สนุกสนานทั้งวัน เดือน ปี แล้วก็จากโลกนี้ไป พักไม่สามารถจะเข้าใจได้ แต่ถ้ามีความเห็นผิดเพียรอยากจะถึงนิพพาน เพียรเป็นตัวตนที่จะทำอย่างนั้นอย่างนี้ ซึ่งขณะนั้นก็ไม่ใช่หนทาง

เพราะฉะนั้น คำนี้จริงๆ ลึกซึ้งมาก ไม่พัก ไม่เพียร คือไม่ได้หลงอยู่ในความไม่รู้และความติดข้อง พักอยู่สบายๆ เวลาที่ได้ยินคำว่า “ไม่ต้องทำอะไร” คนก็บอกว่า นี่ไงบอกว่าไม่ต้องทำอะไร ก็ไม่ต้องทำ ก็คือพัก นั่นคือไม่ได้เข้าใจคำที่ได้ยินเลย คิดเองหมด ได้ยินคำอะไรก็คิดเอง แต่ธรรมะต้องศึกษาแต่ละคำที่ได้กล่าว แม้แต่มีผู้ที่กล่าวหาพระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าด้วยถ้อยคำต่างๆ พระองค์ก็ใช้คำนั้นอธิบายให้เขาเข้าใจว่า พระองค์ไม่ได้เป็นอย่างนั้น

เพราะฉะนั้น ก็แสดงให้เห็นว่า เวลาได้ยินได้ฟังคำอะไร ไม่ใช่ไปคิดเองว่า หมายความว่าอย่างนี้ แต่ต้องรู้ว่า คำนั้นหมายความว่าอะไร ไม่พัก คือ รู้ว่าจะมีชีวิตอย่างนี้โดยไม่รู้สภาพธรรมะที่กำลังปรากฏให้รู้ คิดดู ไม่ใช่ไม่มีอะไรจะให้รู้ให้เข้าใจ มีสิ่งที่กำลังปรากฏเป็นสิ่งที่ควรรู้ ควรเข้าใจ แล้วจะพักไม่รู้ ไม่เข้าใจ ก็ลองคิดเอง มีสิ่งที่ปรากฏให้รู้ให้เข้าใจ แต่ก็ไม่รู้ บางคนก็ไม่อยากจะรู้ด้วย

ธิ. แล้วเพียรล่ะคะ

ส. ถ้าเข้าใจผิด ได้ยินแค่คำนี้ เพียรเลย เราเพียร เพราะบอกให้เพียร ก็ไม่ใช่เราที่เพียร เพียรต้องด้วยความเห็นถูกต้อง เพียรที่จะมีความเห็นที่ถูกต้องในสิ่งที่กำลังปรากฏ เพราะฉะนั้น ถ้าไม่ฟังเลย เพียรอย่างไรที่จะมีความเห็นถูกต้องในสิ่งที่ปรากฏ เป็นไปไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น ก็ต้องตามลำดับขั้น ถ้ารู้จริงๆ โดยนัยของสภาพธรรมะที่เป็นอภิธรรมะที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง ก็จะรู้ว่า สภาพเพียรมีจริง เป็นเจตสิก ไม่ใช่จิต ภาษาบาลีจะใช้คำว่า “วิริยเจตสิก” เกิดกับจิตใดบ้าง จากการที่ทรงตรัสรู้ ไม่ใช่เราอยากจะเพียร แล้วเป็นเราเพียร โดยที่ว่าขณะนั้นเพียรเกิดแล้ว จิตนั้นๆ ก็ไม่รู้ว่าเพียร นี่ก็เป็นเรื่องที่ต้องอาศัยการศึกษาจริงๆ เพื่อเข้าใจ ไม่ใช่ศึกษาเพื่อชื่อว่าศึกษา แต่ไม่เข้าใจ อย่างนั้นไม่ใช่ผู้ศึกษาแน่นอน

ธิ. หมายถึงไม่ได้พักด้วยอกุศล และไม่เพียรด้วยอกุศล

ส. ถูกต้อง



ความคิดเห็น 1    โดย ใหญ่ราชบุรี  วันที่ 20 ก.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๗ สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต นฬวรรคที่ ๑ โอฆตรณสูตรที่ ๑

[๑] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้- สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว เทวดาองค์หนึ่ง มีวรรณงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่าง เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาค ถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว ถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาค แล้วได้ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ฯ

[๒] เทวดานั้น ยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ข้าพระองค์ขอทูลถาม พระองค์ ข้ามโอฆะได้อย่างไร

พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ท่านผู้มีอายุ เราไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่ ข้ามโอฆะได้แล้ว

ท. ข้าแต่พระองค์ผู้ไม่มีทุกข์ ก็พระองค์ ไม่พักไม่เพียร ข้ามโอฆะได้ อย่างไรเล่า ฯ

พ. ท่านผู้มีอายุ เมื่อใด เรายังพักอยู่ เมื่อนั้น เรายังจมอยู่โดยแท้

เมื่อใด เรายังเพียรอยู่ เมื่อนั้น เรายังลอยอยู่โดยแท้

ท่านผู้มีอายุ เราไม่พัก เราไม่เพียร ข้ามโอฆะได้แล้ว อย่างนี้แล ฯ

เทวดานั้นกล่าวคาถานี้ว่า นานหนอ ข้าพเจ้าจึงจะ เห็น ขีณาสวพราหมณ์ ผู้ดับรอบแล้ว

ไม่พัก ไม่เพียรอยู่ ข้ามตัณหา เป็น เครื่องเกาะเกี่ยว ในโลก

[๓] เทวดานั้นกล่าวคำนี้แล้ว พระศาสดาทรงอนุโมทนา ครั้งนั้นแล เทวดานั้นดำริว่า พระศาสดา ทรงอนุโมทนา คำของเรา จึงถวายอภิวาท พระผู้มีพระภาค ทำประทักษิณ แล้วก็หายไป ณ ที่นั้นแล ฯ

เนื้อความพระไตรปิฎก เล่มที่ ๑๕ บรรทัดที่ ๑ - ๒๙. หน้าที่ ๑ - ๒.


ความคิดเห็น 2    โดย ใหญ่ราชบุรี  วันที่ 21 ก.ย. 2557

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ส่วนหนึ่งจาก ...

อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต นฬวรรคที่ ๑

โอฆตรณสูตรที่ ๑

ว่าด้วย กัปปศัพท์

๑. ก็ ”กัปปศัพท์” นี้ มีอรรถเป็นอเนก เช่น ในอรรถว่า “เชื่อมั่น หรือ วางใจได้” ในอรรถว่า”โวหาร” ในอรรถว่า”กาล” ในอรรถว่า”บัญญัติ” ในอรรถว่า”การตัดหรือโกน” ในอรรถว่า ”วิกัปปะ (ประมาณหรือควร) ” ในอรรถว่า ”เลส (เลสนัย หรือ ข้ออ้างเล็กๆ น้อยๆ ) ” ในอรรถว่า ”โดยรอบ” เป็นต้น

๒. จริงอย่างนั้น “กัปปศัพท์”ที่ใช้ในอรรถว่า”เชื่อมั่น” เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า โอกปฺปนียเมตํ โภโต โคตมสฺส ยถาตํ อรหโต สมฺมาสมฺพุทฺธสฺส แปลว่า ข้อนั้น ควรวางใจได้ ว่า ท่านพระโคดมผู้เจริญ เป็น พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า

๓.”กัปปศัพท์”ที่ใช้ในอรรถว่า ”โวหาร (คำชี้แจง) ” เช่น ในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า อนุชานามิ ภิกฺขเว ปญฺจหิ สมณกปฺเปหิ ผลํ ปริภุญฺชิตุ ํ แปลว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาต เพื่อ การบริโภคผลโดยทำกัปปะของสมณะ ๕ อย่าง๑-


๑- กัปปะ ๕ ในพระวินัย เรียกว่า ทำ กัปปิยะ คือ

อคฺคิปริจิตํ ผลที่ลนไฟ

สตฺถปริจิตํ ผลที่เจาะด้วยศาสตรา

นขปริจิตํ ผลที่เจาะด้วยเล็บ

อพีชํ ผลที่ไม่เป็นพืช

นิพฺพฏฺพีชํ ผลที่เอาเม็ดออกแล้ว
๔. ”กัปปศัพท์”ที่ใช้ในอรรถว่า”กาล” เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า เยน สุทํ นิจฺจกปฺปํ วิหรามิ แปลว่า ทราบว่า เราจะอยู่ตลอดกาลเป็นนิตย์.

๕. กัปปศัพท์ที่ใช้ในอรรถว่า”บัญญัติ” (หมายถึง นามบัญญัติ คือ การตั้งชื่อ) เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า อิจฺจายสฺมา กปฺโป แปลว่า ด้วยเหตุนี้ ท่านผู้มีอายุ จึงมี ชื่อว่า กัปปะ

๖. ”กัปปศัพท์”ที่ใช้ในอรรถว่า”โกนตัด” เช่น ในประโยคมีอาทิอย่างนี้ว่า อลงฺกตา กปฺปิตเกสมสฺสุ แปลว่า โกน ผมและหนวด เสร็จแล้ว

๗. ”กัปปศัพท์”ที่ใช้ในอรรถว่า”วิกัปปะ” (ประมาณและควร) เช่น ในประโยค มีอาทิอย่างนี้ว่า กปฺปติ ทฺวงฺคุลกปฺโป แปลว่า ประมาณ พระอาทิตย์ คล้อย ๒ องคุลี ก็ควร

๘. ”กัปปศัพท์”ที่ใช้ในอรรถว่า ”เลส” (เหตุเล็กน้อย) เช่น ในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า อตฺถิ กปฺโป นิปชฺชิตุ ํ แปลว่า เหตุเล็กน้อย เพื่อจะเอนกาย มีอยู่.

๙. ”กัปปศัพท์”ที่ใช้ในอรรถว่า” โดยรอบ” เช่นในประโยคที่มีอาทิอย่างนี้ว่า เกวลกปฺปํ เวฬุวนํ โอภาเสตฺวา แปลว่า ยังพระเชตวันโดยรอบทั้งสิ้น ให้สว่างไสวแล้ว

๑๐. แต่ ”กัปปศัพท์” ในที่นี้ ท่านประสงค์เอา ในอรรถว่า “โดยรอบ” เพราะฉะนั้น ในคำว่า เกวลกปฺปํ เชตวนํ นี้ บัณฑิต พึงเห็นอย่างนี้ว่า ยัง พระวิหารเชตวัน โดยรอบ ทั้งสิ้น ดังนี้

๑๑. บทว่า โอภาเสตฺวา ได้แก่ แผ่ไป ซึ่ง รัศมี อันเกิดขึ้นจาก ผ้า เครื่องประดับ และ สรีระ กระทำ ให้มีรัศมีเดียวกัน ให้มีโอกาสเดียวกัน ดุจ พระจันทร์ และ พระอาทิตย์

๑๒. บทว่า เยน ในข้อว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ นี้เป็น ตติยาวิภัตติ ลงในอรรถแห่ง สัตตมีวิภัตติ ฉะนั้น พึงทราบเนื้อความในที่นี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับอยู่ ณ ที่ใด เทวบุตรนั้น ก็เข้าไปเฝ้า ณ ที่นั้น ดังนี้

๑๓. อีกอย่างหนึ่ง พึงเห็นเนื้อความในที่นี้อย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า อัน เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พึงเข้าไปเฝ้า ด้วยเหตุใด เทวบุตรนั้น ก็เข้าไปเฝ้าแล้วด้วยเหตุนั้น ดังนี้

๑๔. ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้า อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พึงเข้าไปเฝ้า

๑๕. ตอบว่า เพราะ ท่านเหล่านั้น มีความประสงค์ เพื่อจะบรรลุคุณวิเศษ มีประการต่างๆ เปรียบเหมือน ต้นไม้ใหญ่ ที่ผลิตผล ตลอดฤดูกาล อันฝูงนกทั้งหลาย พากันไปยัง ต้นไม้นั้น ด้วยประสงค์ จะจิกกิน ซึ่งผล มีรสอร่อย ฉะนั้น

๑๖. อนึ่ง บทว่า อุปสงฺกมิ มีคำอธิบายว่า ไปแล้ว

๑๗. บทว่า อุปสงฺกมิตฺวา นี้เป็นบทแสดงถึง เวลาสิ้นสุดลง ของ เวลาเข้าเฝ้า

๑๘. อีกอย่างหนึ่ง ข้อนี้มีคำอธิบายว่า เทวบุตรนั้น ไปแล้ว อย่างนี้ คือ ไปสู่สถานที่ซึ่งใกล้กว่านั้น กล่าวคือ ที่ใกล้ พระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ก็มี

๑๙. บัดนี้ เทวบุตรนั้น มาสู่ ที่บำรุงแห่ง บุคคลผู้เลิศในโลก ด้วยประโยชน์อันใด เป็นผู้ใคร่ เพื่อทูลถาม ถึงประโยชน์อันนั้น จึงทำอัญชลีกรรม อันรุ่งเรืองแล้วด้วยอันประชุมแห่ง เล็บทั้งสิบ นมัสการ ประดิษฐานไว้ เหนือศีรษะแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ส่วนข้างหนึ่ง

๒๐. ศัพท์ว่า เอกมนฺตํ เป็นศัพท์แสดง ภาวนปุงสกลิงค์ ดุจใน คำทั้งหลาย มีคำว่า พระจันทร์และพระอาทิตย์ หมุนเวียนไป มิได้สม่ำเสมอกัน เป็นต้น. เพราะฉะนั้น บัณฑิตพึงทราบเนื้อความในที่นี้ว่า เทวบุตรนั้นได้ยืนอยู่แล้วโดยกิริยาที่ยืนอยู่แล้วนั้น ชื่อว่า ยืนอยู่แล้ว ณ ที่สมควร ส่วนข้างหนึ่ง

๒๑. อีกนัยหนึ่ง คำว่า เอกมนฺตํ นี้เป็น ทุติยาวิภัตติ ใช้ในอรรถแห่ง สัตตมีวิภัตติ

๒๒. บทว่า อฏฺฐาสิ ได้แก่ ย่อมสำเร็จ ซึ่งอิริยาบถ ยืน

๒๓. จริงอยู่ เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย ผู้เป็นบัณฑิต เข้าไปเฝ้า พระผู้มีพระภาคเจ้า ผู้ควรเคารพ ในฐานครู ย่อมยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง เพราะ ความที่ ตน เป็นผู้ฉลาด ในการนั่ง. ก็เทวดานี้ เป็นองค์ใดองค์หนึ่ง ในบรรดา ผู้เป็นบัณฑิตเหล่านั้น เพราะฉะนั้น จึงได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ส่วนข้างหนึ่ง ดังนี้

๒๔. ถามว่า ก็ยืนอยู่อย่างไร จึงชื่อว่า ยืนอยู่ ณ ที่สมควร ส่วนข้างหนึ่ง

๒๕. ตอบว่า เว้นโทษของการยืน ๖ อย่าง คือ

ยืนไกลเกินไป

ยืนใกล้เกินไป

ยืนเหนือลม

ยืนในที่สูง

ยืนตรงหน้าเกินไป

ยืนข้างหลังเกินไป

๒๖. จริงอยู่ บุคคลผู้ยืนไกลเกินไป ถ้าประสงค์จะพูด ก็จะต้องพูดเสียงดัง ถ้ายืนใกล้เกินไป ย่อมจะเบียดเสียดกัน ถ้ายืนเหนือลม ย่อมเดือดร้อนด้วยกลิ่นตัว ถ้ายืนในที่สูง ย่อมประกาศถึงความไม่เคารพ ยืนตรงหน้าเกินไป ถ้าประสงค์จะมอง ก็จะต้องจ้องตากัน. ยืนข้างหลังเกินไป ถ้าใคร่จะเห็นหน้า ก็จะต้องชะเง้อคอดู เพราะฉะนั้น แม้เทวบุตรนี้ ก็ยืนเว้นโทษ ๖ เหล่านี้ ด้วยเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวไว้ว่า เอกมนฺตํ อฏฺฐาสิ แปลว่า ได้ยืนอยู่แล้ว ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง

๒๗. บทว่า เอตทโวจ แยกบทเป็น เอตํ อโวจ แปลว่า ได้กราบทูลคำนี้

๒๘. บทว่า กถํ นุ เป็น การณปุจฉา

๒๙. จริงอยู่ ความที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงข้ามโอฆะได้แล้ว ปรากฏแก่หมื่นโลกธาตุ ด้วยเหตุนั้น ความสงสัยของเทวดานี้ ในที่นี้ว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงข้ามโอฆะได้แล้วด้วยเหตุนี้ จะไม่ทรงทราบอะไรๆ ย่อมไม่มี ด้วยเหตุนั้น เทวดานั้น เมื่อจะทูลถามถึง เหตุที่ทรงข้ามโอฆะนั้น จึงกราบทูลอย่างนี้

๓๐. บทว่า มาริส นี้เป็น คำร้องเรียก ด้วยถ้อยคำ อันไพเราะ

๓๑. อธิบายว่า “ผู้ไม่มีทุกข์” ดังนี้ ผิว่า ครั้นเมื่อความเป็น อย่างนั้น มีอยู่ เมื่อใด บุคคลถูกเสียบแทงหัวใจด้วยหลาว / หรือ เมื่อเราไหม้อยู่ในนรกสักพันปี ดังนี้ คำว่า มาริสะ นี้ย่อมคลาดเคลื่อนไป เพราะว่า สัตว์นรก ที่ชื่อว่า ผู้ไม่มีทุกข์ หามีไม่ สัตว์นรกเป็นผู้ไม่ปราศจากทุกข์ แม้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านก็เรียกว่า มาริส (ท่านผู้ไม่มีทุกข์) ด้วยเสียงของผู้เจริญแล้ว

๓๒. ได้ยินว่า ในกาลก่อน โวหารว่า มาริส นี้เป็นของ มนุษย์ต้นกัลป์ ผู้ไม่มีทุกข์ ผู้สมบูรณ์ด้วยความสุข ต่อมาภายหลัง ความทุกข์ จะมีหรือไม่ ก็ตาม ท่านก็ยังเรียกคำนี้ ด้วยเสียงของผู้เจริญแล้ว นั่นแหละ เหมือน สระบัวทั้งหลาย ที่ ไม่มีดอกบัวก็ดี ไม่มีน้ำก็ดี ท่านก็เรียกว่า สระบัว ฉะนั้น.
๓๓.โอฆะ ๔ ในพระบาลีว่า โอฆมตริ นี้คือ กาโมฆะ ภโวฆะ ทิฏโฐฆะ และ อวิชโชฆะ

๓๔. ในโอฆะเหล่านั้น ความยินดีพอใจ ในกามคุณ ๕ ชื่อว่า กาโมฆะ ความยินดีพอใจในรูปารูปภพและความใคร่ในฌาน ชื่อว่า ภโวฆะ ทิฏฐิ ๖๒ ชื่อว่า ทิฏโฐฆะ ความไม่รู้ในสัจจะ ๔ ชื่อว่า อวิชโชฆะ

๓๔. ใน บรรดา โอฆะ ๔ เหล่านั้น กาโมฆะ ย่อมเกิดขึ้นใน จิตตุปบาท อันสหรคตด้วย โลภะ ๘ ดวง ภโวฆะ ย่อมเกิดขึ้นใน จิตตุปบาท อันสหรคตด้วย โลภทิฏฐิคตวิปปยุต ๔ ดวง ทิฏโฐฆะ ย่อมเกิดขึ้นใน จิตตุปบาท อันสัมปยุตด้วย ทิฏฐิคตะ ๔ ดวง อวิชโชฆะ ย่อมเกิดขึ้นใน อกุศลทั้งปวง

๓๕. ก็ธรรมทั้งหมดนี้ ชื่อว่า โอฆะ เพราะอรรถว่า เป็นเหตุนำสัตว์ไป และเพราะอรรถว่า เป็นหมู่ใหญ่

๓๖. คำว่า เพราะอรรถว่าเป็นเหตุนำสัตว์ไป อธิบายว่า เป็นเหตุให้ตกไปในเบื้องต่ำ

๓๗. จริงอยู่ โอฆะนี้ย่อมยัง สัตว์ทั้งหลายที่อยู่ในอำนาจของตน ให้ตกไปในเบื้องต่ำ คือ ให้เกิดในทุคติต่างๆ มีนรก เป็นต้น.

๓๘. อีกอย่างหนึ่ง เมื่อไม่ให้ไปในเบื้องบน คือ พระนิพพาน ย่อมให้ไปในเบื้องต่ำ คือในภพ ๓ กำเนิด ๔ คติ ๕ วิญญาณฐิติ ๗ และสัตตาวาส ๙ ดังนี้บ้าง

๓๙. คำว่า เพราะอรรถว่า”เป็นหมู่ใหญ่” อธิบายว่า เพราะ หมู่แห่งกิเลสนี้ ใหญ่ แผ่กระจายอำนาจไป ตั้งแต่อเวจีมหานรก จนถึงภวัคคภูมิ หมู่แห่งกิเลส คือ โอฆะนี้ใด ชื่อว่า มีความยินดีพอใจ ในกามคุณ ๕ แม้ในโอฆะที่เหลือก็นัยนี้แหละ. บัณฑิตพึงทราบ “กิเลส ชื่อว่า โอฆะ” เพราะอรรถว่า ”เป็นหมู่ใหญ่” ด้วยประการฉะนี้

๔๐. บทว่า อตริ อธิบายว่า เทวบุตรนั้น ทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ พระองค์ ข้าม โอฆะแม้ทั้ง ๔ นี้ ด้วยอย่างไรหนอ ดังนี้

๔๑. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะทรงวิสัชนาปัญหาของเทวดานั้น จึงตรัสคำเป็นต้นว่า อปฺปติฏฺงฐํ ขฺวาหํ แปลว่า “เราไม่พักอยู่” เป็นต้น

๔๒. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า อปฺปติฏฐํ แก้เป็น อปฺปติฏฐหนฺโต แปลว่า “ไม่พักอยู่”

๔๓. บทว่า อนายูหํ แก้เป็น อนายูหนฺโต แปลว่า ไม่เพียรอยู่ คือ ไม่พยายามอยู่

๔๔. พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสปัญหากระทำให้เป็นคำอันลี้ลับปิดบังแล้วด้วยประการฉะนี้

๔๕. แม้เทวดาก็ฟังคำอันเป็นภายนอกก่อน ธรรมดาว่า บุคคลผู้ข้ามโอฆะ ต้องยืนอยู่ในที่อันตนควรยืน ต้องพยายามในที่อันตนพึงข้าม จึงข้ามไปได้แต่พระองค์ตรัสว่า “เรา ไม่พักอยู่ ไม่เพียรอยู่” ข้ามได้แล้ว ซึ่งกองกิเลส คือ กิเลส เพียงดัง โอฆะ (ห้วงน้ำวน) อันแผ่ควบคุมไปตั้งแต่อเวจีนรกจนถึงภวัคคภูมิดังนี้ จิตของเขา ก็จะ แล่นไปสู่ ความสงสัย ว่า นั่นอะไรหนอ จึงชื่อว่า ไม่ทราบ ซึ่ง อรรถแห่งปัญหา

๔๖. ถามว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงบำเพ็ญ พระบารมีทั้งหลาย แล้วแทงตลอด สัพพัญญุตญาณ เพื่อต้องการจะ ตรัส สิ่งที่สัตว์ ยังมิได้รู้ มิใช่หรือ.

๔๗. ตอบว่า พระผู้มีพระภาคเจ้า แทงตลอด สัพพัญญุตญาณ เพื่อทรงพระประสงค์ จะตรัสคำเพียงเท่านี้ หามิได้

๔๘. ก็ เทศนา ของ พระผู้มีพระภาคเจ้า มี ๒ อย่าง คือ แสดงโดย “นิคคหมุขะ” และ “อนุคคหมุขะ

๔๙. ในบรรดา ๒ อย่างนั้น บุคคลเหล่าใด มีความถือตัวว่า เป็นบัณฑิต ย่อมสำคัญ ในสิ่งที่ตนยังไม่รู้ ว่ารู้แล้ว ดุจ พราหมณ์ ๕๐๐ ที่บวชเป็นบรรพชิต เพื่อข่มมานะของพราหมณ์และบรรพชิตเหล่านั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงธรรม เช่นกับ พระสูตรทั้งหลาย มีมูลปริยายสูตร เป็นต้น นี้ชื่อว่า “นิคคหมุขเทศนา”

๕๐. พระดำรัสนี้ สมดังที่ตรัสไว้ว่า “ ดูก่อนอานนท์ เราจักกล่าวข่ม-บุคคลผู้ควรข่ม เราจักยกย่องบุคคลผู้ควรยกย่อง ภิกษุใดมีธรรมเป็นสาระ ภิกษุนั้นจักดำรงอยู่” ดังนี้

๕๑. ส่วนชนเหล่าใด เป็นผู้ตรง ใคร่ต่อการศึกษา พระผู้มีพระภาคเจ้า ย่อมแสดงธรรมแก่ ชนเหล่านั้น กระทำให้เป็นผู้รู้ได้ง่าย เช่น ในสูตรทั้งหลาย มี อากังเขยยสูตร เป็นต้น ทั้งยังชนเหล่านั้นให้ปลอดโปร่งใจ เช่น ในคำว่า ดูก่อนติสสะผู้ยินดียิ่ง ดูก่อนติสสะผู้ยินดียิ่ง ด้วยโอวาทอันเรากล่าวแล้ว ด้วยการศึกษาอันเรากล่าวแล้ว ด้วยอนุสาสนีอันเรากล่าวแล้ว ดังนี้ นี้ชื่อว่า “อนุคคหมุขเทศนา

๕๒. ก็เทวบุตรนี้มีมานะกระด้าง (มีความกระด้างด้วยการถือตัว) สำคัญตนว่าเป็นบัณฑิต

๕๓. ได้ยินว่า เทวบุตรนั้น ได้ มีความคิด อย่างนี้ว่า เราย่อมรู้โอฆะ -ย่อมรู้ซึ่ง ความที่พระตถาคตเจ้าทรงข้ามโอฆะได้แล้ว แต่ว่าเรายังไม่รู้ เหตุเพียงเท่านี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงข้ามโอฆะ ด้วยเหตุนี้ ได้อย่างไร ดังนี้

เราจักรู้ อรรถอันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบนั่นแหละ -คำใดน้อยหรือมากที่เรายังไม่รู้ เราจักรู้คำนั้นอันพระผู้มีพระภาคตรัสบอกแล้วทีเดียว เพราะว่าคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอย่างไรนั้น -เรายังไม่ทราบ ดังนี้

๕๔. ลำดับนั้น พระบรมศาสดา จึงตรัสปัญหา ทำให้เป็น ปัญหาซ่อนเร้น (คือเข้าใจยาก) ด้วยพระดำริว่า เทวบุตรนี้ ยังไม่ละมานะนี้ ก็ไม่ควรเพื่อจะรับธรรมเทศนา เปรียบเหมือนผ้าที่ยังเศร้าหมอง (ยังไม่ซักให้สะอาด) ไม่ควรจะย้อมสี เราจัก ข่ม มานะของเทวบุตรนี้ก่อน / แล้ว จักประกาศ เนื้อความนั้นอีก แก่เธอ โดยไม่มีจิตต่ำ เช่นนี้ ถามอยู่ ดังนี้

๕๕. แม้เทวบุตรนั้น ก็ได้เป็น ผู้มีมานะ อันพระองค์นำออกแล้ว และ เทศนานั้น พึงทราบ โดยคำถามปัญหา ให้ยิ่งขึ้นไป เพราะ ความที่ เธอเป็นผู้มีมานะ -อันพระองค์นำออกแล้วนั่นแหละ ทั้งเนื้อความนี้ ก็ได้เป็นประโยชน์แก่บุคคลผู้ถามปัญหา

๕๖. เทวบุตรทูลถามว่า ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์ ก็พระองค์ “ไม่พัก ไม่เพียร” ข้ามโอฆะได้ อย่างไรเล่า ข้าพระองค์ จะทราบได้ โดยประการใด ขอพระองค์ จงตรัสบอก แก่ข้าพระองค์ โดยประการนั้นเถิด ดังนี้

๕๗. ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อจะตรัสตอบปัญหา แก่เทวบุตรนั้น จึงตรัสว่า ยทา สฺวาหํ เป็นต้น

๕๘. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ยทา สฺวาหํ แก้เป็น ยสฺมึ กาเล อหํ (แปลว่า ในกาลใดเรา)

๕๙. สุ อักษรเป็นเพียงนิบาต. ก็สุอักษรในที่นี้ฉันใด ในบททั้งปวงก็ฉันนั้น

๖๐. บทว่า สํสีทามิ ความว่า เมื่อเราไม่ข้าม ก็จมอยู่ ในที่นั้น นั่นแหละ

๖๑. บทว่า นิพฺพุยฺหามิ ความว่า เมื่อเราไม่อาจเพื่อดำรงอยู่ ก็ย่อมเป็นไปล่วงปัญหา แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้วอย่างนี้ว่า เราไม่พักไม่เพียรข้ามโอฆะได้แล้ว ดังนี้ แม้จะเป็นปัญหาอันเทวดา -ทราบแล้ว แต่ก็ไม่แจ่มแจ้ง เพราะ เห็นโทษ คือ ความไม่เข้าใจในเพราะการหยุดอยู่ และในความพยายามเพื่อกระทำอรรถนั้นให้ปรากฏ ท่านจึงแสดงธรรมอันเป็นหมวดทุกะ ๗ หมวด

๖๒. จริงอยู่ ว่าด้วยอำนาจกิเลส เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่าย่อมจม ว่าด้วยอำนาจอภิสังขาร เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่าย่อมลอย

๖๓. อีกอย่างหนึ่ง ว่าด้วยตัณหาและทิฏฐิ เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่าย่อมจม ว่าด้วยอำนาจแห่งกิเลสที่เหลือและอภิสังขารทั้งหลาย เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่าย่อมลอย

๖๔. อีกอย่างหนึ่ง ว่าด้วยอำนาจแห่งตัณหา เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่าย่อมจม ว่าด้วยอำนาจแห่งทิฏฐิ เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่าย่อมลอย

๖๕.อีกอย่างหนึ่ง ว่าด้วยสัสสตทิฏฐิ เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่าย่อมจม ว่าด้วยอุจเฉททิฏฐิ เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่าย่อมลอย เพราะว่าภวทิฏฐิ ยึดมั่นใน-มานะอันเฉื่อยชา แต่วิภวทิฏฐิยึดมั่นใน-การแล่นเลยไป

๖๖. อีกอย่างหนึ่ง ว่าด้วยอำนาจการติด (ลินะ) เมื่อพักอยู่ ชื่อว่าย่อมจม ว่าด้วยอำนาจอุทธัจจะ เมื่อเพียร ชื่อว่าย่อมลอย

๖๗. อนึ่ง ว่าด้วยกามสุขัลลิกานุโยค เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่าย่อมจม ว่าด้วยอัตตกิลมถานุโยค เมื่อเพียร ชื่อว่าย่อมลอย

๖๘. ว่าด้วยอำนาจแห่งอกุสลาภิสังขารทั้งหมด เมื่อบุคคลพักอยู่ ชื่อว่าย่อมจม. ว่าด้วยอำนาจแห่งกุสลาภิสังขารอันเป็นโลกีย์ทั้งหมด เมื่อบุคคลเพียร ชื่อว่าย่อมลอย

๖๙. ข้อนี้สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า เสยฺยถาปิ จุนฺท เยเกจิ อกุสลา ธมฺมา สพฺเพ เต อโธ ภาคํ คมนียา เยเกจิ กุสลา ธมฺมา สพฺเพ เต อุปริ ภาคํ คมนียา ดังนี้ แปลว่า ดูก่อนจุนทะ อกุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ -อกุศลธรรมทั้งหมดเหล่านั้น พึงส่งไปในเบื้อง ต่ำ กุศลธรรมเหล่าใดเหล่าหนึ่งมีอยู่ -กุศลธรรมทั้งหมดเหล่านั้น พึงส่งไปในเบื้องบน

๗๐. เทวดา ฟัง วิสัชนาปัญหานี้ แล้ว ดำรงอยู่ใน โสดาปัตติผล เป็นผู้ยินดีแล้ว เลื่อมใสแล้ว ประกาศอยู่ซึ่งความยินดีและความเสื่อมใสของตนแล้ว จึงกล่าวคำเป็นคาถาว่า จิรสฺสํ วต เป็นต้น แปลว่า นานหนอ ข้าพเจ้า จึงจะเห็น ขีณาสวพราหมณ์ ผู้ดับรอบแล้ว ไม่พักไม่เพียรอยู่ ข้ามตัณหาเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวในโลก

๗๑. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า จิรสฺสํ ความว่า โดยกาลอันล่วงไปแห่งกาลนาน

๗๒. ได้ยินว่า เทวดานี้ เห็น พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า กัสสปะ จำเดิมแต่พระองค์ปรินิพพานแล้ว ยังไม่เคยเห็นพระพุทธเจ้าพระองค์อื่น ในระหว่างกาลอันยาวนานนี้ เพราะฉะนั้น ครั้นเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ในวันนี้ จึงได้กราบทูลอย่างนี้

๗๓. ถามว่า ก็ในกาลก่อนแต่กาลนี้ เทวดาองค์นี้ไม่เคยเห็นพระบรมศาสดา หรือ?

๗๔. ตอบว่า เห็นหรือไม่เห็นจงยกไว้ เพราะอาศัยทัสสนะ (คือบรรลุโสดาปัตติมรรค) ก็สมควรจะกล่าวอย่างนี้

๗๕. บทว่า พฺราหฺมณํ ได้แก่ ขีณาสวพราหมณ์-ผู้มีบาปอันปิดกั้นแล้ว

๗๖. บทว่า ปรินิพฺพุตํ ได้แก่ ผู้ดับรอบแล้ว-ด้วยการดับซึ่งกิเลส

๗๗. บทว่า โลเก ได้แก่ ในสัตวโลก

๗๘. ในบทว่า วิสตฺติกํ นี้ ตัณหา ท่านเรียกว่า เครื่องเกาะเกี่ยว / เพราะเหตุที่มี การพัวพัน และ ความอยาก ในอารมณ์ทั้งหลาย มีรูปารมณ์ เป็นต้น.
๗๙.อธิบายว่า เทวดากราบทูลว่า “นานหนอ –ข้าพระองค์-จึงจะเห็น -ขีณาสวพราหมณ์ - ผู้ไม่พักไม่เพียรอยู่ - ผู้ข้ามได้แล้ว ผ่านพ้นไปแล้ว คือ -รื้อถอนออกแล้วซึ่งตัณหา อันเป็นเครื่องเกาะเกี่ยวนั้น ดังนี้

๘๐. บทว่า สมนุญฺโญ สตฺถา อโหสิ ความว่า พระศาสดา ทรงชื่นชม ถ้อยคำของ เทวดา ผู้มีอัชฌาศัย อันแน่วแน่ ด้วยพระทัย เท่านั้น

๘๑. บทว่า อนฺตรธายิ ความว่า เทวดานั้น ละ กายอันตนตกแต่งแล้ว ดำรงอยู่ใน กายอันเป็นอุปาทินนกะ ตามปกติของตน เพราะมีความหวังอันสำเร็จแล้ว มีที่พึ่งอันได้แล้ว ได้บูชาพระทศพล ด้วยของหอมทั้งหลายและพวงดอกไม้ทั้งหลาย แล้วกลับไปสู่พิภพของตน ดังนี้แล

จบ อรรถกถาโอฆตรณสูตรที่ ๑

อรรถกถา สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เทวตาสังยุต นฬวรรคที่ ๑ โอฆตรณสูตรที่ ๑ จบ


ความคิดเห็น 3    โดย pulit  วันที่ 24 ก.ย. 2557

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาบุญค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย nopwong  วันที่ 25 ก.ย. 2557

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 5    โดย chatchai.k  วันที่ 19 ก.พ. 2564

ขออนุโมทนาครับ