ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “วจีทุจฺจริต”
คำว่า วจีทุจฺจริต เป็นคำภาษาบาลีโดยตรง [อ่านตามภาษาบาลีว่า วะ - จี - ทุด - จะ - ริ - ตะ] มาจากคำว่า วจี (วาจา,คำพูด) กับคำว่า ทุจฺจริต (ความประพฤติชั่ว) รวมกันเป็น วจีทุจฺจริต เขียนเป็นไทยได้ว่า วจีทุจริต แปลว่า ความประพฤติชั่วทางวาจา, ความประพฤติชั่วด้วยคำพูด, วจีทุจริต เป็นคำที่กล่าวถึงความเป็นจริงของสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ที่มีการพูดในสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ กล่าวคือ การพูดเท็จ (พูดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง) พูดส่อเสียด (พูดให้ผู้อื่นแตกกัน) พูดคำหยาบ (จิตใจหยาบ จึงมีการพูดคำที่เป็นโทษแก่บุคคลอื่น เช่น ด่าว่าผู้อื่น เป็นต้น) พูดเพ้อเจ้อ (พูดสิ่งที่ไร้สาระ) ซึ่งประมวลแล้ว คือ ถ้ามีการพูดด้วยอกุศลจิตเมื่อใด ก็เป็นวจีทุจริตทั้งหมด เพราะขณะที่อกุศลจิตเกิด จะประพฤติดีไม่ได้เลยแม้แต่น้อย
ข้อความจาก พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต ทุจริตสูตร แสดงถึงวจีทุจริต ไว้ว่า
“ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วจีทุจริต ๔ อย่างนี้ ๔ อย่าง เป็นไฉน? คือ คำเท็จ ๑ คำส่อเสียด ๑ คำหยาบ ๑ คำเพ้อเจ้อ ๑ ดูกร ภิกษุทั้งหลาย วจีทุจริต ๔ อย่างนี้แล”
การพูด การสนทนา เป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตประจำวัน จำเป็นจะต้องพูดคุยสนทนากับผู้อื่นอยู่เสมอ และเป็นที่น่าพิจารณาว่า ในวันหนึ่งๆ โดยปกติของผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่นั้น ย่อมเป็นไป ย่อมหวั่นไหวด้วยอำนาจของอกุศลเสียเป็นส่วนใหญ่ ตามการสะสมของแต่ละบุคคล ไม่ใช่ว่าจะพูดด้วยกุศลจิตตลอดบางครั้งก็พูดด้วยอกุศลจิต จึงมีวจีทุจริตเกิดขึ้นค่อนข้างมากในชีวิตประจำวัน ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ขณะใดคำพูดนั้นเป็นไปเพราะอกุศลจิต คำพูดเหล่านั้นจะเป็นวจีทุจริตโดยตลอด เช่น พูดเพราะหวังลาภบ้าง เป็นไปด้วยกิเลส ความติดข้องต้องการ ทำให้มีวาจาที่เป็นไปเพราะหวังในลาภเกิดขึ้น บางครั้งบางขณะก็มีการพูดยกยอเพื่อให้เขารักใคร่ ไม่ใช่การชมด้วยความจริงใจ หรือว่าบางครั้งก็เป็นการพูดโอ้อวด บางครั้งก็เป็นการพูดเปรียบเปรย บางครั้งก็พูดกระทบ บางครั้งก็พูดเสียดแทงให้เจ็บช้ำน้ำใจ บางครั้งก็ด่าว่าสบประมาทหวังที่จะให้ผู้อื่นเกิดความอับอาย บางครั้งก็พูดเหน็บแนม หรือแม้คำพูดที่ล้อเล่น บางครั้งก็เป็นคำพูดที่อำพรางความจริง พูดผิดจากความเป็นจริง บางครั้งก็เป็นคำพูดที่บ่นว่า พูดประชด ทั้งหมดทั้งปวงนั้น เป็นเรื่องของวาจาที่เกิดขึ้นเพราะกิเลส ทำให้ปรากฏสภาพลักษณะต่างๆ ซึ่งถ้าเป็นผู้ที่มีปกติเจริญสติ (ระลึกรู้สภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง) ย่อมรู้ได้ทันทีว่า ถ้าเกิดคำพูดอย่างนั้นขึ้น จิตในขณะนั้นเป็นอกุศลอย่างไร ซึ่งถ้ากุศลจิตเกิด คำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์เหล่านั้น ก็จะไม่มีอย่างแน่นอน
จะเห็นได้ว่า คำพูดที่พูดกัน มีมากมายทุกวัน ขอให้เริ่มพิจารณา สังเกตแม้คำพูดของตนเอง ให้ทราบว่าขณะนั้นเป็นเพราะอกุศลประเภทใด จึงทำให้วาจาชนิดนั้นเกิดขึ้นในลักษณะต่างๆ อย่างนั้น แต่ก็ไม่ใช่มีแต่เฉพาะอกุศลจิตเท่านั้น กุศลจิตก็มีด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้น คำพูดที่มีประโยชน์ก็มีมากเหมือนกัน
ดังนั้น คำพูด ขึ้นอยู่กับกุศลจิตและอกุศลจิต ว่า จะพูดด้วยกุศลจิต หรือจะพูดด้วยอกุศลจิต? ถ้าเป็นการพูดด้วยอกุศลจิตไม่มีประโยชน์กับบุคคลใดทั้งสิ้น เป็นสิ่งที่ควรละเว้น ควรระลึกได้ ควรรู้ว่า ไม่ควรเลยที่จะกล่าว เพราะว่าคำพูดบางคำอาจจะสามารถพลิกชีวิตของบุคคลอื่นได้ทั้งชีวิตทีเดียว เช่นทำให้เกิดความเสียใจอย่างหนัก แล้วก็ทำให้ประพฤติในทางที่ไม่เหมาะสมประการต่างๆ ซึ่งถ้าบุคคลนั้นงดเว้นคำพูดอย่างนั้นเสีย ก็จะไม่ทำให้เกิดเหตุการณ์ไม่เหมาะไม่ควรอย่างนั้นขึ้นได้ และที่น่าพิจารณา คือ คำพูดที่ไม่เป็นประโยชน์ มีแต่โทษ ตนเองก็ยังไม่อยากจะได้ยิน บุคคลอื่นก็เป็นเช่นเดียวกัน ในเมื่อตนเองไม่อยากจะได้ยินคำที่ไม่น่าฟังเหล่านั้น ก็จะต้องไม่พูดคำที่ไม่น่าฟังกับบุคคลอื่นด้วย เพราะฉะนั้น ถ้าสามารถที่จะงดเว้นวจีทุจริต โดยสติเกิดขึ้นรู้ว่าวจีทุจริตเป็นคำที่ไม่ควรจะกล่าว แล้วก็อบรมเจริญวจีสุจริต เมื่อเป็นอย่างนี้ได้ การพูดด้วยกุศลจิต ก็จะมีมากขึ้น ทั้งหมดเป็นเรื่องของการเป็นผู้เห็นโทษของอกุศล และเห็นคุณประโยชน์ของกุศล ไม่ใช่บังคับ หรือ เป็นตัวตน แต่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย
การพูดด้วยกุศลจิตทั้งหมดย่อมจะเป็นประโยชน์แก่ผู้ฟัง โดยเฉพาะการพูดถึงพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ทรงแสดงไว้โดยละเอียด หรือว่าเป็นการสนทนาธรรม เป็นการสอบถามธรรม เพื่อความเจริญยิ่งขึ้นในกุศลธรรม คือ ความเข้าใจถูกเห็นถูกเจริญขึ้น ก็จะเห็นได้ว่า คำพูดต่างๆ เหล่านั้นทั้งหมดเป็นคำพูดที่มีประโยชน์ เป็นคำพูดที่เกื้อกูลแก่ผู้ศึกษาธรรมร่วมกัน เพื่อความเข้าใจถูก เห็นถูก เป็นคำพูดที่ควรพูดเป็นอย่างยิ่ง
การศึกษาพระธรรม เป็นเรื่องของการขัดเกลากิเลส เป็นไปเพื่อละโดยตลอด ไม่ใช่การเพิ่มกิเลส เพราะฉะนั้น ถ้าพิจารณาเห็นว่าสิ่งใด เป็นโทษ ไม่เป็นประโยชน์ ก็ควรจะงดเว้นในสิ่งนั้น แล้วเจริญกุศลธรรมในชีวิตประจำวัน มีการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เป็นต้น ความเข้าใจพระธรรม จะเป็นเครื่องปรุงแต่งให้มีความประพฤติที่ดีงาม ทั้งทางกาย ทางวาจาและทางใจ เป็นสิ่งที่นำมาซึ่งคุณประโยชน์โดยส่วนเดียว ไม่เป็นโทษทั้งแก่ตนเองและผู้อื่น และเมื่อได้สะสมในสิ่งที่ดีแล้ว ก็ย่อมจะไม่เป็นเหตุให้เกิดความเดือดร้อนใจในภายหลัง.
อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ
ขออนุโมทนาครับ