๓. ปุณโณวาทสูตร
โดย บ้านธัมมะ  4 ก.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 34547

[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 436

๓. ปุณโณวาทสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 23]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 4 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 436

๓. ปุณโณวาทสูตร

[๗๕๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อาราม ของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะ ออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับ แล้ว ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้านั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ขอพระผู้มีพระ ภาคเจ้าได้โปรดสั่งสอนข้าพระองค์ ด้วยพระโอวาทย่อๆ พอที่ข้าพระองค์ได้ สดับ ธรรมของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจะเป็นผู้ๆ เดียวหลีกออก ไม่ประมาท มีความเพียร ส่งตนไปในธรรมอยู่.

พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนปุณณะ ถ้าอย่างนั้น เธอจงพึง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป ท่านปุณณะทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ชอบ แล้ว พระพุทธเจ้าข้า

[๗๕๕] พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงได้ตรัสดังนี้ว่า ดูก่อนปุณณะ มีรูปที่ รู้ได้ด้วยจักษุ อันน่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วย กาม เป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัดอยู่แล้ว ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน พูดถึง ดํารงอยู่ ด้วยความติดใจรูปนั้น นันทิย่อมเกิดขึ้นแก่เธอผู้เพลิดเพลิน พูดถึง ดํารงอยู่ ด้วยความติดใจรูปนั้นได้ เพราะนันทิเกิด เราจึงกล่าวว่า ทุกข์เกิดนะ ปุณณะ.

ดูก่อนปุณณะ มีเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต...

ดูก่อนปุณณะ มีกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ...

ดูก่อนปุณณะ มีรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา...

ดูก่อนปุณณะ มีโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย...


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 437

ดูก่อนปุณณะ มีธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน อันน่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัดอยู่แล ถ้าภิกษุเพลิดเพลิน พูดถึง ดํารงอยู่ด้วยติดใจธรรมารมณ์นั้น นันทิย่อมเกิดแก่เธอผู้เพลิดเพลิน พูดถึง ดํารงอยู่ด้วยความติดใจธรรมารมณ์นั้นได้ เพราะเหตุคือนันที่เกิด เราจึงกล่าวว่า ทุกข์เกิดนะ ปุณณะ.

[๗๕๖] ดูก่อนปุณณะ มีรูปที่รู้ได้ด้วยจักษุอัน น่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัดอยู่แล ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดํารงอยู่ด้วยความติดใจรูปนั้น นันทิของเธอผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดํารงอยู่ด้วยความติดใจรูปนั้น ย่อมดับไปเพราะนันทิดับ เราจึงกล่าวว่า ทุกข์ดับนะ ปุณณะ.

ดูก่อนปุณณะ มีเสียงที่รู้ได้ด้วยโสต...

ดูก่อนปุณณะ มีกลิ่นที่รู้ได้ด้วยฆานะ...

ดูก่อนปุณณะ มีรสที่รู้ได้ด้วยชิวหา...

ดูก่อนปุณณะ มีโผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย...

ดูก่อนปุณณะ มีธรรมารมณ์ที่รู้ได้ด้วยมโน อันน่าปรารถนา น่าใคร่น่าพอใจ เป็นที่รัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัดอยู่แล ถ้าภิกษุไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดํารงอยู่ด้วยความติดใจธรรมารมณ์นั้น นันทิของเธอผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พูดถึง ไม่ดํารงอยู่ด้วยความติดใจธรรมารมณ์นั้นย่อมดับไป เพราะนันทิดับ เราจึงกล่าวว่า ทุกข์ดับนะ ปุณณะ.

ดูก่อนปุณณะ ก็เธออันเรากล่าวสอนด้วยโอวาทย่อๆ นี้แล้ว จักอยู่ในชนบทไหน.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 438

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์อันพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนด้วยโอวาทย่อๆ นี้แล้ว มีชนบทชื่อสุนาปรันตะ เป็นที่ที่ข้าพระองค์จักไปอยู่.

[๗๕๗] พ. ดูก่อนปุณณะ พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทดุร้ายหยาบช้านัก ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่า จักบริภาษเธอ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น.

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักด่าจักบริภาษข้าพระองค์ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยฝ่ามือ ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคต ข้าพระองค์มีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้.

[๗๕๘] พ. ดูก่อนปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักให้การประหารเธอด้วยฝ่ามือ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น.

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยฝ่ามือ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยก้อนดิน ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้น อย่างนี้.

[๗๕๙] พ. ดูก่อนปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักให้การประหารเธอด้วยก้อนดิน เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น.

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยก้อนดิน ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีหนักหนาที่ไม่ให้การประหารเรา


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 439

ด้วยท่อนไม้ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้.

ทรงแสดงความดุร้าย

[๗๖๐] พ. ดูก่อนปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักให้การประหารเธอด้วยท่อนไม้ เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น.

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยท่อนไม้ ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ให้การประหารเราด้วยศาสตรา ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้.

[๗๖๑] พ. ดูก่อนปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักให้การประหารเธอด้วยศาสตรา เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น.

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบท จักให้การประหารข้าพระองค์ด้วยศาสตรา ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทนี้ ยังดีนักหนาที่ไม่ปลิดชีพเราเสียด้วยศาสตราอันคม ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้.

[๗๖๒] พ. ดูก่อนปุณณะ ก็ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักปลิดชีพเธอเสียด้วยศาสตราอันคม เธอจักมีความคิดอย่างไรในมนุษย์พวกนั้น.

ปุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าพวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทจักปลิดชีพข้าพระองค์ด้วยศาสตราอันคม ข้าพระองค์จักมีความคิดในพวกเขาอย่างนี้ว่า มีเหล่าสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า ที่อึดอัดเกลียดชังร่างกายและ


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 440

ชีวิต พากันแสวงหาศาสตราสังหารชีพอยู่แล เราไม่ต้องแสวงหาสิ่งดังนั้นเลยก็ได้ศาสตราสังหารชีพแล้ว ข้าแต่พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้สุคต ข้าพระองค์จักมีความคิดในมนุษย์พวกนั้นอย่างนี้.

[๗๖๓] พ. ดีละๆ ปุณณะ. เธอประกอบด้วยทมะและอุปสมะดังนี้แล้ว จักอาจเพื่อจะอยู่ในสุนาปรันตชนบทได้แล ดูก่อนปุณณะ เธอจงสําคัญกาลที่ควรในบัดนี้เถิด.

ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะยินดีอนุโมทนาพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าทําประทักษิณแล้วเก็บเสนาสนะ ถือบาตรจีวรเดินทางจาริกไปยังที่ตั้งสุนาปรันตชนบท เมื่อจาริกไปโดยลําดับ ได้ลุถึงสุนาปรันตชนบทแล้ว.

[๗๖๔] เป็นอันว่า ท่านพระปุณณะอยู่ในสุนาปรันตชนบทนั้น ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะได้ให้พวกมนุษย์ชาวสุนาปรันตชนบทกลับใจแสดงตนเป็นอุบาสกประมาณ ๕๐๐ คน ภายในพรรษานั้นเอง กลับใจแสดงตนเป็นอุบาสิกาประมาณ ๕๐๐ คน ภายในพรรษานั้นเอง และตัวท่านได้ทําให้แจ้งซึ่งวิชชา ๓ ภายในพรรษานั้นเหมือนกัน ครั้นสมัยต่อมา ท่านได้ปรินิพพานแล้ว.

ครั้งนั้นแล ภิกษุมากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้ายังที่ประทับแล้วถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบ ทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าดังนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญกุลบุตรชื่อปุณณะที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงสั่งสอนด้วยพระโอวาทย่อๆ นั้นทํากาละเสียแล้ว เธอมีคติเป็นอย่างไร มีสัมปรายภพเป็นอย่างไร.


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 441

ทรงแสดงถึงปรินิพพาน

[๗๖๕] พ. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุณณกุลบุตร เป็นบัณฑิต ได้บรรลุธรรมสมควรแก่ธรรมแล้ว ทั้งไม่ให้เราลําบากเพราะเหตุแห่งธรรมดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ปุณณกุลบุตรปรินิพพานแล้ว.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล.

จบ ปุณโณวาทสูตร ที่ ๓


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 442

อรรถกถาปุณโณวาทสูตร

ปุณโณวาทสูตร ขึ้นต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้:-

ในพระสูตรนั้น ความอยู่ผู้เดียว ชื่อว่า การหลีกเร้น. คําว่าถ้าหากว่า นั้น ได้แก่ ตาและรูปนั้น. คําว่า เพราะความเพลินเกิด ทุกข์จึงเกิดขึ้น คือการรวมเอาทุกข์ในขันธ์๕ ย่อมมีด้วยการรวมเอาความเพลินอันได้แก่ตัณหามาอยู่ด้วยกัน. ด้วยประการฉะนี้ ก็เป็นอันทรงทําให้วัฏฏะถึงที่สุดด้วยอํานาจแห่งสัจจะทั้ง ๒ คือ ทุกข์ เหตุให้เกิดทุกข์ ในทวารทั้ง ๖แล้วจึงทรงแสดง. ในนัยที่๒ ทรงทําวิวัฏฏะให้ถึงที่สุดด้วยอํานาจสัจจะ ๒ข้อคือ นิโรธ มรรค แล้วจึงทรงแสดง. อนุสนธิที่แยกไว้โดยเฉพาะ. คือคําว่าและด้วยอาการอย่างนี้ ปุณณะเธอ. ครั้นทรงใส่เทศนาด้วยอํานาจวัฏฏะและวิวัฏฏะในพระอรหัตอย่างนี้ก่อนแล้ว บัดนี้ เพื่อจะทรงให้ท่านปุณณเถระเปล่งสีหนาทในฐานทั้ง ๗ จึงได้ตรัสคําว่า และด้วยอาการอย่างนี้ เธอ ดังนี้เป็นต้น. คําว่า ดุ คือดุร้าย ร้ายกาจ. คําว่า หยาบคายคือหยาบช้า. คําว่า ย่อมด่า คือย่อมด่าด้วยเรื่องสําหรับด่า ๑๐ อย่าง. คําว่าย่อมตะคอก คือย่อมขู่ตะคอกว่า แกนี่เป็นสมณะได้อย่างไร ข้าจะเล่นงานแกอย่างนี้และอย่างนี้. คําว่า อย่างนี้ในกรณีนี้ คือสิ่งอย่างนี้ ในกรณีนี้จะมีแก่ข้าพระพุทธเจ้า. คําว่า ด้วยกระบอง คือด้วยกระบองยาว ๔ ศอกหรือด้วยท่อนไม้และไม้ค้อน. คําว่า ด้วยศัสตราคือด้วยอาวุธที่มีคมข้างเดียวเป็นต้น. คําว่า แสวงหาเครื่องประหารคือศัสตรา คือ แสวงหาศัสตราเครื่องคร่าชีวิต. ข้อนี้พระเถระกล่าวหมายถึงพวกภิกษุที่ฟังเรื่องไม่งามในวัตถุแห่งปาราชิกข้อที่ ๓ เกิดความสะอิดสะเอียนร่างกาย แล้วแสวงหาเครื่องคร่า


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 443

ชีวิตคือศัสตรา. คําว่า ข่มใจ ในคําว่า ด้วยความข่มใจและความเข้าไปสงบ นี้ เป็นชื่อแห่งการสํารวมอินทรีย์เป็นต้น. จริงอยู่ ความสํารวมอินทรีย์ในคําว่า ข่มแล้วด้วยสัจจะเข้าถึงการข่มใจ ถึงที่สุดพระเวทอยู่จบพรหมจรรย์แล้ว นี้ ท่านกล่าวว่าเป็นความข่มใจ. ปัญญาในคําว่าหากยังมีอะไรที่ยิ่งกว่า สัจจะ ทมะ จาคะ ขันติในกรณีนี้ นี้ ท่านกล่าวว่าเป็นความข่มใจ. อุโบสถกรรมในคําว่า ด้วยทาน ด้วยทมะ ด้วยสัญญมะ ด้วยการกล่าวคําจริง นี้ ท่านกล่าวว่า เป็นความข่มใจ แต่ในพระสูตรนี้ พึงทราบว่า ความอดทน คือความข่มใจ. คําว่า ความเข้าไประงับ เป็นคําใช้แทน คําว่า ความข่มใจ นั้นเอง.

คําว่า ครั้งนั้นแล ท่านปุณณะความว่าอยากทราบว่าก็ท่านปุณณะนี้เป็นใคร และทําไมจึงอยากไปในที่นั้น. ท่านรูปนี้ ก็คือชาวเมืองสุนาปรันตะนั่นแหละ. ก็ท่านกําหนดว่า ในกรุงสาวัตถี อยู่ไม่สบาย จึงอยากจะไปเมืองสุนาปรันตะนั้น. ต่อไปนี้ เป็นลําดับถ้อยคําในเรื่องนั้น.

เล่ามาว่า ในแคว้นสุนาปรันตะ มีสองพี่น้องในหมู่บ้านพ่อค้าแห่งหนึ่งในสองพี่น้องนั้น บางทีพี่ชายก็นําเกวียน ๕๐๐ เล่ม ไปชนบทแล้วก็บรรทุกสินค้ามา. บางทีก็น้องชาย. ส่วนในอันนี้ พี่ชายให้น้องชายอยู่เฝ้าบ้านแล้วตัวเองก็นําเอาเกวียน ๕๐๐ เล่ม เที่ยวไปตามหัวเมือง มาถึงกรุงสาวัตถีโดยลําดับ พักกองเกวียนอยู่ใกล้ๆ พระเชตวัน กินอาหารมื้อเช้าแล้ว อันผู้ติดตามล้อมแล้วนั่งพักผ่อนตามสบาย.

ก็แลสมัยนั้น ชาวกรุงสาวัตถี กินอาหารมื้อเช้าแล้ว อธิษฐานองค์อุโปสถสวมเสื้อสะอาด ถือของหอมและดอกไม้เป็นต้น โน้มน้อมโอนเงื้อมไปยังที่ซึ่งมีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ อยู่ แล้วพากันออกไปทางประตูทิศใต้ไปสู่พระเชตวัน. เมื่อเขาเห็นคนเหล่านั้น จึงถามชายคนหนึ่งว่า


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 444

พวกนี้ไปไหนกัน. นี่นาย คุณไม่รู้อะไรเลยหรือ แก้วคือพระพุทธะ พระธรรม พระสงฆ์ เกิดขึ้นแล้วในโลก เพราะเหตุนี้ มหาชนนี้ จึงพากันไปฟังธรรมกถาในสํานักของพระศาสดา. คําว่า พุทธะ ของชายคนนั้น ทําลายผิวหนังเป็นต้น เข้าไปจรดเยื่อกระดูก ตั้งอยู่. ต่อมา เขามีบริวารของตนแวดล้อมได้ไปสู่วิหารกับบริษัทนั้น ยืนอยู่ท้ายสุดของบริษัทฟังธรรมของพระศาสดาที่กําลังแสดงธรรมอยู่ด้วยพระสูตรเสียงที่ไพเราะ แล้วเกิดความคิดอยากจะบวชขึ้นมา. เมื่อบริษัทที่พระตถาคตเจ้าทรงทราบเวลาแล้วส่งไปแล้ว ก็เข้าเฝ้าพระศาสดาถวายบังคมแล้ว ทูลอาราธนาเสวยพระกระยาหารในวันพรุ่ง ในวันที่สองให้สร้างปะรํา แต่งตั้งอาสนะ ถวายมหาทานแต่พระสงฆ์มีองค์พระพุทธเจ้าเป็นพระประมุขในที่สุดภัตกิจ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอนุโมทนาเสด็จกลับรับประทานอาหารเช้าแล้วอธิฐานองค์อุโบสถ แล้วให้เรียกเจ้าหน้าที่คุมของมาบอกทุกสิ่งทุกอย่างว่า ของเท่านี้ได้จําหน่ายไปแล้ว ได้มอบหมายทุกสิ่งทุกอย่างว่า จงให้สมบัตินี้แก่น้องชายฉัน แล้วก็บวชในสํานักพระศาสดา ตั้งหน้าตั้งตาทํากัมมัฏฐาน. ครั้งนั้น เมื่อท่านเอาใจใส่ทํากัมมัฏฐานอยู่กัมมัฏฐานก็ไม่ปรากฏต่อมาท่านจึงคิดว่า ชนบทนี้ไม่สะดวกแก่เรา อย่างไรเสีย เราต้องรับกัมมัฏฐานในสํานักพระศาสดาแล้วไปสู่ถิ่นเดิมของเรา จึงเมื่อท่านเที่ยวบิณฑบาตในตอนเช้าแล้วออกจากการหลีกเร้นในตอนบ่ายแล้ว ก็เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าขอให้ทรงบอกกัมมัฏฐาน ได้เปล่งสีหนาท ๗ อย่างแล้วจึงหลีกไป. เพราะเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวว่า ครั้งนั้นแล ท่านพระปุณณะ ฯลฯ อยู่ ดังนี้.

ก็ท่านปุณณะนี้ อยู่ที่ไหน. ท่านอยู่ในที่ ๔ แห่ง. ตอนแรกท่านเข้าสู่แคว้นสุนาปรันตะแล้วเข้าไปสู่อัมพหัฏฐบรรพ เข้าสู่หมู่บ้านพ่อค้าเพื่อบิณฑบาต ทีนั้นน้องชายจําท่านได้ จึงถวายอาหาร แล้วเรียนท่านว่า ท่าน


ความคิดเห็น 10    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 445

ครับ ท่านไม่ต้องไปที่อื่น นิมนต์อยู่ที่นี้แหละ ให้ท่านรับคําแล้วก็นิมนต์ให้อยู่ในที่นั้นนั่นแหละ.

ต่อจากนั้น ท่านได้ไปสู่วัดสมุทรคิรี. ในที่นั้นมีที่สําหรับ เดินจงกรมที่เขาตัดเอาแผ่นหินที่เสียบเหล็กไว้ตรงปลายมาทํา. ไม่มีใครเดินเหยียบแผ่นหินนั้นได้. ในที่นั้น คลื่นทะเลซัดมากระทบแผ่นหินที่เสียบเหล็กตรงปลายเกิดเสียงดังมาก. พระเถระคิดว่าจงเป็นที่อยู่สําราญสําหรับผู้เอาใจใส่ทํากัมมัฏฐานเถิด แล้วก็อธิษฐานทําให้ทะเลสงบเสียง.ต่อจากนั้นท่านได้ไปยังมาตุลคิรี. ในที่นั้นมีพวกนกชุกชุม เสียงอึกทึกทั้งคืนทั้งวัน. พระเถระคิดว่า ที่นี้ไม่สําราญ ต่อจากนั้นก็ไปวัดมกุฬการาม.วัดนั้นอยู่ไม่ไกล ไม่ใกล้หมู่บ้านพ่อค้ามากนัก ไปมาสะดวกเงียบ ไม่มีเสียง.พระเถระคิดว่า ที่นี้สําราญ จึงให้สร้างที่พักกลางคืนและกลางวันพร้อมกับที่จงกรม เป็นต้นแล้ว ก็เข้าจําพรรษาในที่นั้น. ท่านอยู่ในที่แห่งดังกล่าวมานี้.

ต่อมาอีกวันหนึ่ง ภายในพรรษานั่งเอง มีพ่อค้า ๕๐๐ คน ตั้งใจว่า พวกเราจะไปทะเลอื่น จึงเอาสินค้าบรรทุกลงเรือ ในวันลงเรือ น้องชายของพระเถระเลี้ยงพระเถระแล้วรับสิกขาบทในสํานักพระเถระไหว้เสร็จแล้ว เมื่อจะไปได้เรียนท่านว่า ท่านขอรับ ขึ้นชื่อว่าทะเลหลวงมีอันตรายมากมายเหลือจะประมาณได้ ขอให้ท่านช่วยสอดส่องพวกกระผมด้วย แล้วก็ลงเรือ. เรือก็แล่นไปด้วยความเร็วสูงจนถึงเกาะหนึ่ง. พวกคนคิดว่า พวกเราจะกินอาหารเช้าแล้วก็พากันขึ้นเกาะ. บนเกาะนั้นอะไรๆ อย่างอื่น หามีไม่ มีแต่ป่าจันทน์ทั้งนั้น. ตอนนั้น คนหนึ่งเอามีดฟันต้นไม้ ก็รู้ว่าเป็นจันทน์แดง จึงกล่าวว่านี่แน่ะ. พวกเราไปสู่ทะเลอื่นเพื่อประโยชน์แก่ลาภ ขึ้นชื่อว่าลาภที่ยิ่งกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว ไม้ท่อนขนาดยาว ๔ นิ้ว ก็ราคาตั้งแสนแล้ว เราเอาแต่ของที่ควรแก่ของที่จะต้องเอาไปแล้วก็เอาไม้จันทน์บรรทุกให้เต็ม. พวกเขาก็กระทําอย่างนั้น.


ความคิดเห็น 11    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 446

พวกอมนุษย์ที่สิ่งในป่าจันทน์โกรธ พากันคิดว่า คนพวกนี้มัน ทําป่าจันทน์ของพวกเราให้ฉิบหายแล้ว พวกเราจะฆ่าพวกมัน แล้วพูดว่า เมื่อพวกมันถูกฆ่าในที่นี้ ป่าทั้งหมดก็จะกลายเป็นซากศพไปหนึ่งป่าที่เทียว พวกเราจะให้เรือมันจมกลางทะเล. แล้วต่อมาในเวลาที่คนพวกนั้นขึ้นเรือแล้วแล่นไปได้ครู่เดียวเท่านั้น ก็ทําให้เกิดพายุลมอย่างแรง แล้วพวกอมนุษย์เหล่านั้นเองก็พากันแสดงรูปที่น่ากลัวต่างๆ นานา. พวกคนก็กลัวพากัน ไหว้เทพเจ้าของตนๆ.จูฬปุณณกุฎมพี น้องชายพระเถระคิดว่า ขอให้พี่ชายของข้าจงเป็นที่พึ่งด้วยเถิดแล้วก็ยืนระลึกถึงพระเถระอยู่.

ได้ยินว่า ในขณะนั้นเอง พระเถระพิจารณาดูก็ได้ทราบว่าพวกเขากําลังตกอยู่ในความฉิบหาย จึงเหาะขึ้นสู่ฟ้ามายืนอยู่ตรงหน้า. พวกอมนุษย์เห็นพระเถระพูดว่า พระคุณเจ้า ปุณณเถระมา แล้วพากันหลีกไป. พายุร้ายก็สงบทันที. พระเถระปลอบคนเหล่านั้นว่าไม่ต้องกลัวแล้วถามว่าอยากจะไปไหนกัน. พวกกระผมจะไปที่เดิมของตัวเองนั่นแหละครับท่าน. พระเถระเหยียบแผ่นเรือแล้วอธิษฐานว่า จงไปสู่ที่ที่คนพวกนี้ต้องการ. พวกพ่อค้าเมื่อไปถึงที่ของตนแล้ว ก็เล่าเรื่องนั้นให้ลูกเมียฟังแล้วชวนว่า มาเถิด พวกเราจงถึงพระเถระเป็นที่พึ่งเถิด จึงทั้ง ๕๐๐ คน พร้อมกับพวกแม่บ้านของตนอีก ๕๐๐ คนตั้งอยู่ในสรณะสาม ประกาศตัวเป็นอุบาสก. ต่อจากนั้นก็ให้ขนสินค้าลงจากเรือแบ่งถวายพระเถระส่วนหนึ่งเรียนท่านว่าท่านครับ นี้เป็นส่วนของพระคุณท่าน.พระเถระตอบว่า อาตมาไม่มีกิจด้วยส่วนหนึ่งต่างหากหรือก็ แต่พวกคุณเคยเห็นพระศาสดาแล้วหรือ. ยังไม่เคยเห็นเลยท่าน. ถ้าอย่างนั้น ขอให้พวกคุณเอาส่วนนี้ไปสร้างโรงปะรําถวายพระศาสดา แล้วพวกคุณจะได้เห็นพระศาสดาด้วยอาการอย่างนี้. พวกนั้นก็รับว่าดีแล้วท่าน แล้วก็เริ่มสร้างโรงปะรําด้วยส่วนนั้นและด้วยส่วนของตนอีกมาก.


ความคิดเห็น 12    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 447

เล่ากันว่า แม้พระศาสดา ก็ได้ทรงกระทําการบริโภคตั้งแต่เวลาเริ่มงาน. พวกคนยามได้เห็นแสงในเวลากลางคืนเข้าใจกันว่า มีเทพเจ้าผู้ยิ่งใหญ่พวกอุบาสกช่วยกันสร้างโรงปะรําและเสนาสนะสําหรับพระภิกษุสงฆ์จนสําเร็จแล้วเตรียมเครื่องทาน แล้วกราบเรียนพระเถระว่า พระคุณเจ้า พวกกระผมได้ทํากิจเสร็จแล้ว ขอให้พระคุณเจ้าโปรดทูลพระศาสดามาเถิด. ตอนบ่ายพระเถระไปถึงกรุงสาวัตถีด้วยฤทธิ์ แล้วกราบทูลอ้อนวอนพระผู้มีพระภาคเจ้าว่าชาวหมู่บ้านพ่อค้าอยากเฝ้าพระองค์ พระพุทธเจ้าข้า ขอพระองค์ได้โปรดกระทําอนุเคราะห์แก่พวกเขาเถิด. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับแล้ว พระเถระทราบว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับ แล้วก็กลับไปยังถี่นของตนตามเดิม.

แม้พระผู้มีพระภาคเจ้า ก็ตรัสเรียกพระอานนทเถระมาสั่งว่าอานนท์พรุ่งนี้พวกเราจะเที่ยวบิณฑบาตที่หมู่บ้านพ่อค้าในแคว้นสุนาปรันตะ เธอจงให้สลากแก่ภิกษุ ๔๙๙ รูป. พระเถระสนองพระพุทธบัญชาว่า ดีแล้ว พระเจ้าข้า บอกเรื่องนั้นแก่ภิกษุสงฆ์แล้วพูดว่าขอให้พวกภิกษุที่เที่ยวไปบิณฑบาตจงอย่าจับสลาก. ในวันนั้น ท่านกุณฑธานเถระ. ได้จับสลากแรก. ฝ่ายชาวหมู่บ้านพ่อค้าทราบว่า นัยว่าพรุ่งนี้พระศาสดาจะเสด็จมาถึง จึงสร้างปะรํากลางบ้าน ตระเตรียมของถวายทานชั้นเลิศ. พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทําการปฏิบัติพระสรีระตั้งแต่เช้าเสด็จเข้าพระคันธกุฎี ประทับนั่งเข้าผลสมาบัติ.ปัณฑุกัมพลสิลาสนะของท้าวสักกะเกิดร้อนขึ้นมา. ท้าวสักกะนั้นทรงพิจารณาว่า อะไรนี้ ทรงเห็นว่าพระศาสดาจะเสด็จไปแคว้น สุนาปรันตะ จึงรับสั่งเรียกพระวิศวกรรมมาสั่งว่า พ่อ วันนี้พระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จเที่ยวบิณฑบาตระยะทางไกลประมาณสามร้อยโยชน์ (๑) พ่อจงเนรมิตเรือนยอดไว้ ๕๐๐ หลังทําการเตรียมระยะทางเสด็จที่ท้ายสุดซุ้มประตูพระเชตวัน ตั้งไว้ให้พร้อมพระ

---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

(๑) กมฺพุช. สามพันโยชน์


ความคิดเห็น 13    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 448

วิศวกรรมนั้นได้การทําอย่างนั้นแล้ว. เรือนยอดสําหรับพระผู้มีพระภาคเจ้ามี ๔ มุข. ของสองพระอัศรสาวก มี ๒ มุข. ที่เหลือมีมุขเดียว. พระศาสดาเสด็จออกจากพระคันธกุฎี ทรงเข้าสู่เรือนยอดอันประเสริฐในหมู่เรือนยอดที่ตั้งไว้ตามลําดับ. เหล่าภิกษุ ๔๙๙ รูปเริ่มแต่พระอัครสาวกทั้งสองต่างก็ไปสู่เรือนยอด ๔๙๙ หลัง. มีเรือนยอดว่างอยู่หลังหนึ่ง. เรือนยอดทั้ง ๕๐๐ หลังลอยไปในอากาศ.

พระศาสดา เสด็จถึงภูเขาชื่อ สัจจพันธ์ แล้วทรงหยุดเรือนยอดไว้ในอากาศ. ที่ภูเขานั้น มีดาบสมิจฉาทิฏฐิ ชื่อว่า สัจจพันธ์ ทําให้มหาชนถือเอาความเห็นผิดเป็นผู้ถึงลาภเลิศและยศเลิศอยู่. ก็ภายในตัวดาบสนั้นมีอุปนิสัยแห่งพระอรหัต โชติช่วงอยู่เหมือนประทีปที่อยู่ในตุ่ม. ครั้นทรงเห็นดาบสนั้นแล้วทรงพระดําริว่า เราจะแสดงธรรมแก่เขา จึงเสด็จไปทรงแสดงธรรม. เมื่อทรงเทศน์จบ ดาบสก็สําเร็จเป็นพระอรหันต์. อภิญญาของท่านก็มากับมรรคนั่นเอง. ท่านเป็นเอหิภิกษุ ทรงบาตรจีวรที่สําเร็จเพราะฤทธิ์แล้วเข้าสู่เรือนยอด.

พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปถึงหมู่บ้านพ่อค้าพร้อมกับภิกษุ ๕๐๐ รูปที่อยู่ในเรือนยอด ทรงทําให้ใครๆ มองไม่เห็นเรือนยอดแล้วเสด็จไปสู่หมู่บ้านพ่อค้า. พวกพ่อค้าได้ถวายทานใหญ่แก่หมู่ภิกษุซึ่งมีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุขแล้วทูลอาราธนาพระศาสดาเสด็จไปยังมกุฬการาม. พระศาสดาทรงเข้าสู่โรงปะรํา. มหาชนรอเวลาจนพระศาสดาดับความกระวนกระวายเกี่ยวกับพระอาหารให้สงบต่างรับประทานอาหารมื้อเช้าเสร็จแล้วสมาทานองค์อุโบสถถือของหอม.และดอกไม้เป็นอันมากกลับมาวัดเพื่อต้องการฟังธรรม. พระศาสดาทรงแสดงธรรม. การหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องผูกเกิดแก่มหาชนแล้ว. ความโกลาหลเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า ขนานใหญ่ได้มีแล้ว.

เพื่อสงเคราะห์มหาชน พระศาสดา ประทับ ๒ - ๓ วัน ในที่นั้นเอง.และก็ทรงยังอรุณให้ตั้งขึ้นในพระมหาคันธกุฎีนั่นแหละ. เมื่อประทับในที่นั้น


ความคิดเห็น 14    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 11 ก.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 449

๒ - ๓ วันแล้วก็เสด็จเที่ยวบิณฑบาตในหมู่บ้านพ่อค้าแล้วตรัสสั่งให้พระปุณณะเถระกลับว่าเธอจงอยู่ในที่นี้แหละ ในระหว่างทางมีแม่น้ำชื่อ นิมมทาได้เสด็จไปถึงฝังของแม่น้ำนั้น. นิมมทานาคราชถวายการต้อนรับ พระศาสดาทูลเสด็จเข้าสู่ภพนาค ได้กระทําสักการะพระรัตนตรัยแล้ว. พระศาสดาทรงแสดงธรรมแก่นาคราชนั้นแล้ว ก็เสด็จออกจากภพนาค. นาคราชนั้นกราบทูลขอว่าได้โปรดประทานสิ่งที่พึงบําเรอแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด พระพุทธเจ้าข้า. พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงแสดงบทเจดีย์ รอยพระบาท ไว้ที่ฝังแม่น้ำนิมมทา รอยพระบาทนั้น เมื่อคลื่นซัดมาก็ถูกปิด เมื่อคลื่นเลยไปแล้วก็ถูกเปิด. กลายเป็นรอยพระบาทที่ถึงสักการะอย่างใหญ่. เมื่อพระศาสดาทรงออกจากนั้นแล้วก็เสด็จถึงภูเขาสัจจพันธ์ ตรัสกับพระสัจจพันธ์ว่า มหาชนถูกเธอทําให้จมลงในทางอบาย เธอต้องอยู่ในที่นี้แหละ แก้ลัทธิของพวกคนเหล่านี้เสีย แล้วให้พวกเขาดํารงอยู่ในทางพระนิพพาน. แม้ท่านพระสัจจพันธ์นั้น ก็ทูลขอสิ่งที่จะต้องบํารุง.พระศาสดาก็ทรงแสดงรอยพระบาทไว้บนหลังแผ่นหินทึบเหมือนประทับตราไว้บนก้อนดินเหนียวสดๆ ฉะนั้น. ต่อจากนั้นก็เสด็จไปถึงพระเชตวันที่เดียว. ท่านหมายเอาข้อความนี้ จึงกล่าวคําเป็นต้นว่า ด้วยภายในพรรษานั้นเองดังนี้.

คําว่า ปรินิพพานแล้ว คือปรินิพพานแล้วด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ. มหาชน ทําการบูชาสรีระของพระเถระตลอด ๗ วัน แล้วเอาไม้หอมเป็นอันมากมากองเผาสรีระ เก็บธาตุ (กระดูก) แล้วสร้างเจดีย์ บรรจุ คําว่า ภิกษุมากหลาย คือพวกภิกษุที่อยู่ในที่ฌาปนกิจศพของพระเถระ คําที่เหลือในที่ทุกแห่งล้วนแต่ตื้นๆ ทั้งนั้นแล.

จบอรรถกถาปุณโณวาทสูตรที่ ๓