ตัณหาเป็นปัจจัยแก่อุปาทาน [วิสุทธิมรรค]
โดย wittawat  24 ก.พ. 2564
หัวข้อหมายเลข 33780

ตัณหาเป็นปัจจัยแก่อุปาทาน

วิสุทธิมรรค ภาค ๓ ตอน ๑ หน้า 357

[แก้บท ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ]

ในบทว่า ตณฺหาปจฺจยา อุปาทาน

อุปาทานมี ๔ บัณฑิตพึงอธิบายอุปาทาน ๔ นั้น โดยอรรถวิภาค (จําแนกความ) โดยสังเขป และโดยพิสดารแห่งธรรม และโดยลําดับ

นี่เป็นอธิบายในอุปาทานนั้น คือ ในคาถานี้ ชั้นแรก (ว่าด้วย) อุปาทานมี ๔ นี้ คือ กามุปาทาน ทิฏฐูปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน

(ต่อไป) นี้เป็นอรรถวิภาคแห่งอุปาทานเหล่านั้น

[อรรถแห่งกามุปาทาน]

(อรรถว่า) บุคคลย่อมถือมั่นซึ่งกามที่ได้แก่วัตถุ เหตุนี้จึงชื่อ กามุปาทาน (แปลว่า ความถือมั่นกามแห่งบุคคล) ดังนี้บ้าง

(อรรถว่า) กาม (คือกิเลส) ด้วย กาม (คือกิเลส) นั้นเป็น ธรรมชาตผู้ถือมั่นด้วย เหตุนี้จึงชื่อกามุปาทาน (แปลว่ากามผู้ถือมั่น) ดังนี้บ้าง

[อรรถแห่งอุปาทานศัพท์]

คําว่า อุปาทาน แปลว่า ถือมั่น (คือยึดไว้) เพราะอุปศัพท์ ในที่นี้มี ทัฬห ศัพท์ (มั่น แข็งขัน รุนแรงยิ่งนัก) เป็นอรรถ ดังอุปศัพท์ในคําอุปยาส (ลําบากใจยิ่งนัก คือคับแค้น) และคํา อุปกฏฺฐ๑ (ชักมาใกล้นัก คือจวนเจียน) เป็นต้น

[อรรถแห่งทิฏฐูปาทาน]

นัยเดียวกันนั้น (คืออุปาทานศัพท์มีอรรถว่า ถือมั่น ยึดไว้ เช่นเดียวกัน) คือ (อรรถว่า) ทิฏฐิด้วย ทิฏฐินั้นเป็นธรรมชาติถือมั่นด้วย เหตุนั้นจึงชื่อ ทิฏฐูปาทาน (แปลว่า ทิฏฐิอันยึดไว้) อีกอรรถ หนึ่งว่า ทิฏฐิย่อมถือมั่นทิฏฐิ เหตุนั้น จึงชื่อทิฏฐูปาทาน (แปลว่า ทิฏฐิยึดทิฏฐิ) ด้วยว่า อุตรทิฏฐิ (ความเห็นชั้นหลังมา) ย่อมยึด ปุริมทิฏฐิ (ความเห็นที่มีมาก่อน) ในความเห็นผิดทั้งหลาย มีเห็นว่า อัตตาเที่ยง และโลกเที่ยง เป็นต้น

[อรรถแห่งสีลัพพตุปาทาน]

นัยเดียวกัน คือ (อรรถว่า) บุคคลย่อมถือมั่นศีลพรต เหตุนี้ จึงชื่อ สีลัพพตุปาทาน (แปลว่า ความถือมั่นศีลพรตแห่งบุคคล) ดังนี้บ้าง (อรรถว่า) ศีลพรตด้วย ศีลพรตนั้นเป็นธรรมชาตถือมั่นด้วย เหตุนั้น จึงชื่อ สีลัพพตุปาทาน (แปลว่า ศีลพรตอันถือมั่น) ดังนี้บ้าง ด้วยว่า ศีลพรตต่างๆ มีโคศีล และ โคพรต เป็นต้น เป็นอุปาทานอยู่ ในตัวมันเอง เพราะยึดมั่นว่า ความบริสุทธิ์จักมีด้วยศีลพรตอย่างนั้น

[อรรถแห่งอัตตวาทุปาทาน]

นัยเดียวกัน บุคคลทั้งหลายย่อมกล่าวเพราะสิ่งนั้น (เป็นเหตุ) เหตุนี้ สิ่งนั้นจึงชื่อ วาทะ (แปลว่าสิ่งเป็นเหตุกล่าว)

สัตว์ทั้งหลายย่อมถือนั้น แม้เพราะสิ่งนั้น (เป็นเหตุ) เหตุนี้ สิ่งนั้นจึงชื่อ อุปาทาน (แปลว่า สิ่งเป็นเหตุถือมั่น)

ถามว่า บุคคลทั้งหลาย ย่อมกล่าวก็ดี ย่อมถือมั่นก็ดี ซึ่งอะไร? ตอบว่า ---- ซึ่งอัตตา

สิ่งเป็นเหตุกล่าวเป็นเหตุถือมั่นซึ่งอัตตา ชื่อว่า อัตตวาทุปาทาน

อีกอรรถหนึ่ง บุคคลทั้งหลาย ย่อมถือมั่นเอาเพียงคําว่า อัตตา เท่านั้นเอง ว่าเป็นอัตตา เพราะสิ่งนั้น (เป็นเหตุ) เหตุนี้ สิ่งนั้นจึงชื่อ อัตตาวาทุปาทาน (แปลว่าสิ่งเป็นเหตุถือมั่นเพียงคําว่า อัตตา)

นี่เป็นอรรถวิภาคแห่งอุปาทานเหล่านั้น เป็นอันดับแรก

[โดยสังเขปและโดยพิสดาร]

ส่วนในข้อสังเขปและพิสดารแห่งธรรม ๒ (นั้น) โดยสังเขป อันดับแรก ตัณหาทัฬหัตตะ (ความแน่นเหนียวแห่งตัณหา) เรียกว่า กามุปทาน เพราะมาในบาลีว่า "ในอุปาทาน ๔ นั้น กามุปาทาน เป็นไฉน? กามฉันทะ (ความพอใจด้วยอํานาจกิเลสกาม) ในกาม (คุณ) ทั้งหลายอันใด กามราคะ (ความกําหนัดด้วยอํานาจกิเลสกาม) ในกาม (คุณ) ทั้งหลายอันใด กามนันทิ (ความยินดีด้วยอํานาจกิเลสกาม) ในกาม (คุณ) ทั้งหลายอันใด กามตัณหา (ความอย่างด้วยอํานาจกิเลสกาม) ในกาม (คุณ) ทั้งหลายอันใด กามเสนหะ (ความรักด้วยอํานาจ กิเลสกาม) ในกาม (คุณ) ทั้งหลายอันใด กามปริฬาหะ (ความรุมร้อน ด้วยอํานาจกิเลสกาม) ในกาม (คุณ) ทั้งหลายอันใด กามมุจฉา (ความ สยบอยู่ด้วยอํานาจกิเลสกาม) ในกาม (คุณ) ทั้งหลายอันใด กามัชโฌสานะ (ความจอดใจอยู่ด้วยอํานาจกิเลสกาม) ในกาม (คุณ) ทั้งหลายอันใด อันนี้เรียกว่า กามุปาทาน"

อุตรตัณหา (ตัณหาที่เกิดทีหลังต่อๆ มา) อันเกิดเป็นโทษ หนาแน่นขึ้น เพราะมีปุริมตัณหา (ตัณหาที่เกิดก่อนๆ) เป็นอุปนิสสยปัจจัย นั่นเอง ชื่อตัณหาทัฬหัตตะ

แต่อาจารย์ บางเหล่ากล่าวว่า "ความปรารถนาอารมณ์ที่ยังไม่มา ถึง เป็นตัณหา อุปมาดังการยื่นมือของโจร (ควานหาสิ่งของ) ใน ที่มืด ฉะนั้น ความยึดเอาอารมณ์ที่มาถึงเข้าไว้เป็นอุปาทาน อุปมา ดังการคว้าเอาสิ่งของ (ที่ควานเจอเข้า) ของโจรนั้นนั่นแหละ อัน ธรรม (ทั้งสอง) นั้นเป็นปฏิปักษ์ต่ออัปปัจฉตา (ความมักน้อย) และสันตุฏฐิตา (ความสัณโดษ) (คนละอย่าง) อนึ่ง เป็นมูลแห่งปริเยสนทุกข์ (ทุกข์ เพราะการแสวงหา) และ อารักทุกข์ (ทุกข์ เพราะการรักษา) " (คนละอย่างเหมือนกัน)

ส่วนอุปาทาน ๓ ที่เหลือ โดยสังเขปก็เป็นเพียงทิฏฐิ (อย่างหนึ่งๆ) เท่านั้น

ส่วนว่าโดยพิสดาร ความแน่นเหนียวแห่งตัณหาในอารมณ์ทั้งหลายมีรูปเป็นต้น อันมีประเภทตั้ง ๑๐๘ ที่กล่าวมาก่อน (นั่น) เป็นกามุปาทาน มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ เป็นทิฏฐูปาทาน ดังบาลีว่า "ในอุปาทานเหล่านั้น ทิฏฐูปาทานเป็นอย่างไร? ความเห็น ฯ ล ฯ ความถือวิปลาสเช่นนี้ว่า "การให้ (เป็นทาน) ไม่มี (ผลวิบาก) การ (ให้เป็นการ) บูชา ไม่มี (ผลวิบาก) ฯลฯ สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดําเนินชอบปฏิบัติชอบ ผู้ซึ่งทําให้ แจ้งซึ่งโลกนี้และโลกอื่น ด้วย อภิญญาเองแล้ว (ประกาศ) ให้รู้ทั่วกัน ไม่มีในโลก" ดังนี้อันใด อันนี้เรียกว่า ทิฏฐูปาทาน"

ส่วนความยึดมั่นว่า 'ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยศีลและพรตทั้งหลาย เป็นสีลัพพตุปาทาน ดังบาลีว่า "ในอุปาทานเหล่านั้น สีลัพพตุปาทาน เป็นอย่างไร? ความเห็น ฯลฯ ความถือวิปลาสเช่นนี้ว่า "ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยศีล ความบริสุทธิ์มีได้ด้วยพรต ความบริสุทธิ์ได้ด้วย ศีลและพรต" ดังนี้อันใด อันนี้เรียกว่า สีลัพพตุปาทาน"

สักกายทิฏฐิมีวัตถุ ๒๐ เป็นอัตตวาทุปาทาน ดังบาลีว่า "ใน อุปาทานเหล่านั้น อัตตวาทุปาทานเป็นอย่างไร? ปุถุชนผู้มิไดสดับ ในโลกนี้ ฯลฯ มิได้รับแนะนําในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเห็นรูปโดยความเป็นตน ฯลฯ ความเห็น ฯลฯ ความถือวิปลาสเช่นนี้อันใด อันนี้เรียกว่า อัตตวาทุปาทาน"

นี่เป็นความสังเขปและความพิสดารแห่งธรรมในอุปาทานนั้น

[โดยลําดับ]

ส่วนในข้อว่า 'โดยลำดับ' นั้น มีพรรณนาว่า ลําดับมี ๓ อย่าง คือลําดับความเกิดขึ้น ๑ ลําดับการละ ๑ ลําดับการแสดง ๑

ในลําดับ ๓ อย่างนั้น เพราะไม่มีว่า "ความเกิดขึ้นแห่งสิ่งนี้มีก่อนเพื่อน ในสงสารอันไม่มีใครรู้เบื้องต้นเบื้องปลาย" ดังนี้ ลําดับ ความเกิดขึ้นแห่งกิเลสทั้งหลาย ท่านจึงไม่กล่าวไว้โดยตรง แต่โดยอ้อมพึงกล่าวได้ว่า อัตตวาทุปาทานเกิดก่อนเพื่อน ต่อนั้นทิฏฐูปาทาน สีลัพพตุปาทาน และกามุปาทานจึงเกิด (โดยลําดับ) โดยอธิบายดังนี้คือ โดยมาก ในภพอันหนึ่ง (อัตตวาทุปาทานคือ) ความถือมั่นว่าเที่ยง หรือว่าขาดสูญ อันมีความถืออัตตาไปหน้า (เกิดขึ้นก่อน) ต่อนั้น สีลัพพตุปาทาน อันมีความวิสุทธิ์แห่งอัตตาเป็นข้อมุ่งหมาย (จึงเกิดขึ้น) แก่บุคคลผู้ถือว่า อัตตานี้ เที่ยง (แล้ว) กามุปาทาน (จึงเกิดขึ้น) แก่บุคคลผู้ถือว่า อัตตานี้ ขาดสูญ ไม่แยแสต่อปรโลก นี่เป็นลําดับ ความเกิดขึ้นแห่งอุปาทาน ๔ นั้น ในภพอันหนึ่ง

ส่วนลําดับการละพึงทราบว่า ในอุปาทาน ๔ นั้น อุปทาน ๓ มีทิฏฐูปาทานเป็นต้น ละได้ก่อน เพราะอุปาทาน ๓ นั้น เป็นโทษ ที่โสดาปัตติมรรคพึงกําจัด กามุปาทานละได้ภายหลัง เพราะกามุปาทาน เป็นโทษที่ อรหัตตมรรคพึงกําจัด นี่เป็นลําดับการละแห่งอุปาทาน ทั้งหลายนั้น

ส่วนลําดับการแสดง พึงทราบว่าในอุปาทาน ๔ นั้น กามุปาทาน แสดงก่อน เพราะเป็นโทษมีวิสัยใหญ่ และเพราะเป็นโทษปรากฏ (เห็นชัด) ด้วย จริงอยู่ กามุปาทานนั้น นับเป็นโทษมีวิสัยใหญ่ เพราะสัมปโยคกับจิตทั้ง ๘ ดวง อุปาทานนอกนี้นับเป็นโทษมีวิสัยน้อย เพราะสัมปโยคกับจิต (เพียง) ๔ ดวง อนึ่ง กามุปาทาน นับว่าเป็นโทษปรากฏแก่หมู่สัตว์ เพราะความที่ หมู่สัตว์เป็นผู้ยินดีในอาลัย (มาจากคำว่า “อาลยรามตา” มหาฎีกา แสดงว่า น่าจะหมายถึงกามคุณ) โดยมาก อุปาทานนอกนี้ไม่ปรากฏ ผู้มีกามุปาทาน ย่อมเป็นผู้มากไป ด้วยการทํามงคล มีโกตุหลมงคล (การมงคลที่ทําให้เป็นการครึกครื้น) เป็นต้น เพื่อ (ให้) ได้ (วัตถุ) กามทั้งหลายโดยง่าย ความเป็น ผู้มากด้วยการทํามงคล มีโกตุหลมงคลเป็นต้น ของบุคคลผู้มีกามุปาทาน นั้น เป็นสัสตทิฏฐิ เพราะฉะนั้น ทิฏฐูปาทาน จึงแสดงในลําดับ กามุปาทานนั้น ทิฏฐูปาทานนั้น เมื่อแตกออกก็เป็นสองอย่าง โดย เป็นสีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน ในสองอย่างนั้น สีลัพพตุปาทาน แสดงก่อน เหตุว่าเป็นโทษหยาบ เพราะแม้ เห็นกิริยาโคหรือ กิริยาสุนัขก็ตาม (ที่คนมีสีลัพพตุปาทานแสดง) ก็พึงทราบได้ อัตตวาทุปาทาน แสดงไว้สุดท้าย เพราะเป็นโทษละเอียด นี่เป็นลําดับ การแสดงแห่งอุปาทาน ๔ นั้น

[คาถาสังเขปปัจจยนัย]

ก็ในอุปาทานทั้งหลายนี้ ตัณหาเป็นปัจจัยอย่าง เดียวแห่งอุปาทานข้อหน้าเพื่อน มันเป็นปัจจัย ๗ อย่างบ้าง ๘ อย่างบ้างก็มี แห่งอุปาทาน ๓ ที่เหลือ

[ขยายความ]

ก็แลในอุปาทานทั้งหลายนี้ คือในอุปาทาน ๔ ที่แสดงมาดังนี้ กามตัณหาเป็นปัจจัยอย่างเดียว โดยเป็นอุปนิสสยปัจจัยเท่านั้น แห่ง อุปาทานข้อหน้าเพื่อน คือ กามุปาทาน เพราะเกิดขึ้นในอารมณ์ทั้งหลาย ที่ตัณหายินดีโดยเฉพาะ แต่มันเป็นปัจจัย ๗ อย่าง โดยเป็นสหชาตปัจจัย อัญญมัญญปัจจัย นิสสยปัจจัย สัมปยุตปัจจัย อัตถิปัจจัย อวิคตปัจจัย และเหตุปัจจัยบ้าง เป็น ๘ อย่าง กับทั้งอุปนิสสยปัจจัยบ้างก็มี แห่งอุปาทาน ๓ ที่เหลือ แต่ว่าเมื่อใดมันเป็นปัจจัยโดยเป็นอุปนิสสยะ เมื่อนั้นมันก็เป็นอสหชาต (คือไม่เป็นสหชาต) ด้วยแล

นี่เป็นกถาอย่างพิสดารในบทว่า ตณฺหาปจฺจยา อุปาทานํ

[สรุปความ]

>>ปัจจัยธรรม

ตัณหา หมายถึง สภาพธรรมที่ติดข้องในอารมณ์ ได้แก่ โลภเจตสิก ซึ่งเกิดขึ้นร่วมกับโลภมูลจิตทั้ง ๘ ประเภท โดยละเอียด ท่านแบ่งไปตามอารมณ์ทั้ง ๖ มีรูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธรรมตัณหา เป็นต้น ซึ่งดูรายละเอียดได้ในบทที่แล้ว

เวทนาเป็นปัจจัยแก่ตัณหา [วิสุทธิมรรค]

>>ปัจจยุบันธรรม

>>> ความหมายของอุปาทาน

“อุปาทาน” หมายถึง ความยึดมั่น ความถือมั่น ซึ่งมาจากคำว่า “อุป” ที่หมายถึง ความมั่นคง ความแข็งแรง รุนแรง และคำว่า “อาทาน” หมายถึง การยึด การถือ ได้แก่ ธรรม (สิ่งที่มีจริง) ๒ ประเภท คือ โลภเจตสิก และ ทิฏฐิเจตสิก ที่มีสภาพที่ยึดไว้อย่างมั่นคง ไม่ปล่อย ท่านจำแนก อุปาทาน นี้ไว้ ๔ ประเภท ได้แก่

กามุปาทาน หมายถึง ความยึดมั่นในกาม ซึ่งกามวัตถุ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นต้น (โดยละเอียด ก็มีธรรมารมณ์ด้วย) ซึ่งได้แก่ ธรรม คือ โลภเจตสิก

>> ความหมายโดยสังเขป

“กามุปาทาน” คือ ความเหนียวแน่นของตัณหา (ตัณหาทัฬหัตตะ) ซึ่งไม่ได้เกิดจาก ตัณหา หรือโลภเจตสิกที่ติดข้องในอารมณ์นั้นเพียงครั้งเดียว แต่อาศัยตัณหาที่เกิดก่อนๆ เป็นอุปนิสสยปัจจัยให้ โลภเจตสิกที่มีกำลัง เป็นกามุปาทานเกิดขึ้น จำแนกได้หลายประเภท มีความพอใจด้วยอำนาจกาม (กามฉันทะ) ความกำหนัดด้วยอำนาจกาม (กามราคะ) ความรักใคร่ด้วยอำนาจกาม (กามเสนหะ) ความรุ่มร้อนด้วยอำนาจกาม (กามปริฬาหะ) ความสยบอยู่ด้วยอำนาจกาม (กามมุจฉา) เป็นต้น

บางอาจารย์ท่านแสดงว่า “ตัณหา” หมายถึง ความปรารถนาอารมณ์ที่ยังมาไม่ถึง เหมือนการยื่นมือของโจรในที่มืด ส่วน “กามุปาทาน” หมายถึง การยึดเอาอารมณ์ที่มาถึงไว้แล้ว เหมือนการคว้าเอาสิ่งของของโจร โดย “ตัณหา” ท่านกล่าวว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อความมักน้อย และนำมาซึ่งทุกข์จากการแสวงหา ส่วน “กามุปาทาน” ท่านกล่าวว่า เป็นปฏิปักษ์ต่อความสัณโดษ และนำมาซึ่งทุกข์เพราะการรักษา

>> ความหมายโดยพิสดาร

“กามุปาทาน” หมายถึง ความเหนียวแน่นของตัณหา ที่เป็นไปในอารมณ์ทั้งหลาย มีรูป เป็นต้น ซึ่งจำแนกโดยละเอียดได้ถึง ๑๐๘ ประเภท

“กามุปาทาน” เป็นสภาพธรรม ได้แก่ โลภเจตสิกนั้นเองที่มีกำลัง ทั้งที่เกิดพร้อมกับทิฏฐิ และ ไม่ได้เกิดร่วมกับทิฏฐิ สัมปยุตต์ได้กับโลภมูลจิต ๘ ดวง)

ทิฏฐูปาทาน หมายถึง ความยึดมั่นในความเห็นที่ผิด เช่น ความเห็นว่ามีบุคคลที่เที่ยง (ไม่มีวันตาย) มีโลกเที่ยง (ไม่มีวันสูญสลาย) เป็นต้น ซึ่งความเห็นเช่นนี้จะเกิดได้ ก็จะต้องมีความยึดมั่นความเห็นผิดทั้งหลายที่เกิดขึ้นก่อนๆ

>> ความหมายโดยพิสดาร

“ทิฏฐูปาทาน” หมายถึง ความเห็น ความยึดถือที่คลาดเคลื่อนจากความจริง ซึ่งได้แก่ มิจฉาทิฏฐิมีวัตถุ ๑๐ เช่น การให้ทานไม่มี ผลของการให้ทานไม่มี การบูชาไม่มี ผลของการบูชาไม่มี ฯลฯ สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบปฏิบัติชอบ ผู้รู้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยอภิญญาเองแล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ไม่มี เป็นต้น

“ทิฏฐูปาทาน” เป็นสภาพธรรม ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่สัมปยุตต์กับ โลภมูลจิต ๔ ดวงที่ประกอบด้วยความเห็นผิดเท่านั้น

สีลัพพตุปาทาน หมายถึง ความยึดมั่นในการปฏิญานตนที่จะประพฤติตามข้อปฏิบัติ เช่นนั้น หรือพิธีกรรมประเภทนั้น เช่น การประพฤติเหมือนโค (ยืน ๔ ขา แบบวัว รับประทานอาหาร ถ่ายอุจจาระ ปัสสาวะ เช่นเดียวกันกับวัว เป็นต้น) ด้วยความเชื่อมั่นว่า ความประพฤติเช่นนั้นจะนำไปสู่ความบริสุทธิ์

>> ความหมายโดยพิสดาร

“สีลัพพตุปาทาน” หมายถึง ความเห็น ความยึดถือที่คลาดเคลื่อนจากความจริงว่า “ความบริสุทธิ์ มีได้ด้วยศีล (ข้อประพฤติปฏิบัติ) มีได้ด้วยพรต (การรับเอาไปปฏิบัติตามข้อประพฤติปฏิบัตินั้น) มีได้ด้วยศีลและพรต” ซึ่งในที่นี้ศีล ไม่ใช่ศีลที่พระพุทธเจ้าทรงแสดง แต่เป็นข้อประพฤติปฏิบัตินอกศาสนา

“สีลัพพตุปาทาน” เป็นสภาพธรรม ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่สัมปยุตต์กับ โลภมูลจิต ๔ ดวงที่ประกอบด้วยความเห็นผิดเท่านั้น

อัตตวาทุปาน หมายถึง ความยึดมั่นในวาทะ (หลักคำสอน หรือ การปลูกฝังให้คิดเช่นนั้น) ว่าเป็นอัตตา (ว่าเป็นเรา ว่ามีเรา ว่ามีตัวตน ว่าเป็นตัวตน) ผู้นั้นไม่ได้เห็นว่าเป็นสภาพธรรม เห็นว่าเป็นอัตตา (เป็นเรา หรือเป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด นอกตัวเรา เป็นต้น)

>> ความหมายโดยพิสดาร

“อัตตวาทุปาน” หมายถึง ความเห็น ความยึดถือที่คลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง อันเกิดจากบุคคลนั้น ไม่ได้ฟังธรรมของสัตบุรุษ (พระอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า พระอริยสาวก พระโพธิสัตว์) ได้แก่ สักกายทิฏฐิ ๒๐ ก็เกิดขึ้น เช่น เห็นรูปโดยความเป็นตน เป็นต้น

“อัตตวาทุปาทาน” เป็นสภาพธรรม ได้แก่ ทิฏฐิเจตสิก ที่สัมปยุตต์กับ โลภมูลจิต ๔ ดวงที่ประกอบด้วยความเห็นผิดเท่านั้น

>>> ลำดับของอุปาทาน มี ๓ ประเภท ได้แก่

>> ลำดับการเกิดของอุปาทาน

ไม่มีลำดับการเกิดของอุปาทานโดยตรง เนื่องจากสังสารวัฏฏ์ ท่านแสดงว่ายาวนานมาก แต่ท่านยกลำดับโดยอ้อมดังนี้คือ

1. อัตตวาทุปาทาน

2. ทิฏฐูปาทาน

3. สีลัพพตุปาทาน

4. กามุปาทาน

เพราะมีความไม่รู้ความจริงของสภาพธรรม ไม่ได้ฟังธรรม ก็เข้าใจว่าเป็นเรา เป็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด (เป็นอัตตวาทุปาทาน) ทั้งความเห็นก็เป็นเช่นนั้น ด้วยตนเองก็ดี ตามที่ได้ยินมาก็ดี ว่ามีตัวตนที่เที่ยงบ้าง หรือเมื่อตายไปแล้วสูญบ้าง (เป็นทิฏฐูปาทาน) เมื่อเห็นเช่นนั้นแล้ว ผู้ที่ประพฤติข้อปฏิบัติเพื่อให้ถึงความเป็นอมตะตามความเห็นนั้น ก็ทำตามข้อประพฤติที่สอนกันอย่างนั้น (เป็นสีลัพพตุปาทาน) ส่วนผู้ที่เชื่อว่าตายไปแล้วไม่เกิดอีก ก็ไม่สนใจในข้อปฏิบัติใดๆ ก็ยึดถือในการบริโภคกาม (เป็นกามุปาทาน)

>> ลำดับการละ

1. ทิฏฐูปาทาน สีลัพพตุปาทาน และอัตตวาทุปาทาน ท่านแสดงว่าละได้ก่อนด้วยโสตาปัตติมรรค

2. กามุปาทาน ท่านแสดงว่าละได้ภายหลัง ด้วยอรหัตตมรรค (พระอนาคามี สามารถละกามุปาทาน ที่ยึดมั่นในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่เป็นไปในกามภพได้หมด แต่ยังไม่สามารถละความยึดมั่น ธรรมารมณ์ ทั้งหมดได้ ยังต้องเกิดอีกในรูปภพ หรืออรูปภพ)

>> ลำดับการแสดง

1. กามุปาทาน ท่านแสดงก่อน เพราะว่าเป็นโทษที่ปรากฏชัดแก่หมู่สัตว์ และเป็นโทษที่เกิดได้อย่างกว้างขวาง คือเกิดได้กับโลภมูลจิตทั้ง ๘ ดวง แต่อุปาทานอื่นๆ เกิดได้กับโลภมูลจิตที่เกิดพร้อมกับความเห็นผิด เพียง ๔ ดวง

2. ทิฏฐูปาทาน ตามธรรมดาผู้มีกามุปาทาน ผู้นั้นก็เป็นผู้มากไปด้วยการทำมงคล (เช่น ขอพรเพราะความรักตนเอง เป็นต้น) ความเป็นผู้มากด้วยการทำมงคล เช่นนั้นเป็นความเห็นว่าเที่ยง (เพราะเป็นผู้ไม่รู้ว่าสิ่งใดเป็นมงคล ก็ทำสิ่งที่ไม่รู้และเชื่อว่าเป็นมงคล เช่น มีเทพเจ้าที่ควรบูชาให้พรได้ มีพระเจ้าผู้สร้าง นำโชคลาภมาให้ เป็นต้น) ก็เป็นทิฏฐูปาทาน

3. สีลัพพตุปาทาน ท่านแสดงก่อน เพราะมีโทษหยาบ เช่น ความประพฤติเช่นโค เช่นสุนัข (ยุคนี้ก็มีวิ่งแก้บน ไปขอให้สอบผ่าน สักยันต์ สะเดาะเคราะห์ประการต่างๆ การปลุกเสก การทำน้ำมนต์ การประพฤติตามๆ กันด้วยความไม่รู้ในสำนักปฏิบัติต่างๆ เป็นต้น)

4. อัตตวาทุปาทาน ซึ่งหมายถึง สักกายทิฏฐิ (ความถือมั่นว่าเป็นเรา เพราะความไม่รู้ว่าเป็นธรรม) ท่านแสดงทีหลัง เพราะมีโทษละเอียด

>>> สรุปความเป็นปัจจัย

- กามตัณหา (โลภเจตสิก จำแนกตามอารมณ์ ๖ ได้แก่ รูปตัณหา สัททตัณหา คันธตัณหา รสตัณหา โผฏฐัพพตัณหา ธรรมตัณหา ที่เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง) เป็นปัจจัย ๑ ประเภท แก่ กามุปาทาน ได้แก่

1. อุปนิสสยปัจจัย เช่น รูปตัณหาที่พอใจในรูปที่ปรากฏทางตาเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยแก่กามุปาทานที่ยึดมั่นเมื่อ (โดยโลภเจตสิกที่เป็นรูปตัณหาต้องดับไปก่อนแล้ว จึงเป็นอุปนิสสยปัจจัยให้โลภเจตสิกที่เป็นกามุปาทานเมื่อมีโอกาสเกิดก็เกิดได้)

ตัวอย่างจาก ปัฏฐาน ภาค ๑ เล่ม ๑ หน้า 371

“ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ และความปรารถนา เป็นปัจจัยแก่ ราคะ โทสะ โมหะ มานะ ทิฏฐิ และแก่ความปรารถนาโดยอุปนิสสยปัจจัย (หมายถึงปกตูปนิสสยปัจจัย) ”

- กามตัณหา (โลภเจตสิก ซึ่งจำแนกตามอารมณ์ ๖ ที่เกิดกับโลภมูลจิต ๔ ดวง) เป็นปัจจัย ๗ ประเภท แก่ อุปาทาน ๓ ที่เหลือ (ทิฏฐิเจตสิก ทิฏฐูปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน ที่เกิดกับ โลภมูลจิต ๔ ดวง ที่สัมปยุตด้วยทิฏฐิเท่านั้น) ได้แก่

1. สหชาตปัจจัย เช่น โลภเจตสิกเป็นปัจจัยให้แก่ทิฏฐิเจตสิกโดยความเกิดพร้อมกัน เป็นต้น

2. อัญญมัญญปัจจัย เช่น โลภเจตสิกและทิฏฐิเจตสิกต่างอาศัยกันและกันเกิดพร้อมกัน เป็นต้น

3. นิสสยปัจจัย เช่น ทิฏฐิเจตสิกเกิดขึ้นโดยอาศัยโลภเจตสิกเป็นสหชาตนิสสยปัจจัย เป็นต้น

4. สัมปยุตตปัจจัย เช่น ทิฏฐิเจตสิกและโลภเจตสิกเกิดพร้อมกันดับพร้อมกันรู้อารมณ์เดียวกัน

5. อัตถิปัจจัย เช่น โลภเจตสิกเป็นสหชาตัตถิปัจจัยแก่ทิฏฐิเจตสิก เป็นต้น เมื่อโลภเจตสิกยังมี

6. อวิคตปัจจัย เช่น โลภเจตสิกเป็นสหชาตอวิคติปัจจัยแก่ทิฏฐิเจตสิก เป็นต้น เมื่อโลภเจตสิกยังไม่ดับไป

7. เหตุปัจจัย เช่น โลภเจตสิกเป็นเหตุปัจจัยแก่ทิฏฐิเจตสิกที่เกิดพร้อมกัน เป็นต้น

- กามตัณหา (โลภเจตสิก ๖ จำแนกตามอารมณ์ ที่เกิดกับโลภมูลจิต ๘ ดวง) เป็นปัจจัยอีก ๑ ประเภท (รวมกับข้างต้นเป็น ๘ ประเภท) แก่ อุปาทาน ๓ ที่เหลือ (ทิฏฐิเจตสิก ทิฏฐูปาทาน สีลัพพตุปาทาน อัตตวาทุปาทาน ที่เกิดกับ โลภมูลจิต ๔ ดวง ที่สัมปยุตด้วยทิฏฐิเท่านั้น) ได้แก่

1. อุปนิสสยปัจจัย เช่น โลภเจตสิกที่เป็นรูปตัณหา ที่ติดข้องพอใจในรูปที่ปรากฏทางตาเป็นปกตูปนิสสยปัจจัยแก่อัตตวาทุทิฏฐิที่ยึดมั่นสิ่งที่ปรากฏทางตา ว่าเป็นเรา เป็นต้น (โดยโลภเจตสิกที่เป็นรูปตัณหาต้องดับไปก่อนแล้ว จึงเป็นอุปนิสสยปัจจัยให้ทิฏฐิเจตสิกที่เป็นอัตตวาทุปาทาน ซึ่งได้แก่ สักกายทิฏฐิอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น เห็นรูปโดยความเป็นเรา เป็นต้น เมื่อมีโอกาสเกิดก็เกิดได้)



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 12 ก.ย. 2565

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย PONG.tn  วันที่ 17 ก.ค. 2566

กราบอนุโมทนาครับ