[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 101
๗. อุปจาลาสูตร
ว่าด้วยมารรบกวนอุปจาลาภิกษุณี
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 101
๗. อุปจาลาสูตร
ว่าด้วยมารรบกวนอุปจาลาภิกษุณี
[๕๔๑] สาวัตถีนิทาน.
ครั้งนั้น เวลาเช้า อุปจาลาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในกรุงสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัต กลับจากบิณฑบาตแล้วเข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักกลางวัน ครั้นถึงป่าอันธวันแล้ว จึงนั่งพักกลางวันอยู่ที่โคนไม้ต้นหนึ่ง.
[๕๔๒] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้อุปจาลาภิกษุณีบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหาอุปจาลาภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกะอุปจาลาภิกษุณีว่า ดูก่อนภิกษุณี อย่างไรหนอท่านจึงอยากจะเกิด.
อุปจาลาภิกษุณีตอบว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ เราไม่อยากเกิดในที่ไหนๆ เลย.
[๕๔๓] มารผู้มีบาปกล่าวว่า.
ท่านจงตั้งจิตไว้ในพวกเทพชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดีและชั้นวสวัตตีเถิด ท่านจักได้เสวยความยินดี.
[๕๔๔] อุปจาลาภิกษุณีกล่าวว่า
พวกเทพชั้นดาวดึงส์ ชั้นยามา ชั้นดุสิต ชั้นนิมมานรดี และชั้นวสวัตตี
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 102
ยังผูกพันอยู่ด้วยเครื่องผูกคือกาม จำต้องกลับมาสู่อำนาจมารอีก โลกทั้งหมดเร่าร้อน โลกทั้งหมดคุเป็นควัน โลกทั้งหมดลุกโพลง โลกทั้งหมดสั่นสะเทือน.
ใจของเรายินดีแน่วในพระนิพพานอันไม่สั่นสะเทือน อันไม่หวั่นไหว ที่ปุถุชนเสพไม่ได้ มิใช่คติของมาร.
ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า อุปจาลาภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง.
อรรถกถาอุปจาลาสูตร
ในอุปจาลาสูตรที่ ๗ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-
บทว่า เอนฺติ มารวสํ ปุน ความว่า มาสู่อำนาจ มรณมาร กิเลสมาร และเทวบุตรมาร. บทว่า ปรูปิโต ได้แก่ ให้เดือดร้อน. บทว่า อคติ ยตฺถ มารสฺส ความว่า ในพระนิพพานใด ท่านผู้เป็นมารไปไม่ได้. บทว่า ตตฺถ ได้แก่ ในพระนิพพานนั้น.
จบอรรถกถาอุปจาลาสูตรที่ ๗