[เล่มที่ 38] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 135
ปฐมปัณณาสก์
อุปาลิวรรคที่ ๔
๗. อุปาลิสังฆเภทสูตร
ว่าด้วยวัตถุ ๑๐ ประการที่ทําให้สงฆ์แตกกัน
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 38]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 135
๗. อุปาลิสังฆเภทสูตร
ว่าด้วยวัตถุ ๑๐ ประการที่ทำให้สงฆ์แตกกัน
[๓๕] อุ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระองค์ตรัสว่า สังฆเภท สังฆเภท ดังนี้ สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่าไรหนอแล.
พ. ดูก่อนอุบาลี ภิกษุทั้งหลายในธรรมวินัยนี้ ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่ธรรมว่าเป็นธรรม ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นธรรมว่าไม่เป็นธรรม ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ไม่ใช่วินัยว่าเป็นวินัย ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่เป็นวินัยว่าไม่เป็นวินัย ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่ได้กล่าวไว้ไม่ได้บอกไว้ว่า ตถาคตกล่าวไว้บอกไว้ ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตกล่าวไว้บอกไว้ว่า ตถาคตไม่ได้กล่าวไว้ไม่ได้บอกไว้ ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่เคยประพฤติมาว่า ตถาคตเคยประพฤติมา ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตเคยประพฤติมาว่า ตถาคตไม่เคย
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ทสก-เอกาทสกนิบาต เล่ม ๕ - หน้า 136
ประพฤติมา ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตไม่บัญญัติไว้ว่า ตถาคตบัญญัติไว้ ๑ ย่อมแสดงสิ่งที่ตถาคตบัญญัติไว้ว่า ตถาคตไม่บัญญัติไว้ ๑ ภิกษุเหล่านั้นย่อมทอดทิ้งกัน แยกจากกัน ทำสังฆกรรมแยกกัน สวดปาติโมกข์แยกจากกัน ด้วยวัตถุ ๑๐ ประการนี้ ดูก่อนอุบาลี สงฆ์จะเป็นผู้แตกกันด้วยเหตุมีประมาณเท่านี้แล.
จบอุปาลิสังฆเภทสูตรที่ ๗
อรรถกถาอุปาลิสังฆเภทสูตรที่ ๗
อุปาลิสังฆเภทสูตรที่ ๗ พึงทราบวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า วตฺถูหิ ได้แก่ เหตุทั้งหลาย. บทว่า อวกสฺสนฺติ ได้แก่ คร่าออกไป ทอดทิ้งไป แยกจากกัน ซึ่งบริษัทไว้ส่วนหนึ่ง. บทว่า ปวกสฺสนฺติ ได้แก่ คร่าออกไปแล้วขับไล่ไป. บทว่า อาเวนิกกมฺมานิ กโรนฺติ ได้แก่ ทำสังฆกรรมแยกกัน.
จบอรรถกถาอุปาลิสังฆเภทสูตรที่ ๗