เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน
เนวสญฺญา (มีสัญญาก็ไม่ใช่) + นาสญฺญา (ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่) + อายตน (ที่เกิด) + ฌาน (สภาพที่เพ่ง, เผาปฏิปักษ์ธรรม)
ฌานจิตซึ่งเป็นที่เกิดของสัมปยุตตธรรม คือ ความมีสัญญาก็ไม่ใช่ ไม่มีสัญญาก็ไม่ใช่ หมายถึง อรูปาวจรจิตดวงที่ ๔ หรืออรูปฌานที่ ๔ ซึ่งมี ๓ ดวง ๓ ชาติคือ
๑. เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิต เป็นอรูปฌานกุศลดวงที่ ๔
๒. เนวสัญญานาสัญญายตนวิบากจิต เป็นอรูปฌานวิบากดวงที่ ๔
๓. เนวสัญญานาสัญญายตนกิริยาจิต เป็นอรูปฌานกิริยาดวงที่ ๔
ผู้ที่จะอมรมเจริญอรูปฌานกุศลจิตดวงที่ ๔ ต้องอบรมอรูปฌานกุศลจิตดวงที่ ๓ จนกระทั่งมีความชำนาญเป็นวสีแล้ว จึงเลิกใส่ใจความว่างเปล่าที่เพิกจากอรูปฌานที่ ๒ แต่เปลี่ยนมาใส่ใจที่อากิญจัญญายตนจิต ซึ่งมีความว่างเปล่าที่เพิกจากอรูปฌานที่ ๒ นั้นเป็นอารมณ์ คือ มีอรูปฌานกุศลจิตดวงที่ ๓ เป็นอารมณ์นั่นเอง เพราะมีสติสัมปชัญญะพิจารณารู้ว่า แม้ความว่างเปล่าจะกว้างใหญ่ไม่มีที่สุดอย่างไร แต่ก็มีอากิญจัญญายตนจิตซึ่งมีความว่างเปล่า คือ แม้อะไรน้อยหนึ่งก็ไม่มีนั้นเป็นอารมณ์
ฉะนั้น อากิญจัญญายตนจิตนั้นแหละไม่มีที่สุดกว่าความว่างเปล่า จึงเรียกอรูปฌานที่ ๔ นี้ว่า เนวสัญญานาสัญญายตนฌาน เพราะมีสัญญาที่เกิดกับอากิญจัญญายตนจิตซึ่งไม่มีที่สุดเป็นอารมณ์ (จะเรียกอรูปฌานที่๔ นี้ว่า เนวจิตตานาจิตตายตนฌาน หรือ เนวเวทนานาเวทนายตนฌาน ก็ได้เพราะว่าสภาพธรรมที่เป็นสัมปยุตตธรรมของเนวสัญญานาสัญญายตนฌานนั้น แผ่วเบามากจนกล่าวได้ว่ามีก็ไม่ใช่ไม่มีก็ไม่ใช่ ฉะนั้นจึงไม่เป็นอารมณ์ของผู้อบรมปัญญาเจริญสติปัฏฐานเบื้องต้น เนื่องจากอารมณ์ไม่ปรากฏชัดเจน
(ดู อรูปาวจรกุศลจิต อรูปาวจรวิบากจิต อรูปาวจรกิริยาจิต)
ขออนุโมทนาครับ