[คำที่ ๕๓๗] วิญฺญาณธาตุ
โดย Sudhipong.U  3 ธ.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 41626

ภาษาบาลี ๑ คำ คติธรรมประจำสัปดาห์ “วิญฺญาณธาตุ”

โดย อ.คำปั่น อักษรวิลัย

วิญฺญาณธาตุ อ่านตามภาษาบาลีว่า วิน - ยา - นะ - ทา - ตุ มาจากคำว่า วิญฺญาณ (สภาพธรรมที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์, วิญญาณ) กับคำว่า ธาตุ (สภาพที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตน) รวมกันเป็น วิญฺญาณธาตุ เขียนเป็นไทยได้ว่า วิญญาณธาตุ แปลว่า สภาพธรรมที่ทรงไว้ซึ่งลักษณะของตนคือวิญญาณซึ่งเป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์, ธาตุ คือ วิญญาณ, วิญญาณธาตุ

วิญญาณ กับ จิต เป็นสภาพธรรมอย่างเดียวกัน เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ จิตหรือวิญญาณ เป็นสภาพธรรมที่มีจริงๆ เกิดเพราะเหตุปัจจัย เกิดแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ว่างเปล่าจากความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล หาความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตน ในจิตหรือวิญญาณแต่ละขณะๆ ไม่ได้เลย ความเป็นจริงของจิตหรือวิญญาณ คือทรงไว้ซึ่งลักษณะที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ หรือ มีลักษณะที่รู้แจ้งซึ่งอารมณ์ ไม่เปลี่ยนลักษณะเป็นอย่างอื่น เป็นจริงอย่างไร ก็เป็นจริงอย่างนั้น

ข้อความในสุมังคลวิลาสินี อรรถกถา พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค สังคีติสูตร แสดงความหมายของ วิญญาณธาตุไว้ ดังนี้

“ธาตุที่รู้แจ้งอย่างเดียว ชื่อว่า วิญญาณธาตุ”


พระพุทธประสงค์ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลาที่ยาวนาน ตั้งแต่เมื่อครั้งที่ทรงเป็นพระโพธิสัตว์ ก็เพื่อที่จะได้ตรัสรู้ (รู้อย่างแจ่มแจ้ง) ซึ่งสภาพธรรมที่มีจริง ด้วยพระองค์เอง แล้วทรงมีพระมหากรุณา แสดงสิ่งที่พระองค์ได้ตรัสรู้ให้สัตว์โลกได้เข้าใจ เป็นคำในภาษามคธอันเป็นภาษาที่ดำรงรักษาพระพุทธศาสนา ซึ่งแต่ละชนชาติที่ไม่ได้ใช้ภาษานั้น ก็ฟังพระธรรมของพระองค์ในภาษาของตนเองๆ เพื่อที่จะได้เข้าใจสิ่งที่มีจริง อย่างถูกต้องตรงตามความเป็นจริง เป็นการเข้าใจธรรมในภาษาของตนๆ จะเห็นได้ว่าพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงมาจากการตรัสรู้ความจริงของสิ่งที่มีจริงทุกขณะ

ไม่ว่าจะในยุคใดสมัยใด ธรรม คือ สิ่งที่มีจริง ก็เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เป็นจริงอย่างไรก็เป็นจริงอย่างนั้น ซึ่งเป็นสิ่งที่ละเอียด ลึกซึ้งอย่างยิ่ง เพราะว่า ก่อนที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจะได้ทรงบรรลุถึงความเป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า นั้น ทรงบำเพ็ญพระบารมีซึ่งหมายถึงคุณความดีมากมายมหาศาลที่จะทำให้ถึงฝั่งของการดับกิเลส ตลอดระยะเวลาที่ยาวนานถึงสี่อสงไขยแสนกัปป์ ด้วยเหตุนี้ ผู้ที่เป็นสาวก จึงควรอย่างยิ่งที่จะได้ฟังพระธรรมที่พระองค์ทรงแสดงด้วยความเคารพ คือ ฟังเพื่อที่จะเข้าใจในแต่ละคำที่ได้ยินได้ฟัง ให้ถูกต้อง ชัดเจน ไม่ใช่คิดเอง ชีวิตประจำวัน ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมให้เข้าใจ ก็เป็นการพูดคำที่ไม่รู้จัก คำว่า จิต ก็พูด คำว่าวิญญาณ ก็พูด ซึ่งไม่มีทางเข้าใจอย่างแน่นอน ถ้าไม่ได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง

จิต เป็นสภาพธรรมอย่างหนึ่ง เป็นนามธรรม เป็นสภาพธรรมที่เป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์ มีพยัญชนะหลายคำที่หมายถึงจิต เพื่อให้ผู้ที่ศึกษาได้เข้าใจถึงลักษณะของจิต ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่แต่ละบุคคลมีด้วยกันทั้งนั้น หนึ่งในนั้นคือวิญญาณ จิตกับวิญญาณ เป็นสภาพธรรมอย่างเดียวกัน วิญญาณไม่มีการล่องลอย ไม่มีรูปร่าง วิญญาณไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัว วิญญาณมีอยู่ทุกขณะ ขณะที่เห็นก็เป็นวิญญาณ คือจักขุวิญญาณ ขณะที่ได้ยินก็เป็นวิญญาณ คือโสตวิญญาณ ขณะที่ได้กลิ่นก็เป็นวิญญาณ คือฆานวิญญาณ ขณะที่ลิ้มรสก็เป็นวิญญาณ คือชิวหาวิญญาณ ขณะที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกายก็เป็นวิญญาณ คือกายวิญญาณ ตลอดจนถึงขณะที่จิตเป็นกุศลหรืออกุศล ก็เป็นวิญญาณด้วย คือเป็นมโนวิญญาณ ซึ่งแสดงให้เห็นว่าแต่ละขณะก็คือ จิตหรือวิญญาณ นั่นเองที่เกิดขึ้นเป็นไป เมื่อเกิดแล้วก็ดับไป ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ทรงไว้ซึ่งความว่างเปล่าจากความเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนอย่างสิ้นเชิง จิตหรือวิญญาณ ทั้งหมดเป็นวิญญาณธาตุ ทรงไว้ซึ่งความจริงคือเป็นใหญ่เป็นประธานในการรู้แจ้งซึ่งอารมณ์เท่านั้น แม้เจตสิกประการต่างๆ ที่เกิดร่วมกับวิญญาณ ซึ่งเป็นสภาพรู้เหมือนกัน แต่ก็ไม่ได้เป็นใหญ่เป็นประธานเหมือนอย่างวิญญาณเลย วิญญาณ ไม่ใช่สิ่งที่น่ากลัวแต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งที่จะต้องศึกษาให้เข้าใจจริงๆ ว่า เป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง ไม่ใช่เรา

จากการตรัสรู้ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ทรงแสดงว่า ทุกสิ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็นที่ไหนก็ตาม มีสภาพธรรมที่ต่างกันเป็น ๒ อย่าง คือ สภาพที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่ใช่สภาพรู้ เป็นรูปธรรม และสภาพธรรมที่เป็นสภาพรู้ ได้แก่ จิตหรือวิญญาณ (และเจตสิกซึ่งเป็นสภาพธรรมที่เกิดประกอบพร้อมกับจิต) เพราะฉะนั้น จิต เป็นธรรมที่มีจริง ซึ่งแม้จะไม่มีรูปร่างอะไรเลย แต่ก็เป็นสภาพที่สามารถรู้สิ่งต่างๆ ได้ และเมื่อจิตเกิดขึ้นก็มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยเสมอตามควรแก่จิตขณะนั้นๆ ในขณะนี้ถ้าเข้าใจจิตก็จะเริ่มรู้ว่า ขณะที่มีการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การลิ้มรส การรู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย การคิดนึก นั่นคือลักษณะของจิตซึ่งเป็นสภาพรู้ หรือ แม้ว่าจะไม่ได้เห็น ไม่ได้ยิน ไม่ได้กลิ่น ไม่ได้ลิ้มรส ไม่ได้รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสทางกาย แต่ก็ยังมีจิตที่คิดนึก ขณะใดที่คิดนึกเรื่องราวต่างๆ ขณะนั้นก็เป็นจิต จิตประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายดี ก็คิดดี จิตประกอบด้วยเจตสิกฝ่ายไม่ดี ก็คิดไม่ดี ดังนั้น ถ้าแยกสภาพธรรมที่เกิดขึ้นเป็นไป ออกเป็นลักษณะที่ต่างกันเป็นประเภทใหญ่ๆ ก็จะต้องมี ๒ ประเภท ได้แก่ สภาพที่ไม่รู้อะไรเลย เป็นรูปธรรม คือ ไม่ใช่สภาพรู้ และ นามธรรม ได้แก่ จิต รวมถึงเจตสิกด้วย มีแต่ธรรมเท่านั้นจริงๆ เมื่อเป็นธรรมแล้วจะเป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นตัวตนได้อย่างไร

การมีโอกาสได้ฟังพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง ไม่ใช่เพื่ออย่างอื่น แต่เพื่อเข้าใจธรรม คือ สิ่งที่มีจริงอย่างถูกต้อง ตรงตามความเป็นจริง ซึ่งไม่ต้องไปแสวงหาที่ไหนเลย เพราะมีจริงในขณะนี้ ทุกๆ ขณะเป็นธรรม มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุตามปัจจัย

การเดินทางในสังสารวัฏฏ์ยังอีกยาวไกล เมื่อได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ก็ควรจะได้ประโยชน์จากการที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ด้วยการสะสมความดีทุกประการ และมีความมั่นคงที่จะฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม อบรมเจริญปัญญา สะสมเป็นที่พึ่งต่อไป เพราะในที่สุดแล้ว ทุกคนก็จะต้องละจากโลกนี้ไป ซึ่งไม่รู้ว่าจะเป็นเมื่อใด อาจจะเป็นวันนี้หรือพรุ่งนี้ก็ได้ จะเป็นผู้ประมาทไม่ได้เลยทีเดียว


อ่านคำอื่นๆ คลิกที่นี่ ... บาลี ๑ คำ



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 3 ธ.ค. 2564

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย petsin.90  วันที่ 4 ธ.ค. 2564

กราบอนุโมทนาค่ะ