๔. ปิยสูตร
โดย บ้านธัมมะ  29 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 36277

[เล่มที่ 24] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 426

๔. ปิยสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 24]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 426

ปิยสูตรที่ ๔

[๓๓๔] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามแห่งท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี.

ครั้งนั้น พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ครั้นแล้ว จึงทรงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.

พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ (วันนี้) ข้าพระองค์เข้าห้องส่วนตัวพักผ่อนอยู่ ได้เกิดความนึกคิดอย่างนี้ว่า ชนเหล่าไหนหนอแลชื่อว่ารักตน ชนเหล่าไหนชื่อว่าไม่รักตน ข้าพระองค์จึงได้เกิดความคิดต่อไปว่า ก็ชนเหล่าใดแลย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้นชื่อว่าไม่รักตน ถึงแม้ชนเหล่านั้นจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เรารักตน ถึงเช่นนั้น ชนเหล่านั้นก็ชื่อว่าไม่รักตน.

ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่าชนผู้ไม่รักใคร่กันย่อมทำความเสียหายให้แก่ผู้ไม่รักใคร่กันได้โดยประการใด ชนเหล่านั้นย่อมทำความเสียหายให้แก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้น ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักตน.

ส่วนว่าชนเหล่าใดแล ย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้นชื่อว่ารักตน ถึงแม้ชนเหล่านั้นจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่รักตน ถึงเช่นนั้นชนเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักตน.

ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ที่รักใคร่กันย่อมทำความดีความเจริญ ให้แก่ผู้ที่รักใคร่กันได้โดยประการใด ชนเหล่านั้นย่อมทำความดีความเจริญ ให้แก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้น ชนเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักตน.


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 427

[๓๓๕] พระผู้มีพระเจ้าตรัสว่า ถูกแล้วๆ มหาบพิตร เพราะว่าชนบางพวกย่อมประพฤติทุจริตด้วยกาย วาจา ใจ ชนเหล่านั้นไม่ชื่อว่ารักตน ถึงแม้พวกเขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายมีความรักตน ถึงเช่นนั้นพวกเขาก็ชื่อว่าไม่มีความรักตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่า ชนผู้ไม่รักใคร่กันย่อมทำความเสียหายให้แก่ผู้ไม่รักได้โดยประการใด พวกเขาเหล่านั้นย่อมทำความเสียหายแก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น พวกเขาเหล่านั้นจึงชื่อว่าไม่รักตน.

ส่วนว่าชนบางพวกย่อมประพฤติสุจริตด้วยกาย วาจา ใจ พวกเหล่านั้นชื่อว่ารักตน ถึงแม้พวกเขาจะกล่าวอย่างนี้ว่า เราไม่รักตน ถึงเช่นนั้นพวกเหล่านั้นก็ชื่อว่ารักตน ข้อนั้นเป็นเพราะเหตุไร ก็เพราะเหตุว่าชนผู้รักใคร่กันย่อมทำความดีความเจริญให้แก่ชนผู้ที่รักใคร่กันได้โดยประการใด พวกเหล่านั้นย่อมทำความดีความเจริญแก่ตนด้วยตนเองได้โดยประการนั้น ฉะนั้น พวกเหล่านั้นจึงชื่อว่ารักตน.

[๓๓๖] พระผู้มีพระภาคเจ้าผู้พระสุคตศาสดา ครั้นตรัสไวยากรณ์คำร้อยแก้วนี้จบลงแล้ว จึงได้ตรัสคาถาคำร้อยกรองต่อไปอีกว่า

ถ้าบุคคลรู้ว่าตนเป็นที่รักไซร้ ก็ไม่พึงประกอบด้วยบาป เพราะว่าความสุขนั้นเป็นผลที่บุคคลผู้ทำชั่วจะไม่ได้โดยง่ายเลย.

เมื่อความตายเข้าถึงตัวแล้ว บุคคลย่อมละทิ้งภพมนุษย์ไป ก็อะไรเป็นสมบัติของเขา และเขาจะพาเอาอะไรไปได้ อนึ่ง อะไรเล่าจะติดตามเขาไปประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้า 428

ผู้ที่มาเกิดแล้วจำจะต้องตายในโลกนี้ ย่อมทำกรรมอันใดไว้ คือบุญและบาปทั้งสองประการ บุญและบาปนั้นแลเป็นสมบัติของเขา และเขาจะพาเอาบุญและบาปนั้นไป อนึ่ง บุญและบาปนั้นย่อมเป็นของติดตามเขาไปประดุจเงาติดตามตนไป ฉะนั้น.

เพราะฉะนั้น บุคคลพึงทำกัลยาณกรรมสะสมไว้เป็นสมบัติในปรโลก ด้วยว่า บุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในปรโลก.

อรรถกถาปิยสูตร

พึงทราบวินิจฉัยในปิยสูตรที่ ๔ ต่อไป :-

บทว่า รโหคตสฺส แปลว่า ไป [อยู่] ในที่ลับ.

บทว่า ปฏิสลฺลีนสฺส ได้แก่ เร้นอยู่ผู้เดียว.

พระผู้มีพระภาคเจ้า เมื่อทรงนำสูตรนี้ ให้เป็นคำตรัสของพระสัพพัญญู จึงตรัสในสูตรนี้ว่า เอวเมตํ มหาราช ดังนี้.

บทว่า อนฺตเกนาธิปนฺนสฺส แปลว่า ผู้ถูกความตายครอบงำแล้ว.

จบอรรถกถาปิยสูตรที่ ๔