[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 579
ปฐมปัณณาสก์
อนุตตริยวรรคที่ ๓
๑. สามกสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ทําให้เสื่อม ๖ ประการ
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 579
อนุตตริยวรรคที่ ๓
๑. สามกสูตร
ว่าด้วยธรรมที่ทำให้เสื่อม ๖ ประการ
[๒๙๒] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ วิหาร ชื่อ โปกขรณีย์ ใกล้หมู่บ้านสามคาม แคว้นสักกะ ครั้งนั้น เทวดาองค์หนึ่ง เมื่อปฐมยามผ่านไป มีวรรณะงามยิ่งนัก ยังโปกขรณียวิหารทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๓ ประการนี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุ ธรรม ๓ ประการ เป็นไฉน? คือความเป็นผู้ชอบการงาน ๑ ความเป็นผู้ชอบคุย ๑ ความเป็นผู้หลับ ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๓ ประการนี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุ เทวดาองค์นั้นได้กล่าวคำนี้แล้ว พระศาสดาทรงพอพระทัย ครั้งนั้น เทวดาองค์นั้นทราบว่า พระศาสดาของเราทรงพอพระทัย จึงถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณแล้วหายไป ณ ที่นั้น.
ครั้งนั้น เมื่อราตรีนั้นล่วงไป พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อคืนนี้ เทวดาองค์หนึ่ง เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว มีวรรณะงามยิ่งนัก ยังโปกขรณียวิหารทั้งสิ้นให้สว่างไสว แล้วเข้ามาหาเราถึงที่อยู่ อภิวาทแล้วยืนอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กล่าวกะเราว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๓ ประการนี้ ย่อมเป็นเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุ ธรรม ๓ ประการเป็นไฉน? คือ ความเป็นผู้ชอบการงาน ๑ ความเป็น
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 580
ผู้ชอบคุย ๑ ความเป็นผู้ชอบหลับ ๑ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ธรรม ๓ ประการ นี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความเสื่อมแก่ภิกษุ ครั้นเทวดาองค์นั้น ได้กล่าวคำนี้แล้ว อภิวาทเราทำประทักษิณแล้ว ได้หายไป ณ ที่นั้น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย มิใช่ลาภของเธอทั้งหลาย เธอทั้งหลายได้ด้วยยาก ที่เธอทั้งหลายเสื่อมจากกุศลธรรม แม้เทวดาก็รู้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงธรรม เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ๓ ประการแม้เหล่าอื่น เธอทั้งหลายจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็ธรรมอันเป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ๓ ประการเป็นไฉน? คือ ความเป็นผู้ชอบคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ๑ ความเป็นผู้ว่ายาก ๑ ความเป็นผู้มีมิตรชั่ว ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๓ ประการนี้แล เป็นที่ตั้งแห่งความเสื่อม ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอดีตกาล เสื่อมจากกุศลธรรม ชนเหล่านั้นทั้งปวง ก็เสื่อมแล้วจากกุศลธรรม เพราะธรรม ๖ ประการนี้แล ชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในอนาคตกาล จักเสื่อมจากกุศลธรรม ชนเหล่านั้นทั้งปวง ก็จักเสื่อมจากกุศลธรรม เพราะธรรม ๖ ประการ นี้แล และชนเหล่าใดเหล่าหนึ่งในปัจจุบันกาล ย่อมเสื่อมจากกุศลธรรม ชนเหล่านั้นทั้งปวง ย่อมเสื่อมจากกุศลธรรมเพราะธรรม ๖ ประการ นี้แล.
จบสามกสูตรที่ ๑
พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 581
อนุตตริยวรรควรรณนาที่ ๓
อรรถกถาสามกสูตร
พึงทราบวินิจฉัย ในสามกสูตรที่ ๑ แห่งอนุตตริยวรรค ที่ ๓ ดังต่อไปนี้:-
บทว่า สามคามเก ความว่า ในหมู่บ้านที่ได้นามอย่างนี้ เพราะมีหินลับมีดหนาแน่น. บทว่า โปกฺขรณิยายํ ได้แก่ ในวิหารมีนามว่า โปกขรณิย์. บทว่า อภิกฺกนฺตาย รตฺติยา ความว่า เมื่อผ่านปฐมยามแห่งรัตติกาล ย่างเข้ามัชฌิมยาม. บทว่า อภิกฺกนฺตวณฺณา ได้แก่ มีวรรณะงดงามน่าพอใจยิ่ง. บทว่า เกวลกปฺปํ ได้แก่ ทั่วทั้งหมด. บทว่า โปกฺขรณิยํ โอกาเสตฺวา ความว่า แผ่รัศมี (โอภาส) ของตนไปตลอดมหาวิหาร ที่ได้นามว่า โปกขรณิย์. บทว่า สมนุญฺโ ความว่า ทรงพอพระทัย คือมีจิตสม่ำเสมอ. บทว่า โทวจสฺสตา ได้แก่ ความเป็นผู้ว่ายาก. บทว่า ปาปมิตฺตตา ได้แก่ ความเป็นผู้มีคนชั่วเป็นมิตร. ในพระสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัส ปริหานิยธรรม (ธรรมที่เป็นไปเพื่อความเสื่อม) ไว้อย่างเดียว.
จบอรรถกถา ปฐมสามกสูตรที่ ๑