ปรมัตถธรรมอีกประเภทหนึ่ง คือ “นิพพานปรมัตถ์” พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกว่า นิพพาน เพราะออกจากตัณหา คือวานะ นิพพานเป็นปรมัตถ์ เป็นสภาพธรรมที่ดับทุกข์ จิต เจตสิก รูป เป็นทุกข์เพราะไม่เที่ยง เกิดขึ้นแล้วดับไป การที่จะดับทุกข์ได้นั้น จะต้องดับตัณหา เพราะตัณหาเป็นสมุทัย เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ เป็นสมุทัยให้เกิดขันธ์ ซึ่งได้แก่ จิต เจตสิก รูป การที่จะดับตัณหาได้นั้น ก็ด้วยการอบรมเจริญปัญญาจนรู้แจ้งชัดในลักษณะเกิดดับของจิต เจตสิก รูป แล้วคลายความยินดียึดมั่นเห็นผิดในจิต เจตสิก รูป ได้ด้วยการรู้แจ้งนิพพาน ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ดับตัณหา ดับทุกข์ ดับขันธ์ นิพพานจึงเป็นธรรมที่มีจริง เป็นปรมัตถธรรม เป็นสภาพธรรมที่รู้แจ้งได้
จากหนังสือ บทบาท อ.สุจินต์ ในการเผยแผ่พุทธธรรม
โดย พระธนนาถ นิธิปญฺโญ
นิพพานปรมัตถ์ โดยปริยายแห่งเหตุมี ๒ อย่าง คือสอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑ และอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑
คำว่า อุปาทิ เป็นชื่อของขันธ์ ๕ คือจิต เจตสิก รูป
สอุปาทิเสสนิพพาน คือ ความสิ้นไปของกิเลสทั้งหมด แต่ยังมีขันธ์เกิดดับสืบต่ออยู่
อนุปาทิเสสนิพพาน คือ การดับขันธ์ทั้งหมด เป็นการปรินิพพานของพระอรหันต์
ส่วนคำว่า “โดยปริยายแห่งเหตุ” คือ การอ้างถึงมีขันธ์เหลือและไม่มีขันธ์เหลือ ซึ่งเป็นเหตุในการบัญญัตินิพพาน
เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงตรัสรู้ใต้ร่มพระศรีมหาโพธิ์ พระองค์บรรลุ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ กิเลสและธรรม (ซึ่งได้แก่ จิตและเจตสิกอื่นๆ ) ที่เกิดร่วมกับกิเลสนั้นดับหมดสิ้น และไม่เกิดอีกเลยแต่ยังมีขันธ์ คือ จิตเจตสิก (ที่ปราศจากกิเลส) และรูปที่เกิดดับสืบต่ออยู่ พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า“ดูกร ภิกษุทั้งหลายก็ สอุปาทิเสสนิพพาน เป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้วปลงภาระลงได้แล้วมีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้วหลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นย่อมเสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจ และไม่พึงใจ ยังเสวยสุขและทุกข์อยู่ เพราะความที่อินทรีย์๕ เหล่าใดเป็นธรรมชาติไม่บุบสลาย อินทรีย์๕ เหล่านั้นของเธอยังตั้งอยู่นั่นเทียว ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะความสิ้นไปแห่งโมหะของภิกษุนั้น นี้เราเรียกว่า "สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ"
อนุปาทิเสสนิพพาน คือ นิพพานที่ไม่มีขันธ์เหลือ เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงดับขันธ์ปรินิพพานระหว่างไม้สาละคู่ เป็นอนุปาทิเสสนิพพาน ดับขันธ์หมดสิ้นโดยรอบดับสนิทซึ่งภพทั้งหลายโดยประการทั้งปวง ดับจิต เจตสิกรูป ทั้งหมดไม่มีการเกิดอีกเลย พระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี เป็นพระเสกขบุคคล เพราะยังต้องศึกษาเจริญธรรมยิ่งๆ ขึ้นเพื่อดับกิเลสที่เหลืออยู่ให้หมดไป ส่วนพระอรหันต์เป็น พระอเสกขบุคคล เพราะดับกิเลสทั้งหมดเป็นสมุจเฉทได้แล้วไม่ต้องศึกษาเพื่อดับกิเลสอีก
ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นจะต้องมีเหตุปัจจัยทำให้เกิดขึ้น และสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นก็ไม่มีอะไรอื่นนอกไปจากจิต เจตสิก รูป ๓ ปรมัตถ์นี้เท่านั้น นิพพานเป็นธรรมที่ดับกิเลสซึ่งเป็นเหตุปัจจัยให้เกิดจิต เจตสิก รูป ฉะนั้น นิพพานจึงดับจิต เจตสิก รูป ด้วย
เมื่อนิพพานเป็นธรรมที่ดับจิต เจตสิก รูป นิพพานจึงไม่ใช่จิต นิพพานไม่ใช่เจตสิก นิพพานไม่ใช่รูป แต่นิพพานก็เป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง เป็นสภาพธรรมที่มีจริง นิพพานนั้นถึงแม้ว่าจะมีจริงเป็นปรมัตถธรรม แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ใครๆ จะรู้แจ้งลักษณะของนิพพานได้ง่ายๆ เพราะว่าการที่จะรู้แจ้งลักษณะของนิพพานได้นั้น จะต้องรู้ด้วยปัญญาขั้นสูงอันเกิดจากการเจริญปัญญาที่รู้ลักษณะของสภาพธรรมซึ่งกำลังปรากฏอยู่ทุกๆ ขณะอย่างทั่วถึงและแจ้งชัดจริงๆ เสียก่อน นิพพานเป็นปรมัตถธรรมจึงเป็นธรรมที่มีจริง นิพพานไม่ใช่สังขารธรรม เป็นวิสังขารธรรม คือเป็นธรรมที่ไม่เกิดตรงกันข้ามกับสังขารธรรมคือธรรมที่เกิดขึ้นมีปัจจัยปรุงแต่ง นิพพานเป็นอสังขตธรรมไม่เป็นสังขตธรรม สังขตธรรม คือธรรมที่เกิดดับ อสังขตธรรม คือธรรมที่ไม่เกิดดับ นิพพานไม่มีปัจจัยจึงไม่เกิดดับ
พระบรมศาสดา เสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้ว แต่พระธรรมวินัยยังคงอยู่เป็นศาสดาแทนพระองค์
ขอนอบน้อมแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขออนุโมทนา
สุขอื่นยิ่งกว่านิพพานไม่มี
ขออนุโมทนา
นิพพาน เที่ยง เป็นสุข
ขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
อนุโมทนาสาธุทุกประการ สาธุ
ขออนุโมทนาครับ
ขอถึงนิพพาน ในวันหนึ่งข้างหน้า กราบอนุโมทนาสาธุค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ