เท่าที่สังเกตจากผู้สนใจในพุทธศาสนาส่วนใหญ่ จะคิดว่าพระพุทธศาสนา คือ ต้องรักษาศีล ฝึกสมาธิ แล้วต่อด้วยปัญญา อยากทราบว่าวิธีคิดเช่นนี้ในพระไตรปิฎกกล่าวไว้อย่างไร
ทำไมไม่กล่าวเป็นศีล สมถะ ปัญญา หรือกล่าวเป็นปัญญา สมถะ ศีล น่าจะเหมาะกว่า
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรมเป็นเรื่องละเอียดลึกซึ้ง โดยเฉพาะหนทางการดับกิเลส ดังนั้น ในเรื่องของศีล สมาธิ และปัญญา ก็ต้องเข้าใจว่า คืออะไร
ศีล มีหลายอย่าง หลายระดับ ทั้ง ศีลที่เรามักเข้าใจกันทั่วไป คือ การงดเว้นจากการทำบาป ทางกาย วาจา เป็นต้น แต่มีศีลที่ละเอียดยิ่งไปกว่านั้น ที่เป็นศีล ที่เรียกว่า อธิศีล อันเป็นศีลที่เกิดพร้อมกับสมาธิและปัญญา
สมาธิ โดยทั่วไป ก็เข้าใจกันว่า คือ การนั่งสมาธิ ให้สงบ แต่ในทางพระพุทธศาสนา จะใช้คำว่า อธิจิตสิกขา หรือ บางครั้งใช้คำว่า สัมมาสมาธิ ที่มุ่งหมายถึง การเจริญสมถภาวนา และ สมาธิที่เกิดพร้อมกับปัญญาในปัญญาขั้นวิปัสสนา
ปัญญา ปัญญาในพระพุทธศาสนา ก็มีหลายระดับ แต่ คือ ความเห็นถูกเช่น เชื่อกรรม และผลของกรรม ปัญญาขั้นการฟัง การศึกษา ปัญญาขั้นสมถภาวนา และปัญญาขั้นวิปัสสนาภาวนา
เมื่อพูดถึงหนทางการดับกิเลส จะใช้คำว่า การอบรม ไตรสิกขา คือ อธิศีลสิกขา อธิจิตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
ดังนั้น ศีลโดยทั่วไป ที่งดเว้นจากบาป ศาสนาอื่นๆ ก็มี ไม่ใช่หนทางที่จะดับกิเลส ไม่ใช่อธิศีลสิกขา
สมาธิ ที่เป็นการเจริญสมถภาวนาจนได้ฌาน แม้ก่อนพุทธศาสนาจะบังเกิดขึ้น ก็มีการเจริญสมถภาวนา แต่ สมาธินั้น ไม่ใช่ อธิจิตสิกขา
ส่วนปัญญา ที่จะเป็นไตรสิกขา อันเป็นหนทางการดับกิเลส ก็จะต้องเป็นปัญญาระดับวิปัสสนาภาวนาครับ
ดังนั้น เมื่อว่าโดยความละเอียดแล้ว ไม่ได้หมายความว่า การจะเจริญหนทางการดับกิเลส ที่เรียกว่าไตรสิกขา จะต้องรักษาศีลก่อน แล้วค่อยอบรมสมาธิ และจึงจะไปเจริญวิปัสสนาที่เป็นปัญญาได้ครับ
ต้องเข้าใจพื้นฐานก่อนว่า จิตเมื่อเกิดขึ้น จะมีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายดวง แม้ขณะที่เป็นสติปัฏฐานหรือวิปัสสนา ขณะนั้นก็เป็นจิตที่เป็นกุศลประกอบด้วยปัญญา มีเจตสิกเกิดร่วมด้วยหลายดวง ขณะที่ สติปัฏฐานเกิด ขณะนั้นมี สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ ทั้ง ๒ นี้ เป็น (อธิปัญญา) และมี สัมมาวิริยะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ (เป็นอธิจิต หรือ สมาธิ) และมีเอกัคคตาเจตสิกที่เกิดพร้อมกับ สติปัฏฐาน ที่เป็นองค์ของสมาธิด้วย และมีศีลด้วย ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด คือ อินทรียสังวรศีล ศีลที่เป็นการสำรวมทางตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ในขณะนั้น ครับ เป็นอธิศีล หรือ สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ ซึ่งเป็นอธิศีล ก็เกิดพร้อมกับสมาธิและปัญญาในขณะที่อริยมรรคเกิด
ดังนั้น มีศีล สมาธิ ปัญญาเกิดพร้อมกัน ในการอบรมเจริญวิปัสสนา ในขณะที่สติปัฏฐานเกิด และ ขณะมรรคจิตเกิดพร้อมกันครับ แสดงให้เห็นถึงความละเอียดของธรรมและความละเอียดลึกซึ้งของหนทางการดับกิเลส ครับ
ที่สำคัญ หากไม่มีปัญญา ความเข้าใจเป็นเบื้องต้นแล้ว ศีล นั้น ก็ไม่ใช่อธิศีลที่เป็นไปในการดับกิเลส สมาธิ สมถภาวนา ก็ไม่ใช่อธิจิต ที่เป็นไปในการดับกิเลส
เพราะฉะนั้น ปัญญาจึงเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น จึงจะต้องเริ่มจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมให้เข้าใจ จนเป็นปัจจัยให้สติปัฏฐาน หรือ วิปัสสนาภาวนาเกิด ขณะนั้น ก็มีศีล สมาธิ ปัญญา ที่เป็นไตรสิกขาในขณะนั้นแล้ว โดยไม่ต้องไปทำศีลก่อนเรียงลำดับเลยครับ เพราะฉะนั้น ปัญญา จึงเป็นธรรมที่มีอุปการะมากต่อการดำเนินหนทางการดับกิเลสครับ
ดังนั้น มีศีล มีสมาธิ แต่ไม่มีปัญญาได้ แต่เมื่อมีปัญญา ขั้นวิปัสสนา ก็มี ศีล มีสมาธิ ด้วยครับ
ขออนุโมทนาที่ร่วมสนทนา
เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่เป็นคำบรรยายโดยท่านอาจารย์สุจินต์ได้ดังนี้ ครับ
ไตรสิกขา และ ความสำคัญของปัญญา
การเจริญสติปัฏฐาน ... เป็นการเจริญไตรสิกขา
การเจริญสติปัฏฐานเป็นไตรสิกขา
ศีล สมาธิ ปัญญา
อธิศีลสิกขา
อธิจิตตสิกขา
อธิปัญญาสิกขา
เชิญคลิกฟังคำบรรยายและเนื้อหาคำบรรยาท่านอาจารย์สุจินต์ที่นี่ครับ
ศีล สมาธิ ปัญญา
ไตรสิกขาไม่แยกกัน
ไตรสิกขา
ไตรสรณะ - ไตรสิกขา - ไตรลักษณะ
ขออนุโมทนา
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ในชีวิตประจำวัน กุศลจิตกับอกุศจิตก็เกิดดับสลับกัน แต่สำหรับผู้ที่เป็นปุถุชนแล้ว อกุศลจิตย่อมเกิดมากกว่า จะเห็นได้ว่า กุศลจิตเกิดน้อยมากจริงๆ , ในเรื่องของกุศล ไม่ได้จำกัดเฉพาะอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ เพราะเหตุว่าสภาพจิตที่ดีงามนั้น ย่อมเป็นไปในทาน การสละวัตถุสิ่งของ เพื่อประโยชน์สุข แก่บุคคลอื่นเท่าที่จะเป็นไปได้ ถ้าไม่มีวัตถุที่จะให้ ก็ไม่ต้องเดือดร้อน ให้เมื่อตนเองพร้อม เพราะว่าทานไม่ได้มีเฉพาะวัตถุทานเท่านั้น ยังมีอภัยทาน คือไม่โกรธ ไม่ผูกโกรธผู้อื่น ให้อภัยในความผิดที่ผู้อื่นได้กระทำ ก็เป็นทานเหมือนกัน เป็นไปในศีล ความประพฤติทางกาย ทางวาจาที่ดีงาม งดเว้นทุจริตประการต่างๆ และประพฤติสุจริตประการต่างๆ ซึ่งเป็นไปทางกาย และทางวาจา
ผู้ที่จะมีศีล ๕ ที่บริสุทธิ์บริบูรณ์ โดยที่ไม่มีการก้าวล่วงอีกเลย ต้องเป็นพระโสดาบัน แต่ในฐานะที่เป็นปุถุชนย่อมมีการล่วงศีลบ้าง เป็นบางครั้งบางคราว แต่ก็สามารถที่จะเริ่มต้นขัดเกลาตัวเองใหม่ได้ ด้วยความตั้งใจจริงที่จะไม่ก้าวล่วงอีก เป็นไปในภาวนา คือ การอบรมเจริญปัญญา สะสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ในลักษณะของสภาพธรรม เพื่อความเข้าใจที่ถูกต้องว่าทุกอย่างเป็นธรรม เป็นสิ่งที่มีจริง
ภาวนานั้นจะขาดปัญญาไม่ได้เลย การอบรมเจริญปัญญา ย่อมเป็นไปเพื่อละความเห็นผิดที่ยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะแท้ที่จริงแล้ว ทุกอย่างเป็นธรรม ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่ตัวตน
เมื่อปัญญาเจริญขึ้น กุศลธรรมทั้งหลาย ย่อมเจริญขึ้นไปตามลำดับด้วยเช่นเดียวกัน เพราะมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่า กุศล เป็นสิ่งที่ดี เป็นไปเพื่อขัดเกลากิเลส ควรเจริญให้มีขึ้น
ดังนั้น ผู้ที่ได้อบรมเจริญปัญญาในชีวิตประจำวัน ท่านจะไม่เว้นโอกาสของการเจริญกุศลเลย เมื่อไหร่ก็เมื่อนั้น (โดยที่ไม่หวังสิ่งใดๆ เลย) บางคราวเป็นโอกาสของทาน บางคราวเป็นโอกาสของศีล และที่สำคัญจะไม่ขาดการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เพื่อความเข้าใจสภาพธรรมที่มีจริงในขณะนี้ ตามความเป็นจริง ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ