วัตถุกาม [สัทธัมมปัชโชติกา]
โดย wittawat  14 พ.ย. 2567
หัวข้อหมายเลข 48908

วัตถุกามคืออะไร?
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ขอกราบระลึกถึงคุณท่านพระอัครสาวกธรรมเสนาบดีสารีบุตรเถระ
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย มหานิทเทส เล่ม ๕ ภาค ๑ - หน้า 50
พระสารีบุตรเถระประสงค์จะกล่าวมหานิทเทสนั้น แลให้พิสดารด้วย ปฏินิทเทส จึงกล่าวคำมี อาทิว่า กตเม วตฺถุกามา วัตถุกามเป็นไฉน ดังนี้ ...
บทว่า กตเม เป็น กเถตุกัมยตาปุจฉา (พระเถระถามเองเพื่อจะตอบเอง) ...
บทว่า รูปา ได้แก่ รูปารมณ์ ซึ่งมีสมุฏฐาน ๔ คือ กรรม จิต อุตุ อาหาร, ชื่อว่า รูป เพราะอรรถว่าแตกดับไป ...
ชื่อว่า สัทท เพราะอรรถว่า ทำเสียง อธิบายว่า เปล่งออก. เสียงมี สมุฏฐาน ๒ คือ อุตุและจิต.
ชื่อว่า กลิ่น เพราะอรรถว่า ฟุ้งไป ความว่า ประกาศที่อยู่ของตน.
ชื่อว่า รส เพราะอรรถว่า เหล่าสัตว์เยื่อใย ความว่า ยินดี.
ชื่อว่า โผฏฐัพพะ เพราะอรรถว่า ถูกต้อง.
กลิ่นเป็นต้น เหล่านั้น มีสมุฏฐาน ๔ วิภาคแห่งเสียงเป็นต้นเหล่านั้น
พระสารีบุตรเถระเมื่อจะแสดงความนั้นนั่นแลโดยพิสดาร จึงกล่าว คำมีอาทิว่า อตฺถรณา ปาปุรณา ดังนี้.
บรรดาบทเหล่านั้น ที่ชื่อว่า อตฺถรณา เครื่องลาด เพราะอรรถว่า ลาดแล้วนอน.
ชื่อว่า ปารุปณา เครื่องนุ่งห่ม เพราะอรรถว่า ห่มพัน สรีระ.
ทาสีด้วย ทาสด้วย ชื่อว่า ทาสีและทาส ๔ มีทาสในเรือนเบี้ย เป็นต้น ... นา ... ที่ดิน ... เขตตะ ... วัตถุ ... กหาปณะ ... ทอง ... คาม ... นิคม ... ราชธานี ... รัฐ ... ชนบท ... กองพลรบ ๔ ... เรือนคลัง ๓ ...
ต่อแต่นี้ พระสารีบุตรเถระ เพื่อจะแสดงเป็นติกะ จึงได้กล่าวติกะ ๖ คือ อตีตติกะ อัชฌัตตติกะ หีนติกะ โอกาสติกะ ปโยคติกะ และ กามาวจรติกะ ...
ชื่อว่า อดีต เพราะอรรถว่าก้าวล่วงซึ่งสภาวะของตน หรือถึงแล้วซึ่งขณะมีอุปปาทะ เป็นต้น.
ชื่อว่า อนาคต เพราะอรรถว่ายังไม่มาถึงทั้งสองอย่างนั้น.
ชื่อว่า ปัจจุบัน เพราะอรรถว่าอาศัยเหตุการณ์นั้นๆ เกิดขึ้น.
บทนี้ท่านกำหนด ด้วยภพ ด้วยว่า จำเดิมปฏิสนธิ เหล่าสัตว์ที่บังเกิดในภพอดีตก็ตาม ในภพติดต่อกันก็ตาม หรือในที่สุดแสนโกฏิกัปก็ตาม ทั้งหมดชื่อว่า อดีต ทั้งนั้น.
จำเดิมแต่จุติ กามที่เกิดขึ้นภพอนาคต กำลังเกิดอยู่ในภพติดต่อ กันก็ตาม ในที่สุดแสนโกฏิกัปก็ตาม ทั้งหมดชื่อว่า อนาคต ทั้งนั้น.
กามที่เป็นไปต่อจากจุติปฏิสนธิ ชื่อว่า ปัจจุบัน .
ในอัชฌัตตติกะมีวินิจฉัยว่า กามเฉพาะบุคคลที่เป็นไปอย่างนี้ คือ เป็นไปกระทำตนเป็นใหญ่ ได้แก่เป็นไปในสันดานของตน ด้วยความ ประสงค์เหมือนประสงค์ว่า พวกเราจักยึดถือว่า ตน ดังนี้ ชื่อว่า อัชฌัตตติกะ .
ส่วนที่เป็นภายนอกจากนั้นเนื่องด้วยอินทรีย์ก็ตาม ไม่ เนื่องด้วยอินทรีย์ก็ตาม ชื่อว่า ภายนอก .
ตติยบท ท่านกล่าวด้วยสามารถ แห่งบททั้งสองนั้น.
ในหีนติกะมีวินิจฉัยว่า บทว่า หีนา ได้แก่ ลามก.
บทว่า มชฺฌิมา ความว่า ชื่อว่ามัชฌิมา ปานกลาง เพราะอรรถว่า เป็นระหว่างกลางของกามชนิดเลวและกามชนิดประณีต
ที่เหลือลงชื่อว่า ประณีต เพราะอรรถว่าสูงสุด ...
ในโอกาสติกะมีวินิจฉัยว่า บทว่า อาปายิกา กามา ความว่า กาม ของสัตว์ผู้เกิดในอบาย ๔ ที่ปราศจากความเจริญ กล่าวคือไม่เจริญ ชื่อว่า กามของสัตว์ผู้เกิดในอบาย .
กามของสัตว์ผู้เกิดในหมู่มนุษย์ ชื่อว่าเป็นของ มนุษย์
กามของสัตว์ผู้เกิดในหมู่เทวดา ชื่อว่า เป็นทิพย์ .
ในปโยคติกะมีวินิจฉัยว่า กามของเหล่าสัตว์ในอบายที่เหลือ นอก จากพวกสัตว์นรก ของเหล่ามนุษย์และของเหล่าเทวดาตั้งแต่ชั้นจาตุมหาราชิกาจนถึงเหล่าเทวดาชั้นดุสิต ชื่อว่า กามที่ปรากฏเฉพาะหน้า เพราะ บริโภคกามทั้งหลายที่ปรากฏเฉพาะหน้า.
เทวดาทั้งหลายในเวลาที่ต้องการจะรื่นรมย์ด้วยอารมณ์ที่เกินกว่า อารมณ์ที่ตกแต่งไว้ตามปกติ ย่อมเนรมิตอารมณ์ตามที่ชอบใจรื่นรมย์ ดังนั้น กามของเหล่าเทวดาชั้นนิมมานรดีจึงชื่อว่า กามที่เนรมิตเอง .
เทวดาทั้งหลายย่อมเสพอารมณ์ที่เทวดาเหล่าอื่นรู้อัธยาศัยของตน เนรมิตให้ ดังนั้นกามของเหล่าเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัตตี จึงชื่อว่า กาม ที่ผู้อื่นเนรมิต .
บทว่า ปริคฺคหิตา ได้แก่ กามที่หวงแหนว่านั่นของเรา.
บทว่า อปริคฺคหิตา ได้แก่กามของชาวอุตตรกุรุทวีป ซึ่งมิได้ หวงแหนอย่างนั้น.
บทว่า มมายิตา ได้แก่ ที่ยึดถือว่านั่นของเรา ด้วยอำนาจตัณหา.
บทว่า อมมายิตา ได้แก่ ที่ตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว.
บทว่า สพฺเพปิ กามาวจรา ธมฺมา ความว่า ธรรมที่นับเนื่องใน กามาวจรธรรม ที่กล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า โดยเบื้องต่ำทำนรกอเวจีให้เป็น ที่สุดรอบ ...
ชื่อว่า กามาวจร เพราะอรรถว่า เป็นที่ท่องเที่ยวไปแห่งกาม. ท่านกล่าวว่า สพฺเพปิ กามาวจรา ธมฺมา ในที่นั้น หมายเอาธรรมที่ นับเนื่องกัน. ชื่อว่า ธรรม เพราะอรรถว่า ทรงไว้ซึ่งสภาวะของตน.
บทว่า รูปาวจรา ธมฺมา ความว่า ธรรมทั้งหมด เป็น รูปาวจรธรรม ด้วยสามารถแห่งรูปาวจรธรรมที่กล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า แต่เบื้องต่ำขึ้นไปจนถึงพรหมโลกเป็นที่สุด.
บทว่า อรูปวจรา ธมฺมา ความว่า ธรรมทั้งหมดที่กล่าวไว้โดยนัยมีอาทิว่า เบื้องต่ำเริ่มแต่เหล่าเทพผู้เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะดังนี้ เป็น อรูปาวจรธรรม.
บรรดาธรรม ๒ อย่างนั้น ชื่อว่า รูปาวจรธรรม เพราะอรรถว่า ท่องเที่ยวไปใน รูปภพ. ชื่อว่า อรูปาวจรธรรม เพราะอรรถว่า ท่องเที่ยวไปใน อรูปภพ.
บทว่า ตณฺหาวตฺถุกา ความว่า เป็นที่ตั้งแห่งตัณหา เพราะ อรรถว่าเป็นที่ตั้ง และเพราะอรรถว่าเป็นเหตุ.
บทว่า ตณฺหารมฺมณา ความว่า เป็นอารมณ์แห่งตัณหา ด้วย สามารถความเป็นไปแห่งตัณหายึดหน่วงธรรมเหล่านั้นทีเดียว.
บทว่า กามนียฏฺเน ได้แก่ เพราะอรรถว่าพึงหวังเฉพาะ.
บทว่า รชนียฏฺเน ได้แก่ เพราะอรรถว่าควรยินดี.
บทว่า มทนียฏฺเน ได้แก่ เพราะอรรถว่าเป็นที่เกิดขึ้นแห่งความ มัวเมามีความมัวเมาตระกูลเป็นต้น.
ในนิทเทสนั้น พระสารีบุตรเถระกล่าวคำเบื้องต้นว่า กตเม วตฺถุกามา มนาปิกา รูปา แล้วกล่าวคำสุดท้ายว่า ยํกิญฺจิ รชนียํ วตฺถุ ดังนี้ กล่าวถึงทั้งสิ่งที่มีวิญญาณและหาวิญญาณมิได้ คำที่เหลือพึง ทราบว่า ติกะ ๖ ที่เกินเป็นเอกะและจตุกกะ.


[สรุป]
กาม หมายถึง สิ่งที่น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ (บทตั้งต้น หรืออุทเทส)

จำแนก กาม เป็น ๒ ประเภท ได้แก่ วัตถุกาม และ กิเลสกาม (ขยายความบทตั้งต้น หรือนิทเทส)

วัตถุกาม หมายถึง รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าชอบใจ (ขยายความนิทเทส หรือปฏินิทเทส)

>> จำแนกวัตถุกามโดยพิสดารมีดังนี้
ที่นอน เครื่องนุ่งห่ม บริวารผู้รับใช้ นา ไร่ สวน ที่ดิน บึง สระน้ำ เงิน ทอง บ้าน ชุมชน จนถึงประเทศ กองทัพ สถานที่เก็บทรัพย์ต่างๆ รวมไปถึงทุกสิ่งที่น่ายินดี

>> จำแนกวัตถุกามเป็น ๓ ส่วน (๖ กลุ่ม)
โดยอดีต อนาคต ปัจจุบัน
โดยภายใน ภายนอก เป็นทั้งภายในและภายนอก
โดยเลว ปานกลาง ประณีต
โดยเป็นของสัตว์ผู้เกิดในอบาย มนุษย์ ของทิพย์
โดยเป็นของปรากฏเฉพาะหน้า ที่เนรมิตเอง ผู้อื่นเนรมิตให้
ที่เป็นกามาวจร รูปาวจร อรูปาวจร

>> จำแนกวัตถุกามเป็น ๔ ส่วน (จตุกกะ)
ที่หวงแหน ที่ไม่ได้หวงแหน ที่ยึดถือว่าของเรา ที่ไม่ยึดถือว่าของเรา

>> จำแนกวัตถุกามเป็น ๑ ส่วน (เอกะ)
ที่ตั้งแห่งตัณหา
อารมณ์แห่งตัณหา
อันบุคคลพึงใคร่
ที่ตั้งแห่งความกำหนัด
ที่ตั้งแห่งความมัวเมา

กราบอนุโมทนา



ความคิดเห็น 1    โดย chatchai.k  วันที่ 19 พ.ย. 2567

การแสวงหารูปของทุกคนต้องมี แล้วแต่ว่าเราจะมีความติดในรูปนั้นมากน้อยแค่ไหน แม้แต่รถยนต์ ชอบรูปอะไร ไฟชนิดไหน สีอะไร ทุกอย่างหมดในชีวิต รูปขันธ์เป็นสิ่งที่ติดข้อง และยากที่จะดับได้ ผู้ที่จะละความยินดีติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ ต้องรู้แจ้งอริยสัจธรรม ดับกิเลสถึงความเป็นพระอนาคามีบุคคล เพราะเหตุว่ามีปุถุชนที่ยังไม่ได้รู้แจ้งอริยสัจธรรมเลย ยังเต็มไปด้วยความรู้ลักษณะของสภาพธรรม และสำหรับผู้รู้แจ้งอริยสัจธรรมขั้นต้นเป็นพระโสดาบัน สามารถดับความเห็นผิดทั้งหมด ไม่เกิดอีกเลย จะเกิดได้เพียง ๗ ชาติ แต่ยังติดในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ

ภาษาบาลีใช้คำว่า “กาม” เป็นสิ่งที่น่าพอใจ ความหมายของ “กาม” หมายความถึงสิ่งใดก็ตามซึ่งเป็นที่ตั้งของความยินดี ความพอใจ และแม้แต่ความพอใจนั้นเองก็เป็นกิเลสกาม ซึ่งเป็นกิเลสชนิดหนึ่งที่พอใจติดข้องในรูป ในเสียง ในกลิ่น ในรส ในโผฏฐัพพะ และ สิ่งที่เป็นที่ติดข้อง คือ วัตถุกาม สิ่งที่เป็นที่ตั้งของความพอใจ

ขอเชิญรับฟัง

วัตถุกาม - กิเลสกาม - กับการรู้จักตนเอง