พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกนิบาต เล่ม ๒ - หน้าที่ ๓๗๓๗. โรคสูตร ว่าด้วยโรค ๒ อย่าง
[๑๕๗] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โรค ๒ อย่างนี้ โรค ๒ อย่างเป็นไฉน คือโรคกาย ๑ โรคใจ ๑ ปรากฏอยู่ว่า สัตว์ทั้งหลาย ผู้ยืนยันว่าไม่มีโรคทาง
กายตลอดเวลา ๑ ปีก็มี ยืนยันว่าไม่มีโรคทางกายตลอดเวลา ๒ ปีก็มี ๓ ปีก็มี
๔ ปีก็มี ๕ ปีก็มี ๑๐ ปีก็มี ๒๐ ปีก็มี ๓๐ ปีก็มี ๔๐ ปีก็มี ๕๐ ปีก็มี
๑๐๐ ปีก็มี ยิ่งกว่า ๑๐๐ ปีก็มี แต่ว่าผู้ที่จะยืนยันว่าไม่มีโรคทางใจแม้เพียงเวลาครู่เดียวนั้นหาได้ยากในโลก เว้นแต่พระขีณาสพ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย โรคของบรรพชิต ๔ อย่างนี้ โรคของบรรพชิต ๔ อย่างเป็นไฉน คือ ๑. ภิกษุเป็นผู้ มักมาก มีความร้อนใจอยู่เสมอ ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยตามมีตามได้ ๒. ภิกษุนั้นเมื่อเป็นผู้มักมาก มีความร้อนใจอยู่เสมอ ไม่สันโดษด้วยจีวรบิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยตามมีตามได้แล้ว ย่อมตั้งความ
ปรารถนาลามก เพื่อจะได้ความยกย่อง เพื่อจะได้ลาภสักการะ และความ
สรรเสริญ ๓. ภิกษุนั้นวิ่งเต้นขวนขวายพยายาม เพื่อจะได้ความยกย่อง เพื่อจะได้ลาภสักการะและความสรรเสริญ ๔. ภิกษุนั้น เข้าสู่ตระกูลเพื่อให้เขานับถือ นั่งอยู่ (ในตระกูล) เพื่อให้เขานับถือ กล่าวธรรม (ในตระกูล) เพื่อให้เขานับถือ กลั้นอุจจาระ
ปัสสาวะอยู่ (ในตระกูล) ก็เพื่อให้เขานับถือ ภิกษุทั้งหลาย นี้แล โรคของบรรพชิต ๔ อย่าง. เพราะเหตุนั้น ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้ว่า เราทั้งหลายจักไม่เป็นผู้มักมาก มีความร้อนใจ ไม่สันโดษด้วยจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานปัจจัยตามมีตามได้ จักไม่ตั้งความปรารถนาลามก เพื่อจะได้ความยกย่อง เพื่อจะได้ลาภสักการะ และความสรรเสริญ จักไม่วิ่งเต้นขวนขวาย
พยายามเพื่อให้ได้ความยกย่อง เพื่อให้ได้ลาภสักการะ และความสรรเสริญ
จักเป็นผู้อดทนต่อ หนาว ร้อน หิว กระหาย ต่อสัมผัสแห่งเหลือบ ยุง
ลม แดด และสัตว์เลื้อยคลานทั้งหลาย ต่อถ้อยคำอันหยาบคายร้ายแรงต่างๆ
เป็นผู้อดกลั้นต่อเวทนาที่เกิดในกาย อันเป็นทุกข์กล้าแข็งเผ็ดร้อนขมขื่น ไม่
เจริญใจพอจะปล้นชีวิตเสียได้ ภิกษุทั้งหลาย ท่านทั้งหลายพึงสำเหนียกอย่างนี้แล.
จบโรคสูตรที่ ๗
อรรถกถาโรคสูตร
พึงทราบวินิจฉัยในโรคสูตรที่ ๗ ดังต่อไปนี้ :- บทว่า วิฆาตวา ได้แก่ ประกอบด้วยความร้อนใจคือทุกข์ มีความมักมากเป็นปัจจัย. บทว่า อสนฺตุฏโฐ ได้แก่ เป็นผู้ไม่สันโดษ ด้วยสันโดษ ๓ ใน
ปัจจัย ๔. บทว่า อนวญฺญปฏิลาภาย ได้แก่ เพื่อได้ความยกย่องจากผู้
อื่น. บทว่า ลาภสกฺการสิโลกปฏิลาภาย ได้แก่ เพื่อได้ลาภสักการะอันได้แก่
ปัจจัย ๔ ที่เขาจัดไว้เป็นอย่างดี และความสรรเสริญ อันได้แก่การกล่าว
ยกย่อง. บทว่า สงฺขาย กุลานิ อุปสงฺกมติ ได้แก่เข้าไปสู่ตระกูลเพื่อรู้ว่า ชน
เหล่านี้รู้จักเราไหม. แม้ในบทที่เหลือก็มีนัยนี้เหมือนกัน.
จบอรรถกถาโรคสูตรที่ ๗
สาธุ ขอความเจริญในธรรมจงมีแด่ทุกท่านครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ