เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ - ๒๔ ก.พ. ๒๕๕๐
โดย บ้านธัมมะ  20 ก.พ. 2550
หัวข้อหมายเลข 2877

นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส
นโม ตสฺส ภควโต อรหโต สมฺมาสมฺพุทธสฺส

พุทฺธํ สรณํ คจฺฉามิ
ธมฺมํ สรณํ คจฺฉามิ
สงฺฆํ สรณํ คจฺฉามิ

••• ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย •••

เสาร์ ๒๔ ก.พ. ๒๕๕๐

พระสูตร ที่นำมาสนทนาที่มูลนิธิฯ

เวลา ๐๙:๐๐ - ๑๒:๐๐ น.

เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 331

นำการสนทนาโดย ..

ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และคณะวิทยากร

ขอเชิญท่านอ่านพระสูตรนี้ได้ในกรอบต่อไป ครับ ...



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 20 ก.พ. 2550

[เล่มที่ 42] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย คาถาธรรมบท เล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ 331

๔. เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ [๑๕๑]

ข้อความเบื้อต้น

พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภปัญหาของ พระอานนทเถระ ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า "สพฺพปาปสฺส อกรณ" เป็นต้น

กาลแห่งพระพุทธเจ้าต่างกัน แต่คำสอนเหมือนกัน ได้ยินว่า พระเถระนั่งในที่พักกลางวัน คิดว่า "พระศาสดาตรัส บอกเหตุแห่งพระพุทธเจ้า ๗ พระองค์ทุกอย่าง คือ พระชนนีและพระชนก การกำหนดพระชนมายุ ไม้เป็นที่ตรัสรู้ สาวกสันนิบาต อัครสาวก อุปัฏฐาก แต่อุโบสถมิได้ตรัสบอกไว้ อุโบสถแห่งพระพุทธเจ้าแม้ เหล่านั้นเหมือนอย่างนี้ หรือเป็นอย่างอื่น "ท่านจึงเข้าไปเฝ้าพระศาสดา แล้วทูลถามเนื้อความนั้น ก็เพระความแตกต่างแห่งกาลแห่งพระพุทธเจ้า เหล่านั้นเท่านั้น ได้มีแล้ว ความแตกต่างแห่งคาถาไม่มี ด้วยว่า พระ สัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า วิปัสสี ได้ทรงกระทำอุโบสถในทุกๆ ๗ ปี เพราะพระโอวาทที่พระองค์ประทานแล้วในวันหนึ่งเท่านั้น พอไปได้ ๗ ปี พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า สิขี และ เวสสภู ทรงกระทำอุโบสถใน ทุกๆ ๖ ปี (เพราะพระโอวาทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้ง ๒ พระองค์นั้น ทรงประทานในวันหนึ่งเท่านั้น พอไปได้ ๖ ปี) พระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่า กกุสันธะ และ โกนาคมนะ ได้ทรงกระทำอุโบสถทุกๆ ปี (เพราะพระโอวาทที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒ พระองค์นั้น ทรงประทาน ในวันหนึ่งเท่านั้น พอไปได้ปีหนึ่งๆ ) พระกัสสปทสพล ได้ทรงกระทำ อุโบสถทุกๆ ๖ เดือน เพราะพระโอวาทที่พระองค์ทรงประทานในวันหนึ่ง พอไปได้ ๖ เดือน

ฉะนั้น พระศาสดาจึงตรัสความแตกต่างกัน แห่งกาลนี้ของพระพุทธเจ้าเหล่านั้นแล้ว ตรัสว่า "ส่วนโอวาทคาถาของ พระพุทธเจ้าเหล่านั้น เป็นอย่างนี้นี่แหละ" ดังนี้แล้ว เมื่อจะทรงกระทำอุโบสถแห่งพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ ซึ่งเป็นอันเดียวกันทั้งนั้นให้ แจ่มแจ้ง จึงได้ตรัสพระคาถาเหล่านี้ว่า :-

๔. สพฺพปาปสฺส อกรณ กุสลสฺสูปสมฺปทา สจิตฺตปริโยทปน เอต พุทฺธาน สาสน. ขนฺตี ปรม ตโป ตีติกฺขา นิพฺพาน ปรม วทนฺติ พุทฺธา น หิ ปพฺพชิโต ปรูปฆาตี สมโณ โหติ ปร วิเหฐยนฺโต. อนูปวาโท อนูปฆาโต ปาติโมกฺเข จ สวโร มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ ปนฺตญฺจ สยนาสน อธิจิตฺเต จ อาโยโค เอต พุทฺธาน สาสน.

"ความไม่ทำบาปทั้งสิ้น ความยังกุศลให้ถึงพร้อม ความทำจิตของตนให้ผ่องใส นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย ความอดทนคือความอด กลั้น เป็นธรรมเผาบาปอย่างยิ่ง ท่านผู้รู้ทั้งหลาย ย่อมกล่าวพระนิพพานว่าเป็นเยี่ยม ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าบรรพชิต ผู้เบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่ชื่อว่าเป็น สมณะ ความไม่กล่าวร้าย ๑ ความไม่ทำร้าย ๑ ความสำรวมในพระปาติโมกข์ ๑ ความเป็นผู้รู้ประมาณ ในภัตตาหาร ๑ ที่นอนที่นั่งอันสงัด ๑ ความประกอบ โดยเอื้อเฟื้อในอธิจิต ๑ นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้า ทั้งหลาย"


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 20 ก.พ. 2550

แก้อรรถ

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สพฺพปาปสฺส ได้แก่ อกุศลกรรมทุก ชนิด การยังกุศลให้เกิดขึ้น ตั้งแต่ออกบวชจนถึงพระอรหัตตมรรค และ การยังกุศลที่ตนให้เกิดขึ้นแล้วให้เจริญ ชื่อว่า อุปสมฺปทา. การยังจิตของ ตนให้ผ่องใสจากนิวรณ์ทั้ง ๕ ชื่อว่า สจิตฺตปริโยทปน. บาทพระคาถาว่า เอต พุทฺธานสาสน๑ โดยอรรถว่า นี้เป็นวาจา เครื่องพร่ำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์.

บทว่า ขนฺติ ความว่า ขึ้นชื่อว่าความอดทน กล่าวคือ ความอด กลั้นนี้ เป็นตบะอย่างยอดยิ่ง คืออย่างสูงสุดในพระศาสนานี้. บาทพระคาถาว่า นิพฺพาน ปรม วทนฺติ พุทฺธา ความว่า พุทธ บุคคลทั้ง ๓ จำพวกนี้ คือ พระพุทธะจำพวก ๑ พระปัจเจกพุทธะจำพวก ๑ พระอนุพุทธะจำพวก ๑ ย่อมกล่าวพระนิพพานว่า "เป็นธรรมชาติอัน สูงสุด"

บทว่า น หิ ปพฺพชิโต โดยความว่า บุคคลผู้ที่ล้างผลาญบีบคั้น สัตว์อื่นอยู่ ด้วยเครื่องประหารต่างๆ มีฝ่ามือเป็นต้น ชื่อว่า ผู้ทำร้ายผู้อื่น ไม่ชื่อว่าเป็นบรรพชิต.

บทว่า สมโณ ความว่า บุคคลผู้ยังเบียดเบียนสัตว์ อื่นอยู่ โดยนัยที่กล่าวแล้วนั่นแหละ ไม่ชื่อว่าเป็นสมณะด้วยเหมือนกัน. การไม่ติเตียนเอง และการไม่ยังผู้อื่นให้ติเตียน ชื่อว่า อนูปวาโท. การ ไม่ทำร้ายเอง และการไม่ใช้ผู้อื่นให้ทำร้าย ชื่อว่า อนูปฆาโต. .

บทว่า ปาติโมกฺเข ได้แก่ ศีลที่เป็นประธาน. การปิด ชื่อว่า สวโร. ความเป็นผู้รู้จักพอดี คือความรู้จักประมาณ ชื่อว่า มตฺตญฺญุตา.

บทว่า ปนฺติ ได้แก่ เงียบ.

บทว่า อธิจิตฺเต ความว่า ในจิตอันยิ่ง กล่าวคือ จิตที่สหรคตด้วยสมาบัติ ๘. การกระทำความเพียร ชื่อว่า อาโยโค

บทว่า เอต ความว่า นี่เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์. ก็ในพระคาถานี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสศีลอันเป็นไปทางวาจา ด้วยอนูปวาท ตรัสศีลอันเป็นไปทางกาย ด้วยอนูปฆาต. ตรัสปาติโมกขสีลกับอินทริยสังวรสีล ด้วยคำนี้ว่า ปาติโมกฺเข จ สวโร. ตรัสอาชีวปาริสุทธิสีลและ ปัจจัยสันนิสิตสีล ด้วยมัตตัญญุตา, ตรัสเสนาสนะอันสัปปายะ ด้วยปันตเสนาสนะ ตรัสสมาบัติ ๘ ด้วยอธิจิต. ด้วยประการนี้ สิกขาแม้ทั้ง ๓ ย่อมเป็นอันพระองค์ตรัสแล้วด้วยพระคาถานี้ทีเดียว ฉะนี้แล. ในกาลจบเทศนา ชนเป็นอันมากบรรลุอริยผลทั้งหลาย มีโสดาปัตติผลเป็นต้น ฉะนี้แล.

เรื่องปัญหาของพระอานนทเถระ จบ.


ความคิดเห็น 3    โดย ปุถุชนคนหนึ่ง  วันที่ 20 ก.พ. 2550

กรุณาช่วยอธิบายการกระทำอุโบสถในที่นี้ด้วยค่ะว่าเป็นอย่างไร และเหมือนหรือต่างกับปัจจุบันนี้อย่างไร?

ขอบพระคุณค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย study  วันที่ 21 ก.พ. 2550
การกระทำอุโบสถเป็นวินัยกรรมของบรรพชิต ในสมัยปฐมโพธิกาลพระพุทธองค์แสดงโอวาทปาฏิโมกข์ สมัยต่อมาทรงอนุญาตให้ภิกษุทั้งหลายสวดสิกขาบทที่ได้ทรงบัญญัติไว้ สรุปคือ ในสมัยพุทธกาลมีการกระทำอุโบสถ ๒ อย่าง คือ ๑. พระพุทธองค์กระทำเอง ๒.ภิกษุสงฆ์เป็นผู้กระทำโดยการสวดพระวินัยศีล ๒๒๗ ทุก ๑๕ วัน ในยุคปัจจุบัน พระภิกษุท่านกระทำแบบข้อที่ ๒

ความคิดเห็น 5    โดย ICE.TU  วันที่ 24 ก.พ. 2550

ผมขอเรียนถามว่า การสนทนาธรรมในหัวข้อข้างต้นของวันเสาร์ที่ 24 จะมีการบันทึกเป็น MP3 ไว้หรือไม่ครับ และถ้าหากมี ผมสามารถซื้อจากที่มูลนิธิได้เหมือนกับ MP3 สำหรับหัวข้อธรรมอื่นๆ หรือเปล่าครับ ทั้งนี้ เนื่องจาก ในวันเสาร์ที่ 24 ผมติดธุระสำคัญ ทำให้ไม่สามารถไปฟังการบรรยายธรรมที่มูลนิธิได้ แต่ผมมีความสนใจในหัวข้อธรรมดังกล่าวอย่างมาก เพราะรอการขยายความพระสูตรนี้มานานแล้ว ฉะนั้น ขอความกรุณาช่วยให้ความกระจ่าง เพื่อที่ผมจะได้ดำเนินการติดตามหาคำบรรยายสำหรับหัวข้อธรรมนี้ต่อไปด้วยครับ ขอบพระคุณอย่างสูงครับ


ความคิดเห็น 6    โดย study  วันที่ 25 ก.พ. 2550

ทางมูลนิธิมีการบัณทึกเสียงไว้ทุกครั้งที่มีการสนทนาธรรม แต่จะนำออกเผยแพร่เมื่อผ่านการ

ปรับแต่งเสียงที่สมบูรณ์เรียบร้อยแล้ว โปรดฟังหัวข้อธรรมส่วนอื่นๆ ไปก่อน หัวข้อธรรมดังกล่าวเมื่อเสร็จสมบูรณ์แล้วจะนำเผยแพร่ต่อไป