การเขียนข้อความสื่อสารให้ผู้อื่นเข้าใจผิด เป็นอกุศลกรรมอย่างไร
โดย Thanapolb  23 ม.ค. 2562
หัวข้อหมายเลข 30409

เรียนถามผู้รู้ครับ หากผมเขียนข้อความไม่ดี ส่งให้บุคคลอื่นอ่าน ด้วยเจตนาให้เขาเข้าใจตามที่ผมเขียน อย่างนี้ผมทำวจีกรรมทุจริต เพราะคำเขียนแทนคำพูด หรือกายกรรมทุจริตเพราะลงมือกระทำเขียนและส่ง หรือมโนกรรมทุจริตเพราะตั้งใจไว้แล้วจะกระทำสิ่งนี้และได้ทำจริง และหากส่งไปโดยไม่รู้ว่าผิด ไม่รู้โทษ ก็ยังจัดว่าเป็นโทษด้วยความไม่รู้ เป็นอกุศลกรรมเหมือนที่กล่าวมาข้างต้น แต่ระดับความเป็นโทษต่างกันตามเจตนา ใช่หรือไม่ครับ

ขอบพระคุณครับ



ความคิดเห็น 1    โดย khampan.a  วันที่ 24 ม.ค. 2562

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

-พระธรรมเป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้ง แสดงถึงความเป็นจริงของสิ่งที่มีจริงโดยตลอด แม้แต่ในการกระทำในสิ่งที่ผิด ก็ไม่พ้นจากธรรม คือ เป็นธรรมฝ่ายที่ไม่ดี (อกุศล) ที่เกิดขึ้นเป็นไป ในประเด็นคำถาม ในเบื้องต้นก็น่าพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง ว่า กว่าที่จะเขียนตัวหนังสือที่ไม่เป็นไปในทางที่ดีเพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจตามนั้น อกุศลมากเท่าไหร่แล้ว สำหรับในเรื่องของการล่วงละเมิดวจีทุจริต ในข้อมุสาวาท คือ การกล่าวเท็จ นั้น ในอรรถกถาทีฆนิกาย สีลขันธวรรค แสดงไว้ว่า จะล่วงออกมาทางวาจา ก็ได้ ออกทางกาย หรือ ของที่เนื่องด้วยกาย ก็ได้ จะด้วยการสั่งให้ผู้อื่นกล่าว หรือแม้แต่การเขียนเป็นตัวหนังสือ เพื่อให้ผู้อื่นเข้าใจตามนั้น ก็เป็นมุสาวาท ทั้งนั้น เป็นอกุศลกรรม ที่เป็นวจีทุจริต ดังนั้น การเขียนตัวหนังสือเพื่อมุ่งผู้อื่นเข้าใจผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ก็เป็นวจีทุจริต ที่สำเร็จออกมาทางกาย แต่ถ้าพิจารณากว้างๆ ออกไปอีก ถ้ามีความโกรธ พยาบาท มุ่งร้ายต่อผู้อื่น เขียนข้อความที่ไม่จริงมุ่งให้ผู้อื่นเสียหาย หักรานประโยชน์ของผู้อื่น ก็เป็นอกุศลที่มีกำลัง เป็นมโนกรรม (พยาปาทะ) ที่สำเร็จออกมาทางกาย ก็ได้ เรื่องกรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดมากๆ ก็เข้าใจเท่าที่จะเข้าใจได้ ครับ

-การกล่าวเท็จ จะสำเร็จลงได้ ก็ต้องดูที่องค์ประกอบเป็นสำคัญ คือ เรื่องที่ไม่จริง ๑ มีจิตคิดที่จะกล่าวให้คลาดเคลื่อน ๑ มีความพยายามที่จะพูดให้คลาดเคลื่อน ๑ ผู้อื่นรู้เรื่องนั้น ๑ ถ้าเป็นไปตามองค์ประกอบเหล่านั้น ก็เป็นการมุสาวาท แต่ถ้าหากว่าไม่รู้ว่าเรื่องนั้นผิด แล้วพูดไป ก็ไม่ใช่มุสาวาท แต่ก็ควรที่จะมีการพิจารณาใคร่ครวญก่อนว่า ความจริงเป็นอย่างไร ถ้าพิจารณาแล้วว่า ไม่เป็นความจริง ก็ไม่ควรที่จะพูด หรือ แม้แต่ที่เป็นเรื่องจริง ก็ต้องพิจารณาด้วยว่า เป็นประโยชน์หรือไม่ กล่าวด้วยถ้อยคำอ่อนหวานหรือไม่ กล่าวถูกกาละหรือไม่ กล่าวประกอบด้วยเมตตาหรือไม่ พระธรรมก็เกื้อกูลในชีวิตประจำวันโดยตลอด เพื่อความเจริญขึ้นของความเข้าใจถูกเห็นถูกและคุณความดีทุกประการ เพื่อขัดเกลาอกุศลที่มีมากในจิตใจของแต่ละบุคคล ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ....


ความคิดเห็น 2    โดย Thanapolb  วันที่ 25 ม.ค. 2562

ขอบพระคุณและอนุโมทนายิ่งครับอาจารย์คำปั่น

หากไม่รู้ว่าผิดในตอนแรก แล้วมีผู้อื่นกล่าวบอกให้รู้ว่า ไม่ถูก ไม่ควร จึงควรที่จึงควรที่จะรับฟัง หรืออ่านพิจารณาตามด้วยความรอบคอบ หรือสอบถามกลับเพื่อทราบเหตุผล

ไม่ประมาทแม้อกุศลเล็กน้อย จะคิดหรืออ้างว่า ไม่รู้ไม่ผิด ไม่เป็นมุสาวาท อย่างนี้แม้จะได้อ่านได้ฟังพระธรรม มาบ้าง ก็เหมือนยังไม่ได้ประโยชน์สาระจากพระธรรม ใช่ไหมครับ

ขอบพระคุณครับ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 25 ม.ค. 2562

เรียน ความคิดเห็นที่ 2 เพิ่มเติม ครับ
สำหรับผู้ที่เข้าใจธรรมผิดๆ ก็เพราะเขายึดมั่นในความเห็นนั้น อันนี้ย่อมเกิดจากความเห็นผิดคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริง ด้วยความไม่รู้ (อวิชชา) เป็นการกล่าวตู่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ย่อมเป็นโทษ และถ้ากล่าวแสดงเปิดเผยในสิ่ที่ผิดๆ แก่คนอื่น ด้วย ก็ยิ่งเป็นโทษ เพราะโทษนั้น ก็ไม่ได้อยู่ที่ความเห็นผิดของตนเองผู้เดียว ยังขยายออกไปถึงบุคคลอื่นทำให้บุคคลอื่นเข้าใจผิดด้วย ซึ่งในขณะที่สอนธรรมผิดๆ กล่าวธรรมผิดๆ นั้นก็มโนกรรม (ความเห็นผิด) ที่ออกมาทางวาจา เป็นอกุศลกรรมบถ ดังนั้น พระธรรมเท่านั้นที่จะเกื้อกูลให้รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก และปัญญาทำกิจของปัญญา คือ ทิ้งในสิ่งที่ผิดโดยไม่รีรอ เพราะสิ่งที่ผิด เป็นโทษทั้งในชาตินี้และในชาติต่อๆ ไปด้วย ถ้าไม่ทิ้งในขณะนี้ ต่อไปก็ยิ่งทิ้งยาก ครับ

...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 21 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ