[เล่มที่ 37] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 322
ปัณณาสก์
เมตตาวรรคที่ ๑
๙. นันทสูตร
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 37]
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 322
๙. นันทสูตร
[๙๙] ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อภิกษุจะเรียกนันทะให้ถูกต้อง พึงเรียกว่ากุลบุตร ว่าผู้มีกำลัง ผู้ก่อให้เกิดความเลื่อมใส ผู้มีราคะกล้า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อความนี้ย่อมมีเพราะเหตุไร เพราะว่านันทภิกษุคุ้มครองทวารอินทรีย์ทั้งหลาย รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรอันเป็นเหตุให้ตื่นอยู่เสมอ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ อันเป็นเหตุให้นันทภิกษุสามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริบูรณ์ได้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาเหตุเหล่านั้น ข้อนี้แลย่อมมีได้เพราะนันทภิกษุคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากนันทภิกษุพึงเหลียวไปทางทิศบูรพาไซร้ นันทภิกษุก็ย่อมสำรวมจิตทั้งปวงเหลียวดูทิศบูรพา ด้วยคิดว่า เมื่อเราเหลียวดูทิศบูรพาอย่างนี้ ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาและโทมนัส จักไม่ครอบงำจิตเราได้ เธอย่อมเป็นผู้รู้สึกตัวในการเหลียวดูนั้นด้วยประการฉะนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย หากนันทภิกษุพึงเหลียวไปทางทิศตะวันตก ทิศเหนือ ทิศใต้ ทิศเบื้องต่ำ ทิศเบื้องบน พึงเหลียวไปตามทิศน้อยทั้งหลายไซร้ นันทภิกษุย่อมสำรวมจิตทั้งปวงเหลียวไปทางทิศน้อย ด้วยคิดว่า เมื่อเราเหลียวแลไปตามทิศน้อยอย่างนี้ ธรรมอันเป็นบาปอกุศล คือ อภิชฌาและโทมนัส จักไม่ครอบงำจิตเราได้ เธอย่อมรู้สึกตัวในการเหลียวแลนั้นด้วยประการฉะนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลย่อมมีได้เพราะนันทภิกษุเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 323
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาเหตุเหล่านั้น ข้อนี้ย่อมมีได้เพราะนันทภิกษุเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ นันทภิกษุพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้วจึงบริโภคอาหาร ไม่ใช่บริโภคเพื่อเล่น เพื่อมัวเมา เพื่อประดับ เพื่อตบแต่ง บริโภคเพียงเพื่อให้กายนี้ดำรงอยู่ เพื่อเยียวยาอัตภาพ เพื่อขจัดความลำบาก เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยมนสิการว่า เราจักขจัดเวทนาเก่าเสีย จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น ความคล่องแคล่ว ความหาโทษมิได้ และความอยู่ผาสุกจักมีแก่เราได้ด้วยประการฉะนี้ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลย่อมมีได้เพราะนันทภิกษุเป็นผู้รู้จักประมาณในโภชนะ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาเหตุเหล่านั้น ข้อนี้ย่อมมีได้ เพราะนันทภิกษุเป็นผู้รู้จักประกอบความเพียรอันเป็นเหตุให้ตื่นอยู่ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ ในตอนกลางวัน นันทภิกษุย่อมชำระจิตให้สะอาดจากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ตอนต้นปฐมยามแห่งราตรี ชำระจิตให้สะอาดจากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ในมัชฌิมยามแห่งราตรี สำเร็จสีหไสยาสโดยข้างเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ กระทำความหมายในอันลุกขึ้นไว้ในใจ ในปัจฉิมยามแห่งราตรี ลุกขึ้นแล้ว ทำจิตให้สะอาดจากธรรมเครื่องกั้นจิต ด้วยการจงกรม ด้วยการนั่ง ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลย่อมมีได้เพราะนันทภิกษุหมั่นประกอบความเพียรอันเป็นเหตุให้ตื่นอยู่.
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 324
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย บรรดาเหตุเหล่านั้น ข้อนี้ย่อมมีได้เพราะนันทภิกษุมีสติสัมปชัญญะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ในธรรมวินัยนี้ นันทภิกษุทราบเวทนาที่เกิดขึ้น ที่ตั้งอยู่ ที่ถึงความดับไป นันทภิกษุ ทราบวิตกที่เกิดขึ้น ที่ตั้งอยู่ ที่ถึงความดับไป ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อนี้แลย่อมมีได้เพราะนันทภิกษุมีสติสัมปชัญญะ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ข้อความนี้ย่อมมีเพราะเหตุไร เพราะนันทภิกษุคุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย รู้จักประมาณในโภชนะ ประกอบความเพียรอันเป็นเหตุให้ตื่นอยู่ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะ อันเป็นเหตุให้นันทภิกษุสามารถประพฤติพรหมจรรย์บริสุทธิ์บริบูรณ์ได้.
จบ นันทสูตรที่ ๙
อรรถกถานันทสูตรที่ ๙
นันทสูตรที่ ๙ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า กุลปุตฺโต ได้แก่กุลบุตรโดยกำเนิด.
บทว่า พลวา แปลว่า สมบูรณ์ด้วยกำลัง.
บทว่า ปาสาทิโก ได้แก่ ทำให้เกิดความเลื่อมใส ด้วยรูปสมบัติ.
บทว่า ติพฺพราโค แปลว่า ผู้มีราคะจัด.
ในบทว่า กิมญฺตฺถ เป็นต้นมีอธิบายดังต่อไปนี้:- ประโยชน์อะไรด้วยเหตุอย่างอื่นที่เราจะกล่าว นันทะนี้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย
พระสุตตันตปิฎก อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต เล่ม ๔ - หน้า 325
รู้ประมาณในโภชนะ ประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรเครื่องตื่นอยู่ ประกอบด้วยสติสัมปชัญญะที่นันทะสามารถประพฤติพรหมจรรย์ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์ ถ้านันทะจักไม่ประกอบด้วยเหตุเหล่านี้ไซร้ เธอก็ไม่พึงสามารถ.
บทว่า อิติห ตตฺร แปลว่า ในข้อนั้นอย่างนี้. ในสูตรนี้ตรัสเฉพาะวัฏฏะอย่างเดียว.
จบ อรรถกถานันทสูตรที่ ๙