จิตทุกดวงเกิดขึ้นกระทำกิจหนึ่งกิจใดแล้วดับไป คือ ปฏิสนธิจิตทำปฏิสนธิกิจสืบต่อจากจุติจิตชาติก่อน เพียงหนึ่งขณะเท่านั้น ภวังคจิตทุกดวง ทั้งอดีตภวังค์ ภวังคจลนะ ภวังคุปัจเฉทะ ทำภวังคกิจสืบต่อดำรงภพชาตินั้นไว้ เมื่อภวังคุปัจเฉทะดับไปแล้ว วิถีจิตดวงแรกที่เกิดต่อจาก ภวังคุปัจเฉทะนั้น กระทำอาวัชชนกิจ แปลโดยศัพท์ว่า รำพึงถึงอารมณ์ที่ปรากฏที่ทวาร คือ รู้อารมณ์ที่กระทบทวาร ชื่อว่าอาวัชชนะเพราะอรรถว่านำออกไปสันดาน (การเกิดดับสืบต่อ) อันเป็นภวังค์ คือ น้อมไปสู่อารมณ์ที่กระทบทวาร
ถ้าเป็นทางปัญจทวาร คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตดวงหนึ่ง (ประเภทหนึ่ง) เกิดขึ้นทำอาวัชชนกิจรำพึงถึงอารมณ์ที่กระทบทวารหนึ่งทวารใดใน ๕ ทวาร แต่จิตขณะนั้นยังไม่เห็น ยังไม่ได้ยิน ยังไม่ได้กลิ่น ยังไม่ได้ลิ้มรส ยังไม่รู้สิ่งกระทบสัมผัสกาย
ถ้าเป็นทางมโนทวารคือ ทางใจซึ่งไม่ใช่ทางจักขุปสาท โสตปสาท ฆานปสาท ชิวหาปสาท กายปสาท มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตอีกดวงหนึ่ง (ไม่ใช่ปัญจทวาราวัชชนจิต) เกิดขึ้น ทำอาวัชชนกิจ เฉพาะทางมโนทวารทวารเดียวเท่านั้น
ดาวน์โหลดหนังสือ --> ปรมัตถธรรมสังเขป
จิตเกิดเพื่อกระทำกิจ ถ้าสามารถบังคับจิตดวงที่เป็นกุสลจิตเช่นมหากุสลจิต ๘ ดวงในกามาวจรภูมิให้เกิดได้ เราคือผู้ที่บังคับการกระทำที่เป็นกุสลได้ใช่ไหมคะ
ก่อนอื่นต้องกลับไปสู่พระพุทธพจน์ที่ว่า "ธรรมทั้งหลายเป็นอนัตตา" เพื่อเราจะได้พิจารณาความถูกต้องครับ ธรรมะ หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างสิ่งที่มีจริง ส่วน อนัตตา หมายความว่า ว่างจากตัวตน สัตว์ บุคคล ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด
ธรรมะ หมายถึง สิ่งที่มีจริงสิ่งที่จริง แบ่งออกเป็นสอง คือ มีจริงโดยสมมติในกลุ่มชนกลุ่มหนึ่งเพียงเท่านั้น เรียกสั้นๆ ว่าบัญญัติ เช่น โต๊ะ เป็นคำที่ใช้พูดกันในกลุ่มคนไทย เข้าใจกันได้ว่าหมายถึงสิ่งๆ นั้น สัณฐาณอย่างนั้น ไม่ใช่สัณฐานของเก้าอี้ หรือตู้ ซึ่งฝรั่งเขาก็เห็นสัณฐานอย่างที่คนไทยเห็น แต่เขาเรียก a table ที่เรียกไปคนละอย่างก็เป็นไปตามการตกลงกันเรื่องของภาษา เพื่อใช้ในการสื่อสารและดำรงชีวิตของชนชาตินั้นๆ
สิ่งที่มีจริงอีกอย่าง คือ สิ่งที่มีจริงโดยเป็นความจริง ไม่ต้องใช้ชื่อ สิ่งนั้นก็มีจริง เช่น เห็น มีจริง จะคนไทย จะฝรั่ง เห็นก็คือเห็น คนตายมีตาแต่ไม่เห็น เพราะฉะนั้น คนที่ยังไม่ตายเพราะมีจิต ที่เป็นสภาพรู้ อาการรู้ครับ จะเรียก หทัย mind ใจ หรือไม่เรียกอะไรเลยก็ได้ แต่สิ่งนั้นก็มีจริงโดยความเป็นจริง ตามธรรมดาของสิ่งนั้น
1. สรุปแล้วจิตเป็นธรรมะไหม เป็นครับ
2. เพราะอะไร เพราะเป็นสิ่งที่มีจริง ธรรมะ หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริงครับ
3. ไม่ใช่ชื่อว่า "จิต" ได้ไหม ...ได้ แต่ที่ต้องใช้ชื่อเพื่อสื่อให้เข้าใจถึงสภาพที่มีจริงนั้นครับ
4. ถ้าจิตเป็นธรรมะ แต่พระพุทธพจน์กล่าวไว้ว่า "ธรรมะทั้งหลายเป็นอนัตตา" ดังนั้น "จิตก็เป็นอนัตตา" ด้วยใช่ไหม ...ใช่แล้วครับ
5. เพราะฉะนั้น ในเมื่อจิตเป็นอนัตตา ก็ไม่มีตัวเราไปบังคับบัญชาจิตให้เป็นกุศลตามความต้องการของเราได้อย่างนั้นหรือ ...ถูกต้องครับ
6. แล้วอะไรที่บังคับให้จิตเป็นกุศลได้ ...จิตเป็นไปตามการสะสมของอำนาจเหตุและปัจจัย ครับ
ทำไมคนในบ้านเดียวกัน นิสัยต่างกัน ทั้งๆ ที่อยู่ในสถานที่เดียวกัน ดูใกล้ชิดกัน ก็ เพราะว่า จิตเป็นธรรมชาติที่สั่งสมทั้งกุศลและอกุศลครับ เหตุนี้ ใครก็สั่งให้จิตเป็นกุศลไม่ได้ กุศลฝ่ายใดกระทำบ่อย ก็มีเหตุปัจจัยให้เกิดบ่อย อกุศลฝ่ายใดสะสมมามาก ก็มีเหตุปัจจัยให้เกิดมาก แต่อบรมเจริญเหตุที่ถูกต้องเพื่อให้กุศลสามารถเกิดบ่อยขึ้นได้ครับ
7. อบรมอย่างไร ...ฟังพระธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พิจารณาพระธรรมที่ได้ยินได้ฟัง อย่างรอบคอบ จนเกิดความเข้าใจ เป็นปัญญาขั้นฟัง ซึ่งเป็นขั้นเบื้องต้นครับ
กราบขอบคุณท่านมากๆ ที่ได้เมตตาเขียนมาโดยเฉพาะข้อ ๖ และ ๗ นี้ทำให้ เข้าใจธรรมมากขึ้นเหมือนเส้นผมบังภูเขา สรุปว่า ต้องอบรมเจริญเหตุให้กิดกุสลบ่อยๆ เสมอๆ ทุกเวลายิ่งดี
คำถามวันนี้คือ
1. การไปบวชเป็นพระภิกษุณีที่อินเดียทำได้ไหม
2. และถ้าทำได้ จะเป็นวิธีที่จะได้ฟังธรรมของพระพุทธเจ้า ที่เหมาะควรดี อย่างไรไหม อันนี้ คิดว่าคงมาจากเหตุ ปัจจัยของแต่ละคน และทำให้เราสร้างเหตุของการสร้างกุสลได้ดีไหม
ขอบคุณค่ะ
สำหรับข้อ
1. คลิกอ่านที่นี่นะครับ --> เหตุใด ภิกษุณีเถรวาท จึงหมดไปจากโลกคะ?
2. เป็นอุบาสก อุบาสิกา ก็สามารถศึกษาพระธรรมและปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ได้ครับ
คลิกอ่านที่นี่นะครับ --> หน้าที่ของอุบาสกและอุบาสิกา
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาครับ