ท่านสกวาทีก็ถามต่อไปว่า
จักขวายตนะเป็นสติปัฏฐาน (เป็นสิ่งที่ระลึกได้) แต่จักขายตนะนั้นไม่เป็นสติหรือ
ปรวาทีตอบว่า
ถูกแล้ว
เพราะจักขวายตนะเป็นสติปัฏฐานเป็นอารมณ์ให้สติระลึกรู้ได้ แต่จักขวายตนะไม่ใช่สติ
สกวาทีถามว่า
สติเป็นสติปัฏฐาน แต่สตินั้นไม่เป็นสติหรือ
ปรวาทีกล่าวว่า
ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น
เพราะเหตุว่า สติเป็นสติปัฏฐาน และก็เป็นสติด้วย ไม่เหมือนจักขวายตนะ ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่สติ ไม่เหมือนกับเสียง กลิ่น รส ซึ่งเป็นสติปัฏฐาน แต่ไม่ใช่สติ แต่สำหรับสติ เป็นสติปัฏฐาน และก็เป็นสติด้วย
แล้วสกวาทีก็ถามว่า
เพราะสติปรารภธรรมทั้งปวง ตั้งมั่นได้ ฉะนั้น ธรรมทั้งปวงจึงชื่อว่าสติปัฏฐานหรือ
ย้ำอีกครั้งหนึ่งว่า เมื่อสติสามารถที่จะปรารภระลึกลักษณะของสิ่งทั้งปวงได้ เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งปวงจึงชื่อว่า สติปัฏฐานหรือ
ปรวาทีกล่าวตอบว่า
ถูกแล้ว
สกวาทีถามต่อไปอีกว่า
เพราะผัสสะปรารภธรรมทั้งปวง ตั้งมั่นได้ ฉะนั้น ธรรมทั้งปวงจึงชื่อว่าผัสสปัฏฐานหรือ
เวลานี้เรามีทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจด้วย สีก็มี เสียงก็มี กลิ่นก็มี ถ้ามีรสปรากฏกระทบลิ้น ก็มีรส กายเย็น ร้อน อ่อน แข็งก็มี แต่ทำไมคนหนึ่งเห็น คนหนึ่งได้ยิน คนหนึ่งรู้เย็น คนหนึ่งคิดนึก แล้วแต่ผัสสเจตสิกกระทบอารมณ์
ถ้าผัสสะกระทบกับสัททารมณ์ คือ เสียง โสตวิญญาณก็เกิดขึ้น เพราะฉะนั้น ถึงแม้ว่าเราจะมีทั้งตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ แต่เวลาที่อารมณ์หนึ่งอารมณ์ใดจะปรากฏนั้น เพราะผัสสเจตสิกกระทบกับอารมณ์นั้น
เพราะฉะนั้น เมื่อผัสสเจตสิกเป็นสัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ เกิดกับจิตทุกดวงอยู่แล้ว สกวาทีก็ถามว่า เพราะผัสสะปรารภธรรมทั้งปวง ตั้งมั่นได้ ฉะนั้น ธรรมทั้งปวงจึงชื่อว่า ผัสสปัฏฐานหรือ ก็เมื่อสติระลึกธรรมทั้งปวงได้ แล้วก็ชื่อว่าสติปัฏฐาน เพราะฉะนั้น เมื่อผัสสะสามารถกระทบอารมณ์ได้ทุกอย่าง สกวาทีก็ถามว่า เพราะผัสสะปรารภธรรมทั้งปวงตั้งมั่นได้ ฉะนั้น ธรรมทั้งปวงจึงชื่อว่า ผัสสปัฏฐานหรือ
ปรวาทีตอบว่า
ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น
จะใช้คำว่า สมาธิปัฏฐาน หรือมหาสมาธิปัฏฐานก็ไม่ได้ การเจริญสติเพื่อรู้ชัดในลักษณะ ไม่ใช่ให้เป็นสมาธิ จะระลึกทางตานิดหนึ่ง เสียงนิดหนึ่ง ได้ยินนิดหนึ่ง ระลึกที่นามอะไรบ่อย รูปอะไรบ่อย เป็นเรื่องของสติที่จะพิจารณาแล้วก็รู้ชัดขึ้นๆ ตามปกติทีเดียว สัมปชัญญะบริบูรณ์ทุกอย่าง แทนที่จะคิดนึกด้วย เห็นด้วย ได้ยินด้วย ไกลออกไปด้วยโลภะ โทสะ โมหะ ก็มีการระลึกได้เกิดขึ้น รู้ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏทางหนึ่งทางใดทีละอย่าง จนกว่าปัญญาจะรู้ชัด
เป็นเรื่องของสติ ไม่ใช่เรื่องของสมาธิ ไม่ใช่เรื่องของผัสสะ ไม่ใช่เรื่องของเอกัคคตา ไม่ใช่เรื่องของเจตนา ไม่ใช่เรื่องของเจตสิกอื่นๆ เพราะฉะนั้น จะใช้เจตสิกอื่นเป็นปัฏฐานไม่ได้เลย เพราะเหตุว่าเวลาที่ผัสสะกระทบกับสีทางตา จักขุวิญญาณ การเห็นเกิดขึ้น ไม่ได้ระลึกอะไร แต่ว่ามีผัสสะ เพราะฉะนั้น จะเป็นผัสสปัฏฐานไม่ได้ หรือว่าเจตนาเกิดกับจิตทุกดวง เจตนาที่เกิดกับจิตทุกดวงไม่ใช่เจตนาปัฏฐาน เพราะฉะนั้น สติเท่านั้นที่เป็นสติปัฏฐาน
สกวาทีก็ถามต่อไปถึงเวทนา ถึงสัญญา ถึงเจตสิกอื่นๆ และถึงจิตอื่นด้วย ว่า เมื่อจิตสามารถที่จะรู้อารมณ์ทั้งปวงได้ เพราะฉะนั้น ธรรมทั้งปวงชื่อว่า จิตปัฏฐานหรือ ซึ่งปรวาทีก็กล่าวว่า ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น
สกวาทีถามต่อไปอีกว่า
สัตว์ทั้งปวงเป็นผู้ตั้งสติมั่น เป็นผู้ประกอบด้วยสติ เป็นผู้มั่นคงด้วยสติ สติเป็นธรรมชาติเข้าไปตั้งมั่นแก่สัตว์ทั้งปวงหรือ
ในเมื่อสัตว์ทั้งปวงมีจิต แล้วก็มีเจตสิกที่เกิดกับจิตด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อสัตว์ทั้งปวงมีจิต มีเจตสิก จะกล่าวว่าสัตว์ทั้งปวงเป็นผู้ตั้งสติมั่น เป็นผู้ประกอบด้วยสติ เป็นผู้มั่นคงด้วยสติ สติเป็นธรรมชาติเข้าไปตั้งมั่นแก่สัตว์ทั้งปวงหรือ
ปรวาทีก็กล่าวตอบว่า
ไม่พึงกล่าวอย่างนั้น
ถ้าเป็นอย่างนั้นก็ไม่ต้องเจริญสติกันใช่ไหม เจริญสติ ต้องรู้ว่าลักษณะของสติคืออย่างไรจึงจะเจริญถูก เจริญสติ คือ การระลึกที่ลักษณะของสิ่งที่กำลังปรากฏ
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 84