ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เวทนาขันธ์ (ความรู้สึกต่างๆ) เป็นสภาพธรรมที่มีจริงและ เราสามารถ ระลึก รู้ "ลักษณะ" ของเวทนาขันธ์ได้ลักษณะของ "ความรู้สึก" ทุกประเภท เป็นเวทนาขันธ์
เวทนาขันธ์ จำแนกได้หลายนัย บางครั้ง ก็จำแนกเป็น ๓ ประเภท คือ
สุขเวทนา (ความรู้สึกเป็นสุข)
ทุกขเวทนา (ความรู้สึกเป็นทุกข์)
อุเบกขาเวทนา (อทุกขมสุขเวทนา ความรู้สึกไม่ทุกข์ และไม่สุข) บางครั้ง จำแนกเวทนา เป็น ๕ ประเภท คือ
โสมนัสเวทนา
โทมนัสเวทนา
อทุกขมสุขเวทนา
สุขเวทนา
ทุกขเวทนา
ความรู้สึกทางกาย มี "กายปสาทรูป" เป็นปัจจัย กายปสาทรูป เป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อารมณ์
กายปสาทรูป ซึ่งสามารถกระทบสัมผัสสิ่งที่กระทบได้ เฉพาะทางกาย ได้แก่ สภาพธรรมที่มีลักษณะเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง ไหว เท่านั้น
ส่วน "ความรู้สึก" เป็น นามธรรม เป็นสภาพธรรมที่รู้อารมณ์ เมื่อมีปัจจัยให้เกิดการกระทบสัมผัส "ทางกาย"กายปสาทรูป เป็นปัจจัยให้เกิดนามธรรม ซึ่งรู้อารมณ์ที่มากระทบทางกาย นามธรรม ที่เป็น "ความรู้สึกทางกาย" นั้นจะต้องเป็นทุกขเวทนา หรือ สุขเวทนา อย่างใดอย่างหนึ่ง และต้องไม่เป็นอุเบกขาเวทนาเลย
ขณะที่ความรู้สึกเป็น ทุกขเวทนาทางกาย ขณะนั้น เป็น "อกุศลวิบากจิต" คือ ผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว
ขณะที่ความรู้สึกเป็น สุขเวทนาทางกาย ขณะนั้น เป็น "กุศลวิบากจิต" คือ ผลของกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้ว
เพราะเหตุว่าเวทนาขันธ์ ไม่เที่ยง เป็นอนัตตา คือ มีการเกิดขึ้นและดับไปอยู่เรื่อยๆ จึงเป็นการยากที่จะรู้ลักษณะของเวทนาแต่ละประเภท เช่น อาจจะเข้าใจผิด ระหว่างสุขเวทนาทางกาย คือ "กุศลวิบากจิต" ซึ่งเป็นผลของกุศลกรรม กับ โสมนัสเวทนา (ความสบายใจ) ซึ่งมีลักษณะที่พอใจในสุขเวทนาทางกายหรือ เข้าใจผิด ระหว่าง ทุกขเวทนาทางกาย คือ "อกุศลวิบากจิต" กับ โทมนัสเวทนา ที่ไม่พอใจในทุกขเวทนาทางกาย
โสมนัสเวทนา และ โทมนัสเวทนา ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นภายหลังจาก สุขเวทนา และ ทุกขเวทนาทางกาย นั้น เป็น ความสบายใจ (สุขใจ) และ ความไม่สบายใจ (ทุกข์ใจ) ในขณะเกิดความรู้สึก ทุกขเวทนา เป็น อกุศลวิบากเจตสิก ซึ่งเกิดร่วมกับ "อกุศลวิบากจิต" ขณะที่กำลังรู้อารมณ์ที่ไม่ดี ที่กระทบทางกาย แต่ โทมนัสเวทนา ที่อาจจะเกิดภายหลังนั้น เกิดร่วมกับ "อกุศลจิต" ดังนั้น โทมนัสเวทนา จึงไม่ใช่ อกุศลวิบากเจตสิก ที่เกิดร่วมกับ "อกุศลวิบากจิต"
โทมนัสเวทนา เกิดขึ้นได้เพราะ "โทสะที่สะสมไว้" เป็นปัจจัย เพราะแม้ว่า ทุกขเวทนา และ โทมนัสเวทนา เป็นนามธรรม คือ สภาพรู้แต่ เป็นนามธรรม (ที่เป็นความรู้สึก) ที่ต่างกัน ต่างกันเพราะปัจจัยที่ทำให้เกิดนั้น ต่างกัน
สำหรับผู้ที่ดับ "เหตุที่ทำให้เกิดโทสะ" ได้แล้ว (หมายถึง พระอนาคามีและพระอรหันต์) ทุกขเวทนาทางกาย ก็ยังเกิดได้แต่ไม่มี "เหตุ" (คือ โทสมูลจิต) ที่เป็นปัจจัยให้เกิดโทมนัสเวทนาอีกต่อไป
ดังนั้น ผู้ที่ดับเหตุปัจจัย คือ ความยินดีพอใจในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัสบรรลุเป็นพระอนาคามี และ พระอรหันต์แล้ว นั้น ท่านยังมี "อกุศลวิบากจิต" (คือ ผลของอกุศลกรรมที่ได้กระทำแล้วในอดีต) ตราบเท่าที่ท่านยังมีชีวิต (คือ ยังมีขันธ์ ๕) แต่ ท่านไม่มีโทมนัสเวทนาเกิดขึ้นอีกเลย เพราะว่า ดับ "เหตุปัจจัย" คือ โลภมูลจิต ความติดข้องในกาม และ โทสมูลจิต ได้เป็นสมุจเฉทแล้ว
ในสังยุตตนิกาย สคาถวรรค มารสังยุตต์ ทุติยวรรคที่ ๒สกลิกสูตรที่ ๓ ข้อ ๔๕๒ มีข้อความว่า
สมัยหนึ่งพระผู้มีพระภาค ประทับอยู่ ณ มัททกุจฉิมิคทายวัน เขตกรุงราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล พระบาทของพระผู้มีพระภาค ถูกเสก็ดหินเจาะ แล้วได้ยินว่า เวทนาทั้งหลายอันยิ่ง เป็นไปในสรีระเป็นทุกข์แรงกล้า เผ็ดร้อน ไม่เป็นที่ยินดี ไม่เป็นที่ทรงพระสำราญ ย่อมเป็นไป แด่พระผู้มีพระภาค พระองค์มี "สติสัมปชัญญะ" อดกลั้นซึ่งเวทนาเหล่านั้น ไม่ทรงกระสับกระส่าย
ข้อความบางตอนจากหนังสือ พระอภิธรรมในชีวิตประจำวัน โดย Nina Van Gorkorm แปลโดย อาจารย์ดวงเดือน บารมีธรรม
ขออนุโมทนา
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาครับ
ขอบคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
สาธุ
การศึกษาพระธรรมต้องเป็นผู้ละเอียด
อนุโมทนาครับ
โชคดีที่ได้มาเจอ web นี้ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง
สาธุ สาธุ สาธุ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ