มีผู้สงสัยเรื่องการปฏิบัติธรรม
โดย chatchai.k  29 มิ.ย. 2558
หัวข้อหมายเลข 26709

มีผู้สงสัยเรื่องการปฏิบัติธรรม ดังนี้

ผมมีความสงสัยว่าสมถภาวนาประเภทต่างๆ รวมทั้งการงดเว้นเพื่อไม่ล่วงอกุศลกรรมบถ หรือการให้ทานขั้นต่างๆ ถือเป็นการปฏิบัติธรรมด้วยหรือเปล่าครับ คำว่าปฏิบัติธรรม ถ้าว่าโดยอรรถทางพระธรรมจริงๆ มุ่งหมายถึงปฏิปัตติเท่านั้นหรือไม่ครับ อย่างเวลาที่คนไปถือศีลอยู่วัด เขาบอกว่า การถือศีลเป็นการปฏิบัติธรรมอย่างหนึ่ง ไม่ทราบว่าอนุโลมเป็นการปฏิบัติธรรมด้วยหรือเปล่า หรือว่าถ้าตรงต่อพระธรรม ปฏิบัติธรรมหมายถึงปฏิปัตติเท่านั้น หากอรรถาธิบายเป็นเช่นนั้น คำว่า ปฏิบัติในทางพระธรรมไม่ง่าย และไม่สาธารณะทั่วไปแน่ๆ เลย



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 29 มิ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ปฏิบัติธรรม คือ ธรรมปฏิบัติหน้าที่ ธรรมอะไร ที่เรียกว่าควรเป็นไป และ เป็นการปฏิบัติธรรม ก็คือ ธรรมที่ดีงามประเภทต่างๆ ที่เป็นไปในทาน ศีล ภาวนา ที่เป็นกุศลจิต ที่เกิดขึ้นที่ใจ เพราะฉะนั้น กุศลจิตทุกระดับ ไม่ว่า การให้ทาน รักษาศีล และ เจริญอบรมปัญญา ก็เป็นการปฏิบัติธรรม ในพระพุทธศาสนา เพราะ ปฏิบัติด้วยจิตที่เป็นกุศล ดีงาม แต่ ที่มีการไปปฏิบัติธรรม ด้วยหนทางที่ผิด เช่น ไปนั่งสมาธิ เดินจงกรม ด้วยความไม่รู้ รักษาศีล ด้วยความไม่รู้ ก็ไม่ใช่เป็นการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา เพราะ ทำด้วยความไม่รู้และอกุศล ครับ ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย peem  วันที่ 29 มิ.ย. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย khampan.a  วันที่ 29 มิ.ย. 2558

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ไม่มีตัวตนที่ปฏิบัติ แต่เป็นธรรมที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ของธรรม ถ้าอกุศลธรรมเกิดขึ้นเป็นไป ก็ทำให้กาย วาจา ใจ เป็นไปในทางที่ไม่ดี ไม่เหมาะไม่ควร เป็นการปฏิบัติชั่ว เพราะขณะนั้น ธรรมฝ่ายชั่ว คือ อกุศลธรรมเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ในทางตรงกันข้าม ถ้าธรรมฝ่ายดี เกิดขึ้น เป็นไปในเรื่องของกุศลประการต่างๆ ก็เป็นการปฏิบัติตามธรรม คือ ความถูกต้องดีงาม เป็นการปฏิบัติดี เพราะธรรมฝ่ายดีเกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ทั้งหมด ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน มีแต่ธรรมเท่านั้นที่เกิดขึ้นทำกิจหน้าที่ ครับ

... ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ ...


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 29 มิ.ย. 2558

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 5    โดย ธนฤทธิ์  วันที่ 29 มิ.ย. 2558

ขอบคุณ และขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 6    โดย tanrat  วันที่ 29 มิ.ย. 2558

ต้องเข้าใจในคำที่พูด ปฎิบัติคืออะไร คำว่าถึงเฉพาะจะเข้าใจขึ้นไหม เพราะผู้ที่ไม่พิจรณาคำที่พระผู้มีพระภาคเจ้าแสดง คิดเองเยอะ ไหลไปตามรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เพราะไม่ฟังให้เข้าใจ คิดเอง หากเข้าใจก็ไม่ให้ใครเขาหลอกได้ จะละเอียดขึ้นๆ ในสภาพธรรมะต่างๆ เพราะไม่ฟังธรรมะให้เข้าใจ ฟังในสิ่งที่กำลังได้ยินได้ฟัง และต้องพิจรณาด้วย หากไม่พิจรณาก็สะสมว่าเคยได้ยินได้ฟัง แต่ไม่รู้อะไร แล้วประโยชน์อยู่ตรงไหน


ความคิดเห็น 7    โดย wannee.s  วันที่ 30 มิ.ย. 2558

ขณะใดที่กุศลจิตเกิด เช่น การให้ทาน การรักษาศีล การฟังธรรม ขณะนั้นก็ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรมที่ฟังแล้วเข้าใจ แต่ต้องประกอบด้วยปัญญา และ การปฏิบัติธรรมสูงสุด หมายถึง มรรค 4 ผล 4 นิพพาน 1 ค่ะ


ความคิดเห็น 8    โดย เมตตา  วันที่ 1 ก.ค. 2558

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่...

ธัมมานุธัมมปฏิปัตติ


ความคิดเห็น 9    โดย WS202398  วันที่ 3 ก.ค. 2558

๖. ธรรมกถิกสูตร

[๔๕] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถ บิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี ครั้งนั้นแล ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ครั้นแล้วถวายบังคมพระผู้มีพระภาค นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคว่า พระพุทธเจ้าข้า ที่เรียกว่า ธรรมกถึก ธรรมกถึก ดังนี้ ด้วยเหตุเพียงเท่าไร หนอ จึงจะชื่อว่าธรรมกถึก ฯ

[๔๖] พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรภิกษุ ถ้าภิกษุแสดงธรรมเพื่อความหน่าย เพื่อ ความคลายกำหนัด เพื่อความดับชราและมรณะ ควรจะกล่าวว่าภิกษุธรรมกถึก ถ้าภิกษุเป็นผู้ปฏิบัติ เพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับชราและมรณะ ควรจะกล่าวว่า ภิกษุปฏิบัติ ธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะความหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นชราและมรณะ ควรจะกล่าวว่า ภิกษุบรรลุนิพพานในปัจจุบัน ถ้าภิกษุแสดงธรรมเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับชาติ ... ภพ ... อุปาทาน ... ตัณหา ... เวทนา ... ผัสสะ ... สฬายตนะ ... นามรูป ... วิญญาณ ... สังขาร ถ้าภิกษุแสดงธรรมเพื่อความ หน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับอวิชชา ควรจะกล่าวว่า ภิกษุธรรมกถึก ถ้าภิกษุ เป็นผู้ปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับอวิชชา ควรจะกล่าวว่า ภิกษุ ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ถ้าภิกษุเป็นผู้หลุดพ้นแล้ว เพราะความหน่าย เพราะความคลายกำหนัด เพราะความดับ เพราะไม่ถือมั่นอวิชชา ควรจะกล่าวว่า ภิกษุบรรลุนิพพานในปัจจุบัน ฯ

จบสูตรที่ ๖


การกระทำอันใด ก็ต้องรู้ว่า ทำอะไร เพื่ออะไร ถ้าไม่รู้ว่าสิ่งที่ทำอยู่ หรือจะทำคืออะไร มีผลอย่างไร ตรงกับที่พระศาสดาแนะแนวทางไว้หรือไม่แล้ว ก็ไม่อาจทราบได้ว่า สิ่งนี้ๆ คือ การปฏิบัติธรรมหรือไม่

หากทำอะไรก็ตาม เป็นการปฏิบัติเพื่อความหน่าย เพื่อความคลายกำหนัด เพื่อความดับอวิชชา แล้ว คือการปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม

อะไรที่ทำแล้วกุศลเจริญ อกุศลเสื่อม ก็คือการปฏิบัติธรรม การะการปฏิบัติธรรมขั้นสูงสุด ก็คือเพื่อดับอวิชชา นั่นเอง คือ ถึง นิพพาน นั่นเอง และการปฏิบัติเพื่อเป็นโสดาบันบุคคลก็จะถึงนิพพานอย่างแน่แท้ในเวลาถัดไป


ความคิดเห็น 10    โดย ดวงทิพย์  วันที่ 5 ก.ค. 2558

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 11    โดย Jarunee.A  วันที่ 28 ต.ค. 2566

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ