[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 366
๑๐. สุสิมสูตร
ว่าด้วยการหลุดพ้นด้วยปัญญา
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 366
๑๐. สุสิมบุตร
ว่าด้วยการหลุดพ้นด้วยปัญญา
[๒๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน กลันทกนิวาปสถาน กรุงราชคฤห์. สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าอันเทวดาและมนุษย์ทั้งมวลสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ทรงได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขารเป็นปัจจัยแก่คนไข้ แม้ภิกษุสงฆ์อันเทวดาและมนุษย์ทั้งมวลก็สักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขารเป็นปัจจัยแก่คนไข้ แต่พวกปริพาชกเดียรถีย์อื่น อันเทวดาและมนุษย์ทั้งมวลไม่สักการะ ไม่เคารพ ไม่นับถือ ไม่บูชา ไม่ยำเกรง ไม่ได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขารเป็นปัจจัยแก่คนไข้.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 367
[๒๘๐] สมัยนั้นแล สุสิมปริพาชกอาศัยอยู่ ณ กรุงราชคฤห์ กับปริพาชกบริษัทเป็นอันมาก ครั้งนั้นแล บริษัทของสุสิมปริพาชกได้กล่าวกะสุสิมปริพาชกว่า มาเถิดท่านสุสิมะ ท่านจงประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของพระสมณโคดม ท่านเรียนธรรมแล้ว พึงบอกข้าพเจ้าทั้งหลาย พวกข้าพเจ้าเรียนธรรมนั้นแล้วจักกล่าวแก่คฤหัสถ์ทั้งหลาย เมื่อเป็นเช่นนี้ แม้พวกเราก็จักมีเทวดาและมนุษย์ทั้งมวลสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ยำเกรง จักได้จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ และเภสัชบริขารเป็นปัจจัยแก่คนไข้.
สุสิมปริพาชกยอมรับคำบริษัทของตน แล้วเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้ว ได้ปราศรัยกับท่านพระอานนท์ ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นสุสิมปริพาชกนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ท่านพระอานนท์ ผมปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้.
[๒๘๑] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์พาสุสิมปริพาชกเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านพระอานนท์นั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า สุสิมปริพาชกผู้นี้กล่าวอย่างนี้ว่า ท่านพระอานนท์ ผมปรารถนาจะประพฤติพรหมจรรย์ในธรรมวินัยนี้.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า อานนท์ ถ้าอย่างนั้น เธอจงให้สุสิมปริพาชกบวช.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 368
สุสิมปริพาชกได้บรรพชาอุปสมบทในสำนักของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว.
[๒๘๒] สมัยนั้นแล ได้ยินว่า ภิกษุเป็นอันมากอวดอ้างพระอรหัตตผลในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
ท่านสุสิมะได้ฟังมาว่า ภิกษุเป็นอันมากอวดอ้างพระอรหัตตผลในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
ทันใดนั้นเอง ท่านสุสิมะก็เข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่ ได้ปราศรัยกับภิกษุเหล่านั้น ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านสุสิมะนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้กล่าวกะภิกษุเหล่านั้นว่า ได้ยินว่า ท่านทั้งหลายอวดอ้างพระอรหัตตผลในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าพระองค์ทั้งหลายรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี ดังนี้จริงหรือ.
ภิกษุทั้งหลายกล่าวว่า จริงอย่างนั้น ท่านผู้มีอายุ.
[๒๘๓] สุ. ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝากำแพง ภูเขา ไปได้ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงใน
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 369
แผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ บ้างหรือหนอ.
ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ.
[๒๘๔] สุ. ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมได้ยินเสียง ๒ ชนิด คือ เสียงทิพย์และเสียงมนุษย์ทั้งที่อยู่ไกลและใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ล่วงโสตของมนุษย์ บ้างหรือหนอ.
ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ.
[๒๘๕] สุ. ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ หรือจิตปราศจากราคะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากราคะ จิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ หรือจิตปราศจากโทสะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโทสะ จิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ หรือจิตปราศจากโมหะ ก็รู้ว่าจิตปราศจากโมหะ จิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่ หรือจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน จิตเป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตเป็นมหรคต หรือจิตไม่เป็นมหรคต ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นมหรคต จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า หรือจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ก็รู้ว่าจิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า จิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ หรือจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ จิตหลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตหลุดพ้น หรือจิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ว่าจิตไม่หลุดพ้น บ้างหรือหนอ.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 370
ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ.
[๒๘๖] สุ. ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้าง ยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏกัปวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขและทุกข์อย่างนั้น มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น ในภพนั้น เรามีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขและทุกข์อย่างนั้น มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้น แล้วมาเกิดในภพนี้ ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ บ้างหรือหนอ.
ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ.
[๒๘๗] สุ. ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมว่า ท่านผู้เจริญทั้งหลาย สัตว์เหล่านี้ ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฏฐิ เมื่อตายเพราะกายแตกดับไป ก็เข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ท่านผู้เจริญ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 371
ทั้งหลาย ส่วนสัตว์เหล่านั้น ประกอบด้วยกายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้า เป็นสัมมาทิฏฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจสัมมาทิฏฐิ เมื่อตายเพราะกายแตกดับไป ก็เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ย่อมเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ บ้างหรือหนอ.
ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ.
[๒๘๘] สุ. ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย พวกท่านรู้อยู่ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมถูกต้องอรูปวิโมกข์อันสงบ ก้าวล่วงรูปวิโมกข์ทั้งหลายด้วยกาย บ้างหรือหนอ.
ภิ. หาเป็นอย่างนั้นไม่ ท่านผู้มีอายุ.
[๒๘๙] สุ. ดูก่อนท่านผู้มีอายุทั้งหลาย คำตอบนี้ และการไม่เข้าถึงธรรมเหล่านี้ มีอยู่ในเรื่องนี้ในบัดนี้ อาวุโส เรื่องนี้ เป็นอย่างไรแน่.
ภิ. ท่านสุสิมะ ผมทั้งหลายหลุดพ้นได้ด้วยปัญญา.
สุ. ผมไม่เข้าใจเนื้อความแห่งคำที่ท่านทั้งหลายกล่าวโดยย่อนี้ โดยพิสดารได้ ขอท่านทั้งหลายจงกล่าวแก่ผม เท่าที่ผมจะพึงเข้าใจเนื้อความแห่งคำที่ท่านทั้งหลายกล่าวโดยย่อนี้ โดยพิสดารเถิด.
ภิ. ท่านสุสิมะ ท่านพึงเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม แต่ผมทั้งหลายก็หลุดพ้นได้ด้วยปัญญา.
[๒๙๐] ครั้งนั้นแล ท่านสุสิมะลุกจากอาสนะแล้ว เข้าไปเฝ้า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 372
พระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นท่านสุสิมะนั่งเรียบร้อยแล้ว กราบทูลถ้อยคำที่สนทนากับภิกษุเหล่านั้นทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
ว่าด้วยธรรมฐิติญาณ
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สุสิมะ ธรรมฐิติญาณเกิดก่อน ญาณในพระนิพพานเกิดภายหลัง.
พระสุสิมะกราบทูลว่า พระพุทธเจ้าข้า ข้าพระองค์ไม่เข้าใจเนื้อความแห่งคำที่พระองค์ตรัสไว้โดยย่อนี้โดยพิสดารได้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงตรัสแก่ข้าพระองค์ เท่าที่ข้าพระองค์จะพึงเข้าใจเนื้อความแห่งพระดำรัส ที่พระองค์ตรัสโดยย่อนี้ โดยพิสดารเถิด.
[๒๙๑] พ. ดูก่อนสุสิมะ เธอจะเข้าใจหรือไม่เข้าใจก็ตาม โดยแท้จริงแล้วธรรมฐิติญาณเกิดก่อน ญาณในพระนิพพานเกิดทีหลัง สุสิมะ เธอจะเข้าใจความข้อนั้นอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง.
สุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า.
สุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา.
สุ. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า.
พ. เวทนาเที่ยงหรือไม่เที่ยง.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 373
สุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า.
สุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา.
ส. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า.
พ. สัญญาเที่ยงหรือไม่เที่ยง.
สุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า.
สุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปวนเป็นธรรมดา สมควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา.
สุ. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า.
พ. สังขารทั้งหลายเที่ยงหรือไม่เที่ยง.
สุ. ไม่เที่ยง พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า.
สุ. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 374
สุ. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า.
พ. วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง.
สุ. ไม่เที่ยง พระเข้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือเป็นสุขเล่า.
ส. เป็นทุกข์ พระเจ้าข้า.
พ. ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา สมควรหรือหนอที่จะตามเห็นสิ่งนั้นว่า นั่นของเรา เราเป็นนั่น นั่นเป็นตัวตนของเรา.
สุ. ข้อนี้ไม่สมควร พระเจ้าข้า.
[๒๙๒] พ. ดูก่อนสุสิมะ เพราะเหตุนั้นแล รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี รูปทั้งหมดนั่นอันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.
เวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี เวทนาทั้งหมดนั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.
สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี สัญญาทั้งหมดนั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญา
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 375
อันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.
สังขารทั้งหลายอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี สังขารทั้งหมดนั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.
วิญญาณอย่างใดอย่างหนึ่ง ที่เป็นอดีตก็ดี อนาคตก็ดี ปัจจุบันก็ดี ภายในก็ดี ภายนอกก็ดี หยาบก็ดี ละเอียดก็ดี เลวก็ดี ประณีตก็ดี อยู่ในที่ไกลก็ดี ในที่ใกล้ก็ดี วิญญาณทั้งหมดนั่น อันเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงอย่างนี้ว่า นั่นไม่ใช่ของเรา เราไม่เป็นนั่น นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา.
[๒๙๓] พ. ดูก่อนสุสิมะ อริยสาวกผู้ได้สดับ เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่าย แม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขารทั้งหลาย แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้น ย่อมมีญาณหยั่งรู้ว่า หลุดพ้นแล้ว ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำ ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มี.
[๒๙๔] พ. ดูก่อนสุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะหรือ.
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะภพเป็นปัจจัย จึงมีชาติหรือ.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 376
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะอุปาทานเป็นปัจจัย จึงมีภพหรือ.
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะตัณหาเป็นปัจจัย จึงมีอุปาทานหรือ.
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ... เพราะเวทนาเป็นปัจจัย จึงมีตัณหา... เพราะผัสสะเป็นปัจจัย จึงมีเวทนา... เพราะสฬายตนะเป็นปัจจัย จึงมีผัสสะ... เพราะนามรูปเป็นปัจจัย จึงมีสฬายตนะ... เพราะวิญญาณเป็นปัจจัย จึงมีนามรูป... เพราะสังขารเป็นปัจจัย จึงมีวิญญาณ... สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขารหรือ.
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
[๒๙๕] พ. ดูก่อนสุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะชาติดับ ชราและมรณะ จึงดับหรือ.
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ. สุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะภพดับ ชาติจึงดับหรือ.
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
พ....เพราะอุปาทานดับ ภพจึงดับ เพราะตัณหาดับ อุปาทานจึงดับ... เพราะเวทนาดับ ตัณหาจึงดับ... เพราะผัสสะดับ เวทนาจึงดับ... เพราะสฬายตนะดับ ผัสสะจึงดับ... เพราะนามรูปดับ สฬายตนะจึงดับ... เพราะวิญญาณดับ นามรูปจึงดับ... เพราะสังขารดับ วิญญาณจึงดับ... เพราะอวิชชาดับ สังขารจึงดับหรือ.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 377
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
[๒๙๖] พ. ดูก่อนสุสิมะ เธอรู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างนี้ ย่อมบรรลุอิทธิวิธีหลายประการ คือคนเดียวเป็นหลายคนก็ได้ หลายคนเป็นคนเดียวก็ได้ ทำให้ปรากฏก็ได้ ทำให้หายไปก็ได้ ทะลุฝา กำแพง ภูเขา ไปได้ ไม่ติดขัดเหมือนไปในที่ว่างก็ได้ ผุดขึ้นดำลงในแผ่นดินเหมือนในน้ำก็ได้ เดินบนน้ำไม่แตกเหมือนเดินบนแผ่นดินก็ได้ เหาะไปในอากาศเหมือนนกก็ได้ ลูบคลำพระจันทร์ พระอาทิตย์ ซึ่งมีฤทธิ์มีอานุภาพมากด้วยฝ่ามือก็ได้ ใช้อำนาจทางกายไปตลอดพรหมโลกก็ได้ บ้างหรือหนอ.
ส. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
[๒๙๗] พ. ดูก่อนสุสิมะ เธอรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมได้ยินเสียงสองชนิด คือเสียงทิพย์ และเสียงมนุษย์ ทั้งที่อยู่ไกล และอยู่ใกล้ ด้วยทิพยโสตธาตุอันบริสุทธิ์ ล่วงโสตของมนุษย์บ้างหรือหนอ.
สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
[๒๙๘] พ. ดูก่อนสุสิมะ เธอรู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างนี้ ย่อมกำหนดรู้ใจของสัตว์อื่น ของบุคคลอื่นได้ด้วยใจ คือจิตมีราคะ ก็รู้ชัดว่าจิตมีราคะ ฯลฯ จิตไม่หลุดพ้น ก็รู้ชัดว่าจิตไม่หลุดพ้น บ้างหรือหนอ.
สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
[๒๙๙] พ. ดูก่อนสุสิมะ เธอรู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างนี้ ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือชาติหนึ่งบ้าง ฯลฯ ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุเทศ ด้วยประการฉะนี้ บ้างหรือหนอ.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 378
สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
[๓๐๐] พ. ดูก่อนสุสิมะ เธอรู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างนี้ ย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ ฯลฯ ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม บ้างหรือหนอ.
สุ. ไม่ใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
[๓๐๑] พ. ดูก่อนสุสิมะ เธอรู้อยู่ เห็นอยู่ อย่างนี้ ย่อมถูกต้องอรูปวิโมกข์อันสงบ ก้าวล่วงรูปวิโมกข์ทั้งหลาย ด้วยกายบ้างหรือหนอ.
สุ. มิใช่อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
[๓๐๒] พ. ดูก่อนสุสิมะ คำตอบนี้ และการไม่เข้าถึงธรรมเหล่านี้มีอยู่ในเรื่องนี้ ในบัดนี้ เรื่องนี้เป็นอย่างไรแน่.
ลำดับนั้นเอง ท่านสุสิมะหมอบลงแทบพระบาททั้งสองของพระผู้มีพระภาคเจ้า ด้วยเศียรเกล้า ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า พระพุทธเจ้าข้า โทษได้ตกถึงข้าพระองค์ เท่าที่โง่ เท่าที่หลง เท่าที่ไม่ฉลาด ข้าพระองค์บวชขโมยธรรมในธรรมวินัยที่พระองค์ตรัสดีแล้วอย่างนี้ ขอพระผู้มีพระภาคเจ้าจงรับโทษไว้โดยความเป็นโทษ เพื่อความสำรวมต่อไปของข้าพระองค์ด้วยเถิด พระเจ้าข้า.
[๓๐๓] พ. เอาเถิดสุสิมะ โทษได้ตกถึงเธอ เท่าที่โง่ เท่าที่หลง เท่าที่ไม่ฉลาด เธอบวชขโมยธรรมในธรรมวินัยที่เรากล่าวดีแล้วอย่างนี้ เปรียบเหมือนเจ้าหน้าที่จับโจรผู้ประพฤติผิดมาแสดงตัวแก่พระราชา แล้วกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ โจรคนนี้ ประพฤติผิดแด่พระองค์ ขอพระองค์จงทรงลงอาชญาตามที่พระองค์ทรงพระประสงค์แก่โจรคนนี้
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 379
เถิด พระราชาพึงรับสั่งให้ลงโทษโจรนั้นอย่างนี้ว่า ท่านทั้งหลายจงไปมัดบุรุษนี้ไพล่หลังให้มั่นด้วยเชือกที่เหนียว แล้วเอามีดโกนหัวเสีย พาเที่ยวตระเวนตามถนน ตามทางสี่แยก ด้วยฆ้อง ด้วยกลองเล็กๆ ให้ออกทางประตูด้านทักษิณ แล้วจงตัดศีรษะเสียข้างด้านทักษิณของเมือง ราชบุรุษมัดโจรนั้นไพล่หลังอย่างมั่นคง ด้วยเชือกที่เหนียวแล้วเอามีดโกนโกนหัว พาเที่ยวตระเวนตามถนน ตามทางสี่แยก ด้วยฆ้อง ด้วยกลองเล็กๆ พาออกทางประตูด้านทักษิณ พึงตัดศีรษะเสียข้างด้านทักษิณของเมือง สุสิมะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเห็นไฉน บุรุษนั้นต้องเสวยทุกข์และโทมนัสอันมีกรรมนั้นเป็นเหตุหรือหนอ.
สุ. อย่างนั้น พระเจ้าข้า.
[๓๐๔] พ. ดูก่อนสุสิมะ บุรุษนั้นต้องเสวยทุกข์และโทมนัส อันมีกรรมนั้นเป็นเหตุ แต่การบวชของเธอผู้ขโมยธรรมในธรรมวินัยที่ตถาคตกล่าวดีแล้วอย่างนี้ นี้ยังมีผลรุนแรงและเผ็ดร้อนกว่านั้น และยังเป็นไปเพื่อวินิบาต แต่เพราะเธอเห็นโทษ โดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรม เราจึงรับโทษนั้นของเธอ ผู้ใดเห็นโทษโดยความเป็นโทษแล้ว ทำคืนตามธรรม ถึงความสำรวมต่อไป ข้อนี้เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยะ.
จบสุสิมสูตรที่ ๑๐
จบมหาวรรคที่ ๗
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 380
รวมพระสูตรที่มีในวรรคนี้ คือ
๑. อัสสุตวตาสูตรที่ ๑
๒. อัสสุตวตาสูตรที่ ๒
๓. ปุตตมังสสูตร
๔. อัตถิราคสูตร
๕. นครสูตร
๖. สัมมสสูตร
๗. นฬกลาปิยสูตร
๘. โกสัมพีสูตร
๙. อุปยสูตร
๑๐. สุสิมสูตร
อรรถกถาสุสิมสูตรที่ ๑๐
ในสุสิมสูตรที่ ๑๐ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้.
บทว่า ครุกโต ความว่า เป็นอันเทวดาและมนุษย์กระทำให้หนักด้วยจิต เหมือนฉัตรหิน.
บทว่า มานิโต ได้แก่ อันเขาประพฤติรักใคร่ด้วยใจ.
บทว่า ปูชิโต ได้แก่ อันเขาบูชาด้วยการบูชาด้วยปัจจัย ๔.
บทว่า อปจิโต ได้แก่ อันเขายำเกรงด้วยการประพฤติอ่อนน้อม.
จริงอยู่ มนุษย์ทั้งหลายเห็นพระศาสดาแล้ว ย่อมลงจากคอช้างเป็นต้น ถวายทาง ลดผ้าจากจะงอยบ่า ลุกจากอาสนะถวายบังคม ดังกล่าวมานี้ ชื่อว่าเป็นผู้อันมนุษย์เหล่านั้นยำเกรงแล้ว.
บทว่า สุสิโม ได้แก่ บัณฑิตปริพาชกผู้ฉลาดในเวทางค์ ผู้มีชื่ออย่างนั้น.
บทว่า เอหิ ตฺวํ ความว่า ปริพาชกเหล่านั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า พระสมณโคดมอาศัยชาติและโคตรเป็นต้น ถึงความเป็นผู้เลิศด้วยลาภก็หาไม่ ที่แท้ทรงเป็นยอดกวี ผูกคัมภีร์คำร้อยกรองประทานแก่พระสาวก เพราะทรงเป็นยอดกวี พระสาวกเหล่านั้น เรียนคัมภีร์นั้นหน่อยหนึ่งแล้ว กล่าวคำเป็นต้นว่า อุปนิสินนกกถาบ้าง อนุโมทนาบ้าง สรภัญญะบ้าง
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 381
แก่อุปัฏฐากทั้งหลาย อุปัฏฐากเหล่านั้นก็น้อมนำลาภเข้าไป ถ้าพวกเราพึงรู้อย่างละหน่อยๆ จากสิ่งที่พระสมณโคดมรู้ เราพึงใส่ลัทธิของตนในคัมภีร์นั้น กล่าวแก่อุปัฏฐากทั้งหลาย ต่อแต่นั้นเราพึงเป็นผู้มีลาภมากกว่าสาวกเหล่านั้น ใครเล่าจักบวชในสำนักพระสมณโคดมแล้ว สามารถเรียนได้ฉับพลันทีเดียว. ปริพาชกเหล่านั้น คิดอย่างนี้แล้ว เห็นว่าสุสิมะเป็นผู้ฉลาด จึงเข้าไปหาแล้วกล่าวอย่างนั้น.
บทว่า เยนายสฺมา อานนฺโท เตนุปสงฺกมิ ถามว่า เพราะเหตุไรสุสิมปริพาชกจึงเข้าไปหา.
ได้ยินว่า สุสิมปริพาชกมีความคิดอย่างนี้ว่า เราไปสำนักใครหนอ จึงจักสามารถได้ธรรมโดยฉับพลัน. แต่นั้น จึงคิดว่า พระสมณโคดม ผู้มากด้วยอำนาจคือความเคารพ ผู้ประกอบเนืองๆ ซึ่งความนิยม ใครๆ ไม่อาจจะเข้าเฝ้าในเวลาอันไม่สมควร แม้ชนเหล่าอื่นเป็นอันมากมีกษัตริย์เป็นต้น ย่อมเข้าเฝ้าพระสมณโคดม ในสมัยแม้นั้น ใครก็ไม่อาจจะเข้าเฝ้าได้ แม้บรรดาพระสาวกของพระองค์ พระสารีบุตรผู้มีปัญญามาก ทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะในวิปัสสนาลักขณะ พระมหาโมคคัลลานะ ทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะในสมาธิลักขณะ พระมหากัสสปะ ทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะฝ่ายทรงไว้ซึ่งธุดงคคุณ พระอนุรุทธ ทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะฝ่ายมีจักษุทิพย์ พระปุณณมันตานีบุตร ทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะฝ่ายพระธรรมกถึก พระอุบาลีเถระ ทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะฝ่ายทรงไว้ซึ่งพระวินัย ส่วนพระอานนท์นี้เป็นพหูสูต ทรงพระไตรปิฎก แม้พระศาสดา ก็ทรงนำเทศนาที่ตรัสแล้วในที่นั้นๆ มาตรัสแก่พระอานนท์นั้นอีก ทรงตั้งไว้ในเอตทัคคะ ๕ ตำแหน่ง ท่านได้พร ๘ ประการ ประกอบด้วยอัจฉริยอัพภูตธรรม ๔ ประการ เราเข้าไปหาท่าน จักสามารถได้ธรรมโดยฉับพลัน
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 382
ฉะนั้น สุสิมปริพาชกจึงเข้าไปหาท่านพระอานนท์ถึงที่อยู่.
บทว่า เยน ภควา เตนุปสงฺกมิ ความว่า ถามว่า เพราะเหตุไรจึงนำเข้าไปหา.
ตอบว่า ได้ยินว่า พระอานนท์ได้มีความคิดอย่างนี้ว่า สุสิมปริพาชกนี้เป็นเจ้าลัทธิแผนกหนึ่งในลัทธิเดียรถีย์ เที่ยวปฏิญาณว่าเราเป็นศาสดา ครั้นบวชแล้ว แม้เมื่อไม่ได้คำสอนก็ยังพยายาม ทั้งเราก็ไม่รู้อัธยาศัยของท่าน พระศาสดาจักทรงทราบ ฉะนั้น จึงพาท่านเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ.
บทว่า เตนหานนฺท สฺสิมํ ปพฺพาเชถ ความว่า ได้ยินว่า พระศาสดามีพระดำริว่า ปริพาชกนี้เที่ยวปฏิญาณในลัทธิของเดียรถีย์ว่า เราเป็นศาสดาเจ้าลัทธิแผนกหนึ่ง ได้ยินว่า ท่านกล่าวว่า เราปรารถนาจะประพฤติมรรคพรหมจรรย์ในศาสนานี้ ท่านเลื่อมใสในเราหรือในสาวกของเรา หรือเลื่อมใสในธรรมกถาของเราหรือของสาวกของเรา ครั้นทรงทราบว่า ท่านไม่มีความเลื่อมใสแม้ในฐานะเดียว ทรงตรวจดูว่า ผู้นี้บวชด้วยตั้งใจว่า จักขโมยธรรมในศาสนาของเรา ดังนั้น การมาของเขาจึงไม่บริสุทธิ์ ผลสำเร็จเป็นเช่นไรหนอ ทรงทราบว่า ถึงท่านจะบวชด้วยตั้งใจว่าจักขโมยธรรมก็จริง ถึงอย่างนั้น ท่านพยายาม ๒ - ๓ วันเท่านั้น ก็จักบรรลุพระอรหัต จึงตรัสว่า เตนหานนฺท สุสิมํ ปพฺพาเชถ ดังนี้.
บทว่า อญฺา พฺยากตา โหติ ความว่า ได้ยินว่า ภิกษุเหล่านั้น เรียนพระกัมมัฏฐานในสำนักพระศาสดา อยู่จำพรรษาตลอดไตรมาส เพียรพยายามอยู่ ได้บรรลุพระอรหัตภายในไตรมาสนั้นเอง. ภิกษุเหล่านั้นคิดว่า เราจักกราบทูลคุณที่ตนได้แล้วแด่พระศาสดา ทำปริสุทธปวารณา แล้วเก็บงำเสนาสนะ มาเฝ้าพระศาสดา กราบทูลคุณที่ตนได้ ซึ่งท่านหมาย
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 383
เอาคำที่กล่าวไว้แล้วนั้น.
ก็บทว่า อญฺา เป็นชื่อของพระอรหัต.
บทว่า พฺยากตา แปลว่า กราบทูลแล้ว.
บทว่า อสฺโสสิ ความว่า ได้ยินว่า ท่านเงี่ยโสตลงสดับ ไปยังที่ที่ภิกษุเหล่านั้นอยู่ ประสงค์จะฟังถ้อยคำนั้นๆ จึงเข้าไปหาภิกษุเหล่านั้นถึงที่อยู่.
ถามว่า เข้าไปหาทำไม.
ได้ยินว่า ท่านสดับเรื่องนั้นแล้วจึงคิดดังนี้ว่า ขึ้นชื่อว่าพระอรหัตตผล เป็นปริมาณในพระศาสนานี้ ชะรอยว่ากำมือคือความรู้ของอาจารย์จักเป็นสาระ เพราะฉะนั้นจึงเข้าไปหา.
บทว่า อเนกวิหิตํ แปลว่า มีหลายอย่าง.
บทว่า อิทฺธิวิธํ ได้แก่ ส่วนแห่งฤทธิ์.
ด้วยบทว่า อาวีภาวํ ติโรภาวํ ท่านถามว่า พวกท่านสามารถทำสิ่งที่ปรากฏให้หายไป [หายตัว] ทำสิ่งที่หายไปให้ปรากฏได้หรือ [ปรากฏตัว].
บทว่า ติโรกุฑฺฑํ แปลว่า นอกฝา.
แม้ภายนอกภูเขาก็นัยนี้แหละ.
บทว่า อุมฺมุชฺชนิมฺมุชฺชํ แปลว่า ผุดขึ้นและดำลง.
บทว่า ปลฺลงฺเกน แปลว่า ด้วยการนั่งขัดสมาธิ.
ด้วยบทว่า กมถ ท่านถามว่า พวกท่านสามารถที่จะนั่งหรือยึดเอาได้หรือ.
บทว่า ปกฺขี สกุโณ แปลว่า นกที่มีปีก.
ในข้อนี้ มีความสังเขปเพียงเท่านี้ ส่วนความพิสดาร พึงทราบนัยแห่งการพรรณนาอิทธิวิธญาณนี้ และทิพยโสตเป็นต้นนอกจากนี้ โดยนัยที่กล่าวแล้วในคัมภีร์วิสุทธิมรรค.
บทว่า สนฺตา วิโมกฺขา ความว่า อรูปวิโมกข์ ชื่อว่าสงบ เพราะสงบองค์ และเพราะสงบอารมณ์.
บทว่า กาเยน ผุสิตฺวา ได้แก่ ถูกต้องคือได้ด้วยนามกาย.
ด้วยคำว่า ปญฺญาวิมุตฺตา โข มยํ อาวุโส ท่านแสดงว่า อาวุโส พวกเราเป็นผู้เพ่งฌาน เป็นสุกขวิปัสสก หลุดพ้น
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 384
ด้วยสักว่าปัญญาเท่านั้น.
ถามว่า เพราะเหตุไร ภิกษุเหล่านั้นจึงกล่าวอย่างนี้ว่า อาชาเนยฺยาสิ วา ตฺวํ อาวุโส สุสิม น วา ตฺวํ อาชาเนยฺยาสิ ดังนี้.
เพราะเล่ากันมาว่า ภิกษุเหล่านั้นได้มีความคิดอย่างนี้ว่า พวกเราไม่สามารถจะยึดอัธยาศัยของสุสิมภิกษุนี้กล่าวได้ สุสิมภิกษุนี้ถามพระทศพลอีก จึงจักหมดความสงสัย.
บทว่า ธมฺมฏฺิติาณํ ได้แก่ วิปัสสนาญาณ. วิปัสสนาญาณนั้นเกิดขึ้นก่อน.
บทว่า นิพฺพาเน าณํ ได้แก่ มรรคญาณที่เป็นไปในที่สุดแห่งวิปัสสนาที่เคยประพฤติ. มรรคญาณนั้นเกิดขึ้นภายหลัง ฉะนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสอย่างนั้น.
ถามว่า เพราะเหตุไร ท่านจึงกล่าวว่า อาชาเนยฺยาสิ วา เป็นต้น.
แก้ว่า เพื่อแสดงการเกิดขึ้นแห่งญาณอย่างนี้แม้เว้นสมาธิ.
ความจริงพระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสอธิบายไว้ดังนี้ว่า ดูก่อนสุสิมะ มรรคก็ตาม ผลก็ตาม ไม่ใช่เป็นผลของสมาธิ ไม่ใช่เป็นอานิสงส์ของสมาธิ ไม่ใช่เป็นความสำเร็จของสมาธิ แต่มรรคหรือผลนี้ เป็นผลของวิปัสสนา เป็นอานิสงส์ของวิปัสสนา เป็นความสำเร็จของวิปัสสนา ฉะนั้น ท่านจะรู้ก็ตาม ไม่รู้ก็ตาม ที่แท้ธัมมัฏฐิติญาณเป็นญาณในเบื้องต้น ญาณในพระนิพพานเป็นญาณภายหลัง.
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงทราบว่า ท่านสุสิมะนั้นควรจะแทงตลอด เมื่อทรงแสดงพระธรรมเทศนาเรื่องไตรลักษณ์ จึงตรัสว่า ตํ กิํ มญฺสิ สุสิม รูปํ นิจฺจํ วา อนิจฺจํ วา ดูก่อนสุสิมะ เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ดังนี้เป็นต้น.
ก็ในเวลาจบเทศนาเรื่องไตรลักษณ์ พระเถระบรรลุพระอรหัต.
บัดนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงยกขึ้นซึ่งความพยายามของพระเถระนั้น จึงตรัสว่า
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 385
ชาติปจฺจยา ชรามรณนฺติ สุสิม ปสฺสสิ ดูก่อนสุสิมะ เธอเห็นว่า เพราะชาติเป็นปัจจัย จึงมีชราและมรณะหรือ ดังนี้ เป็นต้น.
ถามว่า เพราะเหตุไร พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงทรงปรารภคำนี้ว่า อปิ นุ ตฺวํ สุสิม ดังนี้.
แก้ว่า เพื่อทรงกระทำให้ปรากฏแก่เหล่าภิกษุสุกขวิปัสสกผู้เพ่งฌาน.
ก็ในข้อนี้มีอธิบายดังนี้ว่า มิใช่เธอผู้เดียวเท่านั้นที่เป็นผู้เพ่งฌาน เป็นสุกขวิปัสสก แม้ภิกษุเหล่านั้น ก็เป็นอย่างนั้นเหมือนกัน.
คำที่เหลือในบททั้งปวง ปรากฏแล้วทั้งนั้นแล.
จบอรรถกถาสุสิมสูตรที่ ๑๐
จบอรรถกถามหาวรรคที่ ๗