๗. อนุรุทธสูตร
โดย บ้านธัมมะ  28 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 36133

[เล่มที่ 23] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 110

๗. อนุรุทธสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 23]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 110

๗. อนุรุทธสูตร

[๔๒๐] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้:-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล ช่างไม้ชื่อปัญจกังคะเรียกบุรุษผู้หนึ่งมาสั่งว่า มาเถิด พ่อมหาจําเริญ พ่อจงเข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะแล้วกราบเท้าท่านพระอนุรุทธะ ด้วยเศียรเกล้าตามคําของเราว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ช่างไม้ปัญจกังคะขอกราบเท้าท่านพระอนุรุทธะด้วยเศียรเกล้า และจงกราบเรียนอย่างนี้ว่าข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพระอนุรุทธะได้โปรดนับตนเองเป็นรูปที่ ๔ รับนิมนต์ฉันอาหารของช่างไม้ปัญจกังคะในวันพรุ่งนี้ และขอท่านพระอนุรุทธะได้โปรดมาแต่เช้าๆ เพราะช่างไม้ปัญจกังค่ะมีกิจหน้าที่ด้วยราชการมาก บุรุษรับคําแล้ว จึงเข้าไปหาท่านพระอนุรุทธะ ครั้นอภิวาทท่านพระอนุรุทธะแล้วจึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว จึงกราบเรียนท่านพระอนุรุทธะดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ช่างไม้ปัญจกังคะขอกราบเท้าท่านพระอนุรุทธะด้วยเศียรเกล้า และบอกมาอย่างนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ขอท่านพระอนุรุทธะได้โปรดนับตนเองเป็นรูปที่ ๔ รับนิมนต์ฉันอาหารของช่างไม้ปัญจกังคะในวันพรุ่งนี้ และขอท่านพระอนุรุทธะได้โปรดไปแต่เช้าๆ เพราะช่างไม้ปัญจกังคะมีกิจหน้าที่ด้วยราชการมาก ท่านพระอนุรุทธะรับนิมนต์ด้วยดุษณีภาพ.

[๔๒๑] ครั้งนั้นแล ท่านพระอนุรุทธะ พอล่วงราตรีนั้น จึงนุ่งสบงทรงบาตรจีวรเข้าไปยังที่อยู่อาศัยของช่างไม้ปัญจกังคะ ในเวลาเช้า ครั้นแล้วนั่ง ณ อาสนะที่เขาแต่งตั้งไว้ ต่อนั้น ช่างไม้ปัญจกังคะให้ท่านพระอนุรุทธะ


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 111

อิ่มหนําสําราญ ด้วยของเคี้ยวของฉัน อันประณีตด้วยมือของตน พอเห็นท่านพระอนุรุทธะฉันเสร็จวางบาตรในมือแล้ว จึงถืออาสนะต่ําที่หนึ่งมานั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง พอนั่งเรียบร้อยแล้ว ได้เรียนถามท่านพระอนุรุทธะดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ภิกษุผู้เถระทั้งหลายมาหากระผมที่นี่แล้วกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงเจริญเจโตวิมุตติที่หาประมาณมิได้เถิด พระเถระบางพวกกล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงเจริญเจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะเถิด ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ธรรม ๒ ข้อนี้คือเจโตวิมุตติที่หาประมาณมิได้และเจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ ต่างกันทั้งอรรถและพยัญชนะหรือ หรือว่ามีอรรถเป็นอันเดียวกัน ต่างกันแต่พยัญชนะเท่านั้น.

ท่านพระอนุรุทธะกล่าวว่า ดูก่อนคฤหบดี ถ้าอย่างนั้น ปัญหาในธรรม ๒ ข้อนี้จงแจ่มแจ้งกะท่านก่อน แต่นี้ไป ท่านจักได้มีความเข้าใจไม่ผิด.

ป. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมมีความเข้าใจอย่างนี้ว่า ธรรม ๒ ข้อนี้คือเจโตวิมุตติที่หาประมาณมิได้และเจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ มีเนื้อความเป็นอันเดียวกัน ต่างกันแค่พยัญชนะเท่านั้น.

ว่าด้วยเจโตวิมุตติปัญหา

[๔๒๒] อ. ดูก่อนคฤหบดี ธรรม ๒ ข้อนี้ คือ เจโตวิมุตติที่หาประมาณมิได้ และเจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ ต่างกันทั้งอรรถและพยัญชนะท่านพึงทราบประการที่ต่างกันนั้นโดยปริยายดังต่อไปนี้ ดูก่อนคฤหบดี ก็เจโตวิมุตติที่หาประมาณมิได้เป็นไฉน ดูก่อนคฤหบดี ภิกษุในธรรมวินัยนี้มีใจสหรคตด้วยเมตตา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ แผ่ไปตลอดทิศที่สอง ทิศที่สามทิศที่สี่อยู่ เช่นนั้นเหมือนกัน และแผ่ไปตลอดทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่างทิศเบื้องขวางอยู่ ด้วยอาการเดียวกัน ชื่อว่ามีใจสหรคตด้วยเมตตาอย่างไพบูลย์


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 112

เป็นมหัคคตะมีอารมณ์หาประมาณมิได้ ไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปตลอดโลกอันมีสัตว์ทั้งปวงในที่ทุกสถาน โดยความมีอยู่ในที่ทั้งปวง มีใจสหรคตด้วยกรุณา... มีใจสหรคตด้วยมุทิตา... มีใจสหรคตด้วยอุเบกขา แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ แผ่ไปตลอดทิศที่สอง ทิศที่สาม ทิศที่สี่อยู่ เช่นนั้นเหมือนกัน และแผ่ไปตลอดทิศเบื้องบน ทิศเบื้องล่าง ทิศเบื้องขวางอยู่ด้วยอาการเดียวกัน ชื่อว่ามีใจสหรคตด้วยอุเบกขาอย่างไพบูลย์ เป็นมหัคคตะมีอารมณ์หาประมาณมิได้ ไม่มีเวรไม่มีความเบียดเบียน แผ่ไปตลอดโลกอันมีสัตว์ทั้งปวง ในที่ทุกสถาน โดยความมีอยู่ในที่ทั้งปวง ดูก่อนคฤหบดี นี้ เรียกว่า เจโตวิมุตติที่หาประมาณมิได้.

[๔๒๓] ดูก่อนคฤหบดีก็เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะเป็นไฉน ดูก่อนคฤหบดี ภิกษุในธรรมวินัยนี้. เท่าที่น้อมใจแผ่ไปสู่โคนไม้แห่งหนึ่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ และเท่าที่น้อมใจแผ่ไปสู่โคนไม้สองแห่งหรือสามแห่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่นี้ เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ.

ดูก่อนคฤหบดี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เท่าที่น้อมใจแผ่ไปสู่เขตบ้านแห่งหนึ่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ และเท่าที่น้อมใจแผ่ไปสู่เขตบ้านสองแห่งหรือสามแห่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่นี้ก็เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตคะ.

ดูก่อนคฤหบดี ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เท่าที่น้อมใจแผ่ไปสู่มหาอาณาจักรหนึ่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้ก็เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ และเท่าที่น้อมใจแผ่ไปสู่มหาอาณาจักรสองหรือสามมหาอาณาจักรว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้ก็เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ.


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 113

ดูก่อนคฤหบดี อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เท่าที่น้อมใจแผ่ไปตลอดปฐพีมีสมุทรเป็นขอบเขตว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้ก็เรียกว่า เจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ.

ดูก่อนคฤหบดี โดยปริยายนี้แล ท่านพึงทราบประการที่ธรรม ๒ ข้อนี้ ต่างกันทั้งอรรถและพยัญชนะ.

ว่าด้วยการเข้าถึงภพ ๔ อย่าง

[๔๒๔] ดูก่อนคฤหบดี การเข้าถึงภพนี้มี ๔ อย่างแล ๔ อย่างเป็นไฉน ดูก่อนคฤหบดี ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ น้อมใจแผ่ไปสู่อารมณ์มีแสงสว่างเล็กน้อยอยู่ เธอตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาพวกมีรัศมีเล็กน้อย แต่บางรูปน้อมใจแผ่ไปสู่อารมณ์มีแสงสว่างหาประมาณมิได้อยู่ เธอตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาพวกมีรัศมีหาประมาณนี้ได้ บางรูปน้อมใจแผ่ไปสู่อารมณ์มีแสงสว่างเศร้าหมองอยู่ เธอตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาพวกมีรัศมีเศร้าหมอง แต่บางรูปน้อมใจแผ่ไปสู่อารมณ์มีแสงสว่างบริสุทธิ์อยู่ เธอตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาพวกมีรัศมีบริสุทธิ์ ดูก่อนคฤหบดี นี้แล การเข้าถึงภพ๔ อย่าง.

[๔๒๕] ดูก่อนคฤหบดี มีสมัยที่พวกเทวดาประชุมร่วมกัน เทวดาเหล่านั้น ย่อมปรากฏมีสีกายต่างกัน แต่ไม่ปรากฏมีรัศมีต่างกัน ดูก่อนคฤหบดีเปรียบเหมือนบุรุษตามประทีปน้ำมันมากดวง เข้าไปสู่เรือนหลังหนึ่ง ประทีปน้ำมันเหล่านั้นปรากฏมีเปลวต่างกัน แต่ไม่ปรากฏมีแสงสว่างต่างกัน ฉันใดดูก่อนคฤหบดีฉันนั้นเหมือนกันแล มีสมัยที่พวกเทวดาประชุมร่วมกัน เทวดาเหล่านั้น ย่อมปรากฏมีสีกายต่างกัน แต่ไม่ปรากฏมีรัศมีต่างกัน.


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 114

[๔๒๖] ดูก่อนคฤหบดี มีสมัยที่พวกเทวดาแยกกันจากที่ประชุมเทวดาเหล่านั้นย่อมปรากฏมีสีกายต่างกัน และมีรัศมีต่างกัน ดูก่อนคฤหบดีเปรียบเหมือน บุรุษนําประทีปน้ำมันมากดวงออกจากเรือนหลังนั้น ประทีปน้ำมันเหล่านั้นปรากฏมีเปลวต่างกัน และมีแสงสว่างต่างกัน ฉันใด ดูก่อนคฤหบดี ฉันนั้นเหมือนกันแล มีสมัยที่พวกเทวดาแยกกันจากที่ประชุม เทวดาเหล่านั้นย่อมปรากฏมีสีกายต่างกัน และมีรัศมีต่างกัน.

[๔๒๗] ดูก่อนคฤหบดี เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่มีความดําริอย่างนี้เลยว่า สิ่งนี้ของพวกเราเที่ยง หรือยั่งยืน หรือแน่นอน แต่ว่าเทวดาเหล่านั้นย่อมอภิรมย์เฉพาะแดนที่ตนอยู่อาศัยนั้นๆ ดูก่อนคฤหบดี เปรียบเหมือนแมลงที่เขานําไปด้วยหาบหรือตะกร้า ย่อมไม่มีความดําริอย่างนี้ว่า หาบหรือตะกร้านี้ของพวกเราเที่ยง หรือยั่งยืน หรือแน่นอน แต่ว่าแมลงเหล่านั้นย่อมอภิรมย์เฉพาะแหล่งที่ตนอยู่อาศัยนั้นๆ ฉันใด ดูก่อนคฤหบดี ฉันนั้นเหมือนกันแล เทวดาเหล่านั้นย่อมไม่มีความดําริอย่างนี้เลยว่า สิ่งนี้ ของพวกเราเที่ยง หรือยั่งยืน หรือแน่นอน แต่ว่าเทวดาเหล่านั้นย่อมอภิรมย์เฉพาะแดนที่คนอยู่อาศัยนั้นๆ.

[๔๒๘] เมื่อท่านพระอนุรุทธะกล่าวแล้วอย่างนี้ ท่านพระอภิยะกัจจานะได้กล่าวกะท่านพระอนุรุทธะดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะผู้เจริญที่ท่านพยากรณ์นั้นดีละ. แต่ในเรื่องนี้มีข้อที่กระผมจะพึงสอบถามให้ยิ่งขึ้นไปคือพวกเทวดาที่มีรัศมีนั้นทั้งหมด เป็นผู้มีรัศมีเล็กน้อยหรือ หรือว่ามีบางพวกในพวกนั้นมีรัศมีหาประมาณมิได้.

อ. ดูก่อนท่านกัจจานะ โดยหลักแห่งการอุปบัตินั้นแล เทวดาในพวกนี้บางพวกมีรัศมีเล็กน้อย แต่บางพวกมีรัศมีหาประมาณมิได้


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 115

อภิยะ. ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้บรรดาเทวดาที่เข้าถึงหมู่เทวดาหมู่เดียวกันแล้วเหล่านั้น บางพวกมีรัศมีเล็กน้อย แต่บางพวกมีรัศมีหาประมาณมิได้.

ว่าด้วยการพยากรณ์เทวดา

[๔๒๙] อ. ดูก่อนท่านกัจจานะ ถ้าอย่างนั้น เราจะย้อนถามท่านในเรื่องนี้ ท่านพอใจอย่างไร พึงพยากรณ์อย่างนั้น ดูก่อนท่านกัจจานะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่โคนไม้แห่งหนึ่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่. กับภิกษุรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่โคนไม้สองแห่งหรือสามแห่งว่าเป็นแดนมหัคคตะอยู่ บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุทั้งสองรูปนี้ จิตตภาวนาอย่างไหนเป็นมหัคคตะยิ่งกว่ากัน.

อภิยะ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุทั้งสองรูปนี้จิตตภาวนาของภิกษุรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่โคนไม้สองแห่งหรือสามแห่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้เป็นมหัคคตะยิ่ง.

[๔๓๐] อ. ดูก่อนท่านกัจจานะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่โคนไม้สองแห่งหรือสามแห่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่กับภิกษุรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่เขตบ้านแห่งหนึ่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุทั้งสองรูปนี้ จิตตภาวนาอย่างไหน เป็นมหัคคตะยิ่งกว่ากัน.

อภิยะ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุทั้งสองรูปนี้จิตตภาวนาของภิกษุรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่เขตบ้านแห่งหนึ่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้เป็นมหัคคตะยิ่ง.


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 116

[๔๓๑] อ. ดูก่อนท่านกัจจานะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่เขตบ้านแห่งหนึ่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ กับภิกษุรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่เขตบ้านสองแห่งหรือสามแห่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุทั้งสองรูปนี้ จิตตภาวนาอย่างไหน เป็นมหัคคตะยิ่งกว่ากัน.

อภิยะ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุทั้งสองรูปนี้จิตตภาวนาของภิกษุรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่เขตบ้านสองแห่งหรือสามแห่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้เป็นมหัคคตะยิ่ง.

[๔๓๒] ดูก่อนท่านกัจจานะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่เขตบ้านสองแห่งหรือสามแห่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ กับภิกษุรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่มหาอาณาจักรหนึ่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุทั้งสองรูปนี้ จิตตภาวนาอย่างไหน เป็นมหัคคตะยิ่งกว่ากัน.

อภิยะ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุทั้งสองรูปนี้จิตตภาวนาของภิกษุรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่มหาอาณาจักรหนึ่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้เป็นมหัคคตะยิ่ง.

[๔๓๓] อ. ดูก่อนท่านกจัจานะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่มหาอาณาจักรหนึ่งว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ กับภิกษุรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่มหาอาณาจักรสองหรือสามมหาอาณาจักรว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุทั้งสองรูปนี้ จิตตภาวนาอย่างไหนเป็นมหัคคตะยิ่งกว่ากัน


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 117

อภิยะ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุทั้งสองรูปนี้ จิตตภาวนาของภิกษุรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่มหาอาณาจักรสองหรือสามมหาอาณาจักรว่าเป็นแดนมหัคคตะอยู่ นี้เป็นมหัคคตะยิ่ง.

[๔๓๔] อ. ดูก่อนท่านกัจจานะ ท่านจะสําคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ภิกษุรูปที่น้อมใจแผ่ไปสู่มหาอาณาจักรสองหรือสามมหาอาณาจักรว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่ กับภิกษุรูปที่น้อมใจแผ่ไปตลอดปฐพีมีสมุทรเป็นขอบเขตว่า เป็นแดนมหัคคตะอยู่. บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุทั้งสองรูปนี้ จิตตภาวนาอย่างไหน เป็นมหัคคตะยิ่งกว่ากัน.

อภิยะ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ บรรดาจิตตภาวนาของภิกษุทั้งสองรูปนี้ จิตตภาวนาของภิกษุรูปที่น้อมใจแผ่ไปตลอดปฐพีมีสมุทรเป็นขอบเขตว่า เป็นแดน มหัคคตะอยู่ นี้เป็นมหัคคตะยิ่ง.

อ. ดูก่อนท่านกัจจานะ นี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรดาเทวดาที่เข้าถึงหมู่เทวดาหมู่เดียวกันแล้วเหล่านั้น บางพวกมีรัศมีเล็กน้อย แต่บางพวกมีรัศมีหาประมาณมิได้.

[๔๓๕] อภิยะ. ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะผู้เจริญ ที่ท่านพยากรณ์นั้นดีละ แต่ในเรื่องนี้ มีข้อที่กระผมจะพึงสอบถามให้ยิ่งขึ้นไป คือ พวกเทวดาที่มีรัศมีนั้นทั้งหมด เป็นผู้มีรัศมีเศร้าหมองหรือ หรือว่ามีบางพวกในพวกนั้น มีรัศมีบริสุทธิ์.

อ. ดูก่อนท่านกัจจานะ โดยหลักแห่งการอุปบัตินั้นแล เทวดาในพวกนี้บางพวกมีรัศมีเศร้าหมอง แต่บางพวกมีรัศมีบริสุทธิ์.

อภิยะ. ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะผู้เจริญ อะไรหนอแล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรดาเทวดา ที่เข้าถึงเทวดาหมู่เดียวกันแล้วเหล่านั้น บางพวกมีรัศมีเศร้าหมอง แต่บางพวกมีรัศมีบริสุทธิ์


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 118

[๔๓๖] อ. ดูก่อนท่านกัจจานะ ถ้าอย่างนั้น เราจักเปรียบอุปมาแก่ท่าน เพราะวิญูบุรุษบางพวกในโลกนี้ ย่อมทราบอรรถแห่งภาษิตได้ด้วยอุปมาก็มี ดูก่อนท่านกัจจานะ เปรียบเหมือนประทีปน้ำมันติดไฟอยู่ มีทั้งน้ำมันทั้งไส้ไม่บริสุทธิ์ ประทีปน้ำมันนั้นย่อมติดไฟอย่างริบหรี่ๆ เพราะทั้งน้ำมันทั้งไส้ไม่บริสุทธิ์ ฉันใด ดูก่อนท่านกัจจานะ ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ น้อมใจแผ่ไปสู่อารมณ์มีแสงสว่างเศร้าหมองอยู่ เธอไม่ระงับความชั่วหยาบทางกายให้ดี ไม่ถอนถีนมิทธะให้ดี ทั้งไม่กําจัดอุทธัจจกุกกุจจะให้ดี เธอย่อมรุ่งเรืองอย่างริบหรี่ๆ เพราะมิได้ระงับความชั่วหยาบทางกายให้ดี มิได้ถอนถีนมิทธะให้ดี ทั้งไม่กําจัดอุทธัจจกุกกุจจะให้ดี เธอตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาพวกมีรัศมีเศร้าหมอง ดูก่อนกัจจานะ. เปรียบเหมือนประทีปน้ำมันติดไฟอยู่ มีทั้งน้ำมัน ทั้งไส้บริสุทธิ์ ประทีปน้ำมันนั้นย่อมติดไฟอย่างไม่ริบหรี่ เพราะทั้งน้ำมันทั้งไส้บริสุทธิ์ ฉันใด ดูก่อนท่านกัจจานะ ฉันนั้นเหมือนกันแล ภิกษุบางรูปในธรรมวินัยนี้ น้อมใจแผ่ไปสู่อารมณ์มีแสงสว่างบริสุทธิ์อยู่ เธอระงับความชั่วหยาบทางกายได้ดี ถอนถีนมิทธะได้ดี ทั้งกําจัดอุทธัจจกุกกุจจะได้ดี เธอย่อมรุ่งเรืองอย่างไม่ริบหรี่ เพราะระงับความชั่วหยาบทางกายได้ดี ถอนถีนมิทธะได้ดี ทั้งกําจัดอุทธัจจกุกกุจจะได้ดี เธอตายไปแล้ว ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายของเทวดาพวกมีรัศมีบริสุทธิ์ดูก่อนท่านกัจจานะ นี้แล เป็นเหตุเป็นปัจจัยให้บรรดาเทวดาที่เข้าถึงหมู่เทวดาหมู่เดียวกันแล้วเหล่านั้น บางพวกมีรัศมีเศร้าหมอง บางพวกมีรัศมีบริสุทธิ์.

ว่าด้วยวาจาควรนําเข้าไป

[๔๓๗] เมื่อท่านพระอนุรุทธะกล่าวแล้วอย่างนี้ ท่านพระอภิยะ กัจจานะได้กล่าวกะท่านพระอนุรุทธะดังนี้ว่า ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะผู้เจริญ ที่ท่าน


ความคิดเห็น 10    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 119

พยากรณ์นั้นดีแล้ว เพราะท่านมิได้กล่าวอย่างนี้ว่า เราได้สดับมาอย่างนี้ หรือว่าควรจะเป็นอย่างนี้ แต่ท่านกล่าวว่า เทวดาเหล่านั้น เป็นแม้อย่างนี้ เป็นแม้ด้วยประการนี้ ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า ท่านพระอนุรุทธะคงจะเคยอยู่ร่วมเคยเจรจาร่วม และเคยร่วมสนทนากับเทวดาเหล่านั้นเป็นแน่

อ. ดูก่อนท่านกัจจานะ ท่านกล่าววาจาที่ควรนําเข้าไปยินดีนี้เหมาะแล แต่ผมจักพยากรณ์แก่ท่านบ้าง ดูก่อนท่านกัจจานะ ผมเคยอยู่ร่วม เคยเจรจาร่วม และเคยร่วมสนทนากับเทวดาเหล่านั้น มานานแล.

[๔๓๘] เมื่อท่านพระอนุรุทธะกล่าวแล้วอย่างนี้ ท่านพระอภิยะ กัจจานะได้กล่าวกะช่างไม้ปัญจกังคะดังนี้ว่า ดูก่อนคฤหบดี เป็นลาภของท่านท่านได้ดีแล้วที่ละเหตุแห่งความสงสัยข้อนั้นได้ เราทั้งสองคนก็ได้ฟังธรรมบรรยายนี้แล.

จบอนุรุทธสูตรที่ ๗


ความคิดเห็น 11    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 120

อรรถกถาอนุรุทธสูตร

อนุรุทธสูตร มีบทเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า เอวมาหํ สุ (กล่าวอย่างนี้) ความว่า เข้าไปหาในเวลาที่อุบาสกนั้น ไม่สบาย จึงกล่าวอย่างนี้. บทว่า อปณฺณถํ (ความถูกต้อง) แปลว่า ไม่ผิดพลาด. บทว่า เอกตฺถ (มีอรรถเป็นอันเดียวกัน) ได้แก่ เป็นทั้งเจโตวิมุตติ ที่หาประมาณมิได้ หรือเจโตวิมุตติที่เป็นมหัคคตะ. ท่านถือเอาคํานี้ว่าฌานก็เรียกอย่างนั้น เพราะความที่จิตนั้นแหละมีอารมณ์เป็นหนึ่ง.

บทว่า ยาวตา เอกํ รุกฺขมูลํ มหคฺคตนฺติ ผริตฺวา อธิมุจฺจิตฺวา วิหรติ (น้อมใจแผ่ไปเพียงแค่โคนไม้แห่งหนึ่งว่าเป็นแดนมหัคคตะอยู่) ความว่า น้อมใจแผ่ไปสู่มหัคคตฌานในกสิณนิมิตนั้น ปกคลุมโคนต้นไม้แห่งหนึ่ง เป็นที่พอประมาณโดยกสิณนิมิตอยู่. บทว่า มหคฺคตํ ความว่า ก็ความผูกใจไม่มีแก่ภิกษุนั้น ท่านจึงกล่าวบทนี้ไว้ด้วยสามารถแห่งความเป็นไปแห่งมหัคคตฌานอย่างเดียว. ในบททั้งปวงก็มีนัยนี้. บทว่า อิมินา โข เอตํ คหปติ ปริยาเยน (คหบดีท่านพึงทราบประการที่... โดยปริยายนี้แล) ความว่า ด้วยเหตุนี้. ก็ในข้อนี้มีวินิจฉัยว่า ก็นิมิตแห่งพรหมวิหารที่ท่านกล่าวไว้ว่า เป็นอัปปมาณานี้ ย่อมไม่ควร คือยังไม่เกิดการแผ่ขยาย และทั้งฌานเหล่านั้น ก็ยังไม่เป็นบาทแห่งอภิญญาหรือนิโรธ ก็ฌานที่เป็นบาทแห่งวิปัสสนา ย่อมเป็นทั้งบาทแห่งวัฏฏะ และเป็นการก้าวลงสู่ภพ. แต่นิมิตแห่งฌานที่เป็นกสิณ ซึ่งท่านกล่าวว่า เป็นมหัคคตะย่อมควร คือย่อมเกิดการแผ่ขยายออกไป และย่อมก้าวล่วงได้ ฌานที่เป็นบาทแห่งอภิญญา ย่อมเป็นบาทแห่งนิโรธด้วย เป็นบาทแห่งวัฏฏะด้วย ทั้งก้าวลงสู่ภพได้ด้วย. ธรรมเหล่านี้ มีอรรถต่างกันอย่างนี้ และมีพยัญชนะต่างกันอย่างนี้ คือ เป็นอัปปมาณา และเป็นมหัคคตะ.


ความคิดเห็น 12    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 121

ก็บัดนี้ เมื่อจะแสดงเหตุแห่งการออกจากมหัคคตาสมาบัติแล้วเข้าสู่ภพ ท่านจึงกล่าวคํามีอาทิว่า จตสฺโส โข อิมา (นี้มี ๔ อย่างแล) ดังนี้. บทว่า ความว่า ก็ความผูกใจของภิกษุผู้น้อมใจแผ่ไปแล้วรู้อยู่ ยังมีอยู่ แต่ภิกษุผู้ยังต้องเจริญฌานอันเป็นเหตุแห่งการบังเกิดในหมู่เทพชั้นปริตตาภา (พวกมีรัศมีเล็กน้อย) ทั้งหลาย ท่านจึงกล่าวไว้อย่างนี้. ในบททั้งปวงก็มีนัยนี้ เทพชั้นปริตตาภา มีแสงสว่างริบหรี่ก็มี แสงสว่างจ้าก็มี. เทพชั้นอัปปมาณาภา (มีรัศมีหาประมาณมิได้) แสงสว่างริบหรี่ก็มี มีแสงสว่างจ้าก็มี.

ถามว่า ข้อนี้ เป็นอย่างไร. ตอบว่า ภิกษุทําบริกรรมในกสิณ มีประมาณเท่ากระด้ง หรือมีประมาณเท่าขัน ทําสมาบัติให้เกิดแล้ว มีความชํานาญอันสะสมไว้แล้วโดยอาการทั้ง ๕ เพราะธรรมที่เป็นข้าศึกยังไม่บริสุทธิ์ดีนัก เธอใช้สอยสมาบัติที่ยังไม่ชํานาญนั่นแหละ แล้วตั้งอยู่ในฌานที่ยังไม่คล่องแคล่ว ทํากาละแล้วย่อมเกิดในหมู่เทพชั้นปริตตาภาทั้งหลาย ทั้งวรรณะของเธอก็น้อยและเศร้าหมอง. ส่วนภิกษุผู้มีความชํานาญ อันสั่งสมไว้แล้วโดยอาการทั้ง ๕ ใช้สอยสมาบัติอันบริสุทธิ์ดี ตั้งอยู่ในฌานที่คล่องแคล่ว ทํากาละแล้ว ย่อมบังเกิดในเทพชั้นปริตตาภา เพราะธรรมที่เป็นข้าศึกบริสุทธิ์ดี ทั้งวรรณะของเธอมีนิดหน่อยและบริสุทธิ์. ด้วยประการดังกล่าวมานี้ เทวดาชั้นปริตตาภา จึงจัดว่ามีทั้งแสงริบหรี่ มีทั้งแสงสว่างเจิดจ้า. ก็ข้อที่ภิกษุทําบริกรรมในกสิณอันไพบูลย์ แล้วยังสมาบัติให้เกิด มีความคล่องแคล่วอันสั่งสมแล้ว ด้วยอาการทั้ง ๕ ดังนี้ ทั้งหมดพึงทราบเช่นเดียวกับที่กล่าวแล้วในก่อน. ด้วยประการดังกล่าวมานี้ เทวดาชั้นอัปปมาณาภา จึงจัดว่า มีทั้งแสงริบหรี่ มีทั้งแสงสว่างเจิดจ้า.


ความคิดเห็น 13    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 122

บทว่า วณฺณนานตฺตํ แปลว่า มีสีกายต่างกัน. บทว่า โน จอาภานตฺตํ ได้แก่. ไม่ปรากฏว่า มีแสงสว่างต่างกัน. บทว่า อจฺจินานตฺตํ ความว่า มีเปลวต่างกัน คือ ยาวบ้าง สั้นบ้าง เล็กบ้าง ใหญ่บ้าง.

บทว่า ยตฺถ ยตฺถ (เฉพาะแดน) ความว่า อยู่อาศัย คืออยู่ประจําในที่ใดที่หนึ่ง เช่น อุทยานวิมานต้นกัลปพฤกษ์ ริมน้ำ และสระโบกขรณี. บทว่า อภิรมนฺติ แปลว่า ย่อมยินดี คือไม่เบื่อหน่าย. บทว่า การเชน (ด้วยหาบ) ได้แก่ หาบอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น หาบข้าวยาคู หาบภัต หาบน้ำมัน หาบน้ำอ้อย หาบปลา และหาบเนื้อ. ปาฐะว่า กาเจน ดังนี้ ก็มี. ความก็อย่างนี้เหมือนกัน. บทว่า ปิฏเกน แปลว่า ด้วยตะกร้า. บทว่า ตตฺถ ตตฺเถว (เฉพาะแหล่งที่ตนอยู่อาศัยนั้นๆ) ความว่า กลุ่มแมลงวันที่เขานําออกจากแหล่งที่หาได้ง่าย เช่น เนยใส น้ำผึ้ง น้ำอ้อย เป็นต้น แล้วนําไปสู่แหล่งที่หนาแน่นไปด้วยเกลือและปลาเน่า เป็นต้น ย่อมไม่เกิดความคิดอย่างนี้ว่า เมื่อก่อนที่อยู่ของเราสบาย เราอยู่เป็นสุขในที่นั้น เกลือทําให้เราลําบาก ในที่นี้ หรือว่า กลิ่นปลาเน่าทําให้เราปวดหัว ย่อมยินดีในที่นั้นๆ ทีเดียว. บทว่า อาภา แปลว่า สมบูรณ์ด้วยแสงสว่าง. บทว่า ตทงฺเคน (โดยหลักแห่งการอุบัติ) ได้แก่ องค์แห่งการเข้าถึงภพนั้น อธิบายว่า ได้แก่ เหตุแห่งการเข้าถึงภพ.

บัดนี้ เมื่อจะถามถึงเหตุนั้น ท่านจึงกล่าวคํามีอาทิว่า โก นุ โขภนฺเต (ผู้เจริญ อะไรหนอแลเป็นเหตุ) ดังนี้. บทว่า กายทุฏุลฺลํ (ความชั่วหยาบทางกาย) ได้แก่ความเกียจคร้านทางกาย. บทว่า ฌายโต แปลว่า ไฟติดรุ่งเรืองอยู่. บทว่า ทีฆรตฺตํ โข เม (ผมเคยอยู่ร่วม... มานานแล) ความว่าได้ยินว่า พระเถระบําเพ็ญบารมี บวชเป็นฤษี ยังสมาบัติให้เกิด ได้กําเนิดในพรหมโลก ๓๐๐ ครั้ง ติดต่อกันไป คํานี้ท่านกล่าวหมายถึงพระเถระรูปนั้นแหละ. สมดังที่ท่านกล่าวเป็นคาถาประพันธ์ไว้ดังนี้ว่า


ความคิดเห็น 14    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 18 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้า 123

เมื่อก่อนเราแสวงหาสังขตธรรม ที่คงที่ (ไม่วุ่นวาย) บวชเป็นฤษี เที่ยวไปแล้วตลอด ๓๐๐ ปี.

คําที่เหลือในบททั้งปวง ง่ายทั้งนั้น ฉะนี้แล.

จบ อรรถกถาอนุรุทธสูตร ที่ ๗