เรื่องปลิโพธ ๑๐ คือ ความกังวล ๑๐
โดย สารธรรม  8 ก.ย. 2565
หัวข้อหมายเลข 43764

ในครั้งก่อนได้พูดถึงธุดงค์ ซึ่งเป็นการขัดเกลายิ่งขึ้น เป็นธรรมเครื่องกำจัดธรรมที่เป็นข้าศึก เพราะฉะนั้น ก็ควรที่จะได้ทราบจุดประสงค์ของธรรมในพระพุทธศาสนาที่ควรเจริญ ว่าเป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลสทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการขัดเกลาความคะนองกาย ความคะนองวาจา ซึ่งจะต้องขัดเกลาด้วย

เรื่องปลิโพธ ๑๐ คือ ความกังวล ๑๐ ซึ่งมี

อาวาสปลิโพธ คือ ความกังวลในที่อยู่

กุลปลิโพธ คือ ความกังวลในตระกูล

ลาภปลิโพธ คือ ความกังวลในปัจจัย

คณปลิโพธ คือ ความกังวลด้วยหมู่คณะ ในการศึกษา ในการสอน

กัมมปลิโพธ คือ ความกังวลในการงาน เป็นต้นว่า การก่อสร้าง

อัทธานปลิโพธ คือ ความกังวลในการเดินทางไกล

ญาติปลิโพธ คือ ความกังวลในญาติ

อาพาธปลิโพธ คือ ความกังวลในความป่วยไข้

คันถปลิโพธ คือ ความกังวลในการเรียน การท่องมนต์

อิทธิปลิโพธ คือ ความกังวลในการเจริญฤทธิ ในการรักษาฤทธิ

ในปลิโพธ ๑๐ ประการนั้น ได้กล่าวถึงอาวาสปลิโพธ ซึ่งมีมากบ้าง น้อยบ้าง ตราบใดที่ยังมีโลภะ ย่อมเป็นกังวลเรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง และไม่ใช่แต่เฉพาะ อุบาสก อุบาสิกาที่ยังกังวล แม้เป็นบรรพชิต ละอาคารบ้านเรือนแล้ว ก็ยังกังวลในที่อยู่ ที่เป็นอาวาสปลิโพธได้

และสำหรับเรื่องอาวาสปลิโพธ ความกังวลในที่อยู่ บางท่านที่ไม่เข้าใจก็อาจต้องการกระทำตามบุคคลอื่น โดยที่ไม่รู้จักความกังวลของท่านจริงๆ ว่า ความกังวลที่เป็นตัวท่านจริงๆ นั้น มีความกังวลในอะไรบ้าง เพราะฉะนั้น ก็คิดว่า เมื่อผู้อื่นกังวลในที่อยู่น้อย ท่านก็พยายามที่จะกระทำตาม โดยที่ไม่ทราบว่าการกระทำตามผู้อื่น โดยที่ไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ ของท่านนั้น จะไม่ทำให้ได้รู้จักตัวเองตามความเป็นจริง จนสามารถละคลายการยึดถือนามรูปที่เกิดกับท่านได้

ขุททกนิกาย เถรคาถา คังคาตีริยเถรคาถา ซึ่งมีข้อความว่า

เราทำกระท่อมด้วยใบตาล ๓ ใบ ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา บาตรของเราเหมือนดังหม้อสำหรับตักน้ำรดศพ และจีวรของเราเป็นดังผ้าคลุกฝุ่น ในระหว่าง ๒ พรรษา เราพูดเพียงคำเดียวเท่านั้น ในภายในพรรษาที่ ๓ เราทำลายกองความมืด คืออวิชชาได้แล้ว

นี่เป็นเรื่องของท่านพระเถระรูปหนึ่งในครั้งกระโน้น ซึ่งที่อยู่ของท่านก็เป็นเพียงกระท่อมที่ทำด้วยใบตาล ๓ ใบ ที่ริมฝั่งแม่น้ำคงคา แล้วท่านก็มีบาตร ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็น สำหรับการที่จะดำเนินชีวิตให้เป็นไป ในความรู้สึกของท่านนั้น บาตรของท่านเหมือนดังหม้อสำหรับตักน้ำรดศพ และจีวรของท่านเป็นดังผ้าคลุกฝุ่น และความมักน้อยสันโดษไม่คลุกคลี ซึ่งเป็นอัธยาศัยจริงๆ ของท่านนั้น ในระหว่าง ๒ พรรษา ท่านพูดเพียงคำเดียวเท่านั้น และในภายในพรรษาที่ ๓ ท่านก็ทำลายกองความมืด คืออวิชชาได้

ถ้าฟังพระสูตรนี้แล้วคิดว่า ท่านจะประพฤติปฏิบัติตามในที่อยู่ ในการพูด ท่านก็อาจจะเว้นไม่พูด แล้วก็อาจจะไปอยู่อย่างนั้น แต่ยังไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ ของท่าน เพราะฉะนั้น ถ้าสิ่งใดที่ไม่ใช่อัธยาศัยจริงๆ เป็นสิ่งที่ท่านเข้าใจผิด สร้างขึ้น ทำขึ้น คิดว่าทางนั้นเป็นทางที่จะทำให้สามารถบรรลุมรรคผล รู้แจ้งอริยสัจได้ อันนั้นก็เป็นความเข้าใจผิด เพราะเหตุว่าไม่ใช่ตัวของท่านจริงๆ

ประการต่อไปของปลิโพธคือ กุลปลิโพธ

กุลหมายความถึงตระกูล หรือสกุลของญาติ ถ้าเป็นฆราวาส ถ้าเป็นภิกษุอาจจะยังกังวลในตระกูลอุปัฏฐากได้ ถึงแม้ว่าจะละอาคารบ้านเรือนไปแล้วก็จริง แต่เมื่อยังมีกิเลสอยู่ ความกังวลความผูกพันจากที่หนึ่งก็ไปสู่อีกที่หนึ่ง จากวัตถุหนึ่งไปสู่อีกวัตถุหนึ่ง จากบุคคลหนึ่งไปสู่อีกบุคคลหนึ่งก็ได้

สำหรับภิกษุบางรูป ที่ท่านคลุกคลีอยู่กับตระกูลอุปัฏฐากนั้น เวลาที่ตระกูลอุปัฏฐากมีความสุข ท่านก็พลอยสุขด้วย เวลาที่ตระกูลอุปัฏฐากมีความทุกข์ ท่านก็พลอยทุกข์ด้วย หรือว่าบางครั้ง ถ้าตระกูลอุปัฏฐากนั้นไม่ไปฟังธรรมในวิหารที่ใกล้ ท่านก็ไม่ไปด้วยเหมือนกัน

นี่ก็เป็นความกังวล เมื่อเกี่ยวข้องกันกับตระกูลอุปัฏฐาก ก็ย่อมมีความกังวลเป็นของธรรมดา แต่ก็ไม่ใช่สำหรับทุกท่าน บางท่านก็มีมาก บางท่านก็มีน้อย ถึงแม้อุบาสก อุบาสิกาก็เหมือนกัน ธรรมที่ท่านได้ฟัง ก็ควรที่จะน้อมนำมาพิจารณากับตัวเองว่า มีความผูกพันกับตระกูล หรือบุคคลในตระกูลมากน้อยเพียงไร การพิจารณาจิตใจของตนเองเป็นประโยชน์ เพื่อที่จะให้รู้แน่ว่า จิตใจของท่านนั้นเป็นไปในทางกุศล หรือว่าเป็นไปในทางอกุศล ถ้าเป็นไปในทางกุศล อุปการะบุคคลในตระกูล ด้วยเจตนาที่เป็นกุศลได้ เป็นการสงเคราะห์ แต่ไม่ใช่ความผูกพัน ไม่ว่าจะเป็นบิดามารดา คนในวงศ์ตระกูล มีหน้าที่ที่จะประพฤติปฎิบัติเกื้อกูลกัน แต่ต้องคอยตรวจจิตใจด้วยว่า อย่าให้เป็นความผูกพันที่เป็นอกุศล เพราะเหตุว่าอกุศลทุกประการ ไม่ว่าจะเกี่ยวเนื่องกับบุคคลใดนั้น เป็นสิ่งที่ไม่ควรเจริญ เพราะฉะนั้น แม้อุบาสก อุบาสิกา ก็ควรที่จะพิจารณาด้วยว่า ตัวท่านกับบุคคลในตระกูลนั้น มีความผูกพันที่เป็นอกุศล หรือว่ามีความเมตตามากขึ้น และละคลายความผูกพันให้น้อยลง

สำหรับภิกษุบางท่านนั้นเมื่อท่านละอาคารบ้านเรือน ออกบวชเป็นบรรพชิตแล้ว แม้กับมารดาบิดาของท่าน ท่านก็ไม่กังวล อย่าคิดว่าท่านเป็นบุคคลที่ไม่ดี ไม่กตัญญูกตเวที จิตใจเป็นเรื่องละเอียดที่จะต้องพิจารณาให้ชัดว่า กุศลเป็นกุศล อกุศลเป็นอกุศล ความกตัญญูกตเวที การอุปการะในทางที่ดีเป็นกุศลทั้งหมด แต่ความผูกพัน ไม่ว่ากับบุคคลใดเป็นอกุศลทั้งสิ้น เพราะฉะนั้น ก็จะต้องสรรเสริญแม้ภิกษุที่ท่านไม่มีความกังวลแม้มารดาบิดาของท่าน มีตัวอย่างเรื่องภิกษุหนุ่ม หลานท่านพระติสสะ ซึ่งเรื่องมีว่า

ภิกษุ หลานท่านพระติสสะนั้น อยู่ที่โกรันทกวิหาร แต่ท่านได้ไปสู่โรหณวิหารเพื่อจะเรียนอุทเทส คือ เรียนหัวข้อของธรรม โยมมารดาของท่าน ซึ่งเป็นน้องสาวของท่านพระติสสะ ก็ได้ถามข่าวภิกษุผู้เป็นบุตรกับท่านพระติสสะเนืองๆ ทีเดียว

วันหนึ่ง ท่านพระติสสะคิดที่จะพาภิกษุผู้เป็นหลานกลับมา ท่านก็เดินมุ่งหน้าไปยังโรหณวิหาร ส่วนภิกษุซึ่งเป็นหลานของท่านพระติสสะนั้น ก็คิดว่าท่านอยู่ที่โรหณวิหารนานแล้ว ควรที่จะได้ไปเยี่ยมท่านพระติสสะซึ่งเป็นอุปัชฌายะ แล้วก็เป็นลุงของท่านด้วย เพื่อจะได้ทราบข่าวของโยมมารดา แล้วก็จะกลับไปที่โรหณวิหาร

เมื่อท่านคิดอย่างนั้น ท่านก็ได้ออกจากโรหณวิหาร แม้ทั้งอุปัชฌายะและศิษย์ ผู้เป็นลุงและหลาน ก็ได้พบกันที่ฝั่งแม่น้ำแห่งหนึ่ง ภิกษุหนุ่มก็ทำวัตรแก่พระเถระ ณ โคนไม้ต้นหนึ่ง พระเถระก็ถามภิกษุหนุ่มรูปนั้นว่าจะไปไหน ซึ่งภิกษุหนุ่มได้กราบเรียนให้ทราบแล้ว ท่านก็กล่าวว่า ดีแล้ว แล้วท่านก็ให้ภิกษุนั้นไป ส่วนท่านก็จะได้จำพรรษาในวิหารในถิ่นนั้น

ภิกษุนั้นก็ได้ไปถึงที่โกรันทกวิหาร ในวันเข้าพรรษาพอดี แม้เสนาสนะที่ได้แก่ท่าน ก็คือเสนาสนะที่โยมบิดาสร้างไว้นั่นเอง หมายความว่า โยมบิดาของท่านสร้างเสนาสนะไว้ แล้วเวลาที่ท่านไปถึง ท่านก็ได้อยู่ที่เสนาสนะนั้น

วันรุ่งขึ้นจากวันเข้าพรรษา โยมบิดาก็ได้ไปที่วิหาร แล้วก็ถามว่า เสนาสนะที่สร้างไว้นั้น ได้แก่ใคร และเมื่อทราบว่า ได้แก่ภิกษุอาคันตุกะ โยมบิดาของท่านก็ได้ไปหาภิกษุ แต่จำบุตรไม่ได้ เมื่อไหว้แล้วก็เรียนให้ทราบว่า ภิกษุผู้จำพรรษาอยู่ในเสนาสนะที่ตนได้สร้างไว้นั้น มีวัตรที่พึงจะปฏิบัติ คือ พึงรับภัตตาหารที่เรือนของตนแห่งเดียวตลอดไตรมาส นั่นเป็นประการหนึ่ง และเมื่อปวารณาแล้ว เวลาจะไปต้องบอกลา เป็นอีกประการหนึ่ง

ภิกษุผู้บุตรก็รับโดยดุษณีภาพ อุบาสกผู้บิดาก็กลับไปที่บ้าน แล้วก็บอกอุบาสิกาผู้มารดาให้ทราบว่า มีพระภิกษุอาคันตุกะมาอยู่ที่เสนาสนะที่ได้สร้างไว้ และก็นิมนต์ให้ท่านรับภัตตาหารตลอดไตรมาส อุบาสิกาก็จัดขาทนียะ โภชนียะอันประณีตไว้ พอถึงเวลาฉัน ภิกษุนั้นก็ไปฉันบิณฑบาตที่เรือนโยมมารดาบิดาของท่านตลอดทั้ง ๓ เดือน แต่ว่าไม่มีใครจำท่านได้เลยสักคนเดียว เมื่อออกพรรษาแล้ว ท่านก็บอกลา พวกญาติก็ขอร้องให้ไปในวันรุ่งขึ้น และในวันรุ่งขึ้นนั้นก็ได้ถวายภัตตาหาร เติมน้ำมันให้เต็มกระบอก ถวายน้ำอ้อยก้อนหนึ่ง ผ้าสาฎกยาว ๙ ศอกอีกผืนหนึ่ง แล้วภิกษุนั้นก็อนุโมทนา แล้วก็มุ่งหน้ากลับไปยังโรหณวิหาร

ฝ่ายอุปัชฌายะผู้เป็นลุงของท่านก็เดินทางกลับ สวนทางกัน พบกันในที่ๆ เคยพบกันนั่นเอง พระอุปัชฌายะผู้เป็นลุงก็ถามข่าว ภิกษุหนุ่มรูปนั้นก็เล่าเรื่องใหัฟังทุกประการ แล้วก็เอาน้ำมันทาเท้าพระเถระ เอาน้ำอ้อยปรุงเป็นน้ำดื่มถวาย แล้วก็ได้ถวายผ้าสาฎกผืนนั้นแก่พระเถระด้วย เมื่อไหว้แล้ว ก็เรียนพระเถระว่า โรหณชนบทเท่านั้นที่เป็นที่สบายสำหรับท่าน แล้วท่านก็ลาไปสู่โรหณวิหาร

พระเถระก็กลับไปสู่โกรันทกวิหาร และในวันรุ่งขึ้นนั้น ก็ได้เข้าไปในหมู่บ้าน โกรันทกคาม โยมมารดาภิกษุหนุ่ม ซึ่งเป็นน้องสาวของพระเถระ ก็คอยเฝ้าดูที่หนทางว่า พระเถระจะพาภิกษุซึ่งเป็นบุตรมาเมื่อไร เวลาที่เห็นพระเถระมารูปเดียว โยมมารดาก็คิดว่า ภิกษุผู้เป็นบุตรนั้นคงจะมรณะแล้ว ก็ร้องไห้คร่ำครวญแทบเท้าพระเถระ พระเถระก็นึกรู้ในใจว่า ภิกษุหนุ่มนั้นคงจะมาที่เรือนของโยมมารดาบิดา โดยที่ไม่ให้ใครรู้จัก เพราะความมักน้อยของท่าน แล้วก็จากไป

พระเถระก็ปลอบอุบาสิกา แล้วก็เล่าเรื่องทั้งหมดให้ฟัง แล้วก็เอาผ้าสาฎกผืนนั้นให้อุบาสิกาดู เมื่ออุบาสิกาทราบความจริงเช่นนั้น เกิดความเลื่อมใส หันไปทางทิศที่ภิกษุผู้บุตรเดินทางไป นมัสการพลางกล่าวสรรเสริญว่า

พระผู้มีพระภาคคงจะทรงทำภิกษุ ผู้เช่นดังบุตรของเราให้เป็นกายสักขี คือให้เป็นพยาน ตรัสรถวินีตปฏิปทา นาลกปฏิปทา ตุวัฏฏกปฏิปทา และมหาอริยวังสะปฏิปทา อันแสดงความสันโดษด้วยปัจจัย ๔ และความยินดีในภาวนา น่าสรรเสริญ แม้ฉันภัตตาหารอยู่ในเรือนของมารดาผู้บังเกิดเกล้าแท้ๆ ถึง ๓ เดือน ก็ไม่เคยกล่าวเลยว่า ฉันเป็นบุตรของท่าน ท่านเป็นมารดา พระคุณเจ้าเป็นอัจฉริยบุคคล เพราะเหตุว่าแม้มารดาบิดาของท่านก็ยังหาได้เป็นปลิโพธแก่ภิกษุเห็นปานนี้ไม่ จะกล่าวใยถึงตระกูลอุปัฏฐากอื่น

นี่เป็นตัวอย่างให้เห็นว่า ถ้าผู้ใดไม่กังวลในตระกูล เป็นจิตใจที่บริสุทธิ์ แม้มารดาทราบก็อนุโมทนา สรรเสริญในจิตที่ไม่ข้องเกี่ยวในตระกูล ของบุคคลนั้นได้ เพราะฉะนั้น แม้แต่ท่านเอง ก็ควรที่จะได้ทราบถึงความกังวลใจของท่านว่ามากน้อยแค่ไหน เป็นไปในเรื่องอะไรบ้าง ดีไหม มีความกังวลมากๆ ยึดถือไว้มากๆ ไม่ว่าในอาวาสที่อยู่อาศัย หรือในบุคคล ในตระกูล ยิ่งศึกษาธรรม กุศลยิ่งเจริญ แล้วละอกุศลให้ลดน้อยลง ถ้าจะส่งเสริมให้มีความติด ผูกพันในบุคคลต่างๆ มากๆ ไม่ว่าจะเป็นในตระกูลที่เกี่ยวข้องเป็นอุปัฏฐาก อย่างนั้นจะถูกไหม ดีหรือไม่ดี ไม่ดี ไม่ถูก เพราะฉะนั้น ก็จะเห็นได้ว่า ใครปฏิบัติตามได้มากน้อยแค่ไหน นั่นเป็นการขัดเกลาของแต่ละบุคคล แต่ให้ทราบว่า ควรละอกุศลธรรม

ปลิโพธ ๑๐ ประการนั้น ประการที่ ๑ ถึงประการที่ ๙ เป็นเครื่องกังวลที่ขัดขวางการเจริญสมาธิ แต่ไม่ขัดขวางการเจริญวิปัสสนา เมื่อความกังวลเกิดขึ้น ผู้เจริญสติพิจารณารู้ลักษณะของจิตในขณะนั้นได้ เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ละความยึดถือสภาพของจิตนั้นว่าเป็นตัวตนได้ ไม่เป็นเครื่องขัดขวางเลย เพราะเหตุว่าเป็นของจริง เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเพราะเหตุปัจจัย แต่ผู้ที่เจริญสมถภาวนานั้นจะต้องปลีกตัวให้พ้นจากเครื่องกังวลใหญ่ๆ ๙ ประการนี้

บางท่านที่เคยคิดว่าปลิโพธ เป็นเครื่องขัดขวางการเจริญวิปัสสนา ก็จะได้ทราบว่า ปลิโพธมีอะไรบ้าง และขัดขวางหรือไม่ เพราะเหตุว่าทุกคนยังมีความกังวล เมื่อมีและกำลังเจริญสติ เพื่อรู้สภาพลักษณะของธรรมที่ปรากฏในขณะนั้นตามความเป็นจริง


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 45

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 46

หัวข้อที่เกี่ยวข้อง ...

เรื่องของปลิโพธ ความกังวล ความห่วงใย