๔. จูฬทุกขักขันธสูตร
โดย บ้านธัมมะ  27 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 36018

[เล่มที่ 18] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 135

๔. จูฬทุกขักขันธสูตร


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 18]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 135

๔. จูฬทุกขักขันธสูตร

[๒๐๙] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้ :-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธาราม เขตกรุงกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ. ครั้งนั้นแล เจ้าศากยะทรงพระนามว่า มหานาม เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมแล้วประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์เข้าใจข้อธรรมที่พระองค์ทรงแสดงมานานแล้วอย่างนี้ว่า โลภะ โทสะ โมหะ ต่างเป็นอุปกิเลสแห่งจิต. ก็แหละเมื่อเป็นเช่นนั้น โลภธรรมก็ดี โทสธรรมก็ดี โมหธรรมก็ดี ยังครอบงําจิตของข้าพระองค์ไว้ได้เป็นครั้งคราว ข้าพระองค์เกิดความคิดเห็นอย่างนี้ว่า ธรรมชื่ออะไรเล่า ที่ข้าพระองค์ยังละไม่ได้เด็ดขาดในภายใน อันเป็นเหตุให้ โลภธรรมก็ดี โทสธรรมก็ดี โมหธรรมก็ดี ยังครอบงําจิตของข้าพระองค์ไว้ได้เป็นครั้งคราว.

[๒๑๐] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดูก่อนมหานาม ธรรมนั้นนั่นแล ท่านยังละไม่ได้เด็ดขาดในภายใน อันเป็นเหตุให้ โลภธรรมก็ดี โทสธรรมก็ดี โมหธรรมก็ดี ยังครอบงําจิตของท่านไว้ได้เป็นครั้งคราว. ดูก่อนมหานาม ก็ธรรมนั้นจักเป็นอันท่านละได้เด็ดขาดในภายในแล้ว. ท่านก็ไม่พึงอยู่ครองเรือน ไม่พึงบริโภคกาม. แต่เพราะท่านละธรรมเช่นนั้นยังไม่ได้เด็ดขาดในภายใน ฉะนั้น ท่านจึงยังอยู่ครองเรือน ยังบริโภคกาม.

[๒๑๑] ดูก่อนมหานาม ถ้าแม้ว่า อริยสาวกเล็งเห็นด้วยปัญญาโดยชอบตามเป็นจริงว่า กามให้ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่ง ดังนี้. แต่อริยสาวกนั้นเว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 136

ยังไม่บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น เธอจะยังเป็นผู้ไม่เวียนมาในกามไม่ได้ก่อน. แต่เมื่อใด เธอได้เล็งเห็นด้วยปัญญาโดยชอบอย่างนี้ว่า กามให้ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่ง ดังนี้ และเธอก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น เมื่อนั้น เธอย่อมเป็นผู้ไม่เวียนมาในกามเป็นแท้.

ดูก่อนมหานาม แม้เราเมื่อเป็นโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ ก่อนตรัสรู้ทีเดียว ก็เล็งเห็นด้วยปัญญาโดยชอบ ตามเป็นจริงว่า กามให้ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่ง ดังนี้. และเราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม ไม่บรรลุปีติและสุข หรือกุศลธรรมอื่นที่สงบกว่านั้น เราจึงปฏิญาณว่าเป็นผู้ไม่เวียนมาในกามมิได้ก่อน. แต่เมื่อใด เราเล็งด้วยปัญญาโดยชอบ ตามเป็นจริงนี้ว่า กามให้ความยินดีน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้ยิ่ง ดังนี้. และเราก็เว้นจากกาม เว้นจากอกุศลธรรม บรรลุปีติและสุข และกุศลอื่นที่สงบกว่านั้น เมื่อนั้น เราจึงปฏิญาณได้ว่าเป็นผู้ไม่เวียนมาในกาม.

[๒๑๒] ดูก่อนมหานาม ก็อะไรเล่าเป็นคุณของกามทั้งหลาย ดูก่อนมหานาม กามคุณ ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ รูปที่พึงรู้แจ้งด้วยจักษุ น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัด เสียงที่พึงรู้แจ้งด้วยโสต ... กลิ่นที่พึงรู้แจ้งด้วยฆานะ ... รสที่พึงรู้แจ้งด้วยชิวหา ... โผฏฐัพพะที่พึงรู้แจ้งด้วยกาย น่าปรารถนา น่าใคร่ น่าพอใจ น่ารัก ประกอบด้วยกาม เป็นที่ตั้งแห่งความกําหนัด ดูก่อนมหานามกามคุณ ๕ ประการเหล่านี้แล. ความสุข ความโสมนัสใดเล่า อาศัยกามคุณ ๕ เหล่านี้เกิดขึ้น นี้เป็นคุณของกามทั้งหลาย.


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 137

โทษของกาม

[๒๑๓] ดูก่อนมหานาม ก็อะไรเล่าเป็นโทษของกามทั้งหลาย กุลบุตรในโลกนี้ เลี้ยงชีวิตด้วยความขยัน ประกอบศิลปะใด คือ ด้วยการนับคะแนนก็ดี ด้วยการคํานวณก็ดี ด้วยการนับจํานวนก็ดี ด้วยการไถก็ดี ด้วยการค้าขายก็ดี ด้วยการเลี้ยงโคก็ดี ด้วยการยินธนูก็ดี ด้วยการเป็นราชบุรุษก็ดี ด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่งก็ดี ต้องตรากตรําต่อความหนาว ต้องตรากตรําต่อความร้อน งุ่นง่านอยู่ด้วยสัมผัสแต่เหลือบ ยุง ลม แดด และสัตว์เสือกคลาน ต้องตายด้วยความหิวระหาย ดูก่อนมหานาม แม้นี้เล่าก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นกันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น ดูก่อนมหานาม ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้น ขยัน สืบต่อพยายามอยู่อย่างนี้ โภคะเหล่านั้นก็ไม่สําเร็จผล เขาย่อมเศร้าโศก ลําบาก รําพัน ตีอก คร่ําครวญ ถึงความหลงเลือนว่า ความขยันของเราเป็นโมฆะหนอ ความพยายามของเราไม่มีผลหนอ. ดูก่อนมหานาม แม้นี้เล่าก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นกันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น. ดูก่อนมหานาม ถ้าเมื่อกุลบุตรนั้น ขยัน สืบต่อพยายามอยู่อย่างนี้ โภคะเหล่านั้นสําเร็จผล เขากลับเสวยทุกข์ โทมนัส ที่มีการคอยรักษาโภคะเหล่านั้นเป็นตัวบังคับว่า ทําอย่างไร พระราชาทั้งหลายไม่พึงริบโภคะเหล่านั้นไปได้ พวกโจรพึงปล้นไม่ได้ ไฟไม่พึงไหม้ น้ำไม่พึงพัดไป ทายาทอัปรีย์พึงนําไปไม่ได้. เมื่อกุลบุตรนั้นคอยรักษาคุ้มครองอยู่อย่างนี้ พระราชาทั้งหลายริบโภคะเหล่านั้นไปเสียก็ดี โจรปล้นเอาไปเสียก็ดี ไฟไหม้เสียก็ดี น้ำพัดไปเสียก็ดี ทายาทอัปรีย์นําไปเสียก็ดี เขาย่อมเศร้าโศก ลําบาก รําพัน ตีอก คร่ําครวญ ถึงความหลงเลือนว่า สิ่งใดเล่าเคยเป็นของเรา แม้สิ่งนั้นก็ไม่เป็นของ


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 138

เรา. ดูก่อนมหานาม แม้นี้เล่าก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นกันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.

[๒๑๔] ดูก่อนมหานาม อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มืกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล แม้พระราชาทั้งหลายก็วิวาทกันกับพวกพระราชา แม้พวกกษัตริย์ก็วิวาทกันกับพวกกษัตริย์ แม้พวกพราหมณ์ก็วิวาทกันกับพวกพราหมณ์ แม้คฤหบดีก็วิวาทกันกับพวกคฤหบดี แม้มารดาก็วิวาทกันกับบุตร แม้บุตรก็วิวาทกันกับมารดา แม้บิดาก็วิวาทกันกับบุตร แม้บุตรก็วิวาทกันกับบิดา แม้พี่ชายน้องชายก็วิวาทกันกับพี่ชายน้องชาย แม้พี่ชายก็วิวาทกันกับน้องสาว แม้น้องสาวก็วิวาทกันกับพี่ชาย แม้สหายก็วิวาทกันกับสหาย. ชนเหล่านั้นต่างถึงการทะเลาะแก่งแย่ง วิวาทกันในที่นั้นๆ ทําร้ายซึ่งกันและกัน ด้วยฝ่ามือบ้าง ด้วยก้อนดินบ้าง ด้วยท่อนไม้บ้าง ด้วยศัสตราบ้าง ถึงความตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง. ดูก่อนมหานาม แม้นี้เล่า ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นกันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.

[๒๑๕] ดูก่อนมหานาม อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนต่างถือดาบและโล่ สอดแล่งธนู วิ่งเข้าสู่สงคราม ปะทะกันทั้ง ๒ ฝ่าย. เมื่อลูกศรทั้งหลายถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอกทั้งหลายถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบทั้งหลายถูกกวัดแกว่งอยู่บ้าง ฝูงชนเหล่านั้นต่างก็ถูกลูกศรเสียบเอาบ้าง ถูกหอกแทงเอาบ้าง ถูกดาบตัดศีรษะเสียบ้าง ในที่นั้น พากันถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปาง


ความคิดเห็น 5    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 139

ตายบ้าง. ดูก่อนมหานาม แม้นี้เล่าก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.

[๒๑๖] ดูก่อนมหานาม อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนถือดาบ และโล่สอดแล่งธนู ตรูกันเข้าไปสู่เชิงกําแพงที่ฉาบด้วยเปือกตมร้อน. เมื่อลูกศรถูกยิงไปบ้าง เมื่อหอกถูกพุ่งไปบ้าง เมื่อดาบถูกกวัดแกว่งบ้าง ชนเหล่านั้นต่างถูกลูกศรเสียบบ้าง ถูกหอกเสียบบ้าง ถูกรดด้วยโคมัยร้อนบ้าง ถูกสับด้วยคราดบ้าง ถูกตัดศีรษะด้วยดาบบ้าง ในที่นั้น พากันถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง. ดูก่อนมหานาม แม้นี้เล่า ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.

[๒๑๗] ดูก่อนมหานาม อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนตัดที่ต่อบ้าง ปล้นอย่างกวาดล้างบ้าง กระทําให้เป็นเรือนหลังเดียวบ้าง ดักทางบ้าง สมสู่ภรรยาคนอื่นบ้าง พระราชาทั้งหลายจับคนนั้นๆ ได้แล้ว ให้กระทํากรรมกรณ์ต่างๆ เฆี่ยนด้วยแส้บ้าง เฆี่ยนด้วยหวายบ้าง ตีด้วยไม้ค้อนบ้าง ฯลฯ กระทํากรรมกรณ์ชื่อโชติมาลิกะบ้าง ชื่อหัตถปัชโชติกะบ้าง ชื่อเอรกวัตติกะบ้าง ชื่อจีรกวาสิกะบ้าง ชื่อเอเณยกะบ้าง ชื่อพลิสมังสิกะบ้าง ชื่อกหาปณกะบ้าง ชื่อขาราปฏิจฉกะบ้าง ชื่อปลิฆปริวัตติกะบ้าง ชื่อปลาลปีฐกะบ้าง รดด้วยน้ำมันที่ร้อนบ้าง ให้สุนัขกัดกินบ้าง เสียบที่หลาวทั้งเป็นบ้าง ใช้ดาบตัดศีรษะเสียบ้าง คนเหล่านั้นถึงตายไปตรงนั้นบ้าง ถึงทุกข์ปางตายบ้าง. ดูก่อนมหานาม แม้นี้เล่า ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ที่เห็นกันอยู่ มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.


ความคิดเห็น 6    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 140

[๒๑๘] ดูก่อนมหานาม อีกประการหนึ่ง มีกามเป็นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายนั้นแล ฝูงชนต่างประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ชนเหล่านั้น ครั้นประพฤติกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริตแล้ว เบื้องหน้าแต่ตายเพราะกายแตก ย่อมเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก. ดูก่อนมหานาม แม้นี้เล่า ก็เป็นโทษของกามทั้งหลาย เป็นกองทุกข์ในสัมปรายภพ มีกามเป็นต้นเหตุ มีกามเป็นต้นเค้า มีกามเป็นตัวบังคับ เกิดเพราะเหตุแห่งกามทั้งหลายทั้งนั้น.

พวกนิครนถ์ที่ถือการยืนเป็นวัตร

[๒๑๙] ดูก่อนมหานาม สมัยหนึ่ง เราอยู่ที่ภูเขาคิชฌกูฏ เขตพระนครราชคฤห์. สมัยนั้น ณ ตําบลกาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ พวกนิครนถ์จํานวนมากเป็นผู้ถือการยืนเป็นวัตร ห้ามการนั่ง เสวยทุกขเวทนา แรงกล้าเผ็ดร้อนอันเกิดแต่ความพยายาม. ครั้งนั้นแล เราออกจากที่หลีกเร้นในเวลาเย็น เข้าไปหาพวกนิครนถ์ ถึงประเทศกาฬศิลา ข้างภูเขาอิสิคิลิ ได้กล่าวความข้อนี้กะพวกนิครนถ์เหล่านั้นว่า ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุทั้งหลาย ไฉนเล่า พวกท่านจึงถือการยืนเป็นวัตร ห้ามการนั่ง เสวยทุกขเวทนา แรงกล้า เผ็ดร้อนอันเกิดแต่ความพยายาม ดูก่อนมหานาม เมื่อเรากล่าวอย่างนี้แล้ว พวกนิครถ์เหล่านั้นได้กล่าวกะเราว่า ดูก่อนผู้มีอายุ นิครนถนาฏบุตรรู้ธรรมทั้งปวง เห็นธรรมทั้งปวง ยืนยันญาณทัสสนะหมดทุกส่วนว่า เมื่อเราเดินไปก็ดี ยืนก็ดี หลับก็ดี ตื่นก็ดี ญาณทัสสนะปรากฏอยู่ ติดต่อเสมอไป นิครนถนาฏบุตรนั้น กล่าวอย่างนี้ว่า ดูก่อนนิครนถ์ทั้งหลายผู้เจริญ บาปกรรมที่พวกท่านทําแล้วในกาลก่อนมีอยู่ พวกท่านจงสลัดบาปกรรมนั้นเสีย ด้วยปฏิปทาอันประกอบด้วยการกระทําที่ทําได้ยาก อันลําบากนี้ ข้อที่ท่านทั้งหลายสํารวมกาย วาจา


ความคิดเห็น 7    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 141

ใจ ในบัดนี้นั้น เป็นการไม่กระทําบาปกรรมต่อไป ทั้งนี้ เพราะหมดกรรมเก่าด้วยตบะ. เพราะไม่ทํากรรมใหม่ ความไม่ถูกบังคับต่อไปจึงมี เพราะไม่ถูกบังคับต่อไป ความสิ้นกรรมจึงมี เพราะสิ้นกรรม ความสิ้นทุกข์จึงมี เพราะสิ้นทุกข์ ความสิ้นเวทนาจึงมี เพราะสิ้นเวทนา จักเป็นอันพวกท่านสลัดทุกข์ได้ทั้งหมด. คําที่นิครนถนาฏบุตรกล่าวแล้วนั้น ชอบใจและควรแก่พวกข้าพเจ้าแล เพราะเหตุนั้น พวกข้าพเจ้าจึงเป็นผู้มีใจยินดี ดังนี้.

การกล่าวถึงผู้อยู่สบายดีกว่า

[๒๒๐] ดูก่อนมหานาม เมื่อพวกนิครนถ์กล่าวอย่างนี้แล้ว เราได้กล่าวกะนิครนถ์เหล่านั้นว่า ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้มีแล้วในกาลก่อน มิใช่ไม่ได้มีแล้ว.

นิ. ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย.

พระ. ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้ทําบาปกรรมไว้ในกาลก่อน มิใช่ไม่ได้ทําไว้.

นิ. ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย.

พระ. ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า เราทั้งหลายได้ทําบาปกรรมอย่างนี้บ้างๆ

นิ. ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย.

พระ. ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า ทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว หรือว่าทุกข์เท่านี้เราต้องสลัดเสีย หรือว่าเมื่อทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้วจักเป็นอันสลัดทุกข์ได้ทั้งหมด.

นิ. ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย


ความคิดเห็น 8    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 142

พระ. ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบการละอกุศลธรรม การบําเพ็ญกุศลธรรม ในปัจจุบันละหรือ.

นิ. ดูก่อนท่านผู้มีอายุ ข้อนี้หามิได้เลย.

พระ. ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ ตามที่ได้ฟัง พวกท่านไม่รู้ว่า ในปางก่อนเราได้มีมาแล้วหรือไม่ ไม่รู้ว่าในปางก่อนเราได้ทําบาปกรรมไว้หรือไม่ ทั้งไม่รู้ว่าเราได้ทําบาปกรรมไว้อย่างนั้นอย่างนี้ ไม่รู้ว่าทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว ทุกข์เท่านี้จําต้องสลัด เมื่อสลัดทุกข์อย่างนี้ได้แล้ว ทุกข์ทั้งปวงจักเป็นอันสลัดไปด้วย ไม่รู้จักการละอกุศลธรรม และการยังกุศลธรรมให้เกิดในปัจจุบัน ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ เมื่อเป็นเช่นนี้ คนทั้งหลายจักบวชในสํานักของท่าน ก็เฉพาะแต่คนที่มีมารยาทเลวทราม มือเปื้อนโลหิต ทํากรรมชั่วช้า เป็นผู้เกิดสุดท้ายภายหลังในหมู่มนุษย์.

นิ. ดูก่อนท่านพระโคดมผู้มีอายุ บุคคลมิใช่จะประสบความสุขได้ด้วยความสุข แต่จะประสบสุขได้ด้วยความทุกข์แท้ ก็ถ้าหากบุคคลจักประสบความสุขได้ด้วยความสุข พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ ก็คงประสบความสุข เพราะพระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ อยู่เป็นสุขกว่าท่านพระโคดม.

พระ. เป็นการแน่นอน ที่พวกท่านนิครนถ์ทั้งหลายหุนหันไม่ทันพิจารณาจึงพูดว่า ดูก่อนท่านพระโคดมผู้มีอายุ บุคคลมิใช่จะประสบความสุขด้วยความสุข แต่จะประสบความสุขได้ด้วยความทุกข์แท้ ก็ถ้าหากบุคคลจักประสบความสุขได้ด้วยความสุข พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ ก็คงประสบความสุข เพราะพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ อยู่เป็นสุขยิ่งกว่าท่านโคดม เออก็เราเท่านั้นที่พวกท่านควรซักไซร้ไล่เลียงในเรื่องสุขเรื่อง


ความคิดเห็น 9    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 143

ทุกข์นั้นสิว่าใครเล่าหนอจะอยู่สบายดีกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ หรือท่านพระโคดมเอง.

นิ. ดูก่อนท่านพระโคดมผู้มีอายุ เป็นการแน่นอนที่พวกข้าพเจ้าหุนหันไม่ทันพิจารณา จึงพูดว่า ดูก่อนท่านผู้มีอายุ บุคคลมิใช่จะประสบความสุขด้วยความสุข แต่จะประสบความสุขได้ด้วยความทุกข์แท้ ก็ถ้าหากบุคคลจักประสบความสุขได้ด้วยความสุข พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ ก็คงประสบความสุข เพราะพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ อยู่เป็นสุขยิ่งกว่าท่านพระโคดม เอาละ หยุดไว้เพียงเท่านี้ บัดนี้ พวกข้าพเจ้าจะต้องถามท่านพระโคดมดูบ้างว่า ใครเล่าหนอจะอยู่สบายดีกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ หรือท่านพระโคดมเอง.

พระ. ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ ถ้าอย่างนั้น เราจะต้องถามพวกท่านในเรื่องสุขเรื่องทุกข์นั้นดูบ้าง ท่านเข้าใจอย่างใด ก็พึงแถลงอย่างนั้น ดูก่อนท่านนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน พระเจ้าพิมพิสารจอมทัพ เจ้าแผ่นดินมคธ จะทรงสามารถ ไม่ทรงไหวพระกาย ไม่ทรงพระดํารัส ทรงเสวยพระบรมสุขส่วนเดียวอยู่ ๗ คืน ๗ วัน ได้หรือ.

นิ. ไม่ไหวล่ะท่าน.

พระ. ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่าน จะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ จะทรงสามารถ ไม่ทรงไหวพระกาย ไม่ทรงพระดํารัส ทรงเสวยพระบรมสุขส่วนเดียวอยู่ ๖ คืน ๖ วัน ๕ คืน ๕ วัน ... ๔ คืน ๔ วัน ... ๓ คืน ๓ วัน ... ๒ คืน ๒ วัน ... เพียงคืนหนึ่ง วันหนึ่ง ได้หรือ.

นิ. ไม่ไหวละท่าน.

พระ. ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ เราแหละสามารถไม่ไหวกาย ไม่พูด เสวยความสุขส่วนเดียวอยู่ เพียงคืนหนึ่งวันหนึ่ง. สามารถไม่ไหวกาย ไม่พูด


ความคิดเห็น 10    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 144

เสวยความสุขส่วนเดียวอยู่ ๒ คืน ๒ วัน ... ๓ คืน ๓ วัน ... ๔ คืน ๔ วัน ... ๕ คืน ๕ วัน ... ๖ คืน ๖ วัน ... ๗ คืน ๗ วัน ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านจะเข้าใจความข้อนั้นเป็นไฉน เมื่อเป็นเช่นนี้ ใครจะอยู่สบายกว่ากัน พระเจ้าพิมพิสาร จอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ หรือเราเอง.

นิ. เมื่อเป็นเช่นนี้ ท่านพระโคดมสิ อยู่สบายกว่าพระเจ้าพิมพิสารจอมทัพเจ้าแผ่นดินมคธ.

พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสดังนี้แล้ว เจ้าศากยะมหานามทรงมีพระทัยชื่นชมยินดีพระภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วแล.

จบ จูฬทุกขักขันธสูตร ที่ ๔


ความคิดเห็น 11    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 145

อรรถกถาจุลลทุกขักขันสูตร

จุลลทุกขักขันธสูตร มีคําเริ่มต้นว่า ข้าพเจ้าได้สดับดังนี้:-

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สกฺเกสุ ได้แก่ ในชนบทมีชื่ออย่างนั้น. ก็ชนบทนั้นถึงอันนับว่า สักยา เพราะเป็นสถานที่อยู่ของราชกุมารชาวสักยะทั้งหลาย. ก็ความอุบัติแห่งสักยะทั้งหลาย มาแล้วในอัมพัฏฐสูตรเทียว.

บทว่า กปิลวตฺถุสฺมิํ คือ ในนครที่มีชื่ออย่างนั้น. จริงอยู่ นครนั้นเรียกว่า กบิลพัสดุ์ เพราะเป็นนครที่สร้างขึ้นในสถานเป็นที่อยู่ของฤาษีชื่อว่า กปิล. ทํานครนั้นเป็นที่โคจรคาม.

บทว่า นิโคฺรธาราเม ความว่า เจ้าศากยะพระนามว่านิโครธ ครั้นเมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาสู่กรุงกบิลพัสดุ์ ในกาลแห่งญาติสมาคม พระองค์ทรงให้สร้างวัดในสวนของพระองค์ มอบถวายแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ นิโครธารามนั้น.

บทว่า มหานาโม ได้แก่ พระเจ้าพี่ของพระอนุรุทธเถระ ทรงเป็นโอรสของพระเจ้าอาของพระผู้มีพระภาคเจ้า. เจ้าทั้ง ๕ พระองค์นี้ คือ พระเจ้าสุทโธทนะ พระเจ้าสุกโกทนะ พระเจ้าสักโกทนะ พระเจ้าโธโตทนะ พระเจ้าอมิโตทนะ ทรงเป็นพระเจ้าพี่พระเจ้าน้อง พระเทวีพระนามว่า อมิตา ทรงเป็นพระภคินีของพระเจ้าเหล่านั้น พระติสสเถระเป็นบุตรของพระนางอมิตานั้น พระตถาคต และพระนันทเถระเป็นพระโอรสของพระเจ้าสุทโธทนะ พระเจ้ามหานามะ และพระอนุรุทธเถระ เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุกโกทนะ พระอานนทเถระเป็นพระโอรสของพระเจ้าอมิโตทนะ พระอานนทเถระนั้นเป็นพระกนิษฐ์ของพระผู้มีพระภาคเจ้า พระเจ้ามหานามะทรงแก่กว่า เป็นสกทาคามีอริยสาวก.

บทว่า ทีฆรตฺตํ ความว่า ทรงแสดงว่า ข้าพระองค์รู้จําเดิมแต่ข้าพระองค์บรรลุ


ความคิดเห็น 12    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 146

สกทาคามิผลตลอดกาลนาน.

บทว่า โลภธมฺมา ได้แก่ ธรรมกล่าวคือ โลภะ. ทรงกล่าวหมายถึงโลภะเท่านั้น มีประการต่างๆ. ในสองบทแม้นอกนี้ ก็มีนัยเช่นเดียวกัน.

บทว่า ปริยาทาย ติฏฺนฺติ ความว่า ยังครอบงําอยู่. ก็ธรรมดา ปริยาทาน (การครอบงํา) นี้มาแล้วในการถือในบทนี้ว่า (พระอัครมเหสีทรง) ถือกําลังช้าง กําลังม้า กําลังรถ กําลังพลรบ ทั้งหมดนั้น ที่มีชีวิตนั้นเทียว. มาในความทิ้งในบทนี้ว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อนิจจสัญญา เจริญแล้วทําให้มากแล้ว ย่อมทิ้งกามราคะทั้งปวง ดังนี้. ท่านประสงค์อรรถะว่า ทิ้ง ในบทแม้นี้. ด้วยเหตุนั้น จึงกล่าวว่า บทว่า ปริยาทิยิตฺวา ได้แก่ ทิ้งแล้ว.

บทว่า เยน เม เอกทา โลภธมฺมาปิ ความว่า ทรงทูลถามว่า แม้โลภธรรมทั้งหลายยังครอบงําจิตของข้าพระองค์ไว้ได้ในบางเวลา เพราะเหตุใด. ได้ยินว่าพระราชานี้ทรงมีความสําคัญว่า โลภะ โทสะ และโมหะ ได้ละหมดไม่มีเหลือด้วยสกทาคามิมรรค. พระราชานี้ทรงรู้ว่า สิ่งที่ยังละไม่ได้ของเรามีอยู่ ทรงถือเอาสิ่งที่ยังละไม่ได้ เป็นผู้มีความสําคัญว่า สิ่งที่ละได้แเล้วย่อมเป็นไปภายหลังดังนี้. พระอริยสาวกเกิดความสงสัยอย่างนี้หรือ. เออ ความสงสัยย่อมเกิดขึ้น. เพราะเหตุไร. เพราะความเป็นผู้ไม่ฉลาดในบัญญัติ. จริงอยู่ แม้อริยสาวกผู้ไม่ฉลาดในบัญญัตินี้ว่า กิเลสนี้ถูกฆ่าด้วยมรรคโน้น ย่อมมีความสงสัยอย่างนี้. อริยสาวกนั้นไม่มีการพิจารณาหรือ. มี แต่การพิจารณานั้น ย่อมไม่บริบูรณ์แก่อริยสาวกทั้งปวง. ด้วยว่า บางคนพิจารณาเฉพาะกิเลสที่ละได้แล้วเท่านั้น บางคนพิจารณากิเลสที่ไม่ละเอียดเท่านั้น บางคนพิจารณาเฉพาะมรรค บางคนพิจารณาเฉพาะผล บางคนพิจารณาเฉพาะนิพพาน ก็ในการพิจารณา ๕ ประการนี้ การพิจารณาประการหนึ่ง หรือสองประการ ไม่ควรเพื่อจะได้ ก็หามิได้ ด้วยประการฉะนี้ อริยสาวกผู้ใดมีการพิจารณาไม่บริบูรณ์ อริยสาวกนั้นย่อมมีความสงสัย อย่างนี้ เพราะความเป็นผู้ไม่ฉลาดในกิเลสบัญญัติ อัน


ความคิดเห็น 13    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 147

พึงฆ่าด้วยมรรค.

บทว่า โส เอวํ โข เต ความว่า ทรงแสดงว่า โลภะ โทสะ และโมหะนั้นเอง ยังละไม่ได้ในสันดานของท่าน แต่ท่านเป็นผู้มีความสําคัญว่าละได้แล้ว.

บทว่า โส จ หิ เต ความว่า ธรรมคือ โลภะ โทสะ และโมหะของท่านนั้น.

บทว่า กาเม ได้แก่ กาม ๒ อย่าง.

บทว่า น ปริภุฺเชยฺยาสิ คือ ทรงแสดงว่า ท่านก็พึงบวชดุจพวกเรา.

บทว่า อปฺปสฺสาทา ได้แก่ มีสุขนิดหน่อย. บทว่า พหฺทุกฺขา ได้แก่ ทุกข์อันเป็นไปในปัจจุบัน และในสัมปรายภพนั้นเทียว เป็นอันมากในที่นี้.

บทว่า พหูปายาสา ได้แก่ กิเลสคืออุปายาส อันเป็นไปในปัจจุบันและสัมปรายภพนั้นเทียว เป็นของมากในที่นี้.

บทว่า อาทีนโว คือ อุปัททวะ อันเป็นไปในปัจจุบัน และสัมปรายภพ.

บทว่า เอตฺถ ภิยฺโย ความว่า ในกามเหล่านั้นมีโทษมากอย่างนี้เทียว แต่ให้ความยินดีน้อย คือ นิดหน่อย ดุจเมล็ดผักกาดอาศัยภูเขาหิมพานต์ให้ผลน้อยฉะนั้น.

บทว่า อิติ เจปิ มหานาม ความว่า ดูก่อนมหานาม แม้ถ้าอริยสาวกอย่างนี้.

บทว่า ยถาภูตํ ได้แก่ ทรงแสดงว่า เล็งเห็นด้วยดีด้วยปัญญาโดยชอบตามเป็นจริง คือ โดยนัย โดยการณ์.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฺาย ได้แก่ ด้วยวิปัสสนาปัญญา อธิบายว่าด้วยญาณคือมรรค ๒ อย่างในขั้นต่ํา.

บทว่า โสว คือ อริยสาวกผู้เห็นโทษของกามด้วยมรรค ๒ อย่างนั้นเทียว.

ทรงแสดงญาณ ๒ อย่างที่มีปีติ ด้วยบทนี้ว่า ปีติสุขํ.

บทว่า อฺํ วา ตโต สนฺตตรํ ได้แก่ ฌาน ๒ อย่าง และมรรค ๒ อย่าง ชั้นสูงอื่นที่สงบกว่าฌาน ๒ อย่างนั้น.

บทว่า เนว ตาวอนาวฏฺฏี กาเมสุ โหติ ความว่า อริยสาวกแม้แทงตลอดมรรคทั้งสองดํารงอยู่นั้น ยังเป็นผู้ไม่เวียนมาในกามทั้งหลายไม่ได้ก่อน โดยแท้แล เพราะความที่ยังไม่บรรลุฌาน หรือมรรคชั้นสูง ย่อมไม่เป็นอาโภค (ความผูกใจ) แก่ผู้ไม่เวียนมา ก็หามิได้แต่จะมีอาโภคแก่ผู้เวียนมาเท่านั้น เพราะเหตุไร เพราะไม่มี


ความคิดเห็น 14    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 148

วิกขัมภนปหานด้วยฌาน ๔ ไม่มีสมุจเฉทปหานด้วยมรรค ๒.

บทว่า มยฺหํ ปิโข ความว่า ไม่ใช่ท่านอย่างเดียวเท่านั้น โดยแท้แม้เรา.

บทว่า ปุพฺเพวสมฺโพธา ได้แก่ ก่อนตรัสรู้ด้วยมรรคทีเดียว. ท่านประสงค์เอาโอโรธนาฎกาปชหนปัญญา (ปัญญาในการเสียสละนางสนม และนางฟ้อน)

ในบทนี้ว่า ปฺาย สุทิฏฺํ อโหสิ ดังนี้.

บทว่า ปีติสุขํ นาชฺฌคมิํ ได้แก่ เราไม่ได้ฌาน ๒ อย่างที่มีปีติ. ท่านประสงค์เอาฌานชั้นสูง ๒ อย่าง และมรรค ๔ ในบทนี้ว่า อฺํ วา ตโต สนฺตตรํ ดังนี้.

บทว่า ปจฺจฺาสิํ ได้แก่ปฏิญญาณแล้ว.

เพราะเหตุไร จึงทรงปรารภว่า ดูก่อนมหานาม ในสมัยหนึ่ง เรา ดังนี้. เพราะมีอนุสนธิเป็นแผนกดังนี้. ทรงแสดงความยินดีบ้าง อาทีนพบ้าง แห่งกามทั้งหลายในเบื้องต่ํา ไม่ได้ตรัสถึงความสลัดออก ทรงปรารภเทศนานี้ เพื่อทรงแสดงถึงความสลัดออกนั้น เพราะการประกอบตนให้พัวพันกับสุขในกามเป็นที่สุดอันหนึ่ง การประกอบตนให้ลําบากเป็นที่สุดอันหนึ่ง ศาสนาของเราพ้นจากที่สุดเหล่านี้ เพราะฉะนั้น จึงทรงปรารภเทศนานี้ แม้เพื่อทรงแสดงศาสนาทั้งสิ้น ด้วยหัวข้อแห่งผลสมาบัติชั้นสูง.

บทว่า คิชฺฌกูเฏ ปพฺพเต ความว่า ภูเขานั้นมียอดคล้ายอีแร้ง เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า คิชฌกูฎ หรืออีแร้งทั้งหลายอาศัยอยู่ ในยอดทั้งหลายของภูเขานั้นบ้าง เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า คิชฌกูฏ.

บทว่า อิสิคิลิปสฺเส ได้แก่ ข้างภูเขาอิสิคิลิ.

บทว่า กาฬสิลายํ ได้แก่ หลังหินมีสีดํา. บทว่า อุพฺภฏกา โหนฺติ ความว่าเป็นผู้ถือการยืนเป็นวัตร ไม่นั่ง.

บทว่า โอปกฺกมิกา ความว่า อันเกิดแต่ความพยายามของตน มีการยืนเป็นวัตรเป็นต้น.

บทว่า นิคนฺโถ อาวุโส ความว่า เมื่อไม่อาจเพื่อจะกล่าวเหตุอื่น จึงโยนให้กับนิครนถ์.

บทว่า สพฺพฺู สพฺพทสฺสาวี ความว่า นิครนถ์ทั้งหลายแสดงว่า ศาสดาของพวกเรานั้นรู้ทุกอย่าง เห็นทุกอย่าง ที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน.

บทว่า อปริเสสํ


ความคิดเห็น 15    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 149

าณทสฺสนํ ปฏิชานาติ ความว่า ศาสดาของพวกเรานั้น ย่อมรู้ชัดญาณทัสสนะ กล่าวคือหมดทุกส่วน เพราะรู้ธรรมหมดทุกส่วน และเมื่อยืนยัน ก็ยืนยันอย่างนี้ว่า เมื่อเราเดินไปก็ดี ยืนก็ดี ฯลฯ ญาณทัสสนะปรากฎอยู่ ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สตตํ ได้แก่ เนืองนิตย์.

บทว่า สมิตํ เป็นไวพจน์ของบทนั้นเทียว. คํานี้ว่า ดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ พวกท่านทราบละหรือว่า ทุกข์เท่านี้เราสลัดได้แล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงแสดงว่า ธรรมดาบุรุษย่อมรู้กิจที่ทํา กู้หนี้ ๒๐ กหาปณะ ชําระแล้ว ๑๐ กหาปณะ ก็รู้ว่า เราชําระแล้ว ๑๐ กหาปณะ ยังคงเป็นหนี้ ๑๐ กหาปณะ ครั้นชําระกหาปณะแม้เหล่านั้นหมดแล้ว ย่อมรู้กิจทั้งปวงว่า หนี้ทั้งหมดเราชําระแล้ว เกี่ยวส่วนที่สามแห่งนา ก็รู้ว่า ส่วนหนึ่งเกี่ยวแล้ว ยังเหลือสองส่วน ครั้นเกี่ยวส่วนหนึ่งอีก ก็รู้ว่า ส่วนหนึ่งยังเหลือ ครั้นส่วนแม้นั้นเกี่ยวแล้ว ก็รู้ว่า กิจทุกอย่างเสร็จแล้ว ย่อมรู้กิจที่ทําแล้ว และยังไม่ได้ทําในกิจทั้งปวงอย่างนี้ แม้พวกท่านก็พึงรู้อย่างนั้น. ด้วยคํานี้ว่า การละอกุศลธรรมทั้งหลาย ตรัสถามว่า ชื่อว่านิครนถ์ผู้ละอกุศล เจริญกุศล ถึงความเป็นผู้บริสุทธิ์แล้ว มีอยู่ในศาสนาของพวกท่านหรือ.

บทว่า เอวํ สนฺเต ความว่า ครั้นความที่พวกท่านรู้อย่างนี้มีอยู่.

บทว่า ลุทฺทา ได้แก่ มีมรรยาทเลวทราม.

บทว่า โลหิตปาณิโน ได้แก่ ผู้พรากสัตว์จากชีวิต ชื่อว่า มีมือเปื้อนด้วยเลือด. ก็ธรรมดามือของผู้ฆ่าสัตว์แม้ใด ย่อมเปื้อนด้วยเลือด ผู้แม้นั้นเรียกว่า มีมือเปื้อนเลือดเหมือนกัน.

บทว่า กุรูรกมฺมนฺตา ได้แก่ ทารุณกรรม คือกระทําความผิดในมารดา บิดาและสมณพราหณ์ผู้มีธรรมเป็นต้น หรือ กรรมอันหยาบช้ามีพรานเนื้อ เป็นต้น. นิครนถ์ทั้งหลายสําคัญว่า สมณโคดมนี้ให้โทษในวาทะของพวกเรา แม้พวกเราจะยกโทษแก่สมณโคดมนั้น จึงปรารภคํานี้ว่า ดูก่อนท่านพระโคดมผู้มีอายุ ดังนี้. บทนั้นมีเนื้อความว่า ดูกรท่านพระโคดมผู้มีอายุ พระองค์


ความคิดเห็น 16    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 150

ทรงจีวรอันประณีต เสวยข้าวสาลี เนื้อ และ น้ำ ประทับอยู่ในพระคันธกุฎี มีสีดังเทพวิมาน ประสบความสุขได้ด้วยความสุขฉันใด บุคคลไม่พึงประสบความสุขด้วยความสุขฉันนั้น. อนึ่ง พวกข้าพเจ้าเสวยความทุกข์นานับประการด้วยความเพียรทั้งหลาย มีความเพียรในการนั่งกระโหย่งเป็นต้น ฉันใด บุคคลพึงประสบความสุขได้ด้วยความทุกข์ฉันนั้น ดังนี้.

บทว่า สุเขน จ อาวุโส นี้ กล่าวแล้วเพื่อแสดงว่า ถ้าบุคคลพึงประสบความสุขได้ด้วยความสุขไซร้ พระราชาก็พึงประสบดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า มาคโธ ได้แก่ ทรงมีอิสระแห่งแคว้นมคธ.

บทว่า เสนิโย คือ พระนามของพระเจ้าแผ่นดินมคธนั้น. บทว่า พิมฺพิ ได้แก่พระนามของอัตตภาพ. พระองค์เป็นสาระแห่งแคว้นมคธนั้น ทรงน่าดู เป็นที่น่าเลื่อมใส จึงขนานพระนามว่า พิมพิสาร เพราะความสําเร็จในอัตภาพ. พวกนิครนถ์นั้นหมายถึงการเสวยสมบัติพร้อมกับนางฟ้อนรําทั้งหลาย ซึ่งมีวัยทั้ง ๓ ในปราสาททั้ง ๓ ของพระราชา จึงกล่าวคํานี้ว่า ทรงอยู่เป็นสุขดีกว่า ดังนี้.

บทว่า อทฺธา ได้แก่โดยส่วนเดียว.

บทว่า สหสา อปฺปฏิสงฺขา ได้แก่ ทรงแสดงว่า พวกนิครนถ์หุนหันไม่ทันพิจารณา จึงพูดวาจาอย่างนั้น เหมือนคนกําหนัดแล้วพูดด้วยอํานาจราคะ คนโกรธแล้วพูดด้วยอํานาจโทสะ คนหลงแล้วพูดด้วยอํานาจโมหะฉะนั้น.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า ปฏิปุจฺฉิสฺสามิ ความว่า เราจักถามในอรรถะนั้น.

บทว่า ยถา โว ขเมยฺย ความว่า พวกท่านพึงชอบใจฉันใด.

บทว่า ปโหติ ได้แก่ ย่อมอาจ.

บทว่า อนิฺชมาโน ได้แก่ ไม่หวั่นไหว.

บทว่า เอกนฺตสุขปฏิสํเวที ได้แก่ เสวยความสุขชั่วนิรันดร์. พระผู้มีพระภาคเจ้าเมื่อจะทรงแสดงความสุขในผลสมาบัติของพระองค์ จึงตรัสคํานี้ว่าดูก่อนนิครนถ์ผู้มีอายุ เราแหละสามารถ ฯลฯ เสวยความสุขส่วนเดียว ดังนี้. ก็ทรงกระทํา


ความคิดเห็น 17    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 8 ธ.ค. 2564

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 151

วาระแห่งพระราชาให้เป็นต้น ถึงเจ็ดวาระ แล้วทรงกระทําคําถามเพื่อให้จบถ้อยคําในที่นี้. ก็ครั้นกล่าวว่า ไม่สามารถถึงเจ็ดคืน เจ็ดวันได้ จึงมีคําถามความสุขหกคืนหกวัน ห้าคืนห้าวัน สี่คืนสี่วัน ดังนี้. แต่ในพุทธวาระ ครั้นตรัสถึงเจ็ดคืน เจ็ดวัน จะตรัสอีกว่า หกคืนหกวัน ห้าคืนห้าวัน สี่คืนสี่วัน ก็จะไม่เป็นที่อัศจรรย์เพราะฉะนั้น จึงตรัสรวมเป็นอันเดียวกันแล้ว ทรงกระทําเทศนา. บทที่เหลือในบททั้งหมดมีความง่ายทั้งนั้นแล.

จบ อรรถกถาจุลลทุกขักขันธสูตรที่ ๔