๑. อาวรณสูตร ว่าด้วยนิวรณ์ ๕ อย่าง
โดย บ้านธัมมะ  26 ต.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 39118

[เล่มที่ 36] พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 123

ทุติยปัณณาสก์

นีวรณวรรคที่ ๑

๑. อาวรณสูตร

ว่าด้วยนิวรณ์ ๕ อย่าง


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 36]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 123

ทุติยปัณณาสก์

นีวรณวรรคที่ ๑

๑. อาวรณสูตร

ว่าด้วยนิวรณ์ ๕ อย่าง

[๕๑] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้น ทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้ว พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ทุรพล ๕ ประการเป็นไฉน คือ นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ กามฉันทะ ๑ นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ พยาบาท ๑ นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ ถีนมิทธะ ๑ นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ อุทธัจจกุกกุจะ ๑ นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ วิจิกิจฉา ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้แล ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ทุรพล ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นไม่ละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว จักรู้จักประโยชน์ของตน ประโยชน์ของผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้งซึ่ง ญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยปัญญาที่ไม่มีกำลังทุรพล ข้อนี้มิใช่ฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนแม่น้ำ ที่ไหลลงจากภูเขา ไปสู่ที่ไกล มีกระแสเชี่ยว พัดสิ่งที่จะพัดไปได้ บุรุษพึงเปิดปากเหมืองแห่งแม่น้ำนั้นทั้งสองข้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ กระแสน้ำในท่ามกลาง แห่งแม่น้ำนั้น ก็ซัดส่าย ไหลผิดทาง ไม่พึงไหลไปสู่ที่ไกล ไม่มีกระแสเชี่ยว


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 124

ไม่พัดสิ่งที่พอจะพัดไปได้ ฉันใด ภิกษุนั้นก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ไม่ละนิวรณ์ เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว จักรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้ง ซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยปัญญาอันไม่มีกำลัง ทุรพล ข้อนั้นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นละนิวรณ์ เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว จักรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้ง ซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยปัญญาอันมีกำลัง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้ เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขาไปสู่ที่ไกล พัดสิ่งที่พอจะพัดไปได้ บุรุษพึงปิดปากเหมืองแห่งแม่น้ำนั้นทั้งสองข้าง เมื่อเป็นเช่นนี้ กระแสน้ำในท่ามกลางแม่น้ำนั้น ก็จักไม่ซัด ไม่ส่าย ไหลไม่ผิดทาง พึงไหลไปสู่ที่ไกลได้ มีกระแสเชี่ยว และพัดในสิ่งที่พอพัดไปได้ ฉันใด ภิกษุนั้น ก็ฉันนั้นเหมือนกันแล ละนิวรณ์เครื่องกางกั้น ๕ ประการนี้ อันครอบงำจิต ทำปัญญาให้ทุรพลแล้ว จักรู้ประโยชน์ตน ประโยชน์ผู้อื่น ประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักทำให้แจ้ง ซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษ สามารถกระทำความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมของมนุษย์ ด้วยปัญญาอันมีกำลัง ข้อนี้เป็นฐานะที่จะมีได้.

จบอาวรณสูตรที่ ๑


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 125

ทุติยปัณณาสก์

นีวรณวรรควรรณนาที่ ๑

อรรถถกถา อาวรณสูตร

พึงทราบวินิจฉัย ในอาวรณสูตรที่ ๑ แห่งทุติยปัณณาสก์ ดังต่อไปนี้:-

กิเลสทั้งหลายชื่อว่า อาวรณะ เพราะอำนาจปิดกั้น. ที่ชื่อว่า นิวารณะ เพราะมีอำนาจกางกั้น. บทว่า เจตโส อชฺฌารุหา แปลว่า อันท่วมทับจิต กิเลสชื่อว่า ทำให้ปัญญาหดถอยกำลัง เพราะกระทำวิปัสสนาปัญญา และมรรคปัญญาให้เสื่อมกำลัง ด้วยอรรถว่า กางกั้นมิให้เกิดขึ้น. อีกประการหนึ่ง ชื่อว่า ทำปัญญาให้หดถอยกำลัง เพราะปัญญาที่คลุกเคล้าด้วยกิเลสเหล่านี้เกิดขึ้น กิเลสเหล่านั้น ทำปัญญานั้นเสื่อมกำลัง ดังนี้ก็มี. บทว่า อพลาย ความว่า ชื่อว่าปราศจากกำลัง เพราะถูกนิวรณ์ ๕ รึงรัดไว้. บทว่า อุตฺตรึ วา มนุสฺสธมฺมา อลมริยาณทสฺสนวิเสสํ ความว่า ซึ่งญาณทัสสนะวิเศษ ที่สามารถกระทำความเป็นพระอริยเจ้า ให้ได้ยิ่งไปกว่ามนุษยธรรมกล่าวคือ กุศลกรรมบถ ๑๐ อย่าง.

บทว่า หารหาริณี คือ สามารถจะพัดพาสิ่งที่พอจะพัดพาไปได้. บทว่า นงฺคลมุขานิ แปลว่า ปากเหมือง เพราะชนทั้งหลายเรียกปากเหมือง เหล่านั้นว่า นังคลมุขานิ เพราะเหตุที่เขาเอาไถขุด ไถลงไป ทำให้เป็นเหมือนรอยไถไว้. ในบทว่า เอวเมว โข นี้ วิปัสสนาญาณพึงเห็นเป็นเหมือนกระแสน้ำ เวลาที่ภิกษุละเลยสังวรในทวารทั้ง ๖ พึงเห็นเหมือนเวลาเปิดปากเหมืองทั้งสองข้าง เวลาที่ภิกษุถูกนิวรณ์ทั้ง ๕ รึงรัดไว้ พึงเห็นเหมือนเวลา ที่เมื่อเขาตอกหลักต้นไม้กลางแม่น้ำแล้ว ทำทำนบกั้นด้วยใบไม้แห้ง หญ้า และ


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 28 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้า 126

ดินเหนียว น้ำก็ซัดซ่ายสร่านไป เวลาที่ภิกษุไม่สามารถจะกำจัดอกุศลทั้งปวง ด้วยวิปัสสนาญาณแล้ว บรรลุถึงสาคร คือทางนิพพานได้ พึงทราบเหมือนเวลา ที่เมื่อเขาทำทำนบกั้นไว้อย่างนี้ น้ำที่หมดกำลังเชี่ยวไม่สามารถจะพัดพาเอาหญ้า และใบไม้แห้งเป็นต้น ไปถึงทะเลได้ ในธรรมฝ่ายดีพึงประกอบความเข้า โดยตรงกันข้ามกับที่กล่าวแล้ว ในสูตรนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสไว้ ทั้งวัฏฏะ และวิวัฏฏะ.

จบอรรถกถา อาวรณสูตรที่ ๑