๒. โสมาสูตร ว่าด้วยมารรบกวนโสมาภิกษุณี
โดย บ้านธัมมะ  30 ส.ค. 2564
หัวข้อหมายเลข 36360

[เล่มที่ 25] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 88

๒. โสมาสูตร

ว่าด้วยมารรบกวนโสมาภิกษุณี


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 25]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 88

๒. โสมาสูตร

ว่าด้วยมารรบกวนโสมาภิกษุณี

    [๕๒๕] สาวัตถีนิทาน.

    ครั้งนั้น เวลาเช้า โสมาภิกษุณีนุ่งห่มแล้ว ถือบาตรและจีวรเข้าไปบิณฑบาตยังกรุงสาวัตถี เที่ยวบิณฑบาตไปในกรุงสาวัตถีแล้ว เวลาปัจฉาภัตกลับจากบิณฑบาตแล้ว เข้าไปยังป่าอันธวันเพื่อพักผ่อนกลางวัน ครั้นถึงป่าอันธวันแล้ว จึงนั่งพักกลางวันที่โคนไม้ต้นหนึ่ง.

    [๕๒๖] ลำดับนั้น มารผู้มีบาปใคร่จะให้โสมาภิกษุณีบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงเข้าไปหาโสมาภิกษุณีถึงที่นั่งพัก ครั้นแล้วได้กล่าวกะโสมาภิกษุณีด้วยคาถาว่า

    สตรีมีปัญญาเพียงสองนิ้ว ไม่อาจถึงฐานะอันจะพึงอดทนได้ด้วยยาก ซึ่งท่านผู้แสวงทั้งหลายจะพึงถึงได้.

    [๕๒๗] ลำดับนั้น โสมาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่ใครหนอกล่าวคาถาจะเป็นมนุษย์หรืออมนุษย์

    ทันใดนั้น โสมาภิกษุณีได้มีความดำริว่า นี่คือมารผู้มีบาป ใคร่จะให้เราบังเกิดความกลัว ความหวาดเสียว ขนพองสยองเกล้า และใคร่จะให้เคลื่อนจากสมาธิ จึงกล่าวคาถา.

    ครั้นโสมาภิกษุณีทราบว่า นี่คือมารผู้มีบาปแล้ว จึงได้กล่าวกะมารผู้มีบาปด้วยคาถาว่า


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 31 ม.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้า 89

    ความเป็นสตรีจะทำอะไรได้ เมื่อจิตตั้งมั่นดีแล้ว เมื่อญาณเป็นไปแก่ผู้เห็นธรรมอยู่โดยชอบ ผู้ใดพึงมีความคิดเห็นแน่อย่างนี้ว่า เราเป็นสตรี หรือว่าเราเป็นบุรุษ หรือจะยังมีความเกาะเกี่ยวว่า เรามีอยู่ มารควรจะกล่าวกะผู้นั้น.

    ลำดับนั้น มารผู้มีบาปเป็นทุกข์ เสียใจว่า โสมาภิกษุณีรู้จักเรา ดังนี้ จึงได้อันตรธานไปในที่นั้นเอง.

อรรถกถาโสมาสูตร

    ในโสมาสูตรที่ ๒ มีวินิจฉัยดังต่อไปนี้ :-

    บทว่า านํ ได้แก่ พระอรหัต. บทว่า ทุรภิสมฺภวํ ได้แก่ทนได้ยาก. บทว่า ทฺวงฺคุลปญฺาย ได้แก่ ปัญญาเล็กน้อย อีกอย่างหนึ่งหญิงชื่อว่า ทฺวงฺคุลปญฺา เพราะใช้สองนิ้วหยิบปุยฝ้ายกรอด้าย. บทว่าาณมฺหิ วตฺตมานมฺหิ ความว่า เมื่อญาณในผลสมาบัติเป็นไปอยู่. บทว่า ธมฺมํ วิปสฺสโต ความว่า ผู้เห็นแจ้งธรรมคือสัจจะ ๔ หรือเห็นเฉพาะเบญจขันธ์ อันเป็นอารมณ์ของวิปัสสนาในส่วนเบื้องต้น. บทว่า กิญฺจิ วา ปน อสฺมีติ ความว่า หรือความกังวลอื่นๆ จะพึงมีแก่ผู้ใดด้วยตัณหามานะและทิฏฐิว่า เป็นเรา ดังนี้.

    จบอรรถกถาโสมาสูตรที่ ๒