ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓ - หน้าที่ 413
..........................................
บทว่า "อริเยน" แปลว่า ไม่มีโทษ. บทว่า "อชฺฌตฺตํ" แปลว่า
ในอัตภาพของตน. บทว่า "อนวชฺชสุขํ" แปลว่า
ความสุขที่ปราศจากโทษ.
ข้อว่า "โส จกฺขุนา รูปํ ทิสฺวา" อธิบายว่า
ภิกษุนั้นเป็นผู้ประกอบด้วย ศีลขันธ์อันไม่มีโทษนี้
เพราะเห็นรูปด้วยจักขุวิญญาณ. แม้ในบทที่เหลือ คำใดที่
ข้าพเจ้าพึงกล่าว คำนั้นทั้งหมดข้าพเจ้ากล่าวแล้วในหนหลังนั่นแหละ. บทว่า
"อพฺยาเสกสุขํ" ได้แก่
ความสุขที่กิเลสทั้งหลายไม่รั่วรด.
คำนี้ท่านกล่าวว่า เป็นความสุขอันไม่เกลื่อนกล่น ดังนี้บ้าง. จริงอยู่
ความสุขในอินทรีย์สังวร
ชื่อว่าเป็นความสุขอันไม่เกลื่อนกล่นแล้ว
เพราะความเป็นไปด้วยเหตุสักว่า
อารมณ์อันตนเห็นแล้วเป็นต้น ในบรรดาอารมณ์ทั้งหลายที่ตนเห็นแล้ว. ข้อว่า
"โส อภิกฺกนฺเต ปฏิกฺกนฺเต" อธิบายว่า
ภิกษุนั้นประกอบด้วยความสำรวมอินทรีย์ทั้งหลาย
ซึ่งมีใจเป็นที่หก
ย่อมเป็นผู้กระทำสัมปชัญญะ ด้วยสามารถ
แห่งสติสัมปชัญญะในที่ทั้งหลาย ๗ มีการก้าวไปข้างหน้าและถอยหลังกลับ
เป็นต้นเหล่านี้. ในบรรดาบทเหล่านั้น คำใดที่ข้าพเจ้าพึงกล่าว คำนั้น
ข้าพเจ้ากล่าวไว้แล้วในฌานวิภังค์แล.
ขอความกรุณาอธิบายข้อความที่ว่า...
ด้วยสามารถแห่งสติสัมปชัญญะในที่ทั้งหลาย ๗ มีการก้าวไปข้างหน้าและถอย
หลังกลับ
เหุตใดจึงเป็น ๗ เพราะต่อเนี่องจากอินทรีย์หกหรือคะ...
ขอบพระคุณค่ะ
เรียนความเห็นที่ 1 ครับ
หมายถึง มี สติสัมปชัญญะ ในที่ทั้งหลาย 7 ประการ ดังข้อความพระไตรปิฎกครับ
พระอภิธรรมปิฎก ธาตุกถา-บุคคลบัญญัติ เล่ม ๓- หน้าที่ 387
เธอย่อมทำความรู้ทั่วพร้อมในการก้าวไป ในการถอยกลับ[1]
ย่อมทำความรู้ทั่วพร้อมในการแลไปข้างหน้าและเหลียวไปข้างๆ [2]
ย่อมทำความรู้ทั่วพร้อมในการคู้เข้าเหยียดออก[3]
ย่อมทำความรู้ทั่วพร้อมในการทรงสังฆาฏิบาตร และจีวร[4]
ย่อมทำความรู้ทั่วพร้อมในการกิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม [5]
ย่อมทำความรู้ทั่วพร้อมในการถ่ายอุจจาระปัสสาวะ[6]
ย่อมทำความรู้ทั่วพร้อมในการเดินไป ในการยืน ในการนั่ง ในการหลับ ในการตื่น
ในการพูด ใน การนิ่ง[7]
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ