คันถะ
โดย ผู้ร่วมเดินทาง  6 พ.ย. 2556
หัวข้อหมายเลข 23979

ขออนุญาตเรียนถามความหมายของคำในเรื่องคันถะ ๔ ครับ

คันถะมี ๔ ได้แก่

อภิชฌากายคันถะ ๑.พยาปาทกายคันถะ ๑. สีลลัพพัตตปรมาสกายคันถะ ๑. อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ๑.

ในแต่ละข้อจะมีคำว่า "กาย" ด้วย จึงมีข้อสงสัยว่า "กาย" หมายถึงอะไร และทำไมต้องใช้คำว่า กายคันถะ ไม่ใช่ คำว่า คันถะ เท่านั้นครับ

ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 7 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

เข้าใจคำว่า กาย ก่อนนะครับ กาย หมายถึง การประชุม การรวมกันของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้นเมื่อพูดถึงแต่คำว่า กาย ไม่ได้หมายถึง ร่างกายของเราเท่านั้น แต่หมายถึง การประชุม การรวมกันของสิ่งใด สิ่งหนึ่งก็ได้ ดังนั้นคำว่า กาย คือการประชุม รวมกัน กาย มี 2 อย่างคือ นามกายและรูปกาย นามกายคือการประชุมกัน รวมกันของสภาพธรรมที่เป็นนามธรรม ซึ่งก็ได้แก่ขันธ์ 4 มี เวทนา สัญญา สังขารและวิญญาณ ส่วนรูปกาย ก็คือ สภาพธรรมทั้งหมดที่เป็นรูปธรรม มี ธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม สี เป็นต้น อันเป็นสภาพธรรมที่ไม่รู้อะไรเลยที่เป็นรูปธรรม เป็นรูปกายคือการประชุมของสภาพธรรมที่เป็นรูปธรรม

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ปฏิสัมภิทามรรค เล่ม ๗ ภาค ๒ - หน้าที่ 116

กาย ในคำว่า กาโย มี ๒ คือ นามกาย ๑ รูปกาย ๑ นามกายเป็นไฉน เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ เป็นนามด้วย เป็นนามกายด้วย และท่านกล่าว จิตสังขารว่า นี้เป็นนามกาย รูปกายเป็นไฉน มหาภูตรูป ๔ รูปที่อาศัยมหาภูตรูป ๔ ลมอัสสาส ปัสสาสะ นิมิต และท่านกล่าวว่า กายสังขารที่เนื่องกัน นี้เป็นรูปกาย ซึ่งจากประเด็นที่ถามเรื่องคันถะ ก่อนอื่นก็เข้าใจคำนี้ก่อนครับว่า คืออย่างไร

คันถะ เป็นกิเลสที่ร้อยรัด หรือ รึงรัดหมู่สัตว์ ไว้ไม่ให้ออกไปจากกวัฏฏะสำหรับ อิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ เป็นหนึ่งในคันถะ ๔ อย่าง (อภิชฌากายคันถะ กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด รึงรัดหมู่สัตว์ไว้ คือ โลภะ ๑ พยาปาทกายคันถะ กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด รึงรัดหมู่สัตว์ไว้ คือ พยาบาท ปองร้าย โกรธ ไม่พอใจ ซึ่งเป็นลักษณะของโทสะ๑ สีลัพพตปรามาสกายคันถะ กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด รึงรัดหมู่สัตว์ไว้ คือ การลูบคลำยึดมั่น ถือมั่นในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด ๑ และ อิทังสัจจาภินิเวส-กายคันถะ กิเลสเป็นเครื่องร้อยรัด รึงรัดหมู่สัตว์ไว้ คือ ความเห็นผิดว่าสิ่งนี้เท่านั้นจริง สิ่งอื่นเปล่า๑) จึงเห็นได้ว่า คันถะ ทั้ง ๔ ประการนั้น ย่อมไม่พ้นไปจากอกุศลธรรม ๓ ประเภท คือ โลภะ โทสะ และมิจฉาทิฏฐิ ความเห็นผิดทั้งหลาย ที่ไม่ใช่การลูบคลำยึดมั่นในข้อวัตรปฏิบัติที่ผิด จัดเป็นอิทังสัจจาภินิเวสกายคันถะ ครับ

การฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรม เป็นไปเพื่อความเจริญขึ้นของปัญญา จากความไม่รู้ ก็จะค่อยๆ รู้ขึ้น ค่อยๆ เข้าใจขึ้น ความเข้าใจผิด เห็นผิดซึ่งคลาดเคลื่อนจากความเป็นจริงของสภาพธรรม ก็จะค่อยๆ ลดลงไปตามลำดับ พร้อมทั้งจะมีความเข้าใจถูกตรงตามสภาพธรรมที่กำลังปรากฏว่า เป็นสภาพธรรมแต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้นปรากฏ ตามความเป็นจริง กิเลสทั้งหลายที่มีมากนั้นสามารถดับได้เด็ดขาดไม่เกิดขึ้นอีกเลย ด้วยอริยมรรค เท่านั้น โลภะที่ติดข้องยินดีพอใจใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ดับได้เด็ดขาดด้วยอนาคามิมรรค โลภะที่ติดข้องในภพ ดับได้เด็ดขาดด้วยอรหัตตมรรค โทสะ ดับได้เด็ดขาดด้วยอนาคามิมรรค สำหรับความเห็นผิดทั้งหลายทั้งปวง ดับได้เด็ดขาดด้วยโสดาปัตติมรรค ครับ

ดังนั้น ประเด็นคำถามที่ว่า ในเรื่องคันถะ ทำไม จึงใช้คำว่า กายด้วย ขออธิบายดังนี้

ตามที่กล่าวแล้วว่า คำว่า กาย หมายถึง การประชุม การรวมกันของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ทั้งที่เป็นรูปธรรม และ นามธรรมก็ได้ รวมความว่า ได้ทั้งจิต เจตสิก และรูป เพราะฉะนั้น เครื่องผูก ไม่ใช่ ผูกเฉพาะอย่างเดียว สภาพธรรมอย่างเดียว แต่อารมณ์ที่เป็นเครื่องผูกมีมากมาย ก็เป็นการประชุมรวมกันของสภาพธรรมที่เป็นกาย ที่เป็นนามกาย และรูปกายทั้ง จิต เจตสิก รูป ก็เป็นเครื่องผูกของกิเลสต่างๆ ได้ ทั้งโลภะ โทสะ ทิฏฐิ ยกตัวอย่างเช่น อภิชฌากายคันถะ ก็เป็นกิเลสที่เป็นโลภะ ที่ติดข้อง ไม่ใช่เฉพาะสภาพธรรมเดียว แต่สภาพธรรมทั้งหลาย ที่ประชุมรวมกัน ที่เป็นนามกาย และรูปกาย ก็เป็นอารมณ์ของเครื่องผูก คือ โลภะ ก็สามารถติดข้องได้มากมาย หลากหลาย ครับ และโทสะ พยาปาทะกายคันถะ ก็สามารถเกิดโทสะ หลากหลายอารมณ์ต่างๆ ก็ได้เช่นกัน ครับ รวมความว่า การใช้คำว่า กาย มุ่งหมายถึง สภาพธรรมที่มาประชุมรวมกัน ที่มีหลากหลาย อันเป็นที่ตั้ง เป็นอารมณ์ของเครื่องผูกที่เป็นคันถะได้ ครับ และเพราะ อาศัย คันถะ เครื่องผูกในนามกาย และ รูปกาย จึงทำให้ไม่พ้นไปจากการเกิด การตาย ไม่พ้นจากวัฏฏะ ครับ

ดังข้อความในพระไตรปิฎก ที่แสดง คำว่ากาย หมายถึงอะไร ในคันถะ

[เล่มที่ 16] พระสุตตันตปิฎก ทีฆนิกาย ปาฏิกวรรค เล่ม ๓ ภาค ๒ - หน้าที่ 354

กิเลสที่ชื่อว่า คันถา ด้วยสามารถผูก (สัตว์) ไว้ ที่ชื่อว่า กายคันถะ เพราะอรรถว่า ผูก คือ พัน ได้แก่ ร้อยรัด นามกาย และรูปกายไว้ในวัฏฏะ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 2    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 7 พ.ย. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.ผเดิม มากครับ

ขอให้เดินทางไปอินเดียพร้อมคณะโดยสวัสดีภาพนะครับ ขออนุโมทนาด้วยครับ


ความคิดเห็น 3    โดย วันชัย๒๕๐๔  วันที่ 7 พ.ย. 2556

ขอบพระคุณ และ ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย khampan.a  วันที่ 8 พ.ย. 2556

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น

ตราบใดที่ยังไม่สามารถดับกิเลสใดๆ ได้ ก็ยังถูกผูกไว้ ร้อยไว้ด้วยอำนาจของกิเลส ประการต่างๆ มากมายทั้งโลภะ บ้าง โทสะ บ้าง และถ้ามีเหตุให้ความเห็นผิดเกิดขึ้น ความเห็นผิดก็เกิดขึ้นเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ทำให้ไปสู่กุศลธรรม ทำให้อยู่ต่อไปอีกนานแสนนานในสังสารวัฏฏ์ อกุศลธรรมเป็นนามธรรม เป็นธาตุรู้เมื่อเกิดขึ้น ก็ต้องรู้อารมณ์ ตามสภาพธรรมที่เป็นอกุศลธรรม นั้นๆ ซึ่งหลากหลายมาก หนทางแห่งการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นที่จะทำให้รู้อกุศลตามความเป็นจริงว่าเป็นธรรมไม่ใช่เรา และปัญญาเท่านั้นที่จะดับกิเลสได้ ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ


ความคิดเห็น 5    โดย ผู้ร่วมเดินทาง  วันที่ 8 พ.ย. 2556

ขอบพระคุณและขออนุโมทนา อ.คำปั่น และคุณวันชัยด้วยครับ


ความคิดเห็น 6    โดย วันชัย๒๕๐๔  วันที่ 8 พ.ย. 2556

ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะของท่านวิทยากร คุณคำปั่น อักษรวิลัย ซึ่งได้กรุณาให้ความเข้าใจมาจากแดนไกล คือ ขณะนี้ ท่านอยู่ที่ประเทศอินเดีย พร้อมคณะฯของท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ในโอกาสที่มูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา นำเครื่องบูชาพระรัตนตรัยไปถวาย ณ สมาคมมหาโพธิ์ ที่ พุทธคยา และ สารนาท ครับ สำหรับท่านที่เคยเดินทางไปประเทศอินเดีย เฉพาะอย่างยิ่ง ที่พุทธคยา และพาราณสี จะทราบถึงค่าใช้จ่ายสำหรับอินเทอร์เนทที่แพง และมีขีดจำกัดมาก ครับ

ขออนุโมทนาในกุศลวิริยะอย่างยิ่งของคุณคำปั่น อีกครั้งครับ


ความคิดเห็น 7    โดย ใหญ่ราชบุรี  วันที่ 8 พ.ค. 2560

ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ