ทรงใช้พยัญชนะที่กระชับ ความหมายแน่นอน ถูกต้อง
โดย chatchai.k  16 ต.ค. 2565
หัวข้อหมายเลข 44758

ถ. ผมได้ไปฟังคำบรรยายที่สำนักหนึ่ง ผมก็ยกความเห็นของอาจารย์ สุจินต์ไปกล่าว คือคำว่า ทิฏฺฐํ สุตํ มุตฺตํ ทิฏฺฐํก็ว่าเป็นสี หรือเป็นรูป สุตํเป็นเสียง หรือสัททะ เขาก็บอกว่า ไม่ใช่ ผิด แล้วก็ยกตัวอย่างในพระสูตรว่า เอวมฺเม สุตํ ก็บ่งชัดอยู่แล้วว่า คำว่า สุตํ หมายความว่าได้ยิน ได้ยินมา เอวมฺเม สุตํ ไม่ใช่เสียง ไม่ใช่ว่า เอวมฺเม สุตํ เอกํ สมยํ ภควา ไม่ใช่ว่า สมัยหนึ่ง เสียงๆ

ผมได้ยินเช่นนี้เข้าผมก็ชักเขว ไปถามอาจารย์ที่เป็น ๙ ประโยค เขาอธิบายให้ฟังว่า ศัพท์นี้เป็นภาษามคธบาลี มีไวยากรณ์พิเศษ ภาษาบาลีไม่เหมือนภาษาไทย ทิฏฺฐํ เต็มรูปแบบคือ ทิฏฺฐํ รูปํ แล้วตัวเห็นแท้ๆ คือ คจฺฉติ ทิฏฺฐํ ท่านรู้ภาษาอังกฤษ ท่านบอกว่าเป็น Participle ของ คจฺฉติ เหมือน Seen เป็น Participle ของ See อะไรอย่างนี้ ผมก็รู้ภาษาอังกฤษอยู่เล็กๆ น้อยๆ ก็พอจะเข้าใจในไวยากรณ์ที่ท่านอธิบาย

ท่านบอกว่า ทิฏฺฐํ สิ่งที่เห็นมาแล้ว คือ รูป เป็นคุณศัพท์ ประกอบกับ รูปํ คือ รูปหรือสีที่ได้เห็นมาแล้ว ประกอบมาแล้ว ไม่ใช่ว่า คจฺฉติ เป็นเห็น

ไปหาอาจารย์อีกท่านหนึ่ง ผู้นี้เชี่ยวชาญในภาษามาก ภาษาอังกฤษเก่งมาก เป็นเปรียญ ๙ ประโยค อธิบายแจ่มแจ้ง ท่านบอกว่า เอวมฺเม สุตํ ไม่ใช่คำว่าฟัง หรือแปลอย่างที่อาจารย์ฝ่ายโน้นเขาแปล ตัวเต็มต้องมี อิทํเม และมี สุตฺ อยู่ด้วย เกิดจากการทำสังคายนา เมื่อพูดกันไปพูดกันมาถามว่า พระสูตรที่พระผู้มีพระภาคตรัสนั้นอยู่ที่ไหน จึงมีคำว่า เอวมฺเม สุตํ ขึ้น คือ หมายถึงพระสูตร

มาอธิบายง่ายๆ ถึงศัพท์ภาษาอังกฤษ เช่น ประโยคภาษาอังกฤษใช้คำว่า Stolen fruit หมายความว่า ผลมะม่วงที่ไปลักเขามา Stolen นี้เหมือนกับ ทิฏฐํ คือ คุณศัพท์ของมะม่วง คือ มะม่วงที่ลักเขามา เมื่ออธิบายให้ผมเข้าใจอย่างนี้ ผมก็นึกถึงความละเอียดของอาจารย์สุจินต์ที่ไปหาศัพท์ต่างๆ มีความสงสัยประการใดก็ไปถามคนโน้นคนนี้ คือ ไม่ใช่จะเชื่อภูมิตนเองว่า ฉันเข้าใจอย่างนี้แล้วก็เอามาอธิบาย เพราะฉะนั้น อาจารย์สุจินต์บอกว่า ดิฉันได้ไปหาเปรียญหลายท่าน ผู้รู้ในทางนี้บอกว่า ทิฏฺฐํ เป็นรูป เป็นสี ไม่ใช่เห็น เมื่อเป็นอย่างนี้แล้ว ผมว่า ปัญหาทิฏฺฐํ สุตํ น่าจะยุติ

คำว่า สุตํ ไม่ใช่เล่นๆ ในเรื่องวิปัสสนา อาจจะทำให้ผิดกันไป ทำให้ไขว้เขวในเรื่องวิปัสสนามาก ผมขอเสนอคำที่ผมไปค้นคว้ามาเพียงเท่านี้

สุ. ขอบคุณท่านผู้ฟังที่ต้องการความแจ่มแจ้งของธรรม และก็ได้สอบทาน พยัญชนะหลายแห่งหลายที่ ซึ่งถ้าท่านผู้ฟังมีความสนใจในพยัญชนะอื่นที่ได้บรรยายไปแล้วว่า จะคลาดเคลื่อนหรือถูกต้องประการใด ท่านก็ตรวจสอบได้ตลอดเวลา เพราะว่าสภาพธรรมนั้น นอกจากจะคงทนต่อการพิสูจน์แล้ว พยัญชนะที่ทรงใช้สำหรับพระธรรมวินัยนั้นก็เป็นพยัญชนะที่กระชับความหมายแน่นอนถูกต้อง ที่ทุกท่านซึ่งเป็นผู้รู้ก็ตรวจสอบได้


ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...

แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 171