ผมได้ฟังธรรมะของท่านอาจารย์ จับใจความได้ว่า
เวลาโกรธให้พิจารณาว่า ขณะนั้นจิตเป็นอกุศล และพยายามเห็นโทษของอกุศล เกิดความรังเกียจ เพื่อละความโกรธเสีย แต่มีความรู้สึกว่า เป็นการบีบบังคับจิตใจที่ต้องไปรังเกียจบางสิ่งบางอย่าง คือ ไม่มีการสอนให้เห็นว่า การที่เราโกรธเพราะเราไปยึดถือตัวตน มีมานะ บุคคลอื่นมาทำให้เราเสียหาย หรือเสียหน้า เป็นต้น หากเราเข้าใจ ไม่ยึดสิ่งดังกล่าว ความโกรธ ก็จะไม่มี
ถูกผิดอย่างไร ผมก็มือใหม่ ขอโปรด ท่านอาจารย์ หรือเพื่อนๆ สหายธรรมกรุณาให้ความแจ่มแจ้งด้วย จักขอบพระคุณยิ่งครับ
พระธรรมที่ทรงแสดงกับบุคคลต่างๆ ตลอด ๔๕ พรรษานั้น มีจำนวนมากมายมีนัยต่างๆ พุทธประสงค์เพื่อให้ผู้ฟังได้รู้ ได้เข้าใจความจริงในระดับต่างๆ สูงสุดคือเพื่อให้ดับกิเลส พ้นจากความทุกข์ทั้งปวง เป็นพระอรหันต์ บางท่านเมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วมีปัญญาดับกิเลสได้บางส่วน เป็นพระอนาคามี พระสกทาคามี พระโสดาบัน บางท่านไม่ได้บรรลุอะไร ได้เพียงเข้าใจพระธรรมบางส่วน เป็นคนดี เป็นกัลยาณปุถุชน อบรมเจริญปัญญา เพื่อบรรลุในชาติต่อไป
สรุปก็คือพระธรรมสอนให้รู้ความจริง เข้าใจความจริง แต่ผู้ฟังจะเข้าใจได้แค่ไหนอย่างไรก็แล้วแต่ปัญญาที่ได้สะสมมา ดังนั้นเรื่องของโทสะก็เช่นกัน ทรงแสดงให้ละ ให้บรรเทา ให้ดับ ให้เห็นโทษโดยประการต่างๆ และบางนัยก็แสดงว่า อวิชชาและตัณหาเป็นเหตุให้โทสะเกิด
ดังนั้นเบื้องต้น ต้องฟัง ต้องศึกษาให้เข้าใจธรรมะก่อนครับ ตัวเราจะไปละอะไรไม่ได้
เวลาโกรธก็ไม่ได้มีการบีบบังคับหรือสั่งให้โกรธครับ เช่นเดียวกันกับเวลาที่เกิดคิดพิจารณาถึงสภาพธรรมในขณะที่โกรธว่าเป็นอกุศล เป็นโทษ ควรละ แม้แต่การที่จะคิดอย่างนั้นก็ไม่ได้มีการบีบบังคับหรือสั่งให้คิดอย่างนั้นเช่นกันครับ แต่เป็นไปตามการสะสมมาทางฝ่ายกุศล อกุศลของแต่ละบุคคลจริงๆ โกรธเป็นอกุศลแน่นอน หลายคนทราบ แต่ทำไมยังดูเหมือนกับพอใจที่จะโกรธกันอยู่ บางคนก็โกรธบ่อยๆ เพราะเหตุว่า ยังไม่เกิดปัญญาที่เห็นความจริงว่า โกรธไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของผู้ใด เป็นธรรม เป็นอนัตตา ใครก็บังคับธรรมใดๆ ที่เป็นอนัตตา เช่นอกุศลธรรมไม่ให้เกิดไม่ได้ ถ้าหากยังมีเหตุปัจจัยจากกิเลสที่สะสมมาที่จะทำให้โกรธเกิด ก็จะต้องโกรธอยู่ และขณะที่กำลังโกรธนั้น ใครก็ไปเปลี่ยนสภาพที่โกรธให้เป็นอย่างอื่นไม่ได้อีกเช่นกัน แต่เมื่อโกรธดับไปแล้วต่างหาก หลังจากนั้น ถ้ามีเหตุปัจจัยให้กุศลจิตเกิด มีสติที่ระลึกได้ และปัญญาที่รู้ความจริงว่าที่กำลังโกรธนั้น เป็นสภาพธรรมที่ไม่สงบ ไม่ใช่จิตที่ดี เป็นจิตที่กำลังขุ่นมัว เป็นไปกับโทษภัย คือกิเลสอกุศล ก็ย่อมที่จะเริ่มเห็นโทษและย่อมที่จะพยายามบรรเทา หรือขจัดความโกรธที่จะเกิดต่อไปลงได้ จะมากหรือน้อยก็เป็นไปตามเหตุปัจจัยตามลำดับขั้นของปัญญา แต่ไม่มีใครไปบีบบังคับหรือสั่งให้เป็นอย่างนั้นตามใจชอบได้นะครับ เพราะถ้าสติไม่เกิด ปัญญาไม่เกิด ก็ย่อมจะไม่มีการพิจารณาในทางที่ถูกที่ควร ก็อาจจะยังคงโกรธต่อไปอยู่อย่างนั้น จนถึงกับอาจจะเป็นการผูกโกรธ มาดร้าย หรืออาจจะถึงขั้นประทุษร้ายต่อกันถึงชีวิตและทรัพย์สินก็เป็นได้ เพราะเหตุว่ายังไม่รู้จักความจริงของสภาพธรรมที่โกรธ จึงยังไม่เห็นโทษภัยจริงๆ ของความโกรธ จะเห็นว่า ทุกอย่างไม่ได้อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใครเลย ไม่ว่าโกรธแล้วจะเกิดโกรธต่ออีก หรือ โกรธแล้วจะคิดได้ คิดถูก ไม่โกรธอีก หรือโกรธแล้วจะคิดได้ คิดถูกแล้ว ก็ยังกลับมาโกรธได้อีก แต่สิ่งที่แน่นอน คือ เมื่อได้ฟังพระธรรมแล้วเกิดปัญญาความเข้าใจถูกในสภาพธรรมต่างๆ ก็ย่อมจะมีเหตุปัจจัย ให้ได้คิดพิจารณาถึงคุณของกุศลธรรม เช่น ความไม่โกรธ (เมตตา) ที่เป็นประโยชน์มากกว่าเพิ่มขึ้น ขอให้ศึกษาพระธรรมต่อไป เริ่มจากขั้นแรกคือ เพียงฟังให้เข้าใจขึ้นๆ ทีละเล็กทีละน้อยครับ อย่าเพิ่งไปละอะไร โดยที่ยังไม่เกิดความเข้าใจจริงๆ ในสิ่งที่คิดจะละนั้นครับ
ผู้ที่เจริญสติปัฏฐานจะรู้ว่าความโกรธเป็นธรรมะ ไม่ใช่เรา ต่างกับผู้ที่หลงลืมสติ โกรธ ก็เป็นเรา ห้ามไม่ให้โกรธก็ไม่ได้ เมื่อมีเหตุมีปัจจัยก็โกรธอีก เพราะเรายังไม่ใช่พระ อนาคามี แต่อบรมได้ ที่สำคัญปัญญารู้ว่าขณะไหนเป็นอกุศล ขณะไหนเป็นกุศลค่ะ
เพราะความโกรธนั้นเป็นอกุศลจิต อกุศลนั้นนำมาซึ่งโทษ ให้เห็นโทษของอกุศล จึงควรรังเกียจอกุศล ไม่ใช่เป็นการบีบบังคับค่ะแต่เป็นการให้มีความเข้าใจพระธรรม ว่าอกุศลทุกอย่างควรละ และควรที่จะอบรมเจริญกุศลทุกประการค่ะ
ขออนุโมทนาครับ