[เล่มที่ 57] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 113
๘. สกุณัคฆิชาดก
ว่าด้วยเหยี่ยวนกเขา
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 57]
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 113
๘. สกุณัคฆิชาดก
ว่าด้วยเหยี่ยวนกเขา
[๑๘๕] เหยี่ยวนกเขาบินโผลงด้วยกำลัง หมายใจว่า จะเฉี่ยวเอานกมูลไถ ซึ่งจับอยู่ที่ชายดงเพื่อหาเหยื่อ โดยฉับพลัน เพราะเหตุนั้นจึงถึงความตาย.
[๑๘๖] เรานั้นเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอุบาย ยินดีแล้วในโคจรอันเนื่องมาแต่บิดา เห็นอยู่ซึ่งประโยชน์ของตน จึงหลีกพ้นไปจากศัตรู ย่อมเบิกบานใจ.
จบ สกุณัคฆิชาดกที่ ๘
อรรถกถาสกุณัคฆิชาดกที่ ๘
พระศาสดาเมื่อประทับอยู่ ณ พระเชตวันมหาวิหาร ทรงปรารภพระสูตรว่าด้วยโอวาทของนก อันเป็นพระอัธยาศัยของพระองค์ ตรัสพระธรรมเทศนานี้มีคำเริ่มต้นว่า เสโน พลสา ปตมาโน ดังนี้.
ความพิสดารมีอยู่ว่า วันหนึ่งพระศาสดาตรัสเรียกภิกษุทั้งหลาย แล้วตรัสพระสูตรในมหาวรรคสังยุตต์นี้ว่า ดูก่อน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงเที่ยวไปในโคจรอันเป็นวิสัยของบิดาของตนแล้วตรัสว่า พวกเธอจงยกไว้ก่อนเถิด เมื่อก่อนแม้ดิรัจฉาน
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 114
ทั้งหลายก็ละวิสัยของตนแล้วเที่ยวไปในที่เป็นอโคจร ไปสู่เงื้อมมือของข้าศึก แต่รอดจากเงื้อมมือข้าศึกได้ ก็ด้วยความฉลาดในอุบาย เพราะตนมีปัญญาเป็นสมบัติ แล้วทรงนำเรื่องในอดีตมาเล่า.
ในอดีตกาล ครั้งพระเจ้าพรหมทัตเสวยราชสมบัติอยู่ในกรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์บังเกิดในกำเนิดนกมูลไถ อาศัยอยู่ในก้อนดินที่ทำการไถ. วันหนึ่งนกมูลไถนั้นละถิ่นที่หากินเดิมของตนไปท้ายดงด้วยคิดว่า จักหาอาหารในถิ่นอื่น ครั้งนั้นเหยี่ยวนกเขาเห็นนกมูลไถกำลังหาอาหารอยู่ จึงโฉบจับเอามันไป. เมื่อมันถูกเหยี่ยวนกเขาพาไป จึงคร่ำครวญอย่างนี้ว่า เราเคราะห์ร้ายมาก มีบุญน้อย เราเที่ยวไปในที่อโคจรอันเป็นถิ่นอื่น ถ้าวันนี้เราเที่ยวไปในที่โคจรอันเป็นถิ่นบิดาของตนแล้ว เหยี่ยวนกเขานี้ไม่พอมือเราในการต่อสู้. เหยี่ยวนกเขาถามว่า ดูก่อน นกมูลไถที่หาอาหารอันเป็นถิ่นบิดาของเจ้าเป็นอย่างไร. นกมูลไถตอบว่า คือที่ก้อนดินคันไถน่ะซิ. เหยี่ยวนกเขายังออมกำลังของมันไว้ จึงได้ปล่อยมันไปโดยพูดว่า ไปเถิดเจ้านกมูลไถ แม้เจ้าไปในที่นั้นก็คงไม่พ้นเราดอก. นกมูลไถบินกลับไปในที่นั้น ได้ขึ้นไปยังดินก้อนใหญ่ ยืนท้าเหยี่ยวว่า มาเดี๋ยวนี้ซิเจ้าเหยี่ยวนกเขา. เหยี่ยวนกเขามิได้ออมกําลังของมัน ลู่ปีกทั้งสองโฉบนกมูลไถทันทีทันใด. ก็เมื่อนกมูลไถรู้ว่า หยี่ยวนี้มาถึงเราด้วยกําลังแรง จึงบินหลบกลับเข้าไปในระหว่างก้อนดินนั้นเอง. เหยี่ยว
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 115
ไม่อาจยั้งความเร็วได้ จึงกระแทกอกเข้ากับก้อนดินในที่นั้นเอง. เหยี่ยวอกแตกตาถลนตายทันที.
พระศาสดา ครั้นทรงแสดงเรื่องในอดีตนี้แล้ว จึงตรัสว่า ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย แม้สัตว์เดียรัจฉานเที่ยวไปในที่อโคจรอย่างนี้ ยังถึงเงื้อมมือข้าศึก แต่เมื่อเที่ยวไปในถิ่นหาอาหารอันเป็นของบิดาของตน ก็ยังข่มข้าศึกเสียได้ เพราะฉะนั้น แม้พวกเธอก็จงอย่าเที่ยวไปในอโคจรซึ่งเป็นแดนอื่น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เมื่อพวกเธอเที่ยวไปในอโคจรอันเป็นแดนอื่น มารย่อมได้ช่อง มารย่อมได้อารมณ์ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อโคจรอันเป็นแดนอื่นของภิกษุคืออะไร คือกามคุณห้า กามคุณห้าเป็นไฉน กามคุณห้าคือ รูปที่รู้ได้ด้วยตา ๑ เสียงที่รู้ได้ด้วยหู ๑ กลิ่นที่รู้ได้ด้วยจมูก ๑ รสที่รู้ได้ด้วยลิ้น ๑ โผฏฐัพพะที่รู้ได้ด้วยกาย ๑ ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้แลเป็นอโคจรเป็นแดนอื่นของภิกษุ เมื่อทรงบรรลุอภิสัมโพธิญาณแล้ว จึงตรัสคาถาแรกว่า :-
เหยี่ยวนกเขาบินโผลงด้วยกำลัง หมายใจว่า จะเฉี่ยวเอานกมูลไถซึ่งจับอยู่ที่ท้ายดง เพื่อหาเหยื่อโดยฉับพลัน เพราะเหตุนั้นจึงถึงความตาย.
ในบทเหล่านั้น บทว่า พลสา ปตมาโน ความว่า เหยี่ยวโผลงด้วยกำลัง คือด้วยเรี่ยวแรงด้วยคิดว่า จักจับนกมูลไถ.
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ทุกนิบาตชาดก เล่ม ๓ ภาค ๓ - หน้า 116
บทว่า โคจรฏฺานิยํ ความว่า เหยี่ยวโฉบเอานกมูลไถ ซึ่งออกจากแดนของตน เที่ยวไปท้ายดงเพื่อหาอาหาร. บทว่า อชฺฌปฺปตฺโต ได้แก่โผลง. บทว่า เตนุปาคมิ ได้แก่ เหยี่ยวถึงแก่ความตาย ด้วยเหตุนั้น.
ก็เมื่อเหยี่ยวตาย นกมูลไถจึงออกมายืนบนอกของเหยี่ยวด้วยมั่นใจว่า เราชนะข้าศึกได้แล้ว เมื่อจะเปล่งอุทานจึงกล่าวคาถาที่สองว่า :-
เรานั้นเป็นผู้สมบูรณ์ด้วยอุบาย ยินดีแล้วในโคจรอันเนื่องมาแต่บิดา เห็นอยู่ซึ่งประโยชน์ของตน จึงหลีกพ้นไปจากศัตรู ย่อมเบิกบานใจ.
ในบทเหล่านั้นบทว่า นเยน ได้แก่อุบาย. บทว่า อตฺถมตฺตโน ได้แก่ ความเจริญ กล่าวคือ ความปลอดภัยของตน.
พระศาสดาทรงนำพระธรรมเทศนานี้มาแล้ว ทรงประกาศสัจธรรม ทรงประชุมชาดก. เมื่อจบสัจธรรม ภิกษุเป็นอันมากบรรลุโสดาปัตติผล เป็นต้น. เหยี่ยวในครั้งนั้นได้เป็นเทวทัตในบัดนี้ ส่วนนกมูลไถ คือเราตถาคตนี้แล.
จบ อรรถกถาสกุณัคฆิชาดกที่ ๘