ลักษณะของผู้มีปัญญาอย่างยิ่ง
โดย พุทธรักษา  8 ม.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 10865

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

สนทนาธรรมกับท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ถอดเทปโดย คุณย่าสงวน สุจริตกุล
ข้อความบางตอนจาก

มหาสกุลุทายีสูตร

พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า ดูกร อุทายีก็เรา จะหวังคำพร่ำสอน ในสาวกทั้งหลายก็หามิได้สาวก ทั้งหลายย่อมหวัง คำพร่ำสอนของเรา โดยแท้.

อุทายี ข้อที่สาวกของเรา สรรเสริญเราในเพราะ ปัญญา อันยิ่ง ว่าพระสมณโคดม ทรงมีพระปัญญาทรงประกอบด้วยปัญญาขันธ์ อย่างยิ่ง

ข้อที่ว่า พระสมณโคดมจักไม่ทรงเล็งเห็น ถ้อยคำ อันยังมาไม่ถึง หรือจักทรงข่ม คำโต้เถียงของฝ่ายอื่น ที่เกิดขึ้นแล้วให้เป็นการข่มได้ด้วยดี พร้อมทั้งเหตุไม่ได้ ดังนี้มิใช่ฐานะ ที่จะมีได้

นี้แล เป็นเหตุ ให้สาวก ทั้งหลาย ของเรา สักการะ เคารพนับถือ บูชา แล้วพึ่งเราอยู่
เมื่อเป็นพระปัญญาอันยิ่งแล้วที่ไม่สามารถจะแสดงธรรมให้คนอื่นเข้าใจได้นี้เป็นไปไม่ได้
เวลาที่คนอื่น ที่มีความเห็นผิด มากราบทูลถามแล้วพระผู้มีพระภาค ไม่สามารถที่จะตอบให้เข้าใจ แจ่มกระจ่างย่อมเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ เพราะว่าพระผู้มีพระภาค ทรงมีพระปัญญา อันยิ่งหมายความว่า ผู้ใดที่มีความเห็นผิดคัดค้าน "พระธรรม"ที่พระผู้มีพระภาค ทรงแสดง ด้วยประการใดๆ ก็ตามด้วยพระปัญญาอันยิ่งพระผู้มีพระภาคก็ ทรงแสดงธรรมชี้แจงให้บุคคลนั้น ได้เห็นว่า"ธรรมที่ถูกต้อง" เป็นอย่างไรนี่คือ ลักษณะของผู้มีปัญญา อย่างยิ่ง
ขออนุโมทนา

ขออุทิศกุศลแด่สรรพสัตว์



ความคิดเห็น 1    โดย choonj  วันที่ 9 ม.ค. 2552

แล้วเราก็ไม่มีโอกาสได้พบพระสมณโคดมผู้มีปัญญาอย่างยึ่งอีกแล้วต่อแต่นี้ แต่ก็ยังดี ยังมีคำสอนของพระสมณโคดมผู้มีปัญญาอย่างยิ่งเหลืออยู่ ครับ


ความคิดเห็น 2    โดย suwit02  วันที่ 9 ม.ค. 2552

สาธุ

ผมขอตั้งข้อสังเกตุว่า พุทธบริษัทจะเรียก พระสัมพุทธเจ้า ว่า พระศาสดา บ้าง พระผู้มีพระภาค บ้าง พระสุคต บ้าง แต่ไม่เรียกว่า พระสมณโคดม (เพราะ โคตม เป็นพระโคตร ของ พระศาสดา ไม่ควรที่สาวกจะใช้เป็นถ้อยคำเรียกพระศาสดา ประหนึ่งจะตีเสมอ) ผู้ที่เรียก พระสัมพุทธเจ้า ว่า พระสมณโคดม นั้น เป็นผู้ที่ยังไม่เสื่อมใส หรือเพิ่งจะประกาศความเลื่อมใสหลังจากได้สดับพระสัทธรรมเป็นครั้งแรก และเรียกไปตามที่เคยเรียกในตอนต้นของการสนทนา (ยังไม่บรรลุอริยผล)

หากผู้นั้นได้บรรลุอริยผลในการสดับครั้งแรกนั้น ท่านก็ไม่ใช้ถ้อยคำว่า โคตม ในขณะนั้นเลยทีเดียว ข้อสังเกตดังกล่าว เกิดจากการอ่านพระสูตรต่างๆ เท่านั้น ผมจึงอยากเรียนถามว่า มีธรรมเนียมในการเอ่ยพระนามพระศาสดา เช่นว่า จริงหรือไม่ ท่านอรรถกถาจารย์ เคยกล่าวถึงเรื่องนี้ไว้หรือไม่ อย่างไร

ขอบพระคุณครับ


ความคิดเห็น 3    โดย suwit02  วันที่ 13 ม.ค. 2552

หลังจากผมโพสต์ความเห็นที่ 2 แล้วผมลองตรวจดู ปรากฏว่า ในพระไตรปิฏก มีกรณีที่พระอริยสาวก เรียกพระศาสดาว่า พระสมณโคดม อยู่บ้างครับ

พระสุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต เล่ม ๓ - หน้าที่ 422

๔. การณปาลีสูตร

ว่าด้วยเหตุที่เลื่อมใสในพระพุทธเจ้า

[๑๙๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน ใกล้เมืองเวสาลี สมัยนั้น การณปาลีพราหมณ์ใช้คนให้ทำการงานของเจ้าลิจฉวีอยู่ ได้เห็นปิงคิยานีพราหมณ์เดินมาแต่ไกล ครั้นแล้วได้ถามว่า อ้อ ท่านปิงคิยานี มาจากไหนแต่ยังวัน (แต่วันนัก)

ปิงคิยานีพราหมณ์ตอบว่า ข้าพเจ้ามาจากสำนักพระสมณโคดม.

บทว่า ปิงฺคิยานึ พฺราหฺมณํ ได้แก่ พราหมณ์ ผู้เป็นอริยสาวก ตั้งอยู่ในอนาคามิผล จึงมีชื่ออย่างนี้

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 4    โดย suwit02  วันที่ 13 ม.ค. 2552

พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มัชฌิมปัณณาสก์ เล่ม ๒ ภาค ๑ - หน้าที่ 126

๖. อุปาลิวาทสูตร

ว่าด้วยอุปาลิคฤหบดี

ลำดับนั้น อุบาลีคฤหบดีมีธรรมอันเห็นแล้ว มีธรรมอันบรรลุแล้ว มีธรรมอัน รู้แจ้งแล้ว มีธรรมอันหยั่งลงมั่นแล้ว ข้ามวิจิกิจฉาแล้ว ปราศจากความเคลือบแคลง ถึงความเป็นผู้แกล้วกล้า ไม่ต้องเชื่อผู้อื่นในคำสอนของพระศาสดา ได้กราบทูล พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระพุทธเจ้าขอทูลลาไป ณ บัดนี้ ข้าพระพุทธเจ้ามีกิจมาก มีธุระที่จะต้องทำมาก. ดูก่อนคฤหบดี ท่านจงรู้กาลอันสมควร ณ บัดนี้เถิด.

[๗๕] ครั้งนั้นแล อุบาลีคฤหบดีชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคเจ้า แล้ว ลุกจากอาสนะ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทำประทักษิณแล้ว เข้าไปยัง นิเวศน์ของตน เรียกนายประตูมาว่า ดูก่อนนายประตูผู้สหาย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป เราปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์ และเปิดประตูเพื่อ พระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อสาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้าคือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ถ้านิครนถ์คนใดคนหนึ่งมา ท่านพึงว่ากะนิครนถ์คนนั้นอย่างนี้ว่า จงหยุดท่านผู้เจริญ อย่าเข้าไปเลย ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป อุบาลีคฤหบดีเข้าถึงความเป็นสาวกของพระสมณโคดมแล้ว ท่านปิดประตูแก่พวกนิครนถ์ แก่พวกนางนิครนถ์ ท่านเปิดประตูเพื่อพระผู้มีพระภาคเจ้า สาวกของพระผู้มีพระภาคเจ้า คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ท่านผู้เจริญ ถ้าท่านมีความต้องการด้วยอาหาร ท่านจงหยุดอยู่ที่นี่แหละ ชนทั้งหลายจักนำมาเพื่อท่านในที่นี้ นายประตูรับคำอุบาลีคฤหบดีแล้ว.


ความคิดเห็น 5    โดย michii  วันที่ 16 ม.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 6    โดย ajarnkruo  วันที่ 16 ม.ค. 2552

คำพูดที่เรียกขานกันนั้น ไม่สามารถที่จะประมาณได้ว่า บุคคลนั้นมีความเคารพในพระผู้มีพระภาคเจ้ามากน้อยเพียงใดครับ ข้อความด้านล่าง เป็นส่วนหนึ่งของคำที่พราหมณ์ใช้กล่าวพูดกับพระผู้มีพระภาคเจ้า (แปลเป็นไทย)

เวรัญชพราหมณ์ นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ได้ทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ท่านพระโคดม .......

พราหมณ์โปกขรสาติได้ทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ........

โสณทัณฑะตอบว่า ท่านผู้เจริญ เราคิดว่าจักไปเฝ้าพระสมณโคดมจริง

กูฏทันตพราหมณ์ได้กราบทูลคำนี้กะพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ... ขอพระโคดมผู้เจริญกับพระภิกษุสงฆ์จงทรงรับภัตตาหารของข้าพระองค์ในวันพรุ่งนี้.

พราหมณ์สุนีธะและวัสสการะ มหาอำมาตย์ของแคว้นมคธ ผู้นั่งอยู่ ณ ด้านหนึ่งแล ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้า ดังนี้ว่า ขอพระโคดมผู้เจริญ .........

ชาณุสโสณิพราหมณ์ ครั้นนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่งแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ .........

สุนทริกภารทวาชพราหมณ์ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่ท่านพระโคดมผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก .........

นาฬิชังฆพราหมณ์รับพระเสาวณีย์พระนางมัลลิกาแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคเจ้า ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่าข้าแต่พระโคดม ........


ความคิดเห็น 7    โดย suwit02  วันที่ 18 ม.ค. 2552

ขอบคุณครับ

ขอเชิญอ่านกระทู้ ...

การเรียกหรือกล่าว พระพุทธเจ้า เป็นคำอื่นจะได้ไหม


ความคิดเห็น 8    โดย opanayigo  วันที่ 28 ม.ค. 2552

อนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 9    โดย chatchai.k  วันที่ 17 ธ.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ