ใน ทุติยสมันตปาสาทิกาแปล สังฆาทิเสส สิกขาบทที่ ๑๐ ปฐมสังฆเภท สิกขาบทวรรณา แก้อรรถปฐมบัญญัติ เรื่องพระเทวทัต
พระเทวทัตทูลขอพระวโรกาส มีความว่า
ภิกษุทั้งหมดสมาทานอรัญญิกธุดงค์แล้ว จงเป็นผู้อยู่ป่าเป็นวัตร คือ จงอยู่แต่ในป่าเท่านั้นตลอดชีวิต
พระเทวทัตกล่าวด้วยความประสงค์ว่า ภิกษุใด คือ แม้ภิกษุรูปหนึ่งละป่าเข้าสู่เขตบ้าน เพื่อต้องการจะอยู่ โทษพึงต้องภิกษุนั้น คือ โทษจะต้องภิกษุนั้น ได้แก่ พระผู้มีพระภาคจงทรงปรับภิกษุนั้นด้วยอาบัติ แม้ในวัตถุที่เหลือ ก็มีนัยเหมือนกันนี้
ในวัตถุที่เหลือ ก็ในเรื่องของโคนไม้ เป็นต้น
พระประสงค์ของพระผู้มีพระภาคในข้อนี้มีว่า
กุลบุตรควรทราบความประสงค์ของพระผู้มีพระภาคแล้ว ทราบความสมควรแก่ตน
จริงอยู่ความประสงค์ของพระผู้มีพระภาคในคำว่า โย อิจฺฉติ เป็นต้นนี้ มีดังนี้
ภิกษุรูปหนึ่งมีอัธยาศัยใหญ่ มีอุตสาหะมาก ย่อมสามารถเพื่องดเสนาสนะใกล้แดนบ้านเสียแล้ว อยู่ในป่า กระทำที่สุดแห่งทุกข์ได้
ภิกษุรูปหนึ่งมีกำลังอ่อนแอ มีเรี่ยวแรงน้อย ย่อมไม่สามารถจะอยู่ในป่า กระทำที่สุดทุกข์ได้ สามารถกระทำที่สุดทุกข์ได้แต่ในคามเขตเท่านั้น
รูปหนึ่งมีกำลังมาก มีธาตุเป็นไปสม่ำเสมอ สมบรูณ์ด้วยอธิวาสนขันติ มีจิตคงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ย่อมสามารถทั้งในป่า ทั้งในเขตบ้านได้ทั้งนั้น
รูปหนึ่งไม่อาจทั้งในเขตบ้าน ทั้งในป่า คือ เป็นปทปรมบุคคล
บรรดาภิกษุเหล่านั้น ภิกษุนี้ใดมีอัธยาศัยใหญ่ มีอุตสาหะมาก ย่อมสามารถเพื่องดเสนาสนะใกล้แดนบ้านเสียแล้ว อยู่ในป่า กระทำที่สุดทุกข์ได้ ภิกษุรูปนั้นจงอยู่ในป่าเท่านั้นเถิด การอยู่ในป่านี้สมควรแก่เธอ แม้พวกสัทธิวิหาริกเป็นต้นของเธอ ศึกษาตามอยู่ จักสำคัญข้อที่ตนควรอยู่ในป่าด้วย
อนึ่ง ภิกษุรูปใดมีกำลังอ่อนแอ มีเรี่ยวแรงน้อย ย่อมอาจจะกระทำที่สุดทุกข์ได้ในแดนบ้านเท่านั้น ในป่าไม่อาจ ภิกษุนั้นจงอยู่แต่ในเขตบ้านเท่านั้นก็ได้
ส่วนภิกษุรูปใดซึ่งมีกำลังแข็งแรง มีธาตุเป็นไปสม่ำเสมอ สมบูรณ์ด้วยอธิวาสนขันติ มีจิตคงที่ในอิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ย่อมอาจทั้งในป่า ทั้งในแดนบ้านทีเดียว แม้รูปนี้จงละเสนาสนะใกล้แดนบ้านเสียแล้ว อยู่ในป่าเถิด การอยู่ในป่านี้สมควรแก่เธอ แม้พวกสัทธิวิหาริกเป็นต้นของเธอ เมื่อศึกษาตามอยู่ จักสำคัญข้อที่ตนควรอยู่ในป่า
ส่วนภิกษุนี้ใดซึ่งไม่อาจกระทำที่สุดทุกข์ได้ คือ ไม่อาจที่จะบรรลุมรรคผลได้ทั้งในแดนบ้าน ไม่อาจทั้งในป่า เป็นปทปรมบุคคล แม้รูปนี้ก็จงอยู่ในป่านั้นเถิด เพราะว่าการเสพธุดงคคุณ และการเจริญกัมมัฏฐานนี้ของเธอ จักเป็นอุป-นิสสัยเพื่อมรรคและผลต่อไปในอนาคต แม้พวกสัทธิวิหาริกเป็นต้นของเธอ เมื่อศึกษาตามอยู่ จักสำคัญข้อที่ตนควรอยู่ป่า ฉะนี้แล
ภิกษุนี้ใดซึ่งเป็นผู้มีกำลังอ่อนแอ มีเรี่ยวแรงน้อยอย่างนี้ เมื่ออยู่ในแดนบ้านเท่านั้น จึงอาจเพื่อจะทำที่สุดทุกข์ได้ ในป่าไม่อาจ พระผู้มีพระภาคทรงหมายถึงบุคคลเช่นนี้ จึงตรัสว่า
ภิกษุใดปรารถนา ภิกษุนั้นจงอยู่ในแดนบ้านเถิด ดังนี้ และบุคคลนี้ได้ให้ช่อง แม้แก่คนเหล่าอื่น
ก็ถ้าว่า พระผู้มีพระภาคพึงทรงรับรองวาทะของพระเทวทัตไซร้ บุคคลนี้ใดซึ่งมีกำลังอ่อนแอ มีเรี่ยวแรงน้อยตามปกติ ถึงบุคคลใดสามารถอยู่ในป่าสำเร็จได้ แต่ในเวลายังเป็นหนุ่ม ต่อมาในเวลาแก่ตัวลง หรือในเวลาเกิดธาตุกำเริบ เพราะลมและดีเป็นต้น อยู่ป่าไม่สำเร็จ แต่เมื่ออยู่ในแดนบ้านเท่านั้น จึงอาจกระทำที่สุดทุกข์ได้ บุคคลเหล่านั้นจะพึงสูญเสียอริยมรรคไป ไม่พึงบรรลุอรหัตตผลได้ สัตถุศาสน์นี้จะพึงกลายเป็นนอกธรรม นอกวินัย ยุ่งเหยิง ไม่เป็นไปเพื่อนำออกจากทุกข์ และพระศาสดาจะพึงเป็นผู้มิใช่พระสัพพัญญูของบุคคลจำพวกนั้น ทั้งจะพึงถูกตำหนิติเตียนว่า ทรงทิ้งวาทะของพระองค์เสีย ไปตั้งอยู่ในวาทะของพระเทวทัต ดังนี้
เพราะฉะนั้น พระผู้มีพระภาค เมื่อจะทรงสงเคราะห์บุคคลทั้งหลายผู้เห็นปานนี้ จึงทรงปฏิเสธวาทะของพระเทวทัตในเรื่องแห่งภิกษุผู้ถือเที่ยวบิณฑบาตเป็นวัตร ถือผ้าบังสุกุลเป็นวัตร ผู้ถืออยู่โคนไม้เป็นวัตร พึงทราบวินิจฉัยโดยอุบายนี้นั้นแล
แสดงให้เห็นว่า การอยู่ป่าจริงๆ ยากลำบากมาก เฉพาะบางท่านที่มีอัธยาศัยใหญ่ มีอุตสาหะมาก มีกำลังแข็งแรง มีเรี่ยวแรงมาก จึงจะอยู่ในป่าและกระทำที่สุดทุกข์ได้ แต่ส่วนบุคคลอื่นนั้นไม่สามารถที่จะอยู่ในป่า อยู่ในบ้านก็กระทำที่สุดทุกข์ได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ทรงรับรองวาทะของพระเทวทัต
ที่มา และ อ่านเพิ่มเติม ...
แนวทางเจริญวิปัสสนา ตอนที่ 152