ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
เนื่องจาก หัวข้อของการสนทนาในวันนั้น คือ "การศึกษาพระธรรมในชีวิตประจำวัน" ในตอนแรก ท่านอาจารย์ จึงได้สนทนาให้พระคุณเจ้า เห็นถึง ความสำคัญ และ จุดประสงค์ที่แท้จริงของการศึกษาพระธรรม ที่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ และทรงแสดงไว้ โดยสรุปก็คือ เนื่องจากพระธรรมที่ทรงตรัสรู้นั้น มีความละเอียด ลึกซึ้ง รู้เห็นตามได้ยาก ผู้ศึกษาต้องไม่ประมาท ต้องเป็นผู้ที่รอบคอบ พิจารณา ไตร่ตรอง ให้เข้าใจความลึกซึ้ง ของธรรมะ และ เพื่อให้มีความเห็นถูก เข้าใจถูก ในพระธรรมที่ทรงแสดง
...
ขอเชิญคลิกอ่านความเดิมในตอนที่แล้วได้ที่นี่ครับ ...
ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๑ ธ.ค. ๕๓ ตอน ๑ ...
และ อันดับต่อไปนี้ เป็นการสนทนา ที่ต่อเนื่องจากตอนที่แล้ว โดย ท่านอาจารย์ และ อาจารย์ คำปั่น ได้สนทนา ให้พระคุณเจ้า เข้าใจถึงความหมายของคำว่า "ธรรมะ" และ ปรมัตถธรรม ซึ่งได้สนทนาไว้อย่างกว้างขวาง น่าสนใจ และ เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เพื่อให้พระคุณเจ้าได้เห็นถึงความละเอียด ลึกซึ้ง แม้เพียงคำว่า "ธรรมะ" ครับ
อ. สงบ อาจารย์คำปั่น มีอะไรจะเพิ่มเติมจากท่านอาจารย์ ไหมครับ?
อ.คำปั่น กราบนมัสการพระคุณเจ้าที่เคารพทุกท่านนะครับ วันนี้ ก็เป็นโอกาสดี ที่ท่านอาจารย์ สุจินต์ บริหารวนเขตต์ และ กระผมเอง มีโอกาสได้มาสนทนาธรรมะ ซึ่ง ก็ควรที่จะพิจารณาใช่ไหมครับว่า "ธรรมะ" คือ อะไร?
ซึ่งพระคุณเจ้า ก็คงจะคุ้นกับคำว่า "ธรรมะ" เป็นอย่างดี แต่เมื่อพิจารณาจริงๆ แล้ว ธรรมะนั้น มีความละเอียดลึกซึ้งเป็นอันมาก เพราะเหตุว่า แสดงถึงความจริง ทุกอย่าง ทุกประการ และประการสำคัญ ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงบำเพ็ญพระบารมีมาตลอดระยะเวลา สี่อสงไขยแสนกัปป์ ซึ่งเป็นระยะเวลาที่นานมาก ก็เพื่อที่จะตรัสรู้ ความจริงเหล่านี้ หรือว่า ตรัสรู้ธรรมะเหล่านี้
..ซึ่งเมื่อพระองค์ทรงตรัสรู้แล้ว ก็ทรงมีพระมหากรุณาที่จะเกื้อกูลผู้อื่น ให้ได้เข้าใจ "ธรรมะ" ตามความเป็นจริง อย่างที่พระองค์ ทรงได้ตรัสรู้แล้ว พระองค์ก็ได้แสดงพระธรรมตลอดระยะเวลา ๔๕ พรรษา เวลาพักผ่อนของพระองค์ในแต่ละวัน น้อยมาก เวลาพักผ่อนน้อยมากจริงๆ เพื่ออะไร? เพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่สัตว์โลก เพื่อให้สัตว์โลกนั้น ได้เข้าใจธรรมะ ได้เข้าใจความจริง ตามความเป็นจริง ...
... เพราะฉะนั้น พระพุทธศาสนา เป็นศาสนาของท่านผู้รู้ ผู้รู้ในที่นี้ก็คือ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเป็นบุคคลผู้เลิศที่สุดในโลก ผู้ประเสริฐที่สุดในโลก ไม่มีใครที่จะประเสริฐ เท่าพระองค์เลย เมื่อเป็นคำสอนของท่านผู้รู้ ต้องอาศัย "การฟัง" "การศึกษา" เท่านั้น ถึงจะ "เข้าใจ" การฟังที่ประเสริฐที่สุดในชีวิต ก็คือ การฟังพระธรรม เพราะเหตุว่า การฟังพระธรรมในแต่ละครั้งนั้น เป็นไปด้วยความรู้ ความเข้าใจธรรมะ ที่ถูกต้อง
... ซึ่งเมื่อสักครู่นี้ ท่านอาจารย์ ก็ได้กล่าวว่า ชีวิตที่เกิดมานั้น ทุกคนเกิดมาแล้วต้องตาย ไม่ว่าจะเป็นใคร เป็นเด็ก เป็นผู้ใหญ่ เป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย เป็นเพศใดก็ตาม ไม่มีใครรอดพ้นจากความตายไปได้เลย แม้แต่คนเดียว ไม่มีใครรอดพ้นไปได้ ช่วงเวลาที่สำคัญที่สุด ในชีวิต คืออะไร? เมื่อเกิดมาเป็นมนุษย์ อะไร? คือ สาระ อะไร? คือประโยชน์ที่สำคัญที่สุด ในชีวิต?
ถ้าพิจารณาดู ในแต่ละวันๆ ความสุขที่ได้รับจากอาหารอร่อยๆ ผ่านไปแล้ว แต่ละมื้อๆ เรื่องราวต่างๆ ที่ได้ยินได้ฟังก็ผ่านไปด้วย หมดไปแล้ว ไม่ใช่สาระ เลย เพราะว่าไม่สามารถที่จะติดตามไปได้ถึงภพหน้า ถึงโลกหน้าได้ เพราะว่าเกิดแล้วก็ดับไปแต่สิ่งที่จะเป็นสาระจริงๆ ของชีวิตก็คือ ความรู้ ความเข้าใจธรรมะ ความรู้ ความเข้าใจ สิ่งที่จริง สิ่งที่กำลังมีการปรากฏ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น สาระสำคัญที่สุดของชีวิต ก็คือ การได้เข้าใจความจริง ได้เข้าใจ "ธรรมะ" ซึ่งเป็นคำสั่งสอน ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าฯ ทรงแสดงไว้
เพราะฉะนั้น โอกาสนี้ ก็เป็นโอกาสดี ที่พระคุณเจ้าจะมีโอกาสได้สนทนา ได้สอบถามปัญหาในสิ่งที่เคยสงสัย เพื่อที่จะได้ คลายความสงสัยนั้นลงไป และเพื่อประโยชน์ ในการเผยแพร่พระธรรมคำสอนในทางที่ถูกต้อง ต่อพุทธบริษัทต่อไป เพราะเหตุว่า พระคุณเจ้านั้น ก็เป็นบุคคลสำคัญ เป็นบริษัทหนึ่ง ในพุทธบริษัท ที่จะเผยแพร่ พระธรรม คำสอน ไปสู่ อุบาสก อุบาสิกา ได้
เพราะฉะนั้น ก็ต้องเริ่มที่ตัวบุคคล ที่จะเผยแพร่ ว่าจะสะสมความรู้ ความเข้าใจอย่างไร? จึงจะเป็นที่พึ่ง ให้กับบุคคลเหล่านั้นได้ ก็ต้องเริ่มที่แต่ละบุคคลแต่ละท่าน ก็เป็นโอกาสดี ถ้าหากว่า มีข้อสงสัยอะไร เชิญถามได้นะครับ
อ.สงบ ครับ ขออนุญาตท่านอาจารย์ ตอนนี้มีคำถามแล้วนะครับ คำถามก็คือว่า ธรรมะในชีวิตประจำวัน คือ อย่างไร? เมื่อกี้นี้พูดถึงความตาย เป็นธรรมะ ในชีวิตประจำวันใช่ไหม? เกิด-ดับ ก็เป็นสิ่งที่ปรากฏ สิ่งที่ปรากฏ คือ อะไร? สิ่งที่ปรากฏ เป็นธรรมะ ในชีวิตประจำวันใช่หรือไม่? ขออนุญาตกราบเรียนถามครับ
ท่านอาจารย์ ค่ะ เวลาที่ใช้คำว่า "ธรรมะ" ไม่ใช่การกล่าวลอยๆ หรือคิดว่า "เข้าใจแล้ว" เพราะว่า ทุกคนเคยได้ยินคำนี้ บ่อยครั้ง แต่ตามความเป็นจริง ต้องเป็น "ความเข้าใจที่ชัดเจน"
เมื่อกล่าวถึง "ธรรมะ" เดี๋ยวนี้ มี ธรรมะ หรือเปล่า? ไม่ใช่เป็นชื่อ แต่ต้องเป็นสิ่งที่กำลังมี จริงๆ ในขณะนี้ เพราะฉะนั้น ที่กล่าวว่า ชีวิตประจำวันทั้งหมด ก็ต้องเป็นธรรมะ เพราะว่า ไม่มีอะไรหนีพ้นจากธรรมะเลยสักอย่างเดียว เพราะฉะนั้น ถ้าได้ยินอย่างนี้ นะเจ้าคะ ธรรมะ คือ สิ่งที่มีจริง ชีวิตมีจริง เกิดมา ตายไป ก็จริง ทุกอย่างก็จริง แต่ก็ยังคร่าว ยังไม่สามารถที่จะ เข้าใจได้ชัดเจน
เพราะฉะนั้น ก็ต้องละเอียด แล้วก็ชัดเจนกว่านั้นว่า เมื่อกล่าวถึง ว่า ธรรมะ คือ ทุกสิ่งที่มีจริง ขณะนี้ มีธรรมะ หรือ ไม่มี? นี่ก็ เริ่มคิด เจ้าค่ะ เพื่อที่จะเป็น "ปัญญา" ของตนเอง แล้วต้องเป็นผู้ที่ตรงด้วย ถ้ากล่าวว่า ธรรมะ คือสิ่งที่มีจริง ตลอดชีวิตเป็นธรรมะ ทั้งหมด ก็ต้องกล่าวว่า ขณะนี้ มีธรรมะไหม? ต้องมี เมื่อขณะนี้เป็นธรรมะ ... อะไร? เป็นธรรมะ ในขณะนี้? ต้องละเอียดลงไปทุกครั้ง "เห็น" ขณะนี้ มีจริง กำลังเห็น เป็นธรรมะหรือเปล่า?
..โดยมาก ไม่ได้คิดถึงชีวิตประจำวัน ซึ่งเมื่อลืมตาตื่นขึ้นมา ก็มีสิ่งที่ปรากฏทางตาให้เห็น มีเสียง ที่ปรากฏให้ได้ยิน เป็นเรื่องเป็นราวต่างๆ เพราะฉะนั้น คำที่จะรู้จักโลกนี้ มี ๖ คำ คือ ถ้ามีตาเมื่อไหร่ แล้วก็มีสิ่งที่กระทบตา ก็มีการเห็นเมื่อนั้น แต่ถ้าขณะใดที่ไม่มีตา จะมีการเห็น ไม่ได้เลย "ตา" ก็เป็นธรรมะ เป็นสิ่งที่มีจริง "เห็น" ก็เป็นธรรมะ เป็นสิ่งที่มีจริง สิ่งที่ปรากฏให้เห็น ก็เป็นสิ่งที่มีจริง การคิดถึง รูปร่างสัณฐาน ของสิ่งที่ปรากฏและเรื่องราวต่างๆ ก็เป็นสิ่งที่มีจริง นี่เฉพาะทางเดียว เจ้าค่ะ คือ ทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย โดยนัยเดียวกัน ทางใจ แม้ไม่มีตา ไม่มีหู ไม่มีจมูก ไม่มีลิ้น ไม่มีกาย แต่ก็มี ใจคิด ด้วยเหตุนี้ ธรรมะ ก็คือ ชีวิตประจำวัน
... แต่ถ้า "เผิน" ก็คือว่า ไม่รู้จักว่า ขณะนี้เป็นธรรมะ ... ซึ่งเมื่อกี้นี้ ก็มีคำที่ว่า ธรรมะที่เกิด ก็ต้องดับไป แต่ขณะนี้ ยังไม่รู้ว่า เห็นขณะนี้เกิด จึงเห็นแล้วก็ดับ ขณะที่ได้ยิน ไม่ใช่เห็น เพราะฉะนั้น ขณะที่ ได้ยิน "ได้ยิน" ต้องเกิด จึงมีเสียงปรากฏ ได้ยินเสียงนั้น แล้วก็ดับ แล้วเสียงก็ดับ นี่คือ การจะเข้าใจธรรมะ ที่ได้ยิน ค่อยๆ ละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น
อ.สงบ ท่านอาจารย์คำปั่น มีอะไรจะเสริมไหมครับ?
อ.คำปั่น ครับ ชีวิตก็เป็น ธรรมะ นะครับ ชีวิตประจำวัน เป็นธรรมะ เพราะเหตุไร จึงเป็นธรรมะ เพราะว่า ไม่พ้นจาก สิ่งที่มีจริงเลย ใช่ไหม? "ธรรมะ" หมายถึง สิ่งที่มีจริง ทรงไว้ซึ่ง "ลักษณะ" ของตนๆ ไม่เปลี่ยนแปลงลักษณะ เมื่อสักครู่ ท่านอาจารย์ก็ได้ยกตัวอย่างของ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น สัมผัส พวกนี้ เป็นธรรมะ เป็นการเกิดขึ้นของ สภาพธรรมะ คือ "จิต" สภาพธรรมะที่เป็นใหญ่เป็นประธาน ในการรู้แจ้ง อารมณ์ และ สภาพธรรมะ ที่เกิดร่วมกับจิตในขณะนั้น ซึ่งก็คงจะได้สนทนา ในรายละเอียดต่อไป
เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ธรรมะ สิ่งที่มีจริงนั้น ไม่พ้นไปจาก สิ่งที่จริง ๔ อย่าง สิ่งแรก ก็คือ "จิต" สภาพธรรมะ ที่เป็นใหญ่ เป็นประธานในการรู้แจ้งอารมณ์ ประการที่ ๒ คือ สภาพธรรมะ ที่เกิดร่วมกับจิต ดับพร้อมกับจิต รู้อารมณ์เดียวกันกับจิต และ อาศัยที่เกิดที่เดียวกันกับจิต สำหรับในภูมิที่มีขันธ์ ๕ เรียกว่า "เจตสิก" สภาพธรรมะ ที่ ๓ สิ่งที่มีจริง อย่างที่ ๓ ก็คือ "รูป" สภาพธรรมะที่ ไม่รู้อารมณ์ อย่างเช่น สิ่งที่ปรากฏทางตา "เสียง" ที่ปรากฏทางหู "กลิ่น" ที่ปรากฏทางจมูก เป็นต้น เป็น "รูปธรรม" หรือ "รูปปรมัตถ์" ประการที่ ๔ สิ่งที่มีจริง อย่างที่ ๔ คือ "พระนิพพาน" เป็นสภาพธรรมะ ที่ไม่เกิด ไม่ดับ ผู้ที่จะประจักษ์แจ้ง พระนิพพาน ต้องเป็นพระอริยบุคคลแต่ละขั้นๆ เท่านั้น
... เพราะฉะนั้น สิ่งที่มีจริงทั้งหมด ไม่พ้นไปจาก สิ่ง ๔ ประการนี้ ไม่พ้นไปจาก จิต เจตสิก รูป และ พระนิพพาน เลย แต่ว่า สภาพธรรมะที่มีจริงในชีวิตประจำวัน ไม่พ้นไปจาก จิต เจตสิก และ รูป ส่วน พระนิพพาน นั้น ยังไม่ถึง เพราะว่า ผู้ที่จะถึงพระนิพพานได้นั้น ต้องเป็นผู้ที่มี "ปัญญา" คมกล้า จาการสะสมปัญญา ที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้นไปตามลำดับ จึงจะมีโอกาสประจักษ์แจ้ง พระนิพพาน ได้ พระนิพพาน ยังอยู่ห่างไกล การบรรลุ พระนิพพาน นั้น ยังอยู่ห่างไกล แต่ สิ่งที่มีจริง นั้น ในขณะนี้ ควรรู้ ควรศึกษา ให้เข้าใจ เพราะว่า ธรรมะ ทุกอย่างนี้ ปฏิเสธ ความเป็นตัวตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เพราะเหตุว่า ธรรมะ แต่ละอย่างๆ นั้น เป็นสิ่งที่มีจริง แต่ละอย่างๆ ที่เกิดขึ้น เป็นไป เท่านั้น ไม่ใช่ "เรา" ไม่ใช่ "ของใคร" เลย เป็นแต่เพียง "ธรรมะ" ที่ เกิดขึ้น เป็นไป เท่านั้น
... อย่างเช่น "กุศลจิต" กุศลจิตนี้ เป็นสภาพจิต เป็นสภาพธรรมะ ที่ดีงาม เกิดขึ้น เป็นไป ในชีวิตประจำวัน เป็นไปในเรื่องของ "ทาน" การให้วัตถุสิ่งของที่เป็นประโยชน์สุขแก่ผู้อื่น การงดเว้น จากทุจริต ประการต่างๆ หรือแม้กระทั่ง ในขณะนี้กำลัง "ฟังพระธรรม" ฟัง "ความจริง" คือ "กุศลจิต" ที่เกิดขี้น เป็นไป ถามว่า กุศลจิตนั้น เป็นธรรมะไหม? ก็เป็นธรรมะ เพราะเป็นสิ่งที่มีจริง
สิ่งที่มีจริงเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ควรศึกษา ควรรู้ ควรเข้าใจจริงๆ เพราะเป็นสิ่งที่ประเสริฐ จริงๆ อย่างที่เรียนให้ทราบแล้ว ก็คือ ความรู้ ความเข้าใจ สิ่งที่มีจริง หรือว่า เข้าใจธรรมะนั่นเอง ไม่ว่าจะเป็นอะไร ก็ควรจะศึกษา ให้ "เข้าใจ" จริงๆ ว่า ขณะนี้ อะไรที่เป็น ธรรมะ ชีวิตประจำวัน ไม่พ้นไปจากธรรมะ ใช่ไหม? ก็ ควรจะ "ฟัง" ควรที่จะ "ศึกษา" ให้ "เข้าใจ" เพื่อความรู้ ความเข้าใจ จริงๆ
อ. สงบ มีคำถาม ที่จะกราบเรียนถาม ก็คือว่า เห็น เราก็เห็น ได้ยิน เราก็ได้ยิน ได้กลิ่น ลิ้มรส ถูกต้อง สัมผัส ที่ว่า เป็นธรรมะ เป็นธรรมะอย่างไร?
ท่านอาจารย์ ทุกคำที่ได้ยิน "เผิน" ไม่ได้เลย เจ้าค่ะ เมื่อกี้นี้ ได้ยินคำว่า "ธรรมะ" แล้วก็กล่าวถึง สภาพที่มีจริงๆ ไม่ว่า จะเป็นสิ่งหนึ่ง สิ่งใดก็ตาม ทั้งหมด ไม่พ้นจาก สภาพที่เป็นจิต เป็นเจตสิก เป็นรูป ส่วน นิพพาน มีจริง แต่ว่าแสนไกล เพราะเหตุว่า ไม่ได้ปรากฏในขณะนี้ เพียงเท่านี้ ยังไม่ได้เข้าใจอะไรเลย เจ้าค่ะ เพียงแต่ว่า ได้ยินคำ ได้ยินชื่อ ได้ยินเรื่อง เพราะฉะนั้น จึงมีคำถาม เรื่องการเห็น ว่า เป็นธรรมะอย่างไร? "เห็น" มีจริง เพราะฉะนั้น "เห็น" ต้องเป็นสิ่งที่มีจริง ในภาษาไทย ซึ่งภาษาบาลี จะใช้คำว่า ธรรมะ หรือ ธาตุ หรือ ธา-ตุ สิ่งที่มีจริง ซึ่งมีลักษณะที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้เลย เกิดแล้ว จึงได้ปรากฏ เช่น ขณะนี้ ถ้าเห็นไม่เกิด จะไม่มีเห็น ในขณะนี้ ถ้าได้ยินไม่เกิดขึ้น ได้ยินก็ไม่มีในขณะนี้
อ.สงบ เห็นแล้วก็ดับ ได้ยินแล้วก็ดับ ได้กลิ่นแล้วก็ดับ กระทบสัมผัส แล้วก็ดับไป โดยสรุปว่า เป็นธรรมะ มีคำถามๆ มาว่า ในภาคปฏิบัติ ต้องทำอย่างไร จึงจะทำให้เขา เข้าใจได้มากขึ้น
...
ขออภัยครับ กำลังเข้าสู่คำถามยอดฮิตเลยนะครับ ขออนุญาต นำเสนอต่อ ในตอนหน้านะครับ
" ... ผู้ใดถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ เป็นสรณะ ผู้นั้นย่อมเห็นอริยสัจ ๔ ด้วยปัญญาอันชอบ คือเห็นทุกข์ ทุกขสมุทัย ทุกขนิโรธ และ อริยมรรคประกอบด้วยองค์ ๘ ซึ่งให้ถึงความสงบทุกข์ นั่นแล เป็นสรณะอันเกษม นั่นเป็นสรณะสูงสุด ผู้อาศัยสรณะนี้ ย่อมพ้นจากทุกข์ทั้งปวง ดังนี้ ... " พระสุตตันตปิฎก เอกนิบาต-ทุกนิบาต เล่ม ๑ ภาค ๒ - หน้าที่ 331
กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์
คุณคำปั่น อักษรวิลัย และ ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกท่านด้วยครับ
ขอเชิญคลิกอ่านตอนอื่นๆ ทั้งหมด ได้ที่ลิงก์ด้านล่าง ...
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๑ ธ.ค. ๕๓ ตอน ๑
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๑ ธ.ค. ๕๓ ตอน ๓
- ณ กาลครั้งหนึ่ง ที่ มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ๑๑ ธ.ค. ๕๓ ตอน ๔ [ตอนจบ]
แล้วต้องเป็นผู้ที่ตรงด้วย ถ้ากล่าวว่า ธรรมะ คือสิ่งที่มีจริง ตลอดชีวิตเป็นธรรมะ ทั้งหมด
ก็ต้องกล่าวว่า ขณะนี้ มีธรรมะไหม? ต้องมี
เมื่อขณะนี้เป็นธรรมะ...อะไร? เป็นธรรมะ ในขณะนี้? ต้องละเอียดลงไปทุกครั้ง
"เห็น" ขณะนี้ มีจริง กำลังเห็น เป็นธรรมะหรือเปล่า?
กราบอนุโมทนาท่านอาจารย์
อ.คำปั่น คุณวันชัย และ
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านด้วยค่ะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาทุกท่านค่ะ
ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ ปรารภความเพียรเพื่อละเสียซึ่งอกุศลธรรมทั้งหลาย
เพื่อยังกุศลธรรมให้ถึงพร้อม แข็งขันบากบั่นมั่นคงไม่ทอดธุระในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ อย่างนี้แล ภิกษุชื่อว่า เป็นผู้มีเพียร * * * * * * * * * *
ขอกราบอนุโมทนาทุกท่าน ค่ะ
ขออนุโมทนาในกุศลจิต และกุศลเจตนาของทุกท่านครับ
ขออนุโมทนาในกุศลจิต และกุศลเจตนาของทุกท่านครับ?
ขอเจริญพรและอนุโมทนาในความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
ม.มมร รุ่นที่ ๔๒ ปี ๒๕๓๘
BOONKMH
มุกดาหาร
กราบอนุโมทนาท่านอจ.สุจินต์ อจ.คำปั่นและทุกๆ ท่านค่ะ
กราบอนุโมทนาค่ะ
ขอบพระคุณและขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาทุกท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กราบเท้าบูชาคุณท่านอาจารย์ ด้วยความเคารพยิ่ง
ยินดีในกุศลจิตครับ