[เล่มที่ 26] พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 140
๕. ภูมิชสูตร
ว่าด้วยสุขและทุกข์
อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 26]
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 140
๕. ภูมิชสูตร
ว่าด้วยสุขและทุกข์
[๗๙] พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี. ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเย็น ท่านพระภูมิชะ ออกจากที่เร้น เข้าไปหาท่านพระสารีบุตรถึงที่อยู่ ครั้นแล้วได้สนทนาปราศรัยกับท่านพระสารีบุตร ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นนั่งเรียบร้อยแล้วได้กล่าวกะท่านพระสารีบุตรดังนี้ว่า ท่านสารีบุตร มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้กล่าวกรรมย่อมบัญญัติว่า สุขและทุกข์ตนทำเอง อนึ่ง มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้กล่าวกรรมย่อมบัญญัติว่า สุขและทุกข์ผู้อื่นทำให้ มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้กล่าวกรรมย่อมบัญญัติว่า สุขและทุกข์ตนทำเองด้วย ผู้อื่นทำให้ด้วย อนึ่ง มีสมณพราหมณ์พวกหนึ่งผู้กล่าวกรรมย่อมบัญญัติว่า สุขและทุกข์เกิดขึ้นเอง เพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 141
มิใช่ผู้อื่นกระทำให้ ท่านสารีบุตร ในวาทะทั้ง ๔ นี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าของเราทั้งหลายตรัสไว้อย่างไร ตรัสบอกไว้อย่างไร พวกเราพยากรณ์อย่างไร จึงจะชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว จะไม่พึงกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ จะไม่พึงถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้.
[๘๐] ท่านพระสารีบุตรตอบว่า ดูก่อนอาวุโส พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า สุขและทุกข์เป็นของอาศัยเหตุเกิดขึ้น สุขและทุกข์อาศัยอะไรเกิดขึ้น สุขและทุกข์อาศัยผัสสะเกิดขึ้น บุคคลผู้กล่าวดังนี้ จึงจะชื่อว่าเป็นผู้กล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสแล้ว ไม่กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเจ้าด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ ก็จะไม่พึงถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้.
ดูก่อนอาวุโส ในวาทะทั้ง ๔ นั้น แม้สุขและทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ตนทำเอง ย่อมเกิดขึ้นเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ฯลฯ แม้สุขและทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า เกิดขึ้นเพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้ ก็ย่อมเกิดขึ้นเพราะผัสสะเป็นปัจจัย.
ดูก่อนอาวุโส ในวาทะทั้ง ๔ นั้น พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมย่อมบัญญัติว่า สุขและทุกข์ตนทำเอง เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยสุขและทุกข์ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฯลฯ พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมย่อมบัญญัติว่า สุขและทุกข์เกิดขึ้นเพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้ เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยสุขและทุกข์ ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 142
[๘๑] ท่านพระอานนท์ได้ยินท่านพระสารีบุตรสนทนาปราศรัยกับท่านพระภูมิชะ ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้าแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง แล้วได้ทูลถ้อยคำสนทนาของท่านพระสารีบุตร กับท่านพระภูมิชะ เท่าที่มีมาแล้วทั้งหมดแด่พระผู้มีพระภาคเจ้า.
[๘๒] พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ดีละๆ อานนท์ ตามที่สารีบุตรพยากรณ์ ชื่อว่าพึงพยากรณ์โดยชอบ ดูก่อนอานนท์ เรากล่าวว่าสุขและทุกข์เป็นของอาศัยเหตุเกิดขึ้น สุขและทุกข์อาศัยอะไรเกิดขึ้น สุขและทุกข์อาศัยผัสสะเกิดขึ้น บุคคลผู้กล่าวดังนี้ จึงจะชื่อว่าเป็นอันกล่าวตามที่เรากล่าวแล้ว ไม่กล่าวตู่เราด้วยคำไม่จริง และพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม ทั้งการคล้อยตามวาทะที่ถูกไรๆ ก็จะไม่พึงถึงฐานะอันวิญญูชนจะติเตียนได้.
ดูก่อนอานนท์ ในวาทะทั้ง ๔ นั้น แม้สุขและทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า ตนทำเอง ย่อมเกิดขึ้นเพราะผัสสะเป็นปัจจัย ฯลฯ แม้สุขและทุกข์ที่พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า เกิดขึ้นเพราะอาศัยการที่มิใช่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้ ก็ย่อมเกิดขึ้นเพราะผัสสะเป็นปัจจัย.
ดูก่อนอานนท์ ในวาทะทั้ง ๔ นั้น พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า สุขและทุกข์ ตนทำเอง เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยสุขและทุกข์ ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้ ฯลฯ พวกสมณพราหมณ์ซึ่งเป็นผู้กล่าวกรรมบัญญัติว่า สุขและทุกข์เกิดขึ้น เพราะอาศัยการที่ตนเองกระทำ มิใช่ผู้อื่นกระทำให้ เว้นผัสสะเสีย เขาย่อมเสวยสุขและทุกข์ ดังนี้ มิใช่ฐานะที่จะมีได้.
[๘๓] ดูก่อนอานนท์ เมื่อกายมีอยู่ สุขและทุกข์อันเป็นภายใน
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 143
ย่อมบังเกิดขึ้น เพราะความจงใจทางกายเป็นเหตุ เมื่อวาจามีอยู่ สุขและทุกข์อันเป็นภายใน ย่อมบังเกิดขึ้น เพราะความจงใจทางวาจาเป็นเหตุ หรือว่า เมื่อใจมีอยู่ สุขและทุกข์อันเป็นภายใน ย่อมบังเกิดขึ้นเพราะความจงใจทางใจเป็นเหตุ.
ดูก่อนอานนท์ เพราะอวิชชาเป็นปัจจัยนั่นแหละ บุคคลย่อมปรุงแต่งกายสังขาร ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้น ด้วยตนเองบ้าง บุคคลย่อมปรุงแต่งกายสังขาร ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้น เพราะผู้อื่นบ้าง บุคคลรู้สึกตัว ย่อมปรุงแต่งกายสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นบ้าง บุคคลไม่รู้สึกตัว ย่อมปรุงแต่งกายสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นบ้าง.
ดูก่อนอานนท์ บุคคลย่อมปรุงแต่งวจีสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นด้วยตนเองบ้าง บุคคลย่อมปรุงแต่งวจีสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นเพราะผู้อื่นบ้าง บุคคลรู้สึกตัว ย่อมปรุงแต่งวจีสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นบ้าง บุคคลไม่รู้สึกตัว ย่อมปรุงแต่งวจีสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นบ้าง.
ดูก่อนอานนท์ บุคคลย่อมปรุงแต่งมโนสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นด้วยตนเองบ้าง บุคคลย่อมปรุงแต่งมโนสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นเพราะผู้อื่นบ้าง บุคคลรู้สึกตัว ย่อมปรุงแต่งมโนสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นบ้าง บุคคลไม่รู้สึกตัว ย่อมปรุงแต่งมโนสังขารซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้นบ้าง.
ดูก่อนอานนท์ อวิชชาแทรกอยู่แล้วในธรรมเหล่านี้.
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 144
[๘๔] ดูก่อนอานนท์ ก็เพราะอวิชชาดับด้วยสำรอกโดยไม่เหลือ กายซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้น จึงไม่มี วาจาซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้น จึงไม่มี ใจซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้น จึงไม่มี เขต [ความจงใจเป็นเหตุงอกงาม] ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้น จึงไม่มี วัตถุ [ความจงใจอันเป็นที่ประดิษฐาน] ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้น จึงไม่มี อายตนะ [ความจงใจอันเป็นปัจจัย] ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้น จึงไม่มี หรืออธิกรณ์ [ความจงใจอันเป็นเหตุ] ซึ่งเป็นปัจจัยให้สุขและทุกข์อันเป็นภายในเกิดขึ้น จึงไม่มี.
จบภูมิชสูตรที่ ๕
อรรถกถาภูมิชสูตรที่ ๕
ในภูมิชสูตรที่ ๕ พึงทราบวินิจฉัย ดังต่อไปนี้.
คำว่า ภูมิชะ เป็นชื่อของพระเถระนั้น.
คำที่เหลือแม้ในสูตรนี้ ก็พึงทราบโดยนัยที่กล่าวไว้แล้วในสูตรต้นๆ.
ส่วนความแผกกันมีดังนี้.
ก็เพราะเหตุที่สุขทุกข์นี้มิใช่เกิดขึ้นเพราะผัสสะเป็นปัจจัยอย่างเดียวเท่านั้น กรรมเมื่อบุคคลกระทำย่อมทำด้วยกายบ้าง ด้วยวาจาบ้าง ด้วยใจบ้าง ทำด้วยตนเองบ้าง บุคคลอื่นทำบ้าง ทำด้วยมีสัมปชัญญะบ้าง ทำด้วยไม่มีสัมปชัญญะบ้าง ฉะนั้น เพื่อจะทรงแสดงปัจจัยที่แผกกันแม้อย่างอื่นๆ ของกรรมนั้น จึงตรัสว่า หานนฺท สติ เป็นต้น.
บทว่า กายสญฺเจตนาเหตุ แปลว่า เพราะเหตุแห่งเจตนาที่เกิดขึ้นในกายทวาร.
แม้ในวจีสัญเจตนาและมโนสัญเจตนาก็นัยนี้เหมือนกัน.
บรรดาทวารเหล่านั้น ในกายทวารได้เจตนา ๒๐
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 145
ด้วยอำนาจกุศลและอกุศลส่วนกามาวจร. ในวจีทวารก็เหมือนกัน. ในมโนทวารเจตนา ๒๐ กับรูปเจตนาและอรูปเจตนา ๙ ได้เจตนา ๒๙. ในทวารทั้ง ๓ จึงมีเจตนา ๖๙. ทรงแสดงสุขทุกข์ส่วนวิบาก ที่มีเจตนานั้นเป็นปัจจัย.
คำว่า อวิชฺชาปจฺจยาว นี้ ตรัสไว้เพื่อทรงแสดงว่าเจตนาแม้เหล่านั้น ก็ย่อมมีอวิชชาเป็นปัจจัย.
แต่เพราะเหตุที่บุคคลอันผู้อื่นมิได้ชักจูง ย่อมกระทำกรรมนั้นที่เป็นกายสังขาร วจีสังขาร และนโนสังขาร ต้องด้วยเจตนาตามที่กล่าวแล้ว ด้วยทั้งจิตที่เป็นอสังขาริกเองก็มี. ถูกผู้อื่นใช้ให้กระทำ ก็กระทำด้วยทั้งจิตที่เป็นสสังขาริกก็มี. ย่อมกระทำกรรมชื่อนี้ วิบากของกรรมนั้น จักมีชื่อเห็นปานนี้ บุคคลรู้กรรมและวิบากดังที่กล่าวมานี้ จึงกระทำก็มี. รู้กรรมอย่างเดียวเท่านั้น เหมือนทารกเมื่อบิดามารดากระทำการไหว้พระเจดีย์ เป็นต้น ก็กระทำตาม แต่เขาไม่รู้วิบากว่า นี้เป็นวิบากของกรรมนี้ กระทำไปก็มี ฉะนั้น เพื่อทรงแสดงกรรมนั้น จึงตรัสว่า สามํ วา ตํ อานนฺท กายสงฺขารํ อภิสงฺขโรติ เป็นต้น.
บทว่า อิเมสุ อานนฺท ธมฺเมสุ ความว่า ดูก่อนอานนท์ เจตนาธรรม ๒๗๖ ที่เรากล่าวในฐานะ ๔ มี สามํ วา ตํ อานนฺท กายสงฺขารํ เป็นต้น บรรดาธรรมเหล่านี้ อวิชชาตกไปตามโกฏิอุปนิสัย ก็ธรรมเหล่านั้น แม้ทั้งหมด ย่อมสงเคราะห์ลงในข้อนี้ว่า อวิชฺชาปจฺจยา สงฺขารา เพราะอวิชชาเป็นปัจจัย จึงมีสังขาร ดังนี้.
บัดนี้ เมื่อจะทรงแสดงวิวัฏฏะ จึงตรัสว่า อวิชฺชาย เตฺวว ดังนี้ เป็นต้น.
บทว่า โส กาโย น โหติ ความว่า เมื่อกายใดมีอยู่ สุขทุกข์ภายใน ที่มีกายสัญเจตนาเป็นปัจจัย ก็เกิดขึ้น. กายนั้นไม่มี.
แม้ในวาจาและมนะก็นัยนี้นี่แหละ.
อนึ่ง เจตนากาย ชื่อว่ากาย เจตนาวาจา แม้
พระสุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย นิทานวรรค เล่ม ๒ - หน้า 146
ก็ชื่อว่าวาจา. กรรมมโนนั่นแล แม้ก็ชื่อว่ามนะ.
อีกนัยหนึ่ง ทวารกายชื่อว่ากาย. แม้ในวาจาและมนะ ก็นัยนี้เหมือนกัน.
พระขีณาสพ ย่อมไหว้พระเจดีย์ กล่าวธรรม ใส่ใจกัมมัฏฐาน.
ถามว่า กายกรรมเป็นต้นของพระขีณาสพ ไม่มีอย่างไร.
ตอบว่า เพราะกรรมนั้นไม่มีวิบาก.
จริงอยู่ กรรมที่พระขีณาสพทำ ไม่เป็นกุศล ไม่เป็นอกุศล ไม่มีวิบาก ตั้งอยู่เพียงเป็นกิริยา. ด้วยเหตุนั้น จึงกล่าวว่า กายกรรมเป็นต้นเหล่านั้น ของพระขีณาสพนั้นไม่มี.
พึงทราบวินิจฉัยในคำว่า เขตฺตํ น วา โหติ เป็นต้น ดังนี้.
กรรมนั้น ไม่เป็นเขต เพราะอรรถว่า งอกผล. ไม่เป็นวัตถุ เพราะอรรถว่า เป็นที่ตั้ง. ไม่เป็นอายตนะ เพราะอรรถว่า เป็นปัจจัย. ไม่เป็นอธิกรณ์ เพราะอรรถว่า เป็นเหตุ.
ความจริง สุขทุกข์ภายในอันมีเจตนาใดเป็นมูล พึงเกิดขึ้น. สัญเจตนานั้น ไม่เป็นเขต ไม่เป็นวัตถุ ไม่เป็นอายตนะ ไม่เป็นอธิกรณ์ แห่งสุขทุกข์นั้น เพราะไม่มีผลประโยชน์ มีการงอกผลเป็นต้นเหล่านั้น.
ในพระสูตรนี้ ตรัสสุขทุกข์เท่านั้นในเวทนา เป็นต้น. ก็สุขทุกข์นั้นแล เป็นวิบากอย่างเดียวแล.
จบอรรถกถาภูมิชสูตรที่ ๕