มุสาวาท
โดย JANYAPINPARD  26 พ.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 12489

[เล่มที่ 17] พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ เล่ม ๑ ภาค ๑ หน้า ๕๕๐

แก้มุสาวาท

กายประโยคหรือวจีประโยค ที่หักรานประโยชน์ (ผู้อื่น) ของผู้มุ่งจะพูดให้ผิดชื่อว่า มุสา เจตนาของผู้พูดให้ผิดต่อผู้อื่น ด้วยประสงค์จะให้เข้าใจผิด มีกายประโยคและวจีประโยค เป็นสมุฏฐาน ชื่อว่า มุสาวาท อีกนัยหนึ่ง เรื่องไม่จริงไม่แท้ ชื่อว่า มุสา (เรื่องเท็จ) การให้ (ผู้อื่น) เข้าใจเรื่องเท็จนั้น ว่าเป็นเรื่องจริง เรื่องแท้ ชื่อว่า วาทะ (การพูด) แต่โดยลักษณะ เจตนาของผู้ประสงค์จะให้ผู้อื่นเข้าใจเรื่องที่ไม่จริงว่าเป็นเรื่องจริง อันเป็นสมุฏฐานแห่งวิญญัติ (การเคลื่อนไหว) อย่างนั้น ชื่อว่า มุสาวาท (การพูดเท็จ)

มุสาวาทนั้น มีองค์ประกอบ ๔ อย่าง คือ

เรื่องไม่จริง ๑

ตั้งใจพูดให้ผิด ๑

พยายามพูด ๑

ผู้อื่นเข้าใจเนื้อความนั้น ๑

มุสาวาทนั้น ชื่อว่า มีโทษน้อย เพราะประโยชน์ที่ตนหักรานมีจำนวนน้อย ชื่อว่า มีโทษมาก เพราะประโยชน์ที่ตนหักรานมีจำนวนมาก

อีกอย่างหนึ่ง สำหรับคฤหัสถ์ มุสาวาทที่เป็นไปแล้ว โดยนัยมีอาทิว่าไม่มี เพราะไม่ประสงค์จะให้ของๆ ตน (แก่คนอื่น) มีโทษน้อย ที่กล่าวเบิกพยานเพื่อหักล้างประโยชน์ (ของคู่ความ) มีโทษมาก สำหรับบรรพชิต มุสาวาทที่เป็นไปแล้วโดยนัยแห่งบูรณากถา (พูดให้เต็มความหรือเล่นสำนวน) ว่าวันนี้น้ำมันในบ้านเห็นจะไหลเป็นแม่น้ำนะ ด้วยความประสงค์จะให้หัวเราะ เพราะได้น้ำมันหรือเนยใสน้อยไป มีโทษน้อย แต่ของผู้พูดโดยนัยมีอาทิว่า สิ่งที่ไม่ได้เห็นเลย ว่าได้เห็น มีโทษมาก



ความคิดเห็น 1    โดย suwit02  วันที่ 26 พ.ค. 2552

สาธุ


ความคิดเห็น 2    โดย Komsan  วันที่ 14 ส.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 3    โดย chatchai.k  วันที่ 13 พ.ย. 2563

ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น