ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย
สนทนาธรรมกับท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์ ถอดเทปโดย คุณย่าสงวน สุจิตกุล
ท่านผู้ฟัง เขียนมาถามข้อหนึ่ง มีใจความว่าขอเรียนถามว่า ขณะนั่งก็ดี นอนก็ดี แล้วกำหนดว่า นั่งหนอ ถูกหนอ หมายถึง ก้นถูกต้องพื้น แล้วมีอาการเกร็ง ประดุจการยืนยันว่า กำลังถูกอยู่อาการนั้นเรียกว่าอะไรคะ สติเกิดหรือเปล่าคะ
ท่านอาจารย์ ไม่ทราบว่าทำอะไร จึงไม่ทราบว่า สติเกิดหรือเปล่า การเจริญสติปัฏฐานถ้าไม่รู้ "ลักษณะของสติ"ก็เจริญ "สติ" ปัฏฐาน ไม่ได้ เพราะฉะนั้น ก่อนอื่นปัญญาที่จะเกิดขึ้น ต้องตามลำดับตั้งแต่ ปัญญา ขั้นการฟังแล้วตามด้วย ปัญญา ขั้นความเข้าใจจนถึงขั้น การเจริญสติปัฏฐาน
ก่อนที่จะอบรม เจริญ สติปัฏฐานหรือ ก่อนที่สติจะเกิดได้ก็จะต้องมีการฟัง การพิจารณาสิ่งที่ได้ยินได้ฟังเมื่อได้ฟังเรื่องของ "สภาพธรรมที่เป็นสติ" ควรเข้าใจก่อนว่า "สติ" คือ อย่างไร ควรเข้าใจก่อนว่า "สติ" มีกี่ขั้น
"สติขณะใด" เป็นไปในทาน
"สติขณะใด" เป็นไปในศีล
"สติขณะใด" เป็นไปในความสงบของจิต
"สติขณะใด" เป็นไปในขั้นของ สติปัฏฐาน
"สติ" ที่เป็นไปในขั้นของสติปัฏฐาน สติขณะนั้น ระลึกรู้ "ลักษณะ" ของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ในขณะนั้นตามความเป็นจริงไม่ผิดปกติ แล้วที่ทำอยู่ ที่ว่านั่ง แล้วกำหนดว่า นั่งหนอ ถูกหนอผิดปกติหรือเปล่า ก้นถูกพื้นแล้ว มีอาการเกร็ง ประดุจยืนยันว่า กำลังถูกอยู่ผิดปกติ หรือ เป็นปกติ อาการเกร็งที่ว่า เดี๋ยวนี้ กำลังเกร็งหรือเปล่า เดี๋ยวนี้ไม่เกร็ง เป็นปกติ เป็นธรรมชาติ ปัญญารู้ลักษณะของสภาพธรรมที่กำลังปรากฏ ตามความเป็นจริงได้ว่า ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตนโดยไม่ต้อง "เกร็ง" อย่างนี้ จึงจะเป็น ปัญญา ถ้าผิดปกติ แล้วคิดเอง ว่ารู้ความจริงแล้วละก็ ขณะที่เป็นปกติ ก็จะไม่สามารถรู้ความจริงได้ ที่จะเป็นปัญญาที่รู้ความจริงนั้น คือ รู้ความจริงตามปกติ อย่าลืมคำว่า "ปกติ"
ขณะนี้ เป็นปกติอย่างไร สิ่งที่ยาก ก็คือ ปัญญา จะต้องรู้แจ้งแทงตลอด รู้ชัดในความเป็นธรรมชาติที่ปรากฏเดี๋ยวนี้ ขณะนี้ และไม่ผิดปกติ จึงจะเป็น "ปัญญา" จริงๆ เพราะผิดปกติ จึงเกิดความสงสัยว่า "ขณะนั้น เป็นสติหรือเปล่า" ปัญญาจะเกิด โดยเริ่มจากการรู้ว่าขณะใด มีสติ ขณะใด หลงลืมสติ ต้องรู้ความต่างกันของขณะที่มีสติ และขณะที่หลงลืมสติ เสียก่อน
แม้ว่าสติจะเกิดไม่มาก ไม่บ่อย ก็ไม่เป็นไรถ้ามี "ความเห็นถูก" ในความหมายของ "สติ" จึงจะเป็น "เหตุ" ให้สามารถที่จะรู้ได้ว่าขณะใดมีสติ ขณะใดหลงลืมสติ.นี่คือสิ่งที่สำคัญมากที่สุด เพราะแม้ว่าจะไปคิดว่า แหม เกร็งเสียนาน รู้เสียมาก แต่ผิดปกติไปหมด เป็นการเสียเวลามากที่สุด เพราะว่า แม้ขณะนั้น ก็ไม่เกิดความไม่รู้ ว่าเป็นสติหรือเปล่า เพราะว่า กำลังผิดปกติ จึง "ไม่รู้" เป็นเรื่องสำคัญมาก คือความเข้าใจ ต้องเกิดขึ้นตามลำดับขั้นอย่ารีบร้อนไปให้มีสติเยอะๆ แล้วผิดปกติแล้วไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย นอกจากเป็น "ความเข้าใจผิด" และเมื่อสะสมความเข้าใจผิดมากขึ้นๆ ก็เคยชินกับการปฏิบัติผิด จากความเข้าใจผิด มากขึ้นๆ แล้วก็ยากต่อการ "ไถ่ถอน" ความเห็นผิดว่า นั่นไม่ใช่ "ปัญญา" ที่แท้จริง เพราะปัญญาจริงๆ ต้อง "รู้ลักษณะของสภาพธรรม" ที่กำลังปรากฏ ในขณะนี้ ตามปกติจริงๆ
ขออนุโมทนา
สาธุ
ขออนุโมทนาครับ
ขออนุโมทนาครับ
ความคิดเห็นผมเห็นว่า
การดูจิต ตามรู้จิต ที่กำลังฮิตๆ กันตอนนี้ ผมว่าก็เป็นการผิดปรกติในชีวิตประจำวันนะครับ เพราะท่านที่สอนเขาเน้นย้ำว่าไม่ให้คิด ให้รู้อย่างเดียว คิดได้นิดหน่อย แต่ให้รู้มากหน่อย พอใครฟังธรรมหรือศึกษาธรรมมากๆ ก็หาว่าเป็นการเอาข้อธรรมมาคิดจนปิดบังจิตรู้ ถ้าไม่ได้ฟังท่านอาจารย์สุจินต์ ผู้เป็นมารดาทางธรรมของกระผม ก็ไม่รู้ว่าผมจะกลับใจได้อย่างไรเลย แต่พอฟังแล้วเหมือนการหงายของที่คว่ำอยู่จริงๆ
การไม่เข้าใจพระธรรมแล้วไปลัดขั้นตอนด้วยความต้องการอย่างละเอียด (ซึ่งโลภะนั้นรู้ตามได้ยาก) นี่ยากจะไถ่ถอนจริงๆ ครับ
ขอกราบนอบน้อมอนุโมทนาทุกท่านในมูลนิธิศึกษาและเผยแพร่พระพุทธศาสนา
ขออนุโมทนาครับ
ส่วนใหญ่จะไม่รู้ว่าสติมีหลายขั้น พอรู้จักคำว่าสติก็รู้แต่ว่ามีหรือไม่มี และเมื่อไม่มี ก็จะให้มี เลยพยายามทำให้มีขึ้น จึงเป็นการปฎิบัติผิด แล้วก็หลงทางยากต่อการที่จะเข้าทางที่ถูก ความเชื่อที่ว่าฟังให้เข้าใจก่อนไม่ต้องไปทำอย่างอื่นมันไม่ง่าย เลยคอยที่จะหาทางอยู่เรื่อยๆ แล้วสติก็เป็นอนัตตาต้องเกิดเองแต่ใจร้อนก็เลยยิ่งยากใหญ่ครับ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ