โทสะ เป็นสภาพธรรมที่หยาบกระด้าง ดุร้าย โทสะมีหลายระดับ โทสะอ่อนๆ ได้แก่ ความรู้สึกหงุดหงิด ขุ่นเคืองใจ รำคาญ หมั่นไส้ โทสะมากก็จะร้องไห้หรือแสดงกิริยาอาการจะประทุษร้าย หากโทสะรุนแรง ก็สามารถจะทำร้ายตนเองและผู้อื่นได้ขณะที่เกิดโทสะ กาย วาจา จะหยาบกระด้าง จะแสดงกิริยาที่ไม่น่าดู เช่น กระแทกกระทั้น มีสีหน้าบึ้งตึง ถ้ามีโทสะที่รุนแรงมากก็อาจประทุษร้าย (ทุบ ตี) ผู้อื่น หรือฆ่าได้
โลภะ เป็นเหตุให้เกิดโทสะ กล่าว คือ เมื่อไม่ได้ในสิ่งตนต้องการจึงเกิดโทสะหลายคนเห็นโทษของโทสะ รู้ว่าโทสะไม่ดี ไม่อยากให้ตนเองมีโทสะ ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้เลย เพราะการจะละโทสะได้ก็ต่อเมื่อละโลภะในสิ่งต่างๆ ได้แล้วเท่านั้น
เพราะโลภะเป็นแดนเกิดของโทสะ ละโลภะได้เมื่อใดก็ละโทสะได้เมื่อนั้นมีใครคิดว่าจะละโลภะบ้าง มีใครไม่อยากได้เงิน มีใครไม่อยากได้ตำแหน่ง มีใครไม่อยากได้รถยนต์ดีๆ บ้านสวยๆ บ้าง จะเห็นว่าเป็นไปไม่ได้เลยที่คนธรรมดาเช่นพวกเราจะละโลภะได้ เมื่อละโลภะไม่ได้ก็ย่อมละโทสะไม่ได้ ผู้ที่สามารถละโทสะได้ ต้องบรรลุคุณธรรมขั้นพระอนาคามีแล้วเท่านั้น
ปัจจัยอีกประการหนึ่งที่ทำให้เกิดโทสะ คือ โมหะ ความไม่รู้ ความไม่เข้าใจในธรรม ถ้าไม่มีความรู้เรื่องของกรรม วิบาก เหตุและผล โทสะอาจเกิดได้ง่ายๆ เมื่อกระทบกับอารมณ์ที่ไม่ดี ไม่น่าพอใจ เช่น เห็นคนที่เราไม่ชอบในการกระทำบางอย่างของเขาหรือได้ยินเสียงแตรที่รถคันอื่นบีบไล่หลัง หรือรับประทานอาหารที่รสชาติไม่อร่อยเหตุการณ์ต่างๆ เหล่านี้ เกิดขึ้นได้เสมอในชีวิตประจำวัน ทำให้เราเกิดความรู้สึก หงุดหงิด รำคาญใจ บางคนก็อาจระงับโทสะไว้ไม่ได้ อาจจะแสดงออกอย่างใดอย่าง หนึ่งทางกายหรือวาจา อันจะเป็นเหตุให้เกิดเรื่องราวที่ใหญ่โตตามมาในภายหลังได้
หนังสือ กรรมคำตอบของชีวิต
หน้า ๑๐ และ ๑๑
โดย อัญญมณี มัลลิกะมาส
โทสะอกุศลเจตสิกเป็นเหตุปัจจัย โทสะเป็นสังโยชน์เบื้องต่ำเป็นเครื่องผูกให้อยู่ในสังสารวัฎฎ์ เมื่อเป็นเหตุและเป็นเครื่องผูก ก็ต้องทำให้อกุศลกรรมเกิด ครับ
เพราะไม่รู้ความจริงว่า กิเลสที่เกิดขึ้นแต่ละขณะนั้น เบียดเบียนแล้วอยู่ภายในเบียดเบียนให้ติด เบียดเบียนให้โกรธ เบียดเบียนให้โศกถูกกิเลสทำร้ายมาเนิ่นนานในสังสารวัฏฏ์แม้ในขณะนี้ กิเลสก็ทำให้ไม่รู้ว่า "ตัวจริงของกิเลส"เป็นอนัตตา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ตัวตนอย่างไรการอบรมเจริญปัญญาเท่านั้นเป็นหนทางเดียวที่จะทำให้รู้จักกิเลสตามความเป็นจริง
...ขออนุโมทนาครับ...
ในชีวิตประจำวันเมื่อไม่ได้อารมณ์ที่น่ารักน่าพอใจก็เกิดความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ เป็นลักษณะของโทสะซึ่งจะสะสมสืบต่อไปในจิตขณะต่อๆ ไปจนมีกำลังมากขึ้นจนเป็น ปัจจัยให้กระทำอกุศลกรรมได้ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจนั้นสาเหตุมาจากการ ไม่ได้สิ่งที่ติดข้องต้องการจึงเป็นทุกข์ โลภะจึงเป็นเหตุให้เกิดโทสะ และความไม่รู้ คือโมหะ ไม่รู้ในลักษณะสภาพธรรมที่กำลังปรากฎก็ยึดในสภาพธรรมต่างๆ ว่าเป็นสัตว์ เป็นบุคคล ตัวตน และสิ่งต่างๆ เมื่อไม่ได้สิ่งที่ชอบใจสิ่งที่ปราถนาก็เกิดโทสะ จึงต้องอบรมความรู้ ความเข้าใจในลักษณะสภาพธรรมตรงตามความเป็นจริงว่าเป็นเพียง ลักษณะสภาพธรรมแต่ละอย่างไม่ใช่เรา
ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านค่ะ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
ความโกรธ ความขุ่นเคืองใจ ความไม่พอใจ ความหงุดหงิด ไม่สบายใจ เป็นกิเลส เป็นอกุศลธรรม เป็นสภาพธรรมที่มีจริง เกิดขึ้นเมื่อได้เหตุได้ปัจจัย ไม่อยู่ในอำนาจบังคับบัญชาของใคร โดยส่วนมากแล้วบุคคลทั้งหลายไม่ชอบโทสะ ไม่อยากให้โทสะเกิด เพราะเกิดแล้ว ไม่สบายใจ แต่จะทำอย่างไรได้ เพราะเกิดแล้วตามเหตุตามปัจจัย (เมื่อยังไม่ได้เป็นพระอนาคามีบุคคล ความโกรธย่อมเกิดขึ้นเป็นธรรมดา เนื่องจากว่าได้สั่งสมกิเลสประเภทนี้มานับชาติไม่ถ้วน) แต่กิเลสไม่ได้มีเพียงโทสะเท่านั้นกิเลสทุกประเภท น่ากลัวเป็นอย่างยิ่ง (ไม่ใช่เฉพาะโทสะเท่านั้นที่น่ากลัว) จึงน่าคิดพิจารณาเป็นอย่างยิ่ง และที่สำคัญ ไม่มีทางอื่นเลยที่จะทำให้เข้าใจสภาพธรรมที่กำลังปรากฏตามความเป็นจริง ว่าเป็นธรรม ไม่ใช่เรา ได้ นอกจากการฟังพระธรรม ศึกษาพระธรรมอบรมเจริญปัญญา สั่งสมความเข้าใจถูกเห็นถูก ไปทีละเล็กทีละน้อย ซึ่งเป็นการเริ่มต้นที่ถูกต้อง เพราะเหตุว่าการที่จะบรรลุถึงความเป็นผู้ดับโทสะ รวมถึงกิเลสประการอื่นๆ ได้นั้น ไม่ใช่เรื่องง่าย และไม่ใช่เรื่องรวดเร็ว หนทางยังอีกยาวไกล จึงต้องเริ่มที่การอบรมเจริญปัญญา ครับ
...ขออนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
มีหนทางเดียวคือฟังธรรมให้เข้าใจถูก จนกว่าจะมั่นคงว่าทุกอย่างเป็นธรรมะ ให้รู้ความ จริงของสภาพธรรมะที่กำลังปรากฏในขณะนั้น เช่น จิตเป็นอกุศลก็รู้ว่าจิตเป็นอกุศล จิตเป็นกุศลก็รู้ว่าจิตเป็นกุศล ที่สำคัญคือรู้ในขณะปัจจุบันว่าเป็นธรรมะที่ไม่ใช่เราค่ะ
ขอบพระคุณ และขออนุโมทนาค่ะ
ขออนุโมทนาครับ