๑. วัจฉปาลเถรคาถา ว่าด้วยคาถาของพระวัจฉปาลเถระ
โดย บ้านธัมมะ  18 พ.ย. 2564
หัวข้อหมายเลข 40472

[เล่มที่ 50] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 355

เถรคาถา เอกนิบาต

วรรคที่ ๘

๑. วัจฉปาลเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระวัจฉปาลเถระ


อ่านหัวข้ออื่นๆ ... [เล่มที่ 50]



ความคิดเห็น 1    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 355

เถรคาถา เอกนิบาต วรรคที่ ๘

๑. วัจฉปาลเถรคาถา

ว่าด้วยคาถาของพระวัจฉปาลเถระ

[๒๐๘] ได้ยินว่า พระวัจฉปาลเถระได้ภาษิตคาถานี้ไว้ อย่างนี้ว่า

พระโยคาวจรผู้มีปกติเห็นเนื้อความอันสุขุมและละเอียด ผู้มีปัญญาเฉียบแหลม ผู้ประพฤติศีลของพระพุทธเจ้าโดยเอื้อเฟื้อ พึงได้บรรลุพระนิพพาน โดยไม่ยาก.

วรรควรรณนาที่ ๘

อรรถกถาวัจฉปาลเถรคาถา

คาถาของท่านพระวัจฉปาลเถระ เริ่มต้นว่า สุสุขุมนิปุณตฺถทสฺสินา. เรื่องราวของท่านเป็นอย่างไร?

แม้พระเถระนี้ก็มีอธิการอันกระทำไว้แล้วในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ สั่งสมบุญไว้ในภพนั้นๆ ท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัปนี้ ประสบความสำเร็จในศิลปศาสตร์ของพราหมณ์ บำเรอไฟอยู่ วันหนึ่ง เอาถาดสำริดใบใหญ่ใส่ข้าวปายาสไป


ความคิดเห็น 2    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 356

แสวงหาพระทักขิไณยบุคคลเห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า วิปัสสี เสด็จจงกรมอยู่ในอากาศ เกิดอัศจรรย์บันดาลใจ ถวายอภิวาทพระผู้มีพระภาคเจ้า แสดงความประสงค์จะถวาย (ข้าวปายาส). พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงอาศัยความอนุเคราะห์ รับข้าวปายาสไว้.

ด้วยบุญกรรมนั้น เขาท่องเที่ยวไปในเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เกิดเป็นบุตรของพราหมณ์ ผู้สมบูรณ์ด้วยสมบัติในพระนครราชคฤห์ ในพุทธุปบาทกาลนี้ ได้มีนามว่า วัจฉปาละ เมื่อพระอุรุเวลกัสสปเถระ แสดงอิทธิปาฏิหาริย์ ในสมาคมแห่งพระเจ้าพิมพิสาร แล้วแสดงความนอบน้อมถ่อมตนแด่พระบรมศาสดา วัจฉปาลพราหมณ์เห็นดังนั้น ได้ศรัทธาจิต บวชแล้ว พอบวชได้ ๗ วันเท่านั้น ก็เจริญวิปัสสนา ได้อภิญญา ๖. สมดังคาถา ประพันธ์ที่ท่านกล่าวไว้ในอปทานว่า

เราต้องการจะบวงสรวงบูชายัญ จึงคดข้าวปายาสใส่ในถาดสำริด ด้วยมือของตนแล้วไปสู่ป่างิ้ว ได้เห็นพระสัมพุทธเจ้า มีพระฉวีวรรณดังทองคำ มีพระลักษณะประเสริฐ ๓๒ ประการ แวดล้อมด้วย ภิกษุสงฆ์ เสด็จออกจากป่าใหญ่ สมัยนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าเชษฐบุรุษของโลก ประเสริฐกว่านระ เสด็จขึ้นเดินจงกรมในอากาศอันเป็นทางลม เราเห็นความอัศจรรย์อันไม่เคยเป็นขนลุกชูชันนั้นแล้ว วางถาดสำริดลง ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงพระนามว่า วิปัสสี ทูลว่า ข้าแต่มหามุนี พระองค์เป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้าในโลก พร้อมทั้งเทวโลก และมนุษยโลก ขอจงทรงอนุเคราะห์ รับข้าวปายาส


ความคิดเห็น 3    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 357

ของข้าพระองค์เถิด พระผู้มีพระภาคเจ้าสัพพัญญู ผู้นำของโลก เป็นศาสดาผู้ยอดเยี่ยมในโลก ทรงทราบความดำริของเราแล้ว ทรงรับ ในกัปที่ ๙๑ แต่ภัทรกัป นี้ เราได้ถวายทานใดในกาลนั้น ด้วยทานนั้น เราไม่รู้จักทุคติเลย นี้เป็นผลแห่งการถวายข้าวปายาส ในกัปที่ ๔๑ แต่ภัทรกัปนี้ ได้เป็นพระเจ้าจักรพรรดิ จอมกษัตริย์ พระนามว่าพุทโธ สมบูรณ์ด้วยแก้ว ๗ ประการ มีพลมาก เราเผากิเลสทั้งหลายแล้ว ฯลฯ คำสอนของพระพุทธเจ้า เรากระทำสำเร็จแล้ว ดังนี้.

ก็พระเถระครั้นบรรลุพระอรหัตแล้ว เมื่อจะประกาศความที่พระนิพพานอันตนบรรลุแล้วโดยง่ายดาย จึงได้กล่าวคาถานี้ว่า

พระโยคาวจรผู้มีปกติเห็นเนื้อความอันสุขุมและละเอียด ผู้มีปัญญาเฉียบแหลม ผู้ประพฤตินอบน้อมถ่อมตน ผู้ประพฤติศีลของพระพุทธเจ้าโดยเอื้อเฟื้อ พึงบรรลุพระนิพพานได้โดยไม่ยาก ดังนี้.

บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า สุสุขุมนิปุณตฺถทสฺสินา ความว่า พระโยคาวจรยกสังขารขึ้นสู่ไตรลักษณ์ มีความเป็นของไม่เที่ยงเป็นต้นแล้วเห็นเนื้อความในธรรมมีอริยสัจและปฏิจจสมุปบาทเป็นต้น ที่ชื่อว่า สุขุม เพราะ อรรถว่า เห็นได้ยากอย่างยิ่ง ชื่อว่า ละเอียด เพราะอรรถว่า ละเอียดอ่อน. เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สุสุขุมนิปุณตฺถทสฺสี อันพระโยคาวจรผู้มีปกติเห็นเนื้อความอันสุขุมและละเอียดนั้น.


ความคิดเห็น 4    โดย บ้านธัมมะ  วันที่ 22 มี.ค. 2565

พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย เถรคาถา เล่ม ๒ ภาค ๓ ตอน ๑ - หน้า 358

บทว่า มติกุสเลน ความว่า ผู้มีปรีชา คือ ปัญญาฉลาดเฉียบแหลม ได้แก่ ฉลาดในการยังธรรมวิจยสัมโพชฌังคปัญญาให้เกิดขึ้นว่า ปัญญาย่อมเจริญแก่ผู้ประพฤติอย่างนี้ ไม่เจริญแก่ผู้ประพฤติอย่างนี้ ดังนี้.

บทว่า นิวาตวุตฺตินา ความว่า มีปกติประพฤตินอบน้อมถ่อมตน ในเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย และประพฤติปฏิบัติโดยสมควรในพระเถระผู้สูงอายุและในภิกษุใหม่.

บทว่า สํเสวิตพุทฺธสีลินา ความว่า ศีลของพระพุทธเจ้า อันพระโยคาวจรช่องเสพแล้ว คือประพฤติแล้วโดยเอื้อเฟื้อ ชื่อว่า ผู้มีศีลของพระพุทธเจ้าอันประพฤติแล้วโดยเอื้อเฟื้อ อันพระโยคาวจรผู้มีศีลของพระพุทธเจ้า อันประพฤติแล้วโดยเอื้อเฟื้อนั้น. อีกอย่างหนึ่ง ศีลของพระพุทธเจ้า อันพระโยคาวจรนั้น ช่องเสพแล้ว คือเข้าไปบำเรอแล้ว เพราะเหตุนั้น จึงชื่อว่า มีศีลของพระพุทธเจ้าอันเสพแล้ว อันพระโยคาวจรผู้มีศีลของพระพุทธเจ้าอันเสพแล้วนั้น.

หิ ศัพท์ มีเหตุเป็นอรรถ ขยายความว่า เพราะพระโยคาวจรมีความประพฤติถ่อมตน มีศีลของพระพุทธเจ้าอันช่องเสพแล้ว มีปัญญาเฉียบแหลม มีปกติเห็นเนื้อความอันสุขุมและละเอียด ฉะนั้น พระนิพพานอันพระโยคาวจรนั้น จึงได้โดยไม่ยาก. อธิบายว่า บัณฑิตทั้งหลาย ย่อมสำคัญพระโยคาวจร นั้นว่า ควรโอวาท ควรสั่งสอน เพราะเป็นผู้มีปกติประพฤติอ่อนน้อม และเพราะเป็นผู้มีศีลของพระพุทธเจ้าอันตนช่องเสพแล้ว ทั้งพระโยคาวจรนี้ ก็ตั้งอยู่ในโอวาทของบัณฑิตเหล่านั้น บำเพ็ญวิปัสสนา ย่อมบรรลุพระนิพพาน ต่อกาลไม่นานนัก เพราะเป็นผู้มีปัญญาเฉียบแหลม และเพราะเป็นผู้มีปกติ เห็นเนื้อความอันสุขุมและละเอียด ดังนี้ ก็คาถานี้นั่นแหละ ได้เป็นคาถา พยากรณ์พระอรหัตตผลของพระเถระ ฉะนี้แล.

จบอรรถกถาวัจฉปาลเถรคาถา