ขออนุโมทนาผู้บรรยายทุกๆ ท่าน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ท่าน อาจารย์สุจินต์ ผมได้ดูการสนทนนาบรรยาย อภิธรรมในภาษาอังกฤษ ในสัปดาห์ที่ผ่านมาครับ ก็ติดใจอยู่เรื่องหนึ่งว่า
คำบัญญัติในบาลี สันสกฤต ไทย ยังเป็นกลุ่มคำที่ มีความหมายใกล้เคียง พอที่จะเทียบเคียงความหมายเพื่อให้เข้าใจถึงสภาพ ปรมัตถ์ได้
แต่ในกรณีที่เป็นภาษาอังกฤษ หรืออีกกลุ่มภาษาทวีปอื่น ความเจาะจง เรื่องใช้ศัพท์ เพื่อใช้เทียบเคียงนั้นก็สำคัญ ผมได้ดู พระไตรปิฎกฉบับภาษาอังกฤษประกอบ เทียบกับภาษาไทย และบาลี ไปด้วย ก็เกิดความสงสัย บางเรื่องอยู่ครับ เช่น
อารมณ์ - สิ่งที่ถูกจิตรู้ - object - วัตถุ
อารมณ์ หรือ อารัมมณะ ในบาลีไทยเรา
object (ใช้ในหัวข้อ เดียวกันคือ "อารมณ์) ปรากฏในฉบับภาษาอังกฤษ
ซึ่งแปลว่า "วัตถุ" ทางเราก็มี วัตถุ ๖ เช่นกัน เหมือนกับ อารมณ์ ๖ แต่มีความแตกต่างกันอยู่มากน้อยแค่ไหนครับ?
ทั้งหมด จะเป็นความหมายเดียวกันได้หรือไม่ครับ?
ขออนุโมทนาทุกๆ ท่านครับ
ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
พระธรรม เป็นเรื่องที่ละเอียดลึกซึ้งอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นชนชาติใดภาษาใด แต่ถ้ามีโอกาสได้ฟังได้ศึกษาความจริงในภาษาของตนๆ ก็จะสามารถเข้าใจถูกเห็นถูกได้ เพราะพระธรรมที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดง แสดงให้เข้าใจสิ่งที่มีจริงๆ ในขณะนี้ ตรงตามความเป็นจริง
เมื่อกล่าวถึงคำใด ก็ต้องเข้าใจในคำนั้นให้แจ่มแจ้งชัดเจนจริงๆ โดยเฉพาะ ๒ คำที่กล่าวถึง คือ อารมณ์ กับ วัตถุ
อารมณ์ คือ สิ่งที่ถูกจิตรู้ หรือ สิ่งใดก็ตามที่จิตรู้ สิ่งนั้น เป็นอารมณ์ของจิตในขณะนั้น (เมื่อกล่าวถึงจิต ก็ต้องหมายรวมเจตสิกที่เกิดร่วมกับจิตด้วย)
อารมณ์ มีทั้งหมด ๖ อารมณ์ ได้แก่
รูปารมณ์ คือ สี
สัททารมณ์ คือ เสียง
คันธารมณ์ คือ กลิ่น
รสารมณ์ คือ รส
โผฏฐัพพารมณ์ คือ สิ่งที่กระทบสัมผัสกาย ได้แก่ เย็น ร้อน (ธาตุไฟ) / อ่อน แข็ง (ธาตุดิน) / ตึง ไหว (ธาตุลม)
ธัมมารมณ์ คือ อารมณ์ที่รู้ได้ทางใจอย่างเดียว ได้แก่ จิตทั้งหมด เจตสิกทั้งหมด ปสาทรูป ๕ สุขุมรูป ๑๖ นิพพาน และ บัญญัติ
เมื่อกล่าวโดยประมวลแล้ว ธรรมซึ่งเป็นสิ่งที่มีจริงทั้งหมด และ บัญญัติ เป็นอารมณ์ของจิตได้หมด
ส่วน วัตถุ นั้น มุ่งหมายถึง ที่เกิดของจิต ซึ่งจะต้องเป็นรูป ๖ รูป เท่านั้น ที่เป็นที่เกิดของจิตได้ ได้แก่
-จักขุปสาทรูป คือ ตา เป็นจักขุวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตเห็นและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย
-โสตปสาทรูป คือ หู เป็นโสตวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตได้ยินและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย
-ฆานปสาทรูป คือ จมูก เป็นฆานวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตได้กลิ่นและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย
-ชิวหาปสาทรูป คือ ลิ้น เป็นชิวหาวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตลิ้มรสและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย
-กายปสาทรูป คือ กาย เป็นกายวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตที่รู้สิ่งที่กระทบสัมผัสกายและเจตสิกที่เกิดร่วมด้วย
-หทยรูป เป็นหทยวัตถุ เป็นที่เกิดของจิตอื่นทั้งหมดในภูมิที่มี ขันธ์ ๕ เว้นเฉพาะทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ ดวง เท่านั้น
[แต่คำว่า วัตถุ ในที่อื่นๆ ยังมีความหมายกว้างขวางมาก หมายถึง สิ่งต่างๆ ก็ได้ หมายถึง เรื่องที่เกิดขึ้น ก็ได้]
...อนุโมทนาในกุศลจิตของทุกๆ ท่านครับ...
อาจารย์คำปั่นอธิบายได้แจ่มแจ้งดีมากครับ
ขอขอบคุณและอนุโมทนาในกุศลจิตด้วยครับ
ทุกสิ่งทุกอย่างที่มีจริง เช่น เห็นมีจริง ได้ยินมีจริง ฯลฯ เป็นธรรมะไม่ใช่เรา บังคับบัญชาไม่ได้ เป็นอนัตตา
ขออนุโมทนาครับ