พระเจ้าอโศกมหาราช...ทรงชนะด้วยธรรม
โดย พุทธรักษา  5 มี.ค. 2552
หัวข้อหมายเลข 11505


ขอนอบน้อมแด่พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าพระองค์นั้น
กาลล่วงไป ... จนถึงสมัยของ พระเจ้าอโศกมหาราชในคัมภีร์มหาวงศ์ กล่าวไว้ว่า พระเจ้าอโศกขึ้นครองราชสมบัติใน ปีพุทธศักราช ๒๑๘ พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นราชโอรสของพระเจ้าพินทุสาร และ พระนางธรรมามีพระอนุชาร่วมพระมารดา นามว่า ติสสะ เมื่อเจริญวัย พระราชบิดาทรงแต่งตั้งให้เป็นอุปราช ครองแคว้นอวันตี มีกรุงอุชเชนี เป็นเมืองหลวง หลังจากพระราชบิดาสวรรคต จึงเสด็จกลับมายังเมือง ปาฏลีบุตรและดำรงตำแหน่งพระราชาสืบแทนทรงรับสั่ง ให้สำเร็จโทษ พระอนุชาต่างมารดา ทั้งปวง เว้น ติสสกุมาร ซึ่งเป็นอนุชาร่วมพระมารดา แต่ผู้เดียว
พระเจ้าอโศก ขึ้นครองราชย์ ๔ ปี จึงกระทำการราชาภิเษก ทรงตั้ง ติสสกุมาร ไว้ในตำแหน่งอุปราชระยะแรกที่ขึ้นครองราชย์ พระเจ้าอโศกทรงบริจาคทานแก่เหล่าพราหมณ์และปริพาชกตามที่พระราชบิดาเคยกระทำมา วันหนึ่ง พระราชาประทับยืนอยู่ที่สีหบัญชรทอดพระเนตรเห็นนักบวช เหล่านั้น ... บริโภคอาหารไม่เรียบร้อย ... ไม่มีความสำรวมอินทรีย์ จึงรับสั่งให้เชิญนักบวชเหล่านั้น เข้ามาในพระราชนิเวศน์พระราชาทอดพระเนตรเห็นกิริยาที่นั่งแล้ว ทรงทราบได้ว่านักบวชเหล่านั้น ... ไม่มีธรรม ที่เป็นสาระ ใดๆ เลยพระราชาจึงถวายของ ที่ควรแก่การบริโภคแก่นักบวชเหล่านั้น ... แล้วส่งกลับไป.
เวลาล่วงไป วันหนึ่ง ขณะที่ประทับอยู่บนปราสาทพระราชาทอดพระเนตรเห็น สามเณร รูปหนึ่ง มีกิริยามารยาทเรียบร้อย มีอินทรีย์สงบ สมบูรณ์ด้วยอิริยาบถ กำลังเดินผ่านไป ทางพระลานหลวงทรงพอพระทัย ดำริว่าสามเณรน้อยนี้น่าจักมีโลกุตตรธรรม แน่นอนทรงบังเกิดความเลื่อมใส และความรักในสามเณร สมจริง ดังคำที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ว่าความรักย่อมเกิดเพราะเหตุ ๒ ประการ คือ เพราะการอยู่ร่วมกันในภพก่อน ๑ เพราะการเกื้อกูลกันในปัจจุบัน ๑
สามเณรรูปนั้น คือ นิโครธสามเณร โอรสของสุมนราชกุมารราชบุตรองค์โต ของพระเจ้าพินทุสาร กับ พระนางสุมนาที่พระเจ้าอโศก รับสั่งให้ประหาร ก่อนเสด็จขึ้นครองราชย์ พระมหาวรุณเถระให้บรรพชา เป็นสามเณร ตั้งแต่อายุ ๗ ขวบ ซึ่งสามเณร ได้สำเร็จอรหัตตผลในขณะปลงผม. พระราชาได้รับสั่งให้ไปนิมนต์สามเณร เข้ามาในพระราชนิเวศน์เพื่อถวายบิณฑบาต ทรงน้อมถวายอาหารทุกชนิด ที่เตรียมไว้สำหรับพระองค์ สามเณร รับอาหารบิณฑบาตแต่พอยังอัตตภาพให้เป็นไป ในที่สุดภัตกิจ พระราชาตรัสถามว่า "พ่อเณรรู้พระโอวาท ที่พระศาสดาทรงประทานแก่พวกพ่อเณร บ้างไหม.?" สามเณรทูลตอบว่า "มหาบพิตรอาตมภาพย่อมรู้ โดยบางส่วนเท่านั้น"
พระราชารับสั่งว่า "พ่อเณร ขอจงแสดงโอวาทในส่วนที่พ่อเณรรู้นั้น แก่โยมบ้าง" นิโครธสามเณรได้แสดง อัปปมาทวรรค ในขุททกนิกาย ธรรมบท ถวายพระราชาว่า ความไม่ประมาท ... เป็นทางไม่ตายความประมาท ... เป็นทางแห่งความตาย พระราชาทรงพอพระทัย เกิดความเลื่อมใสอย่างยิ่งในสามเณรสามเณรอนุโมทนา แล้วพระราชารับสั่งว่า "พ่อเณร โยมจะถวายธุวภัต (ภัตที่ถวายเป็นประจำ) แก่พ่อเณร" สามเณรถวายพระพรว่า

"อาตมภาพ จักถวายภัตเหล่านั้น แก่ภิกษุสงฆ์" พระราชาตรัสถามว่า "พ่อเณร ผู้ที่ชื่อว่าภิกษุสงฆ์ ได้แก่บุคคลเช่นไร.?" สามเณรทูลตอบว่า "มหาบพิตร บรรพชาและอุปสมบทของอาตมภาพ อาศัยหมู่ภิกษุใด หมู่ภิกษุนั้น ชื่อว่า ภิกษุสงฆ์" พระราชาจึงปวารณาถวายนิตยภัต แก่ภิกษุสงฆ์ ในพระราชนิเวศน์รับสั่งให้เลิกบริจาคภัต แก่เหล่านักบวช นอกศาสนาทั้งสิ้น. สามเณร ยังพระราชาพร้อมทั้งบริษัทให้รับ ไตรสรณคมน์ และ เบญจศีลดำรงมั่น อยู่ในพระพุทธศาสนา
ติสสอุปราช ผู้เป็นพระภาดา ร่วมพระมารดากับพระราชาวันหนึ่ง เสด็จไปล่าเนื้อ ทอดพระเนตรเห็น พระโยนกมหาธรรมรักขิตเถระผู้นั่งให้พญาช้าง จับกิ่งสาละโบกพัดอยู่ เกิดความปราโมทย์ดำริว่า ... เมื่อไรหนอ เราพึงได้บวช เหมือนพระมหาเถระนี้พระเถระ รู้อัธยาศัยของติสสอุปราช ได้เหาะขึ้นไปในอากาศ แล้วยืนอยู่บนพื้นน้ำที่สระโบกขรณี ห้อยจีวรและผ้าอุตราสงค์ไว้ในอากาศ ... แล้วเริ่มสรงน้ำติสสอุปราช เห็นอานุภาพของพระเถระ ทรงเลื่อมใสเป็นอย่างยิ่งดำริว่า เราจักบวชให้ได้ ในวันนี้ทีเดียว ... แล้วเสด็จกลับไปทูลพระราชาว่า หม่อมฉันจักบวช ... พระราชาทรงยับยั้งโดยเอนกประการ
พระเจ้าอโศก เมื่อไม่ทรงสามารถให้ ติสสอุปราช กลับพระทัยได้ จึงทรงนำไปวิหาร ภิกษุเป็นอันมากได้ฟังข่าวว่า พระอุปราชจักบวชจึงพากันไปตระเตรียมบาตรและจีวร ติสสอุปราช ... เสด็จไปยังเรือน เป็นที่บำเพ็ญเพียรแล้วได้ทรงผนวช ใน สำนักของพระมหาธรรมรักขิตเถระ พร้อมกับ อัคคิพรหม ผู้เป็นพระสวามีของ พระนางสังฆมิตตา
ใน คัมภีร์มหาวงศ์ กล่าวว่าสุมนราชกุมาร โอรสของของ เจ้าอัคคิพรหม และ พระนางสังฆมิตตา ทูลขอบรรพชา เป็นสามเณรในวันนั้นด้วยมีกุลบุตร ผนวชตามพระอุปราชอีกเป็นจำนวนมาก ในครั้งนั้น ... เหตุผลอีกประการหนึ่ง ที่ พระเจ้าอโศก หันมาเลื่อมใส ในพระพุทธศาสนาอย่างแน่นแฟ้น คือ
ประมาณปีที่ ๑๓ หลังจากขึ้นครองราชย์พระองค์ยกทัพไปทำสงคราม กับ แคว้นกาลิงคะ ได้ประสบชัยชนะ ... แต่ในการสงครามครั้งนั้นต้องสูญเสียทั้งชีวิตมนุษย์ และทรัพย์สินไปเป็นจำนวนมาก พระองค์ทรงสลดพระทัย จึงเปลี่ยนพระดำริจาก สังคามวิชัย (การชนะด้วยสงคราม) มาเป็น ธรรมวิชัย (การชนะด้วยธรรม) คือ ชนะใจกันด้วยความดี สร้างสรรค์ประโยชน์สุขให้แก่ปวงชนโดยทั่วไป อย่างกว้างขวาง
ข้อความบางตอนจากหนังสือ "พระพุทธกิจ ๔๕ พรรษา"

เรียบเรียงโดย คุณสุรีย์ และ เรือโท วิชัย มีผลกิจ

พิมพ์เผยแพร่โดย "คณะสหายธรรม"
ขออนุโมทนา




ความคิดเห็น 1    โดย suwit02  วันที่ 5 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย hadezz  วันที่ 6 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 3    โดย sopidrumpai  วันที่ 6 มี.ค. 2552

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 4    โดย chatchai.k  วันที่ 19 ก.ค. 2563

ขออนุโมทนาครับ