สละความตระหนี่
โดย สารธรรม  2 พ.ย. 2551
หัวข้อหมายเลข 10270

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ข้อความบางตอนจาก แนวทางเจริญวิปัสสนา ครั้งที่ ๘๐๐

บรรยายโดย ท่านอาจารย์สุจินต์ บริหารวนเขตต์


สละความตระหนี่

ท่านอ.จ. ผู้ที่สละความตระหนี่บ่อยๆ จนเป็นอุปนิสัยแล้วก็ระลึกถึงการสละความตระหนี่ด้วยการให้ ผู้นั้นก็เป็นผู้ที่จะมีอัธยาศัยน้อมไปเสมอในจาคะ สังเกตได้จากคนที่อยู่ด้วยกันหลายคน ในระหว่างญาติพี่น้องหรือเพื่อนฝูง ถ้ามีเหตุการณ์เกิดขึ้นที่ควรจะสละจริงๆ จะรู้ได้เลยว่า ใครมีอัธยาศัยสะสมมาในการสละ เป็นคนที่สละทันทีได้ ในขณะที่คนอื่นอาจจะช้าหรือลังเลหรือไม่สละ เพราะฉะนั้น คนที่สละบ่อยๆ ย่อมเป็นผู้ที่มีอัธยาศัยน้อมไปในจาคะ เป็นผู้ที่ไม่โลภ เพราะสามารถสละสิ่งที่คนอื่นติด ยังติดข้องอยู่ แต่คนนั้นก็ยังสามารถที่จะสละได้ แล้วก็เป็นผู้ที่สามารถอนุโลมตามความเมตตาที่เกิดขึ้น เพราะบางท่านอาจจะเกิดกุศลจิต มีความเมตตา มีความกรุณาในสัตว์อื่น ในบุคคลอื่นจริง แต่ยังไม่ถึงขั้นที่จะสละ มีไหมอย่างนี้? เพราะฉะนั้น ผู้ที่อบรมเจริญจาคะ การสละความตระหนี่บ่อยๆ ย่อมเป็นผู้ที่แกล้วกล้า เมื่อสามารถสละได้ด้วยความปีติ จนกระทั่งเป็นอุปนิสัยแล้ว ผู้นั้นก็ย่อมเป็นผู้มีความอิ่มใจ บันเทิงใจ เวลานึกถึงการสละของตนมากกว่าผู้ที่ไม่สามารถที่จะสละได้ หรือว่าไม่มีอัธยาศัยน้อมไปในจาคะ ในการสละ

ท่านผู้ถาม ความตระหนี่ตัดสินตอนที่จะให้หรือเปล่า

ท่านอ.จ. ตอนที่หวงแหนค่ะ ไม่ให้ค่ะ เวลาที่เกิดตระหนี่แล้วไม่สละ

ท่านผู้ถาม คือมันมีปฏิฆะอยู่นี่ครับ

ท่านอ.จ. คือไม่พอใจในบุคคลนั้น แล้วก็มีความยินดีในสิ่งที่เป็นวัตถุของตน เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า มีอารมณ์อันเป็นที่รักและอารมณ์อันไม่เป็นที่รักเป็นเหตุ


หลังจากที่พระผู้มีพระภาคทรงแสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายที่พากันสนทนาถึงผลของกุศลกรรมที่จูเฬกสาฎกพราหมณ์ได้รับทันตาเห็นจากการที่เขาสามารถเอาชนะความตระหนี่ที่เกิดขึ้นครอบงำจิตแล้วถวายผ้าที่มีอยู่เพียงผืนเดียวด้วยศรัทธาแก่พระศาสดาในเวลาจวนใกล้รุ่งแต่การทำความดีด้วยการสละของเขานั้น เกิดขึ้นได้ช้าเพราะเหตุสำคัญ คือความตระหนี่และความประมาท พระผู้มีพระภาคจึงได้ทรงตรัสพระคาถา ไว้ดังนี้

อภิตฺถเรถ กลฺยาเณ ปาปา จิตฺตํ นิวารเยทนฺธิ หิ กรโต ปุญฺญํ ปาปสฺมึ รมตี มโนทนฺธิ หิ กรโต ปุญฺญํ ปาปสฺมึ รมตี มโน.

" บุคคลพึงรีบขวนขวายในความดี, พึงห้ามจิตเสียจากบาป, เพราะว่า เมื่อบุคคลทำความดีช้าอยู่, ใจจะยินดีในบาป. "

๙. ปาปวรรควรรณนา

๑. เรื่องพราหมณ์ชื่อจูเฬกสาฎก [๙๕]

[เล่มที่ 42] ขุททกนิกาย คาถาธรรมบทเล่ม ๑ ภาค ๒ ตอน ๓ - หน้าที่ ๘

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่...

พราหมณ์ชื่อจูเฬกสาฎก [คาถาธรรมบท]

ขออุทิศส่วนกุศลแด่สรรพสัตว์



ความคิดเห็น 1    โดย paderm  วันที่ 2 พ.ย. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ไม่ประมาทในการเจริญกุศลทุกๆ ประการ หากยังเป็นผู้มีความตระหนี่ สะสมอุปนิสัยใหม่ได้ ไม่มีคำว่าสายในการอบรมสะสมกุศลธรรม หากยังสละวัตถุไม่ได้แล้ว จะสละกิเลสที่เป็นนามธรรมที่เป็นสิ่งที่แสนยากได้อย่างไร ผู้ที่เข้าใจพระธรรมมากขึ้น กุศลประการต่างๆ ก็เจริญตามขึ้น ไม่ประมาทในกุศลทุกประการ เห็นโทษของความตระหนี่ ไม่มีสิ่งใดติดตามไปได้นอกจากกุศลและอกุศล ติดข้องในสิ่งใดมากก็ทุกข์เพราะสิ่งนั้นมาก สละในสิ่งใดมาก ก็ไม่ทำบาปเพราะสิ่งนั้น การสละจึงเป็นการสละของตนเอง เช่น สละความตระหนี่ของตนเอง สละสิ่งของๆ ตนเอง สุดท้ายการสละสูงสุดคือสละการยึดถือสภาพธรรมว่าเป็นเรา เมื่อไม่ยึดถือว่าเป็นเราแล้ว ก็จะไม่มีความตระหนี่อีกเลย

พระโสดาบันจึงดับความตระหนี่ได้หมดครับ แม้จะไม่ใช่พระโสดาบันแต่ก็สามารถขัดกลาความตระหนี่ได้ครับ โดยอาศัยการคบกัลยาณมิตร อาศัยการฟังพระธรรม อาศัยการเป็นผู้ว่าง่าย อาศัยการพิจารณาโดยแยบคายก็จะเป็นผู้เห็นประโยชน์ในการสละ เห็นโทษของความตระหนี่ จนสะสมเป็นอุปนิสัยใหม่ ด้วยการยินดีในการให้ การสละทั้งวัตถุและกิเลสครับ และการสละความตระหนี่ 5 ประการคือ ตระหนี่ในตระกูล ตระหนี่ในลาภ ตระหนี่ที่อยู่ ตระหนี่คำสรรเสริญและตระหนี่ในธรรม เริ่มเห็นโทษและเห็นประโยชน์ในอกุศลและกุศลธรรมครับ ไม่มีคำว่าสายในการอบรมอุปนิสัยใหม่ด้วยความเข้าใจพระธรรม ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 2    โดย paderm  วันที่ 2 พ.ย. 2551

ขอเชิญคลิกอ่านได้ที่...

ลักษณะของผู้มีศรัทธา [ฐานสูตร]


ความคิดเห็น 3    โดย paderm  วันที่ 2 พ.ย. 2551

เชิญคลิกอ่านเพิ่มเติมที่นี่ครับ.

บุคคลควรกำจัดความตระหนี่ [มัจฉริสูตร]

บุคคลควรกำจัดความตระหนี่

ข้าศึกของความตระหนี่ฯ

ความตระหนี่ ๕ ประการ

ความตระหนี่กับความสละ

พบยาจก จิตไม่ให้เกิดขึ้นกับพระโพธิสัตว์ ท่านคิดอย่างไร?

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 4    โดย suwit02  วันที่ 2 พ.ย. 2551

สาธุ


ความคิดเห็น 5    โดย oom  วันที่ 2 พ.ย. 2551

การสละความตระหนี่ เป็นเรื่องที่ทำได้ยากเหมือนกันที่จะให้ได้กับทุกคน เพราะยังมีจิต ที่ชอบและไม่ชอบ ถ้าชอบหรือถูกใจก็จะสละให้ได้ เช่น มีคนอยู่ 2 คน มีอุปนิสัยที่ต่าง กัน คนหนึ่งเป็นคนอ่อนน้อม ส่วนอีกคนเป็นคนไม่มีความอ่อนน้อม เวลาที่จะให้อะไร คนทั้งสอง ดิฉันจะเลือกให้คนที่มีความอ่อนน้อมก่อน แบบนี้ถือว่าเป็นโลภะหรือไม่และ ถือว่าสละความตระหนี่หรือไม่


ความคิดเห็น 6    โดย ajarnkruo  วันที่ 2 พ.ย. 2551

ถ้าเป็นสถานการณ์ เป็นเรื่องราว ก็ยากที่จะรู้ เพราะยังไม่มีเหตุปัจจัยให้เป็นไปอย่างที่เราคิดไว้ บางทีเราคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้ว หรือว่าคิดถึงสิ่งที่ยังไม่เกิด ซึ่งถ้าเกิดจริงๆ ขณะนั้นก็ไม่แน่ว่าจะระลึกได้หรือไม่ แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยให้สติระลึกได้ สภาพธรรมนั้นก็เป็นของจริงที่ปรากฏลักษณะให้ปัญญาได้ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นธรรมะทางฝ่ายกุศล หรือธรรมะทางฝ่ายอกุศลก็ตามครับ แต่ถ้าจะให้อนุมานด้วยเหตุผลในพระธรรมแล้วเป็นประโยชน์ต่อการเจริญกุศลก็อาจจะพอได้ เช่น ถ้าเราเลือกที่จะให้คนที่อ่อนน้อมก่อน ขณะนั้นเป็นความยินดีที่จะน้อมสละสิ่งที่มีด้วยกุศลจิตจริงๆ หรือเปล่า หรือว่าเป็นการสละให้ด้วยความติดข้องในกิริยามารยาทของบุคคลนั้น ในเหตุการณ์เดียวกัน ถ้าขณะนั้นมีแต่เพียงคนที่เราคิดว่าไม่อ่อนน้อมอยู่ แล้วของก็มีอยู่กับตัวที่พร้อมจะให้ จะมีใจที่เห็นประโยชน์ที่จะเกิดแก่เขาแล้วสละได้ไหม? ไม่มีใครตอบได้ใช่ไหมครับ เจ้าตัวต้องรู้เองด้วยความเป็นผู้ตรง ไม่หลอกตัวเอง เมื่อสภาพธรรมนั้นปรากฏแล้วสติระลึกได้ ปัญญาที่เกิดร่วมด้วย ก็ย่อมจะทำให้เป็นผู้ที่มีเหตุผล คือ แยกแยะได้ว่าขณะนั้นธรรมะฝ่ายไหนกำลังเกิดขึ้นเป็นไปกับจิตของตน ถ้าเราให้เพราะชอบพอในกิริยาท่าทางของเขา ให้เพื่อหวังผลให้เขาพูดดี ทำดีกับเรา แล้วเกิดวันหนึ่งเขาพูดไม่ดี ทำไม่ดีกับเรา ถ้าเราโกรธที่เขาพูดไม่ดี ทำไม่ดีกับเรา เพราะเรายึดถือว่าเราเคยทำดีกับเขา ที่คิดว่าเคยให้นั้น จริงๆ แล้วก็อาจจะเคลือบแฝงไปด้วยความหวังผลคือ มีโลภะเป็นบริวารก็ได้ ให้ไปแล้วก็จริง แต่เพราะมีโลภะเป็นปัจจัย การให้นั้นก็เศร้าหมอง ไม่บริสุทธิ์ ไม่ได้สละความตระหนี่อะไรเลย เพราะไม่ได้เป็นไปเพื่อการขัดเกลากิเลส ภายหลังจึงเป็นปัจจัยให้เกิดโทสะบ้าง มานะบ้าง หรืออกุศลที่เนื่องด้วยการให้เพราะชอบพอนั้นๆ ตามมา เพราะฉะนั้น เมื่อจะให้ก็ควรให้ด้วยจิตที่บริสุทธิ์จริงๆ ถ้ายังให้เพราะเนื่องด้วยอกุศลเป็นปัจจัย ก็ควรที่จะได้เห็นโทษเพิ่มขึ้นเพื่อการขัดเกลาอกุศล ตามลำดับของปัญญา คิดว่าท่านผู้รู้ท่านอื่นอาจจะช่วยเกื้อกูลได้อีกครับ


ความคิดเห็น 7    โดย paderm  วันที่ 2 พ.ย. 2551

ขอนอบน้อมแด่พระรัตนตรัย

ขอบคุณสำหรับ คุณ ajarnkruo อธิบายได้เข้าใจและละเอียดดีมากครับ สำหรับคำถามของความเห็นที่ 5 อธิบายได้เข้าใจดี ขออนุญาตเรียนเสริมในประเด็นนี้ครับ

ตามที่เข้าใจคือก็คือต้องเป็นผู้ตรง จิตขณะนั้นเพราะอะไร ไม่พอใจในคนที่ไม่อ่อนน้อม พอใจคนที่อ่อนน้อม ต้องการเป็นที่รักจากคนที่อ่อนน้อม หรือบูชาคุณความดีของคนที่อ่อนน้อม เป็นกุศลหรืออกุศลก็ได้ จึงต้องเป็นผู้ตรงต่อจิตขณะนั้น การให้เพื่อประโยชน์ คือการอนุเคราะห์บุคคลนั้นประการหนึ่ง การให้บูชาคุณความดีก็ประการหนึ่ง การให้ทั้งสองประการเป็นกุศลเป็นการขัดเกลากิเลส แต่ถ้าให้เพราะชอบคนนั้นมากกว่าหรือประการอื่นๆ อันเป็นไปเพื่อได้ลาภ ยศ ตรงนี้ไม่ใช่แล้ว ไม่ใช่การให้ที่ขัดเกลากิเลส ไม่ใช่ขัดเกลาความตระหนี่ แต่ย่อมเพิ่มความติดข้องมากขึ้นครับ การสละความตระหนี่จึงเป็นการเห็นโทษของความติดข้องในวัตถุ ดังนั้น จึงให้โดยคำนึงถึงประโยชน์ของผู้รับ แต่ไม่ใช่เพระติดข้องจึงให้ครับ การให้ที่ขัดเกลาความตระหนี่และไม่ขัดเกลาความตระหนี่และกิเลสประการต่างๆ จึงต่างกันครับ

ขออนุโมทนา


ความคิดเห็น 8    โดย paderm  วันที่ 2 พ.ย. 2551

[เล่มที่ 74] พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย จริยาปิฎก เล่ม ๙ ภาค ๓ - หน้าที่ ๖๑๙

อนึ่ง ไม่ให้อาศัยลาภสักการะความสรรเสริญ.ไม่ให้อาศัยการตอบแทน.ไม่ให้หวังผลเว้นแต่สัมมาสัมโพธิญาณ. ไม่ให้รังเกียจผู้ขอหรือไทยธรรม. อนึ่ง ไม่ให้ทานทอดทิ้งยาจกผู้ไม่สำรวม แม้ผู้ด่าและผู้โกรธ. ที่แท้มีจิตเลื่อมใสให้อนุเคราะห์ด้วยความเคารพอย่างเดียว.

อุทิศกุศลให้สรรพสัตว์


ความคิดเห็น 9    โดย pornpaon  วันที่ 3 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาค่ะ . . .


ความคิดเห็น 10    โดย oom  วันที่ 3 พ.ย. 2551

ต้องขอบพระคุณทุกท่านมากค่ะ ที่ให้ข้อคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ต่อดิฉันมาก โดยเฉพาะข้อคิดเห็นที่ 6 "ที่ว่าถ้าเราให้เพราะชอบพอในกิริยาท่าทางของเขา หรือเมื่อจะให้ก็ควรให้ด้วยจิตที่บริสุทธิ์จริงๆ " ทำให้ดิฉันมีความเข้าใจมากยิ่งขึ้น จริงค่ะ ถ้าเป็นสถานการณ์ เป็นเรื่องราว ก็ยากที่จะรู้ เพราะยังไม่มีเหตุปัจจัยให้เป็นไปอย่างที่เราคิดไว้ บางทีเราคิดถึงสิ่งที่ล่วงไปแล้วหรือว่าคิดถึงสิ่งที่ยังไม่เกิด ซึ่งถ้าเกิดจริงๆ ขณะนั้นก็ไม่แน่ว่าจะระลึกได้หรือไม่ แต่ถ้ามีเหตุปัจจัยให้สติระลึกได้ สภาพธรรมนั้นก็เป็นของจริงที่ปรากฏลักษณะ ให้ปัญญาได้ศึกษา ไม่ว่าจะเป็นธรรมะทางฝ่ายกุศล หรือธรรมะทางฝ่ายอกุศลก็ตาม


ความคิดเห็น 11    โดย orawan.c  วันที่ 3 พ.ย. 2551

ความตระหนี่เป็นธรรมะ ซึ่งเป็นอกุศลธรรม จึงควรละหรือสละ อโลภะเป็นกุศลธรรมที่ควรเจริญเพื่อละหรือสละความตระหนี่ตามกำลังของปัญญา

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 12    โดย khampan.a  วันที่ 3 พ.ย. 2551
ขออนุโมทนาครับ

ความคิดเห็น 13    โดย wirat.k  วันที่ 4 พ.ย. 2551

ขออนุโมทนาครับ


ความคิดเห็น 14    โดย เมตตา  วันที่ 4 พ.ย. 2551

ผู้ที่สละความตระหนี่ เมื่อมีการสละสิ่งของเพื่อประโยชน์แก่ผู้อื่นได้บ่อยๆ เนืองๆ ก็จะสะสมเป็นอุปนิสัยในการที่จะขัดเกลาเพื่อสละกิเลสได้ เพราะความตระหนี่เป็นอกุศลมีโทษ ควรที่จะค่อยๆ ขัดเกลากิเลสให้เบาบางลง หากไม่มีการเริ่มสละสิ่งใดเพื่อผู้อื่นก็จะไม่มีทางขัดเกลาความตระหนี่ได้

ขออนุโมทนาค่ะ


ความคิดเห็น 15    โดย chatchai.k  วันที่ 30 ก.ย. 2563

ขออนุโมทนาครับ